คำมั่นสัญญา
ข้าพเจ้าจําความรู้สึกสมัยเด็กๆ ได้แม่น รู้ว่าสิ่งใดชอบใจ สิ่งใดไม่ชอบใจ และรู้ด้วยว่าเด็กก็มีความรู้สึกนึกคิด บางทีนึกได้คิดได้ดีกว่าคนใหญ่ เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ ได้มาเป็นครูอบรมสั่งสอนเด็ก ข้าพเจ้าจึงให้ความเข้าใจ ความรัก ความอบอุ่นต่อลูกศิษย์ของข้าพเจ้าอย่างสม่ำเสมอกับทุกๆ คน ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง เรื่องใดที่รับปากกับนักเรียนจะต้องทําให้ได้ ไม่ละเลย มิให้เด็กเห็นว่าครูคนนี้เป็นคนพูดโกหก เรื่องใดที่ทําให้ไม่ได้ก็จะต้องชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจ หากเกิดเรื่องอะไรๆ ขึ้นระหว่างเด็กกับผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูหรือผู้ปกครอง ข้าพเจ้าจะยืนอยู่ข้างเด็กก่อนเสมอ ให้แกมีที่พึ่งอบอุ่นใจไว้ก่อน แล้วจึงจะทําความ เข้าใจกับพวกผู้ใหญ่ทีหลัง
เมื่อตนเองทําดังนี้ ดังนั้นพอเห็นพ่อแม่บางคนหลอกลูกว่าทําอย่างนี้อย่างโน้นก่อนนะ แล้วจะให้รางวัลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อเด็กทําตามที่บอกแล้วพ่อแม่ก็เพิกเฉยไม่รักษาสัญญา ข้าพเจ้าจะรู้สึกไม่สบายใจ นั่นคือ การกล่าวคํามุสาวาท ในที่สุดเด็กจะขาดความเชื่อถือในพ่อแม่ และยังเกิดผลเสียตามมาอีกประการหนึ่ง คือเด็กจะเข้าใจว่า การมุสานี้เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทํากันทั้งนั้น แม้แต่พ่อแม่ซึ่งรักตัวเด็กมากที่สุดก็ยังทํากับเขา เด็กก็จะจดจำนำไปทำเองกับคนโน้นคนนี้ ให้นิสัยพลอยเสียหาย โดยที่พ่อแม่นึกไม่ถึงว่าถ่ายทอดไปจากการกระทําของตน ความจริงใจนั้นต้องเน้นให้เห็นความสําคัญตั้งแต่เล็กทีเดียว
การกล่าวมุสาวาท คือการทําความผิดในศีลข้อที่ ๔ ใครทำลงไป แสดงว่าผู้นั้นขาดความจริงใจ ความจริงใจนี้เองเป็นเครื่องผูกมัดเหนี่ยวรั้งให้ไมตรีจิตระหว่างผู้คนที่คบหาสมาคมกันยั่งยืน
ครั้งหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าเรียนจบออกมารับราชการเป็นครูในปีแรก ในเดือนเมษายน ๒๕๐๒ ข้าพเจ้าขอสมัครสอนในชั้นเรียนต่ำสุดของโรงเรียน คือชั้นประถมปีที่หนึ่ง ถ้ามีเล็กกว่านั้นก็จะสมัครสอนชั้นเด็กเล็ก ที่สุด เพราะอยากจะมีประสบการณ์สอนทุกๆ ชั้น นักเรียนที่นั่นยากจนมาก เป็นนิคมของชาวสามล้อถีบ
วันหนึ่งข้าพเจ้าจะต้องเข้าประชุมเกี่ยวกับวิธีสอนวิชาภาษาไทย บังเอิญข้าพเจ้าไม่มีหนังสือแบบเรียนอยู่ที่ตนเองเลย จะไปยืมที่ห้องสมุดก็ไม่ทัน จึงยืมนักเรียนหญิงคนหนึ่งในห้องเรียน
“หนูเจี๊ยบให้ครูยืมหนังสือภาษาไทยหน่อยได้มั้ยคะ ครูเอาไปใช้ในที่ประชุม เดี๋ยวจะเอามาคืนค่ะ” เด็กหญิงผู้นั้นหยิบให้อย่างลังเลเล็กน้อย ข้าพเจ้าจึงถามว่า
“ทําไมหรือคะ ให้ครูยืมไม่ได้รึไง”
“ได้ค่ะ แต่ครูต้องเอามาคืนก่อนโรงเรียนเลิกนะคะ เพราะป้าตรวจกระเป๋าหนังสือของหนูทุกวัน” ข้าพเจ้ารับปากว่า “ค่ะ เสร็จแล้วครูจะรีบมาคืนก่อนโรงเรียนเลิก”
ข้าพเจ้าประชุมเสร็จเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง เป็นเวลาเลิกเรียนของเด็กชั้นโต แต่ชั้นเล็กประถมปีที่หนึ่งเลิกเรียนไปก่อนหน้านี้ ๑ ชั่วโมง คือเลิกตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่ง เมื่อกลับมาถึงชั้นเรียน ยังมีนักเรียนเหลืออยู่อีก ๗-๘ คน รอกลับพร้อมพี่ๆ ของพวกเขาที่เป็นนักเรียนชั้นโต ข้าพเจ้าถามหาเด็กเจ้าของหนังสือ นักเรียนที่เหลือพากันตอบว่า เด็กผู้นั้นกลับไปแล้ว และบอกข้าพเจ้าว่า
“เห็นเค้าบ่นอยู่ว่าครูยังไม่เอาหนังสือมาคืนซักที กลับบ้านเดี๋ยวป้าเปิดกระเป๋าตรวจ”
ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ เมื่อรับปากว่าจะนํามาคืนให้ทันเวลา เมื่อคืนไม่ทันก็ควรตามไปให้ถึงบ้าน จะได้ไม่เสียคําพูด อีกใจหนึ่งก็เถียงว่าพรุ่งนี้ก็คืนได้ เด็กคงบอกป้าของแกเองว่าครูยืมไป แต่ด้วยความที่ไม่เคยเสียคําพูดหรือมุสาต่อใครๆ ทําให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจ คิดตัดสินใจใหม่จะไปบ้านเด็ก จึงถามว่า มีใครรู้จักบ้านของเด็กที่ข้าพเจ้ายืมหนังสือบ้าง ปรากฏว่ามี ๒-๓ คน จึงให้ไปชวนพี่ๆ ของเขาไปด้วยกัน
ข้าพเจ้าคิดถูกจริงๆ ที่นําหนังสือไปคืนในเวลากระชั้นชิดอย่างนั้น ได้ยินเสียงป้าของเด็กตวาดเด็กเอะอะ เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ตัวป้ากําลังเงื้อไม้เรียวอันยาวขึ้นสูงสุดเตรียมหวดลงก้นหลาน ข้าพเจ้าแย่งไม้ออกจากมือป้าของเด็ก พร้อมกับร้องห้ามเสียงดัง
“อย่าตีค่ะ ดิชั้นเป็นครูของแกเอง”
เสียงป้าแผดดังต่อไป “ครูมาก็ดีแล้ว นี่จะตีมันให้ตายเลย มันทําหนังสือหาย แล้วมาแก้ตัวว่าครูยืมไป ครูจะยืมไปทําอะไร อีนี่โกหก อ้างชื่อครูด้วย ครูอยู่นี่ เอ็งจะแก้ตัวว่าอย่างไร ห๊...า”
“ดิชั้นยืมหนังสือของหนูเจี๊ยบไปจริงๆ ค่ะ”
ข้าพเจ้าดึงเด็กมากอดไว้ แกสะอึกสะอื้นจนตัวสั่น มองดูตามแขนขามีรอยหยิกแดงเป็นจ้ำๆ ป้าของเด็กหยุดชะงัก ค่อยคลายโทสะลง ข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังแล้วก็คุยให้ป้าของเด็กรู้ว่า เด็กอยู่ที่โรงเรียนเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนแค่ไหน นิสัยก็ดีมาก เพื่อนๆ ทุกคนรักใคร่ ความประสงค์เพื่อให้ป้าเห็นคุณค่าของหลาน ข้าพเจ้ายังเน้นเรื่องความเฉลียวฉลาดของเด็กด้วย เพื่อให้เขาคลายใจ พร้อมทั้งย้ำตอนก่อนจากว่า ไม่อยากให้เด็กถูกดุถูกตีมากจะเสียขวัญ พลอยให้เป็นเด็กโง่ ข้าพเจ้าไม่กล้าห้ามป้าของเด็กตรงๆ พูดโดยอ้อมไว้เพียงนั้น
เดินกลับบ้านพักใจยังไม่หายสั่นสะท้าน นี่ถ้าเราไม่ยึดถือคําพูดที่ให้ไว้กับเด็ก รอคืนหนังสือจนพรุ่งนี้เช้า ไม่รู้ว่าเด็กจะถูกตียับไปแค่ไหนกัน หนังสือเล่มละ ๒ บาท ๕๐ สตางค์เท่านั้น เทียบกับขวัญของเด็กแล้วไม่คุ้มค่ากันเลย ทําไมเค้าจึงทํากับลูกหลานโหดร้ายทารุณกันนัก แค่เงินเพียงเล็กน้อย
ความจนของคนทําให้เห็นคุณค่าของเงินสูงกว่าคุณค่าของใจเด็กมากเกินไป ยังโชคดีที่ข้าพเจ้านําหนังสือไปคืนทัน รุ่งขึ้นจําได้ว่าได้ซื้อสมุดทําขวัญให้เด็กหนึ่งเล่ม ภายหลังได้คอยสอบถามเด็กดู เด็กเล่าให้ฟังว่า
“ตั้งแต่ครูคุยกับป้าวันนั้นแล้ว ป้าไม่ดุหนูเหมือนแต่ก่อน”
นี่เป็นมุสาวาทที่ไม่ตั้งใจยังมีผลให้เดือดร้อนขนาดนี้ทีเดียว
ชื่อเรื่องเดิม เจี๊ยบเกือบถูกตี
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม2