ข้อคิด..ก่อนตัดสินว่าใครเป็นพุทธแท้-พุทธเทียม
จากการฟังข่าวต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันคุณเคยด่วนตัดสินใครว่าเป็น “พุทธแท้” หรือ “พุทธเทียม” หรือป่าว?
แล้วอย่างตัวเลือกข้างล่างนี้ล่ะ ตัวเลือกไหนคือพุทธแท้ ?
ก. พวกที่กินมังสวิรัติ
ข. พวกวัดพระธรรมกาย
ค. พวกที่รดน้ำมนต์ เจิมรถ ดูฤกษ์ยาม ดูดวง สะเดาะเคราะห์
ง. พวกชอบเครื่องรางของคลัง เขียนผ้ายันต์ เพื่อให้แข่งขันชนะ
จ. พวกวัดป่า
ฉ. พวกที่เชื่อว่านิพพานเป็นอัตตา
ช. พวกที่เชื่อว่านิพพานเป็นอนัตตา
ฌ. พวกที่ช่วยกันล้างป่าช้า กินเจ
ญ. ถูกทุกข้อ
จะเห็นว่า..ขนาดการนับถือศาสนาพุทธในประเทศไทยเราเอง ยังมีแนวทางปฏิบัติหลายสายมาก ซึ่งแต่ละสายก็เชื่อมั่นอย่างสุดโต่งว่า..แนวทางของตัวเองถูกต้องที่สุด !!!
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะตัดสินว่าใครเป็น “พุทธแท้” หรือ “พุทธเทียม” ไปแล้ว ผู้เขียนก็อยากให้ลองตัดสินใหม่ เพราะหลังจากอ่านบทความนี้จบ คุณอาจค้นพบความคิดใหม่ที่นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในใจตอนนี้ไปเลยก็ได้...
ทุกวันนี้... แม้คนไทยเราจะแตกแยก เกลียดชังกันเพิ่มขึ้นด้วยการกล่าวหากันว่า ใครเป็นพุทธแท้-พุทธเทียม แต่คนทั้งสองพวกนี้ ก็มีความเห็นตรงกัน คือ เชื่อว่า..ศาสนาพุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่คือ พุทธแท้แน่นอน
จนกระทั่งก่อนการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ เกิดการแบ่งนิกายครั้งแรกออกไปเป็น นิกายเถรวาท กับ นิกายมหาสังฆิกะ และต่อมาทั้ง 2 นิกายนี้ ต่างก็แยกนิกายย่อยออกไปอีก จนมีนิกายรวมแล้วมากถึง 18-20 นิกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจเลยทีเดียว !!!
*แผนภูมิแสดงการแบ่งแยกนิกายเป็น 18-20 นิกาย
และเมื่อกาลเวลาผ่านไป...ก็เกิดนิกายใหม่ขึ้นมาอีก คือ นิกายมหายาน แล้วพวกมหายานก็เหมารวมเรียกนิกายทั้ง 18-20 ที่เกิดขึ้นแล้วว่า “หินยาน”
แต่ต่อมาทั้ง 18 -20 นิกายนี้ ได้ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่นิกายเถรวาทเท่านั้น
จนกระทั่งยุคปัจจุบัน หลังจากองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจัดให้นานาชาติ ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2493 มีการเสนอให้ใช้คำว่า “เถรวาท” แทนคำว่า “หินยาน”
จุดนี้..เลยทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ เข้าใจผิดไปว่า..พุทธศาสนามีแค่ 2 นิกาย คือ เถรวาท กับ มหายาน
จากการที่คำสอนในพระพุทธศาสนาผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 2,500 กว่าปี ถูกโค่นล้มทำลาย เปลี่ยนแปลง แตกนิกายออกไปเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ แถมยังเกิดการยุบ การหายไป หรือเกิดนิกายขึ้นมาใหม่อย่างโชกโชนมาก กว่าจะตกทอดมาถึงเรา
ถามจริงๆ เถอะ ณ จุดๆ นี้...
เราแน่ใจได้อย่างไรว่า..แนวทางปฏิบัติที่เรานับถืออยู่เป็นพุทธแท้ดั้งเดิม ?
หรือเราได้หลงปฏิบัติตามคำสอนที่ผิดเพี้ยนมาจากนิกายไหนในอดีตหรือไม่ ?
แต่ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนน้อยที่คิดถึงประเด็นนี้...
แล้วที่สำคัญ...คนไทยส่วนใหญ่ ศึกษาพระพุทธศาสนาแต่เพียงผิวเผิน แล้วสรุปหลักธรรมจากสิ่งที่คิดเอง เออเอง โดยเอาสิ่งที่ฟังๆ เขามาผสมลงไป เช่น เชื่อว่า..ใครกินเนื้อสัตว์ คือพวกไม่เคร่งศาสนา ???
แต่พอมาศึกษาข้อมูลจริงๆ จากพระไตรปิฎก ก็พบความจริงที่ต้องผงะว่า..คำสอนเรื่องการห้ามกินเนื้อสัตว์ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของพระเทวทัต (ลองไปอ่านเรื่องวัตถุ 5 ที่พระเทวทัตทูลขอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า )
หรือความเชื่อที่บอกว่า..พระพุทธเจ้าสอนให้สร้างวัดเล็กๆ สมถะๆ ???
แต่พอมาดูข้อมูลจากพระไตรปิฎก กลับพบว่า ทั้งนางวิสาขา ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และทั้งอปาราชิต (อดีตชาติของโชติกเศรษฐี) สร้างวัดในพุทธกาลไว้ใหญ่โตอลังการมาก แล้วพอสร้างเสร็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงจำพรรษาที่วัดใหญ่โตอลังการนั้น แล้วใช้วัดนั้นเพื่อรวมคนให้เยอะที่สุด เพื่อจะได้สั่งสอนเผยแผ่ศาสนาไปให้มากที่สุด
จากข้อมูลตรงนี้... เราจะบอกว่า พระไตรปิฎกผิด หรือเพราะเราเชื่อกันมาแบบผิดๆ โดยไม่ได้ศึกษากันแน่ ???
หรืออย่างคำสอนเรื่องการทำบุญก็เหมือนกัน ปัจจุบันเชื่อว่า..อย่าไปทำเยอะ การทำบุญจนหมดตัวถือว่าผิด ?
ซึ่งถ้าการทำบุญจนหมดตัวผิดจริง ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงทรงลงทุนถึงขนาดพยายามเทศน์ จูเฬกสาฎกพราหมณ์ (ผู้ยากจนมาก) ตั้งแต่หัวค่ำจนเกือบถึงเช้า เพื่อให้จูเฬกสาฎกพราหมณ์ยอมเอาผ้าเก่าๆ ที่มีเพียงผืนเดียว สละมาทำบุญถวายท่าน ทั้ง ๆ ที่การทำบุญในครั้งนั้นของจูเฬกสาฎกพราหมณ์ จัดว่าหมดตัวเลยทีเดียว ???
ตรงนี้หลายคนคงสังสัยว่า..เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากได้ผ้าเก่าๆ ที่ใช้แล้วของพราหมณ์หรือ ? เปล่าเลย... แต่เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสงสารที่พราหมณ์ยากจนมาก เลยอยากโปรดให้พราหมณ์ได้บุญใหญ่ ที่มีกำลังมากพอที่จะบันดาลให้ชีวิตของพราหมณ์พ้นจากความยากจนให้ได้
และหากศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น เราอาจตกใจเพิ่มขึ้น เพราะขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ท่านทรงทุ่มเททำบุญบริจาคทานอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดสละชีวิตในหลายชาติมาอย่างนับไม่ถ้วน อีกทั้งในชาติที่เป็นพระเวสสันดร ก็ถึงขนาดบริจาคบุตรและภรรยาเลยทีเดียว
จากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสละชีวิตเป็นทาน หรือบริจาคแม้กระทั่งบุตรและภรรยา หรือพระองค์ทรงเทศน์ให้จูเฬกสาฎกพราหมณ์ยอมทำบุญจนไม่เหลือสมบัติแม้ชิ้นสุดท้าย ก็แสดงว่า..ความเชื่อที่บอกว่า การทุ่มเททำบุญเยอะเป็นสิ่งผิด ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง !!!
จะเห็นว่า..ความเชื่อที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเชื่อถือ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือตรงตามพระไตรปิฎกเสมอไป ซึ่งความเชื่อประเภทนี้มีอยู่มากซะด้วย !!!
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามต่อว่า..อ้าว..แล้วในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปตั้ง 2,500 กว่าปีแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้เรียนรู้ธรรมะสายที่เป็นพุทธแท้จริงๆ หรือใกล้เคียงความเป็นพุทธแท้มากที่สุดล่ะ ???
ณ จุดนี้..ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะทั้งพระสายปริยัติและปฏิบัติ รวมถึงนักวิชาการทางพุทธศาสนาทั่วโลกต่างยืนยันเป็นเอกฉันท์แล้วว่า..ข้อมูลและคำสอนในพระไตรปิกฎ เป็นสิ่งที่เชื่อได้สูงสุดในยุคนี้แล้ว !!!
ดังนั้น..ไม่ว่าเราจะไปนั่งสมาธิวัดไหน นับถือสายไหนก็เอาที่สบายใจแล้วถูกจริตกับเราได้เลย แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพิ่มขึ้นก็คือ ต้องอ่านและศึกษาพระไตรปิฎก หรืออรรถกถาควบคู่ไปด้วย แล้วเราก็จะตอบตัวเองได้ว่า..คำสอนที่เรารับรู้มานั้นถูกบิดเบือนหรือไม่ ด้วยตัวของเราเอง...
การที่ผู้เขียนยกข้อมูลมาแบบนี้ ไม่ได้จงใจจะมาเปลี่ยนความคิดใครให้เชื่อใดๆ ทั้งหมด แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ เราอย่ามัวมาทะเลาะโจมตีว่าร้ายกันอย่างเอาเป็นเอาตายเรื่องพุทธแท้-พุทธเทียมเลย อย่าไปคิดว่า..พุทธศาสนาที่ต่างสายจากที่เรานับถือสอนผิด หรือใส่ความว่า..เขาเป็นสัทธรรมปฏิรูป หรือเป็นลัทธิ แล้วบอกว่า..ของตัวเองเป็นพุทธแท้ !!!
เพราะในเมื่อไม่มีใครสักคน ได้ไปฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง แล้วก็ไม่รู้ในสิ่งที่เกิดในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ทั้งหมด !!!
อีกทั้งพุทธแท้จริงๆ เขาก็จะไม่ว่าใครด้วย พุทธแท้ย่อมทำตามโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอน คือ อนูปวาโท (การไม่ว่าร้ายกัน) และพุทธแท้ก็ควรรีบหันมาประพฤติธรรมจนหมดกิเลสด่วนที่สุด
ในเมื่อทุกวันนี้สังคมไทยเจอเรื่องราวอะไรร้ายๆ จนบอบช้ำกันมามากพอแล้ว ดังนั้น จะดีกว่าไหม..?? คือไม่ว่าใครจะนับถือพุทธสายไหน เมื่อเขาปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วเกิดความสุข ไม่เดือดร้อนใคร ก็แล้วแต่เขาเถิด มันเป็นสิทธิของเขา เราไม่ควรมุ่งโจมตีกัน แต่ควรนำจุดเด่นของพุทธแต่ละสาย มาพัฒนาจิตใจคนในประเทศ ให้พบความสงบร่มเย็นที่แท้จริง เหมือนศาสนาพุทธหลายสายในประเทศไต้หวัน ที่แม้จะแตกต่างกันมาก แต่ก็เอาจุดเด่นที่ดีของแต่ละสายมาเสริมกัน จนคนพุทธที่นั่นอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกนั่นเอง...
Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
*ขอขอบคุณ ภาพแผนภูมิแสดงการแบ่งนิกาย จาก ดร.บรรเจิด ชวลิตเรืองฤทธิ์