พุทธมามกะคืออะไร
คำว่า "พุทธมามกะ" แปลตามศัพท์ว่า "ผู้ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา หมายถึงผู้ประกาศตนว่า ขอถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่า เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา"
คำว่า "พุทธมามกะ" ตามความหมายในพระไตรปิฎก คือ ผู้นับถือพระรัตนตรัย ดังที่บันทึกไว้ว่า "พุทธมามกะ คือ ผู้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์"
ดังนั้น ใครก็ตามที่นับถือพระรัตนตรัย ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่า เป็นพุทธมามกะทั้งสิ้น บุคคลนั้นอาจจะเป็นพระภิกษุ พระภิกษุณีสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาวพุทธ คนที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป หรือบางคนอาจจะเคยนับถือสิ่งอื่นมาก่อน แต่เมื่อเขาเปลี่ยนมานับถือพระรัตนตรัย บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะเช่นเดียวกัน
แม้คำว่า "พุทธมามกะ" จะหมายรวมถึงพระภิกษุ ภิกษุณี และสามเณรด้วย แต่โดยทั่วไปหมายเอาคฤหัสถ์เป็นหลัก ได้แก่ อุบาสก อุบาสิกา หรือชาวพุทธทั่วไป
ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะจะต้องมีความนับถือต่อพระรัตนตรัยด้วยใจจริง และต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
ผู้ที่พ่อแม่เป็นพุทธมามกะแต่ตนไม่ได้นับถือพระรัตนตรัยและไม่ปฏิบัติตามพุทธธรรมบุคคลนั้นไม่ได้ ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะ แม้ในทะเบียนบ้านจะระบุว่านับถือพระพุทธศาสนาก็ตามแม้ผู้นั้นจะบวชเป็นพระภิกษุก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ไม่นับถือเราส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย มีปัญญา ไม่กระด้าง มีจิตตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้นับถือเรา"
เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้เพราะภิกษุเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้พุทธมามกะจึงหมายเอาการปฏิบัติเป็นหลัก แม้บางคนไม่ได้เป็นชาวพุทธแต่ก็สามารถดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาได้ ศาสตราจารย์ชาวตะวันตกท่านหนึ่งชื่อ คาโลรา กล่าวไว้ว่า "เป็นพุทธหรือไม่เป็นพุทธไม่ใช่สาระสำคัญ ที่สำคัญคือ เลื่อมใสในหลักธรรมและหลักปฏิบัติในแนวพุทธ การศึกษา แสวงหา และปฏิบัติเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้นไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ทุกคนมีสิทธิ์ศึกษาหลักปฏิบัติของทุกศาสนาส่วนจะดีขึ้นหรือไม่นั้นมันขึ้นอยู่กับคน ๆ นั้น"
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree