หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๔๓)
หลักในการทำงาน (๓)
เกี่ยวกับเรื่องเงิน
ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงานให้สำเร็จนั้น นอกจากบุคลากรแล้ว ก็ต้องถือว่า เงิน คือ สิ่งที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ที่ต้องกล่าวถึง
ดังนั้นในการบริหารการเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ยิ่งการทำงานในต่างประเทศซึ่งมีระเบียบ ข้อกำหนดที่รัดกุม ยิ่งต้องให้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านจะหมั่นสอบถามเรื่องการใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงว่า ลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไร ตามวิสัยของพ่อที่ปล่อยลูกออกจากอก ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ประโยคที่จะได้ยินอย่างสม่ำเสมอจากท่านคือ
“ เป็นไงลูกเอ้ย การเงินมีปัญหาไหม รายรับ รายจ่าย ลงตัวหรือเปล่า ”
“ ยังจัดสรรลงตัวครับหลวงพ่อ ”
“ ดูให้ดีนะ จะใช้จะจ่ายอะไร ก็ให้ดูความจำเป็นเป็นหลัก ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ตระหนี่จนไม่ยอมทำอะไร ”
“ ครับ หลวงพ่อ ส่วนใหญ่ก็จะหนักไปในการพัฒนา ปรับปรุงวัด และค่าพัฒนาบุคลากรเรื่องการศึกษาแหละครับ ”
“ ดี ในเรื่องการพัฒนาคน มันเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่เราเองหรือญาติโยมก็ตาม หากเป็นเรื่องของการพัฒนาเต็มที่นะ แล้วเอ็งจัดการเรื่องเงินยังไง ”
“ ผมในฐานะเจ้าอาวาสกับพระอีกหนึ่งรูป จะมีอำนาจเพียงแค่เซ็นเช็คสั่งจ่าย แต่จะไม่มีโอกาสได้จับเงินเลย ส่วนเหรัญญิกจะเป็นคนเก็บเช็คและเก็บเงิน ก็จะมีหน้าที่เก็บเงินและทำเช็ค แต่ไม่มีอำนาจเซ็นเช็คสั่งจ่าย แยกส่วนกันชัดเจนครับผม ”
“ ดี ทำอะไรขอให้รัดกุม ให้ยึดถือกฎหมายของที่นั่นเป็นหลัก หลวงพ่อขอถามเป็นความรู้ว่าที่นั่นมีระบบการควบคุมเรื่องการเงินอย่างไร ”
อาตมาได้กราบเรียนท่านว่าจริง ๆ แล้วมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ขอสรุปให้ท่าน สั้น ๆ ว่า
“ ในเรื่องของการเงิน จะมีการดูแลกันหลายชั้น กล่าวคือ
ชั้นที่ ๑ ในวัดเองก็จะมีฝ่ายการเงินที่คอยดูแล ควบคุม รายรับ รายจ่าย
ชั้นที่ ๒ จะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของภาคพื้นอเมริกา มาคอยตรวจสอบเป็นระยะ ๆ
ชั้นที่ ๓ จะมีเจ้าหน้าที่ผู้สอบบัญชี(CPA) คอยดูแล ตรวจสอบ ก่อนจะยื่นส่งให้ทางสรรพากร
นอกจากนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของทางธนาคาร จะคอยมาสอบถามหากเขาเห็นว่าเรามีการใช้จ่ายหรือมีรายรับที่มากกว่าปกติครับหลวงพ่อ ”
“ ดีมาก จะทำอะไรก็ตามต้องให้โปร่งใส ให้ตรวจสอบได้ อย่าให้ใครมาระแวงสงสัยเราได้ หากมีปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แม้ไม่ผิดก็จะถูกมองไม่ดี ทำไงได้ ของมันจำเป็นต้องใช้ แต่เมื่อต้องใช้ก็ต้องใช้ให้เป็น ให้เราเป็นนายของเงิน อย่าให้เงินมาเป็นนายของเราจำไว้ ”
จากการที่ยึดมั่นเอาหลวงพ่อทั้งสองเป็นต้นแบบ คือ การอุทิศชีวิตให้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย จึงทำให้พระลูกชายทุกรูป ไม่เคยคิดจะติดในลาภสักการะ เมื่อเห็นปัจจัยก็ดีใจที่จะได้เอามาทำงาน ไม่เคยคิดว่าจะต้องสะสมเพื่ออะไร
ขนาดพระลูกชายยังคิดกันแบบนี้ แล้วหลวงพ่อทั้งสองจะสนใจอะไรกับสิ่งของเงินทองเหล่านั้น ท่านมองว่า ปัจจัย เป็นเพียงอุปกรณ์ในการสร้างบารมีเท่านั้นเอง
โปรดเถิด อย่าได้เอาใจของปุถุชน มาวัดใจของผู้ที่ปรารถนาความหลุดพ้นเลย
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๒ ก.ย. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae