หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่๔๙)
มองที่ตน
หากเราดูข่าวเป็นประจำ จะพบว่าสังคมทุกวันนี้ มีแต่การจ้องจับผิดกัน เอาความผิดพลาดของผู้อื่นมาประจาน ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ ลูกน้องไม่เคารพหัวหน้า ส่งผลให้การให้เกียรติกันหมดไป
หลวงพ่อทัตตชีโวท่านเคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ ในครอบครัวใดก็ตามที่พ่อแม่ไม่เป็นต้นแบบให้ลูก ตัวเองก็จะสอนลูกไม่ได้ เมื่อสอนลูกไม่ได้ เด็กก็จะมองข้อบกพร่องของพ่อแม่ แล้วในที่สุดความเคารพก็จะหมดไป ”
หลวงพ่อเคยเล่าเรื่องผักบุ้งลอยฟ้าให้ลูก ๆ ในองค์กรฟังบ่อย ๆ เพื่อเป็นข้อคิด เรื่องมีอยู่ว่า ที่ร้านอาหารตามสั่ง มีทั้งคนไทยและคนต่างชาตินั่งทานอาหารกันอยู่ เวลาเขาผัดเสร็จ เขาก็จะส่งสัญญาณว่าจะโยนแล้วนะ พ่อครัวก็จะโยนผัดผักบุ้งไปในอากาศ บริกรก็จะรีบเอาจานไปรับ หากรับได้ ปรากฏว่าคนต่างชาติ ปรบมือกันใหญ่ คนไทยนั่งเฉย แต่พอจานไหนที่พลาดรับไม่ได้ ผักบุ้งหล่นที่พื้น คนไทย ปรบมือ เฮ ชอบใจกันใหญ่ คนต่างชาติจะนิ่งเงียบ
หลวงพ่อได้สรุปให้ฟังว่า “ นี่คือทัศนคติที่เสีย ๆ ของเรา คือ เวลาเห็นความผิดพลาดของผู้อื่น กลับกลายเป็นเรื่องที่เราพออกพอใจ ทำให้คอยมองหาแต่ความหายนะของผู้อื่น จนเกิดอุปนิสัยในการจ้องจับผิด ฉะนั้น เวลาเกิดอะไรขึ้นในสังคม จึงมักจะโทษผู้อื่น เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว โดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนแค่ไหน ขอให้ตนเองไม่ติดร่างแหเป็นพอ ”
สิ่งที่อาตมาประทับใจครูบาอาจารย์อีกเรื่องหนึ่งคือ ทัศนคติหรือมุมมองของท่าน เวลาเกิดอะไรขึ้นหลวงพ่อทั้งสองไม่เคยโทษใคร ท่านจะย้อนมาดูตัวเองตลอด รวมทั้งสอนให้พวกเราหัดมองตนเองเป็นสำคัญ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะสร้างวัด ท่านก็ตั้งคำถามแล้วว่า
“ ทำไมคนไม่เข้าวัด ”
โดยทั่วไปก็มักจะตอบว่า เพราะคนขาดศีลธรรมบ้าง เพราะคนติดเรื่องไร้สาระบ้างหรืออะไรอย่างอื่นที่จะเป็นการมองที่ผู้อื่น ซึ่งประเด็นนี้ หลวงพ่อทัตตชีโวเคยให้แง่คิดว่า
“ การโทษผู้อื่น มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่ได้นำมาสู่การแก้ปัญหา แต่หากย้อนมาดูที่ตัวเรา เช่น เวลาจะสร้างวัด มาตั้งสมมุติฐานที่ตัวเราว่า คนไม่เข้าวัดเพราะวัดไม่น่าเข้า อย่างนี้จะทำให้เราตั้งคำถามต่อไปได้ว่า แล้วจะทำอย่างไรให้วัดน่าเข้า ”
หลวงพ่อยังได้เมตตาเล่าต่อไปว่า “ แม้แต่เรื่องการบวช หลวงพ่อได้ยินคนพูดมาเยอะ พระไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ พอบอกเขาว่า อยากได้พระดีให้ได้ดังใจ ทำไมไม่ออกบวช แล้วทำตัวให้ได้ดังใจ ตามที่ตนเองอยากได้พระในอุดมคติ เขาก็จะเงียบและหลีกไป
หลวงพ่อตระเวนหาครูบาอาจารย์มาเยอะ จนได้มาพบยาย แม้ยายไม่ใช่พระ แต่คำสอนของยาย ทำให้หลวงพ่ออยากบวช อยากเป็นพระภิกษุที่สมบูรณ์แบบตามสามัญญผลสูตร ”
หลวงพ่อเคยเล่าให้ลูก ๆ ในองค์กรฟังว่า “ หากเราไม่รู้ว่าจะใช้หลักอะไรในการฝึกตน ก็ลองนึกง่าย ๆ ว่า หากมีใครสักคน ที่ทำตัวเหมือนเรานี่ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ทำอะไรทุกอย่างเหมือนที่เราทำเลย แล้วเรามีความรู้สึกว่าอยากกราบเจ้าคนนั้นเหลือเกิน นั่นแสดงว่า เราฝึกตัวใช้ได้แล้ว ”
แม้ในภาวะปัจจุบันที่มีอดีตคนเคยอาศัยวัด อาศัยหลวงพ่อ ออกมาใส่ร้าย จ้วงจาบหลวงพ่อตลอด แต่หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ไม่ได้ตำหนิเขาแม้แต่คำเดียว ท่านกลับมองว่าเป็นความผิดพลาดของท่านเอง
“ เรื่องนี้เป็นความบกพร่องของหลวงพ่อเอง ถามว่าเห็นไหมว่าเขาจะเป็นอย่างนี้ ก็เห็นนะว่าคนมีเชื้อ แต่นึกถึงว่า ถ้าเขามีความรู้ความสามารถ จะได้เอาประโยชน์ตรงนี้มาทำงานพระพุทธศาสนา เลยกลายเป็นว่าหลวงพ่อรู้ได้ ไม่รู้เสีย ”
ก็ขอฝากพวกเราด้วย ในฐานะนักสร้างบารมี ขอให้หันหน้ามาจับผิดตนเอง เพื่อเราจะได้แก้ไขข้อบกพร่องให้ได้มากที่สุด ภพชาติต่อไป จะได้สร้างบารมีได้สะดวกยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๙ ก.ย. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae