คุณค่าทางใจ

วันที่ 09 พย. พ.ศ.2559

คุณค่าทางใจ,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
คุณค่าทางใจ
 
 
เมื่อสิบปีเศษแล้ว ในกรุงเทพมหานครมีพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักที่สุดเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง พายุลูกนั้นมีชื่อว่า เอลซี่ พัดทั้งลมแรงและฝนตกหนักไม่ขาดระยะถึง ๓ วัน ๓ คืน ทางราชการต้องสั่งให้โรงเรียนปิดหมดทุกแห่งในกรุงเทพฯ มีแต่น้ำเจิ่งนองตามตรอกซอกซอยต่างๆ ต้องใช้ทั้งเรือจริงและเรือปลอมพายรับส่งผู้คน (เรือปลอม หมายถึง ใช้ยางในรถยนต์เป่าลมแล้วเอาไม้กระดานพาดให้คนนั่งได้) เรื่องรถยนต์ส่วนตัวต้องจอดกันไว้ในบ้าน ส่วนใหญ่จอดแช่น้ำ เพราะน้ำท่วมมาถึงพื้นบ้านชั้นล่างแทบทั้งสิ้น ยกเว้นบ้านผู้มีอันจะกินที่ถมพื้นไว้สูงกว่าธรรมดา
 
ครบ ๓ วัน พายุฝนจากไป โรงเรียนเปิดเรียนเป็นปกติ ครูชั้นประถมปีที่สามห้องที่ ๗ มารายงานต่อข้าพเจ้าว่า นักเรียนหญิงของห้องเขาชื่อปราณีไม่มาโรงเรียน เด็กคนนี้แม้ไม่มีพายุก็ขาดเรียนบ่อยมาก สัปดาห์หนึ่งๆ จะขาดเรียนถึง ๒ วัน เป็นประจํา ท้ายที่สุดก็พูดเป็นทํานองไม่ต้องการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนของเขา
 
“หนูว่าแกไม่อยากเรียน ก็ให้ลาออกไปเถอะค่ะ อยู่ไปก็ทําคะแนนเฉลี่ยของชั้นหนูต่ำลงไปอีก”
 
ประโยคที่ว่า ทําคะแนนรวมของห้องตกต่ำ นี่ ข้าพเจ้าได้ยินครูผู้ใต้บังคับบัญชาชอบเอามาอ้างเพื่อเอาเด็กออกจากโรงเรียนอยู่เสมอ เขาช่างไม่รู้ตัวบ้างเลยว่า การคิดการพูดอย่างนั้นทําให้ผู้บังคับบัญชาอย่างข้าพเจ้าตีราคาน้ำใจของเขาต่ำ เห็นเขาเป็นครูรับจ้าง เป็นครูปลอมไม่ใช่ครูจริง ครูจริงจะต้องรักเด็ก มีน้ำใจต่อเด็ก เห็นเด็กมีปัญหาต้องตามไปดูให้รู้ถึงสาเหตุ ช่วยแก้ไขได้ก็ช่วย แก้ไม่ไหวก็เสนอผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป ไม่ใช่พอเด็กมีปัญหา รีบขอให้ไล่ออกไปให้พ้นตัว เกรงว่าจะทําให้คะแนนเฉลี่ยของห้องเรียนต่ำกว่าห้องอื่น ตนเองจะถูกเพ่งเล็งเรื่องสมรรถภาพการสอน จะไม่ได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจําปีเป็นพิเศษ ไม่ได้เงินเดือนขึ้นสองขั้น เป็นต้น
 
ถึงจะนึกตําหนิติเตียนมาก ข้าพเจ้าก็ไม่แสดงออก กล่าวแต่เพียงว่า
 
“คุณช่วยจดบ้านเลขที่ของเด็กจากสมุดประวัติประจําตัวนักเรียนมาให้พี่หน่อย เดี๋ยวพี่จะตามไปดูถึงบ้านของแก”

ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ ถ้าเป็นครูจริงจะต้องคิดได้ เพราะเป็นหน้าที่ของตัวเขา เขาจะต้องขอโทษข้าพเจ้าและต้องรีบรับปากว่าเขาจะไปตามดูเอง แต่เนื่องจากครูคนนี้เป็นครูปลอมจึงเห็นเป็นความสบายของตน ดีเสียอีกเขาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เขารีบไปจดบ้านเลขที่ของเด็กหญิงปราณีมาให้โดยเร็ว

ข้าพเจ้าชวนครูสตรีผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายปกครองไปด้วยกันสองคนในเย็นวันนั้น ขับรถไปตามถนนในทะเบียนบ้าน หาพบไม่ยากเมื่อถามดูถึงชื่อแม่ของเด็กและตัวเด็ก เจ้าของบ้านชี้แจงว่าเป็นเพียงชื่อที่ฝากอยู่ในทะเบียน เพราะสงสารว่าเด็กจะไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนบ้านจริงๆ อยู่ในดงน้ำเน่า ห่างจากที่นั่นไปอีกไกล พร้อมกันนั้นเจ้าของบ้านก็ใจดีเขียนแผนที่ให้คร่าวๆ

ลมฝนยังไม่หมดไปทีเดียว ไม่มีพายุแล้วก็จริง แต่เม็ดฝนยังโปรยปรายอยู่ทั่วไป ตามแผนที่นั้นไม่สามารถขับรถเข้าไปได้ ต้องจอดไว้ปากทางเข้า แล้วเดินเข้าตามซอยเล็กซอยน้อย น้ำท่วมตั้งแต่ตาตุ่มไปจนถึงหัวเข่า ล้วนแต่น้ำสกปรก น้ำฝนปนน้ำครําใสบ้างขุ่นบ้างสลับกันไหลหลากอยู่ทั่วไป

มีร่มอยู่เพียงคันเดียวใช้สองคน เดินไปด้วยกัน ร่มบังได้เฉพาะศีรษะ เราสองคนเปียกกันแทบทั้งตัว ท่อนบนเปียกฝนจากฟ้า ท่อนล่างเปียกฝนปนน้ำเน่า ดูแผนที่บ้าง ถามชาวบ้านถึงชื่อของแม่เด็กบ้างเกือบชั่วโมงจึงได้พบ

สภาพที่เห็นข้าพเจ้าไม่ขอเรียกว่าบ้าน จะเรียกว่ากระท่อม กระต๊อบอะไรๆ ก็เรียกไม่ได้ เป็นเศษไม้ต่อกันเป็นเสา ๔ เสา หลังคาใช้ถุงพลาสติกใบเล็กใบใหญ่ขึงด้วยเชือกผูกโยงกันไว้ยุ่ง พื้นล่างเป็นไม้ลังฉำฉาแกะออกเป็นฝาๆ ปูเรียงกัน ขนาดกว้างยาวพอนอนกัน ๔ คนแม่ลูก ฝาบ้านใช้ลังกระดาษแกะออกผูกโยงกันระเกะระกะเหมือนหลังคา

เมื่อมีพายุฝนพัดกระหน่ำถึง ๓ วัน ๓ คืน น้ำฝนเปียกจนทั่วที่อยู่ หลังคากันฝนไม่ได้เลย ฝาเป็นลังกระดาษถูกฝนหลายวันหลายคืน เปื่อยยุ่ยหลุดร่วงลงไปกองในน้ำครำซึ่งท่วมขึ้นมาบนกระดานไม้ฉำฉา จนเหลือเพียงที่แม่ลูกพอนั่งได้

แม่ลูกทั้ง ๔ คน ล้วนแต่นั่งห่มผ้าเก่าๆ ซึ่งเปียกชื้น ตัวสั่นด้วยพิษไข้หวัด เป็นไข้กันหมดทุกคน แม่ต้องตากฝนหยิบโน่นเก็บนี่ทั้งที่จับไข้ เพราะน้ำครําท่วมสูงขึ้นทุกที ของใช้จะลอยน้ำไปเสีย มีสิ่งเดียวที่ไม่เปียกถูกเก็บไว้ในที่สูงลิ่ว ห่อด้วยถุงพลาสติกอย่างดี มันคือรองเท้านักเรียนคู่ใหม่เอี่ยมของปราณีซึ่งข้าพเจ้าให้ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าจ้องมองรองเท้าคู่นั้น เหมือนมารดาของเด็กจะเข้าใจความรู้สึกของข้าพเจ้าที่สงสัยว่าทําไมรองเท้าจึงอยู่ในที่ไม่สมควร ราวของมีค่าที่สุดในบ้านอย่างนั้น เธอจึงอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า

“รองเท้าที่ครู (ชาวบ้านจะเรียกครู ไม่เรียกอาจารย์) ให้ปราณีมา เค้ารักของเค้ามาก ดูแลระมัดระวังอย่างดีที่สุด เวลานอนก็ต้องเอานอนด้วยค่ะ นั่นเค้าก็เอาไปไว้ของเค้าเอง อะไรๆ จะเปียกไม่เป็นไร ขอให้รองเท้าปลอดภัยเป็นพอ”

ฟังแม่ของเด็กพูดแค่นั้น ข้าพเจ้าก็เดาเรื่องออกหมด มองดูทั่วบ้าน รองเท้าคู่นั้นราคาแพงกว่าของทุกอย่าง จึงหันไปถามปราณีว่า

“นี่ตั้งแต่ครูให้ลูกมา หนูไม่เคยใส่มันเลยใช่มั้ยจ้ะ”

“ค่ะ หนูรักมันมาก ตั้งแต่เกิดมาหนูไม่เคยมีรองเท้าสวยอย่างนี้เลย มีแต่ของเก่าๆ ที่เพื่อนแถวนี้เค้าใส่คับแล้วให้มา หนูเลยไม่อยากใส่มัน กลัวมันเลอะค่ะ”

ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกทั้งหมดของเด็กจึงไม่พูดอะไรต่อ หันไปสนใจเรื่องความเป็นอยู่ ถามรายละเอียดจากแม่เด็ก

“นี่ไม่สบายกันหมดทุกคนเลย ทั้งจามทั้งไอ ตัวร้อนจี๋กันทั้งนั้น ซื้อยามากินกันแล้วหรือยังคะ”

“ยังไม่ได้ซื้อเลยค่ะ”

แม่ของเด็กตอบพร้อมกับน้ำตาคลอเต็มเบ้า เมื่อถูกข้าพเจ้าถามว่าไม่มีเงินหรือ เขาก็ตอบว่า

“วันนี้ทั้งวันยังไม่มีข้าวกินกันเลย อดกันมาตั้งแต่เช้าแล้วค่ะ จะเอาที่ไหนซื้อยา”

แม่ของเด็กมีอาชีพพับถุงปูนซีเมนต์ไปขายให้แม่ค้าผลไม้ (สมัยนั้นถุงพลาสติกก็อบแก็บ ๒ หู ยังไม่มีผลิตออกมาขาย) พายุฝนกระหน่ำมาดังนี้ ถุงเปียกหมดทั้งกอง นําไปส่งขายแม่ค้าไม่ได้เลย

เมื่อข้าพเจ้าซักรายละเอียดว่า เหตุใดเด็กหญิงปราณีต้องขาดเรียนทุกสัปดาห์ แม่ของเด็กอธิบายว่า

“ชั้นต้องเอาถุงไปเดินขายค่ะ ขายวันเว้นวัน วันไหนขายก็ต้องให้ปราณีหยุดเรียนเลี้ยงน้องคนเล็ก (ยังไม่เต็ม ๓ ขวบ)”

“ไม่มีร้านรับซื้อหรอกรึคะ”

“ไม่มีค่ะ แบกเดินขายเรื่อยไป บางทีตั้งแต่เช้าถึงค่ำจึงจะหมดค่ะ ต้องไปถึงสะพานหันโน่น จึงจะหมด” อีกฝ่ายตอบ

รายได้จากการขายถุงกระดาษ ทําได้อย่างมากที่สุดวันละไม่เกิน ๗ บาท (ข้าวแกงจานละ ๑ บาท) ยังดีที่ปราณีและน้องคนรองซึ่งอยู่ชั้นประถมปีที่หนึ่งได้รับทุนของโรงเรียน ทั้งอาหารกลางวัน เครื่องเรียน เครื่องแต่งกาย กระทั่งรองเท้า มารดาของเด็กรําพันถึงบุญคุณของโรงเรียนไม่ขาดปาก ข้าพเจ้าถามถึงพ่อของเด็ก ได้ทราบว่าติดเฮโรอีน เมื่อไม่มีรายได้พอซื้อมาเสพก็ต้องค้าเฮโรอีน จึงถูกจับไปอยู่ในคุก ทนอดยาไม่ได้ อาเจียนเป็นโลหิต (คนโบราณเรียกว่า ลงแดง) ถึงแก่ความตาย

สิ่งเสพติดให้โทษรุนแรงขนาดนี้ ต้องปล่อยให้ครอบครัวโดยเฉพาะลูกที่ยังเล็กๆ ถึง ๓ คน พบกับความอดอยากยากจน

วันนั้นข้าพเจ้าให้เงินไว้จํานวนหนึ่ง ดูเหมือน ๑๔๐ บาท ให้ซื้ออาหารและยา ก่อนจากกัน ได้พูดย้ำกับเด็กหญิงปราณีและแม่ของแกว่า

“พรุ่งนี้ครูจะมาหาใหม่ จะเอาหมอมาด้วย”

ตลอดเวลาผู้ช่วยของข้าพเจ้าพูดอะไรไม่ออก เธอนึกไม่ถึงว่าสภาพครอบครัวเด็กจะเป็นถึงขนาดที่เห็น

เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ถึงกําหนดประชุมประจําเดือนของมูลนิธิฯ ข้าพเจ้าจึงต้องแก้ไขเหตุการณ์ไปตามสติปัญญาของตน เวลานั้นสังกะสีแผ่นละ ๑๐ บาทเศษ ข้าพเจ้าบริจาคเองร่วมกับเพื่อนครูบางคนที่ทราบ เรื่องและมีศรัทธา รวมได้ ๒๑ แผ่น ขอข้าวสารจากบุคคลภายนอกที่มีเมตตาได้ ๒ กระสอบ (แบ่งให้ครอบครัวอื่นๆ ด้วย) ขอความช่วยเหลือจากกองอนามัยโรงเรียน ได้แพทย์และพยาบาลไปรักษากันถึงบ้าน นี่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ข้าพเจ้าบอกแม่ของเด็กว่า

“ดิชั้นจะให้ปราณีขาดเรียนทุกสัปดาห์ยังงี้ไม่ได้นะคะ จะเรียนไม่ทันเพื่อน แล้วถ้าเวลาเรียนไม่ครบตามหลักเกณฑ์ก็จะไม่มีสิทธิ์สอบไล่ด้วย วันไหนที่คุณจะต้องไปขายถุงกระดาษ คุณให้ปราณีเอาน้องไป โรงเรียนด้วยแล้วกัน จะอนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ ข้าวปลาก็ไปกินกับพี่ของแกที่โรงเรียนโน่น”

แม่ของเด็กแสดงความดีอกดีใจเห็นได้ชัด ข้าพเจ้าพูดกับเด็กว่า

“ปราณี ลูกต้องใส่รองเท้าคู่ใหม่ไปโรงเรียนนะจ๊ะ รองเท้ามีไว้ใส่เท้า ไม่ใช่มีไว้ดูเล่น ถ้าเก่าขาดเมื่อใดให้ไปบอกครูทันที ครูจะซื้อให้ลูกใหม่จ้ะ ถ้าหนูไม่ยอมใส่เดี๋ยวเท้าโตขึ้น รองเท้าก็คับ ใส่ไม่ได้แล้ว รองเท้านะลูกถ้าทิ้งไว้ไม่ใช้ หนังมันก็จะเสีย มันจะแข็งหมด ใส่แล้วกัดเท้า”

เด็กรับคําข้าพเจ้า สิ่งของที่ข้าพเจ้าจัดซื้อให้นักเรียนขาดแคลนของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าหนังสือ รองเท้าแบบเรียน เครื่องเขียน กระทั่งสมุดดินสอ ข้าพเจ้าเป็นคนร่วมกับครูที่เป็นกรรมการจัดซื้อและดําเนินการด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด ของทุกอย่างใช้คุณภาพอย่างดีเหมือนที่บุตรธิดาของข้าพเจ้าใช้ ยิ่งเป็นเครื่องแบบนักเรียน ใช้วิธีซื้อผ้าชนิดดีมาเป็นพับๆ จากตลาดพาหุรัด ให้ช่างวัดตัวตัดกันทีเดียว มิได้ใช้วิธีซื้อสําเร็จรูป เพราะไม่ได้ขนาด เสื้อผ้าที่ตัดขายกันอยู่เหมาะสําหรับเด็กธรรมดาที่ไม่ขาดแคลน ร่างกายเติบโตตามปกติ รูปร่างได้มาตรฐาน ส่วนเด็กยากจนนั้น รูปร่างไม่ได้สัดส่วนเลยสักรายเดียว ผอมสูง ถ้าจะวัดเอวให้ได้ขนาดพอดีเอว (เอวเด็กเล็กกว่าเด็กธรรมดามาก) ความยาวของตัวก็จะสั้นเต่อใช้ไม่ได้ ถ้าให้ความยาวใช้ได้ เอวก็จะกว้างมากมาย

เจตนาดีของข้าพเจ้ามีขนาดนี้ แต่ได้รับการตอบสนองที่น่าหดหู่ใจในบางครั้งอยู่บ้าง เพราะบ่อยๆ ที่พบว่านักเรียนรับทุนได้เสื้อผ้าไป ๒ ชุดบ้าง ๓ ชุดบ้าง แต่กลับไม่ได้ใส่มาโรงเรียน ยังคงใส่เหมือนผ้าขี้ริ้วมาตามเดิม เมื่อซักไซ้ไล่เลียงกันเข้า ปรากฏว่าผู้ปกครองนําไปขายซื้อข้าวสารกิน ยากจนกันถึงขนาดนั้น บางทีต้องใช้วิธีให้ใส่มาให้ดู มิฉะนั้นจะงดไม่ให้ทุนทุกชนิด ขู่กันไปขนาดนี้ผู้ปกครองจึงถือโอกาสไม่ได้อีก

นับแต่ข้าพเจ้าแก้ปัญหาให้ ปราณีก็ไม่ขาดโรงเรียนอีก วันใดที่มีน้องมาโรงเรียนด้วย แกจะพามาหาข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าก็มักซื้อขนมอร่อยๆ ให้กิน เพื่อนๆ ในห้องเรียนของปราณีก็พลอยช่วยเลี้ยงน้องปราณีไปด้วย บ่ายๆ เด็กเล็กนอนหลับตลอดบ่าย ไม่ทําความเดือดร้อนอะไรให้ครูประจําชั้น ถ้าเป็นชั่วโมงที่ปราณีต้องมีกิจกรรมพิเศษ เช่น พลศึกษา น้องของปราณีก็จะตามไปดูพี่สาวกับเพื่อนๆ ที่ในสนาม ยังโชคดีที่ไม่มีผู้ปกครองคนอื่นๆ เอาตัวอย่าง มิฉะนั้นคงจะต้องกลายเป็นโรงเรียนอนุบาลอีกโรงหนึ่งเป็นแน่

ข้าพเจ้าอาจจะเล่าให้ท่านเห็นความยากจนของครอบครัวนี้ชัดเจนละเอียดมากเกินไป จุดประสงค์ก็ต้องการให้เห็นโทษของคนที่ติดยาเสพติด ไม่เพียงทําทุกข์ให้เฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่เดือดร้อนสาหัสกันหมดทั้งครอบครัว พลอยมาถึงสถาบันและผู้คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ นี่โทษในปัจจุบันทันตาเห็น ยังดีที่รายนี้ชิงตายเสียในคุก ถ้าเป็นคนที่ตํารวจจับยังไม่ได้ ก็คงต้องรีดไถผู้คนในบ้าน ถ้าไม่มีหนทางเข้า อาจหากินทางมิจฉาชีพประการต่างๆ บางคนเป็นอาชญากร ปล้นจี้ฆ่าเจ้าทรัพย์เพื่อแสวงหาเงินมาซื้อสิ่งเสพติดเหล่านั้น ทําให้สังคมพลอยเดือดร้อนทั่วถึงกันไปหมด

คนที่ติดสิ่งเสพติดร้อยทั้งร้อยเป็นคนอ่อนแอ จิตใจโลเลไม่เข้มแข็ง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต ขาดอุดมการณ์ เมื่อจิตใจหวั่นไหวง่าย จึงมักถูกชักจูงจากเพื่อนฝูง เพื่อนว่าอย่างไรว่าตามกัน เพื่อนที่ดีๆ หามาคบไม่ใคร่ได้ ได้แต่เพื่อนเลว เพื่อนชวนให้ทําเลวๆ ก็ทําตามโดยปราศจากความยั้งคิด นี่เป็นประเภทหนึ่ง

อีกประเภทก็เป็นพวกอวดดี อวดเก่ง คิดว่าตนเองจะมีกําลังกาย กําลังใจเข้มแข็ง อยากทดลองชิมดูให้รู้พิษสง ทดลองแล้วก็ช่วยตนเองให้พ้นอํานาจของมันไม่ได้ เข้าทํานองอยากรู้ฤทธิ์พิษงูเห่า ลองให้มันกัดดูหน่อย ก็ตายเปล่า เห็นตัวอย่างที่คนอื่นได้รับควรหลีกให้ห่างไกล กลับอยากทดลอง เรียกว่า โง่แกมอวดดี
 

 
ชื่อเรื่องเดิม : น้ำท่วมบ้านปราณี
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม2 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011810501416524 Mins