พระพากุลเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้มีอาพาธน้อย
พระพากุลเถระ ท่านเป็นพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศในด้านมีอาพาธน้อย หรือป่วยน้อย แต่กว่าท่านจะได้เป็นเลิศด้านนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะผลบุญที่ทำเพียงแค่ชาติเดียว หรือทำกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว แต่ท่านต้องบำเพ็ญบุญอย่างตลอดต่อเนื่องยาวนานถึงแสนกัป โดยทำบุญไว้ในกาลสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากถึง 4พระองค์ด้วยกัน คือ
สร้างมหากุศลใหญ่ในสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
ย้อนไปหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัป ซึ่งตรงกับสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสีในชาตินั้น พระพากุลเถระได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ แต่พอร่ำเรียนพระเวทจนจบแล้ว ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่หนทางแห่งการหลุดพ้น จึงตัดสินใจออกบวชเป็นดาบสฤๅษี บำเพ็ญเพียรจนได้อภิญญา 5 และสมาบัติ 8 จากนั้นก็เสวยสุขอยู่ในฌาน จนกระทั่งได้ทราบข่าวการตรัสรู้ธรรมของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า จึงได้ออกเดินทางไปเข้าเฝ้าฟังธรรมจากท่าน ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้วก็เกิดจิตเลื่อมใสตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย และนับจากนั้นท่านดาบสก็มาฟังธรรมจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าอยู่เรื่อย ๆ
จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ท่านดาบสได้มาเฝ้าพระตถาคตตามปกติ แต่วันนั้นเป็นวันที่พระองค์ประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร (ท้อง) ดาบสจึงคิดว่า นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้เอาบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้รีบไปเก็บสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่เชิงเขา แล้วเอามาประกอบเป็นยา ถวายแด่พระเถระที่อุปัฏฐากพระศาสดา ครั้นเมื่อพระศาสดาเสวยแล้ว โรคลมในพระอุทรก็สงบลง
จากการกระทำในครั้งนั้นเอง ท่านดาบสได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ความผาสุกอันใดที่เกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพเจ้านี้ ด้วยผลแห่งการถวายยานั้น ขอความเจ็บไข้ทางร่างกาย แม้แต่เพียงเท่าการถอนผม ก็จงอย่ามีในภพที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วเลย”ด้วยอานิสงส์ผลบุญนี้เอง หลังจากละโลกแล้วท่านดาบสก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และเวียนว่ายอยู่ในเทวโลก มนุษย์โลก โดยไม่ไปทุคติภูมิเลยยาวนานถึงหนึ่งอสงไขย
สร้างมหากุศลใหญ่ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้ามาในยุคของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
พระพากุลเถระได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี มาวันหนึ่งบุตรเศรษฐีก็ได้เดินทางเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา โดยยืนฟังอยู่ด้านท้ายของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ซึ่งในขณะนั้น ท่านก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้มีอาพาธน้อย จากเหตุการณ์นี้เอง ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้บุตรเศรษฐีปรารถนาที่จะอยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในกาลสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ บุตรเศรษฐีจึงสร้างมหากุศลใหญ่อย่างยิ่งยวด แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นเลิศทางด้านเป็นผู้มีอาพาธน้อยด้วยจิตที่เลื่อมใส และนับจากนั้นตลอดชีวิตของท่าน ก็ได้สร้างบุญกุศลจวบจนวาระสุดท้ายด้วยอานิสงส์ผลบุญนี้เอง หลังจากละโลกแล้ว ท่านได้เวียนว่ายอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอดกาลยาวนานหลายภพหลายชาติ
สร้างมหากุศลใหญ่ในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้าในยุคของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
พระพากุลเถระได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กรุงพันธุมวดี ต่อมาได้ออกบวชเป็นดาบสฤๅษี และบำเพ็ญเพียรจนได้ฌาน จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านได้ทราบข่าวการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ไปเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม แล้วเกิดจิตเลื่อมใส ทำให้ท่านถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ อีกทั้งยังหมั่นมาฟังธรรมและคอยดูแลอุปัฏฐากพระศาสดาตามโอกาสสมควรจนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ท่านดาบสฤๅษีมาเข้าเฝ้าพระศาสดานั้น ได้สังเกตเห็นบรรดาเหล่าภิกษุล้วนนั่งคลุมศีรษะ ท่านจึงได้ถามว่า “ท่านเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์เป็นอะไร ? ” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “เป็นโรคดอกไม้พิษที่ศีรษะ เพราะถูกละอองเกสรดอกไม้ของต้นไม้พิษที่พัดมาตามลมจากป่าหิมพานต์”
เมื่อดาบสฟังดังนั้น จึงคิดอยากจะเอาบุญกับภิกษุทั้งหลาย โดยช่วยให้ท่านหายป่วย จึงไปเก็บยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ แล้วเอามาประกอบเป็นยาถวาย ซึ่งเมื่อภิกษุทุกรูปได้ฉันยาของดาบสแล้ว โรคที่เป็นอยู่ก็สงบทันที ด้วยอานิสงส์ผลบุญนี้ หลังจากละโลกแล้ว ท่านได้ไปบังเกิดในพรหมโลก และเวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกตลอด 91 กัป
สร้างมหากุศลใหญ่ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ครั้นในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า พระพากุลเถระได้เกิดเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี และแล้ววันหนึ่ง ท่านได้พิจารณาดูบ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่แล้วรู้สึกว่าเก่าทรุดโทรม จึงออกเดินทางไปยังชายแดนกับพวกช่างไม้ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาซ่อมแซมบ้านของตน แต่ระหว่างเดินทางก็ได้พบวัดใหญ่ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าปรักหักพัง เพราะขาดการบำรุงรักษา ท่านจึงบอกกับพวกช่างไม้ทั้งหมดว่า ขอชะลอการซ่อมแซมบ้านของท่านไว้ก่อน โดยให้เอาวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดมาซ่อมแซมวัด และสร้างโรงอุโบสถ สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล) ที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ (ส้วม) และที่สำคัญยังจัดตั้งยาใช้และยาฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ครบถ้วนทุกอย่าง ด้วยอานิสงส์ผลบุญตรงนี้เอง หลังจากละโลกแล้วท่านได้เวียนว่ายอยู่ในสองภพภูมิ คือ เทวโลกและมนุษย์โลกตลอดระยะเวลาหนึ่งพุทธันดร
ได้เป็นเอตทัคคะด้านมีอาพาธน้อยในชาติสุดท้าย
สมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ พระพากุลเถระได้มาเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี แห่งนครโกสัมพี ช่วงก่อนที่พระสมณโคดมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น และในระหว่างที่ท่านถือปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทำให้ตระกูลของท่านประสบลาภผลอันเลิศ ถึงขนาดทำให้มารดาของท่านคิดว่า ลูกของเราคนนี้ ต้องเป็นเด็กมีบุญญาธิการ และถ้าลูกคนนี้เป็นผู้ไม่มีโรคและมีอายุยืนอยู่ได้นานขนาดไหน ก็จะเป็นผู้บันดาลสมบัติให้แก่เราตลอดกาลยาวนานขนาดนั้น
เมื่อคิดดังนี้ จึงเอาลูกไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา เพราะสมัยนั้นใคร ๆ ก็จะเอาเด็กมาอาบน้ำในแม่น้ำสายนี้ เพราะมีธรรมเนียมถือกันว่า ถ้าเอาเด็กลงอาบน้ำในแม่น้ำนี้ จะทำให้เป็นผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บครั้นเมื่อพวกพี่เลี้ยงพาพากุลกุมารไปอาบน้ำ ก็มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งสำคัญว่าทารกเป็นอาหาร จึงกลืนทารกเข้าไปในท้อง
แต่ด้วยบุญของทารกน้อยพากุละ ทำให้ทารกรู้สึกประหนึ่งเหมือนเข้าไปสู่ห้องนอนแล้วหลับไปเท่านั้น ตรงกันข้าม ด้วยเดชแห่งทารก ปลาที่กลืนกินทารกเข้าไป กลับรู้สึกทรมานเหมือนกลืนภาชนะร้อนลงไป จึงทำให้ปลาผู้โชคร้ายตัวนั้น มีกำลังว่ายต่อไปได้ 30 โยชน์ แล้วไปติดอวนของชาวประมงเมืองพาราณสี และพอชาวประมงนำปลาออกจากอวนก็ตายทันที เลยทำให้ชาวประมงหาบปลาใส่คานร้องประกาศขายไปทั่วเมืองว่า จะขายปลาตัวนี้ด้วยราคาหนึ่งพันกหาปณะ
ครั้นเมื่อชาวประมงหาบปลามาถึงประตูเรือนของเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ภริยาเศรษฐีเห็นเข้าก็ถูกใจ จึงถามว่า จะขายเท่าไร ชาวประมงแทนที่จะตอบตามราคาที่ตั้งใจไว้ กลับตอบไปว่า ขายหนึ่งกหาปณะ นางจึงรีบซื้อไว้ทันที
ปกติภริยาเศรษฐี จะไม่ชอบทำปลา แต่วันนั้น ด้วยบุญของทารกดลใจให้นางวางปลาไว้บนเขียง แล้วลงมือผ่าข้างหลังด้วยตัวนางเอง ซึ่งปกติแล้วจะต้องผ่าที่ท้อง และทันใดนั้นเอง นางก็เห็นทารกผิวดังทองอยู่ในท้องปลา จึงเกิดปีติยินดี เพราะตระกูลของนางมีสมบัติมากถึง 80 โกฏิ แต่ไม่มีบุตรผู้สืบสกุลด้วยเหตุนี้นางจึงอุ้มเด็กไปให้เศรษฐีผู้เป็นสามีดู ท่านเศรษฐีก็ดีใจให้คนตีกลองประกาศข่าวไปทั่ว พระนครในทันที จากนั้นก็พากันอุ้มทารกน้อยไปยังราชสำนักเพื่อกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ... ข้าพระพุทธเจ้าได้ทารกในท้องปลา ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องทำประการใด พระราชาตรัสว่า..ทารกอยู่ในท้องปลาได้อย่างปลอดภัย แปลว่าทารกนี้เป็นผู้มีบุญ ดังนั้นให้ท่านจงเลี้ยงไว้เถิด
จากนั้นข่าวนั้นก็ได้แพร่สะพัดออกไปถึงนครโกสัมพีว่า มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งได้ทารกในท้องปลา ทำให้มารดาเดิมของทารกทราบข่าว จึงไม่รอช้า รีบเดินทางไปเล่าความเป็นมาและแสดงความเป็นเจ้าของทารกนั้นให้ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสีฟัง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพากันไปยังราชสำนักให้พระราชาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งพระราชาก็ตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้เลี้ยงดูทารกน้อยนี้ร่วมกัน โดยให้ชื่อว่า พากุลกุมาร หมายความว่า เติบโตขึ้นเพราะสองตระกูลเลี้ยงดู
นับจากนั้น ด้วยบุญของพากุลกุมารจึงทำให้ทั้งสองตระกูลประสบลาภยศเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งยวด และต่างได้สร้างปราสาทให้ท่านพากุละไว้ใน 2 พระนคร แล้วบำรุงบำเรอด้วยหญิงฟ้อนรำ ซึ่งท่านพากุละจะอยู่นครละ 4เดือน เมื่อครบ 4 เดือน ก็จะนั่งเรือเดินทางกลับไปยังอีกนครหนึ่ง สลับไปสลับมาอย่างนี้แม้ท่านพากุละจะต้องเดินทางโดยทางเรือก็จริง แต่ก็ไม่ลำบากประการใดเลย เพราะโดยเรือที่ใช้เดินทางนั้น เป็นเรือที่ทั้งสองตระกูลให้ช่างสร้างขึ้นเป็นพิเศษโดยสร้างมณฑปอย่างดีไว้ในนั้น อีกทั้งยังมีหญิงฟ้อนรำคอยบำรุงบำเรอให้ท่านพากุละเพลิดเพลินตลอดการเดินทาง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านพากุละเสวยสุขบันเทิงในสมบัติตลอดกาลยาวนานจนอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์
จากนั้นไม่นาน ท่านพากุละก็ได้ทราบข่าวการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เสด็จจาริกมาถึงกรุงโกสัมพีพอดี จึงทำให้ท่านพากุละเดินทางไปเข้าเฝ้าโดยนำของหอมและมาลัยไปสักการะยังสำนักพระศาสดา และเมื่อท่านพากุละฟังธรรมจบก็เกิดศรัทธาออกบวชทันที และทำความเพียรอยู่แค่ 7 วัน พออรุณวันที่ 8 ก็บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในวัย 80 ปี
เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธบริษัท เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในธุดงค์ ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ในอิริยาบถ 3 คือ ยืน เดิน และนั่ง โดยไม่นอนเลย และข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร โดยตั้งแต่ท่านบวชมา ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่เคยให้หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉันยาใด ๆ แม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพรแม้เพียงผลเดียว เพราะว่าท่านไม่เคยป่วยเลย
ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์แห่งการทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระภิกษุหายป่วย ด้วยการถวายยา การสร้างกัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล) สร้างวัจจกุฏิ (ส้วม) และจัดตั้งยาใช้และยาฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ครบถ้วนทุกอย่าง จากการประกอบเหตุไว้ในอดีตชาติเช่นนี้ จึงทำให้ท่านมีอายุขัยยืนยาวถึง 160 ปี แล้วเข้าปรินิพพาน
เรียบเรียงโดย ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์
เรียบเรียงโดย ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์