พบผู้สืบทอด

วันที่ 18 พค. พ.ศ.2560

พบผู้สืบทอด

 

 

           เด็กหนุ่มคนนั้นปัจจุบันคือหลวงพ่อธัมมชโย๔ สมัยที่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยอยู่นั้นท่านเป็น เด็กหนุ่มที่แปลกไปจากเด็กหนุ่มทั่วไป คือมักจะมีคำถามให้กับตัวเองเสมอว่า

           "เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายชีวิต"

           อันที่จริง หลวงพ่อท่านมีคำถามนี้อยู่ในใจมาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปีแล้ว และแสวงหาคำตอบเรื่อยมาทั้งศึกษาจากผู้รู้ทั้ง หลายและอ่านหนังสือมากมายทุกประเภท กล่าวได้ว่าห้องสมุดนั้นอยู่ใต้เตียงนอนของท่าน เพราะมีหนังสืออยู่เต็มไปหมด

           แม้ในเวลาต่อมาท่านก็ไม่ละความพยายามในการค้นหาคำตอบเลย ยังคงหาทางไปปฏิบัติธรรมตามวัดวาอารามที่มีผู้แนะนำว่าดีเพิ่มขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ถูกใจอยู่นั่นเอง

           ต่อมา เมื่อได้อ่านพบหนังสือชื่อ "วิปัสสนาบันเทิงสาร" ลงเรื่องราวเกี่ยวกับคุณยายและคุณยายทองสุก พร้อมทั้งมีภาพประกอบเป็นภาพคุณยาย คุณยายทองสุก แล้วก็ครูญาณี ในหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องการปัดลูกระเบิดของคุณยายอันเป็นเรื่องที่จุดประกายขึ้นในใจของหลวงพ่ออย่างยิ่งท่านจึงเกิดความหวังว่า ถ้าคุณยายปัดลูกระเบิดได้ ก็ต้องตอบคำถามของท่านได้ หลวงพ่อมีความกระตือรือร้นปรารถนาที่จะพบคุณยาย นับแต่วันนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่พักของท่านจะอยู่ข้างวัดใหม่ศรีสุพรรณ ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดพลู ย่านภาษีเจริญท่านก็ยังไม่มีโอกาสไปวัดปากน้ำอยู่นั่นเอง

           สามปีต่อมา เมื่อหลวงพ่อท่านอายุได้ ๑๘  ปีเต็ม ย่างเข้า ๑๙  ปี ในระหว่างที่มีเวลาว่างหลังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยประกอบกับความรู้สึกอันแน่วแน่ที่จะไปตามหาคุณยายให้พบ เป็นเหตุผลักดันให้ท่านหาหนทางไปวัดปากน้ำจนได้ ท่านไปโดยที่ไม่รู้จักใคร ขณะที่เดินลัดเลาะผ่านอาคารหลังหนึ่ง ท่านแลเห็นคุณยายกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าที่ตั้งศพของคุณยายทองสุก คุณยายนั่งหันหลังมาทางหลวงพ่อ เวลานั้นหลวงพ่อ ไม่รู้ว่าคุณยายเป็นใครทั้งยังจำไม่ได้ว่าเป็นคนๆ เดียวกับในหนังสือที่เคยอ่านหรือไม่ เมื่อไม่พบผู้ที่ต้องการมาหา จึงกลับไปด้วยความผิดหวัง

           จากวันนั้น หลวงพ่อก็ไม่ได้ไปที่วัดปากน้ำอีกท่านกลับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คำถาม ๒ ข้อที่ว่า "เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายชีวิต" ก็ไม่เคยลบเลือนไปจาก จิตใต้สำนึกของท่านเลย มีแต่ทวีความสนใจใคร่รู้คำตอบมากยิ่งขึ้นไปอีก

           ดังนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ซึ่งเป็นช่วงเวลา ปิดภาคการศึกษาท่านจึงไปตามหาคุณยายที่วัดปากน้ำอีกครั้งหนึ่ง พอไปถึงคราวนี้ก็เที่ยวถามใครต่อใครว่า

"รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม"

           แต่ปรากฏว่าไม่มีใครที่รู้จักแม้แต่คนเดียว มีแต่บอกว่า

           "ไม่มีคุณแม่อาจารย์ มีแต่ครูจันทร์"ท่านฟังแล้วก็คิดว่าเป็นคนละคนกัน

            ในขณะนั้น มีหลวงตารูปหนึ่งแนะนำให้ท่านไปเรียนธรรมะกับพระอาจารย์วีระ คณุตฺตโม (พระภาวนาโกศลเถร องค์ปัจจุบัน) ซึ่งนำวิธีปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาสอน พระอาจารย์วีระเมตตาให้ท่านนั่งอยู่ตรงลำโพง ซึ่งถ่ายทอดเสียงจากโรงงานทำวิชชาออกมา เมื่อฟังครั้งแรกท่านก็ไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องลึกซึ้ง เช่นเรื่องแก้ไขทุกข์ของมนุษย์แก้ไขข้าวยากหมากแพงทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล แก้ไข โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และเรื่องพญามาร วนเวียนอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมง แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่ก็รู้สึกว่าในใจนั้นชุ่มเย็น วันต่อมาท่านจึงมานั่งฟังอีก และมาทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๒ สัปดาห์

            อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อท่านก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจ ที่จะไปพบคุณยายให้ได้ วันหนึ่งท่านจึงตัดสินใจหันไปถาม เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันที่นั่งปฏิบัติธรรมอยู่ข้างๆ ว่า

           "รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม"

           เด็กหนุ่มคนนั้นตอบว่า "ไม่มี มีแต่ครูจันทร์"

           เหมือนอย่างที่ท่านเคยได้คำตอบมาแล้ว แต่ครั้งนี้ท่านตัดสินใจไปพบ "ครูจันทร์" ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่า อาจจะเป็นคนเดียวกัน

           คราวนี้หลวงพ่อได้พบกับคุณยายที่หน้าหอไว้สรีระของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ขณะนั้นคุณยายกำลังเดินไปธุระ แม้ว่าลักษณะรูปร่างของท่านจะผอมมาก ดูแล้วเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ แต่แววตาที่สุกใสนั้นเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา เด็ดเดี่ยว และสูงส่งด้วยภูมิธรรม ซึ่งมากพอที่จะเป็น แรงบันดาลใจให้หลวงพ่อคิดอย่างเชื่อมั่นว่า นี่คือครูบาอาจารย์ของท่าน เป็นผู้เดียวที่จะสามารถตอบคำถามของท่านได้ และเป็นที่สุดที่ท่านไม่ต้องไปแสวงหาต่อ

           หลวงพ่อตั้งใจจะถามคำถาม ๒ ข้อที่ค้างคาอยู่ในใจให้กระจ่าง แต่เมื่อมาพบคุณยายเข้าจริงๆ กลับถามเรื่องการปัดลูกระเบิดก่อน ซึ่งในขณะนั้นคุณยายกำลังจะรีบไปธุระ จึง เดินไปพร้อมกับรับไหว้ไปด้วย และได้แต่พูดว่า

           "เดี๋ยวไปธุระก่อนแล้ววันหลังพบกัน วันนี้จะไปงานศพ"

           เพียงได้ยินเท่านี้ก็ยังความปีติเบิกบานให้กับหลวงพ่อสุดที่จะหาใดเปรียบ และปรารถนาให้ถึงวันพรุ่งนี้โดยเร็ว ดังนั้นในเช้าวันถัดมาท่านจึงรีบไปหาคุณยายทันที

           ที่พักของคุณยายเป็นบ้านหลังไม่ใหญ่ (บ้านของคุณยายทองสุกเดิม) มี ๓สั้น ซึ่งเมื่อมองดูจากภายนอกแล้ว จะเห็นเสมือนว่าเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว มีใต้ถุนเตี้ยๆ ขนาดคนนั่งได้ แต่ยืนไม่ได้ปูด้วยแผ่นไม้กระดานเรียงอย่างมีระเบียบ ไว้สำหรับให้คนมานั่งปฏิบัติธรรม เรียกชั้นนี้ว่าชั้นที่ ๑

          เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจากชั้นล่าง จะเห็นว่าพื้นชั้นบนของบ้านถูกยกเป็น ๒ ระดับ ระดับที่ต่ำกว่าเรียกว่าชั้นที่ ๒ ซึ่งอยู่ ติดกับบันได พื้นของชั้นนี้คือเพดานของชั้นที่ ๑

          ชั้นที่ ๒ นี้เป็นส่วนที่กว้างที่สุดในบ้าน มีโต๊ะหมู่บูชาตู้เก็บของ และโต๊ะบูชารูปคุณยายทองสุก วางเรียงต่อกันอยู่ ทางด้านหนึ่งของห้องส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่ซึ่งคุณยายท่านอาศัยนอน นั่งสมาธิสอนธรรมะ บูชาข้าวพระ และช่วยเหลือคนที่มาหา ที่ข้างๆ ตัวท่านมีตู้สำหรับเก็บยา ซึ่งวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ตรงบริเวณใกล้กับกึ่งกลางห้อง ยังมีเสาต้นเล็กๆ ที่มีความยาวไม่ถึงฝ้าเพดานอยู่ต้นหนึ่ง เรียกว่าเสาหัวด้วน เป็นเสาที่หลวงพ่อชอบไปนั่งพิงในเวลาปฏิบัติธรรมกับคุณยายส่วนชั้นที่ ๓ นั้นสูงกว่าชั้นที่ ๒ ราวหนึ่งเมตรเศษ พื้นของชั้นที่ ๓ ก็คือเพดานของห้องครัว แม้ว่าห้องครัวจะอยู่ชั้นที่ ๑ แต่ก็อยู่ตรงกับชั้นที่ ๓ มีความสูงตั้งแต่ พื้นชั้นที่ ๑ จรดพื้นของชั้นที่สาม ดังนั้นห้องครัวจึงไม่เตี้ยแม้ จะอยู่ชั้นที่ ๑ ก็ตาม เมื่อหลวงพ่อท่านไปกราบคุณยายครั้งแรก ที่บ้านนี้ คุณยายก็ทักด้วยประโยคที่หลวงพ่อไม่อาจเข้าใจได้ในเวลานั้นว่า

          "คุณน่ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำให้ยายไปตามมาเกิดในสมัยสงครามโลก"

          สิ่งที่คุณยายพูดนี้น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะว่าหลวงพ่อท่านเกิดตอนสงครามโลกจริงๆ

          เมื่อไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก คุณยายให้หลวงพ่อนั่งหลับตาและบอกแต่เพียงว่า

          "นั่งไปเยอะๆ นั่งไปเรื่อยๆ"

           ตลอดระยะเวลานั้น หลวงพ่อท่านวางตนอยู่ในโอวาทของคุณยาย และทำตามทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่คลางแคลงสงสัย สิ่งใดตั้งแต่แรกเริ่ม อีกทั้งไม่ต้องการเหตุผลและไม่ต้องการอะไรทั้งหมด

           โดยปกติแล้วคุณยายจะไม่ค่อยรับใครเป็นลูกศิษย์ คงมีแต่ศิษย์ที่ตกค้างและเข้าวัดมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นศิษย์ของคุณยายทองสุกผู้เป็นสหธรรมิกกับท่าน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คุณยายยอมรับหลวงพ่อธัมมชโยเป็นศิษย์คนแรกของท่าน และในเวลาต่อมาเมื่อหลวงพ่อเรียกท่านว่า "ยาย" ก็ดูเหมือนว่าคุณยายจะพึงพอใจกับคำนี้เช่นกัน

           หลวงพ่อไปนั่งสมาธิกับคุณยายทุกวัน หากเวลาใดที่คุณยายมีแขก บางครั้งหลวงพ่อก็จะหลบแขกไปเดินนับพระอยู่ที่วิหารคตว่ามีกี่องค์ รูปร่างอย่างไร หรือใครถวาย เป็นการรอเวลาให้แขกกลับ หมดจากเรื่องนับพระก็ไปนับช่องเก็บอัฏฐิตามผนังกำแพง ดูแผ่นจารึกชาตะมรณะของผู้คน มีทั้งผู้หลัก ผู้ใหญ่ไปจนกระทั่งผู้น้อย ภาพเหล่านี้ทำให้หลวงพ่อคิดว่าทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องตายเสมอเหมือนกันหมด เมื่อดูจนทั่ว แล้วก็ย่องไปหาคุณยายว่าแขกไปหมดแล้วหรือยัง ถ้าไม่มีแขกแล้วหลวงพ่อก็จะขึ้นไปนั่งสมาธิต่ออีก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0066139698028564 Mins