มรรคมีองค์ 8
มรรค แปลว่า ทาง หนทาง มรรคมีองค์ 8 จึงหมายถึง หนทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติ 8 ประการ เพื่อให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือการได้บรรลุนิพพานนั่นเอง
มรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา) นิโรธ (ความดับทุกข์) และ มรรคคือหนทางดับทุกข์ เมื่อกล่าวถึงมรรคเพียงข้อเดียวแต่ก็มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงอริยสัจอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย เพราะธรรมทั้ง 4 ข้อมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมรรคมีองค์ 8 ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกของพระองค์ หลวงพ่อทัตตชีโวได้สรุปมรรคมีองค์ 8 ไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้
1) สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก โดยสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องว่า อะไรถูก-ผิด อะไรดี-ชั่ว อะไรบุญ-บาป อะไรควร-ไม่ควรทำ
2) สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดถูก โดยเลือกคิดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
3) สัมมาวาจา คือ การพูดถูก โดยเลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
4) สัมมากัมมันตะ คือ การทำถูก โดยเลือกทำแต่ในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
5) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก โดยเลือกประกอบอาชีพที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
6) สัมมาวายามะ คือ การเพียรพยายามถูก โดยเพียรละเว้นความชั่ว เพียรทำความดีและเพียรกลั่นใจให้ผ่องใส
7) สัมมาสติ คือ ความระลึกถูก โดยพยายามรักษาใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ในการคิด พูด และทำอยู่เป็นปกติ
8) สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก โดยพยายามประคับประคองในขณะทำภาวนาให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องถูกส่วนเป็นปกติ จนกระทั่งเกิดความสว่างขึ้นในใจที่นำไปสู่การเห็นธรรมะที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในตัว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปริกขารสูตรว่า องค์แห่งมรรค 7 ประการคือตั้งแต่สัมมาทิฏฐิสัมมาสติ เป็นองค์ประกอบของสัมมาสมาธิ หรือ ประชุมลงในสัมมาสมาธิดังพระดำรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งสมาธิ 7 ประการ คือสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอกัคคตาจิต (ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว หรือการที่จิตเป็นสมาธิ) ประกอบด้วยองค์ 7 ประการ นี้เรียกว่าอริยสมาธิ"
หลวงพ่อธัมมชโยก็เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า "มรรคทั้ง 7 ประการจะประชุมรวมกันลงในสัมมาสมาธินี้" ด้วยเหตุนี้สัมมาสมาธิจึงมีความสำคัญสูงสุดในบรรดามรรคทั้งปวง ทำนองเดียวกับความไม่ประมาทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการที่บุคคลจะเป็นผู้ "ไม่ประมาท" ได้อย่าง มบูรณ์ บุคคลผู้นั้นจะต้องมี ติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา การที่บุคคลนั้น ๆ จะมีสติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องฝึกสัมมาสมาธิมาอย่างดีแล้ว จนใจของเขาจรดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตลอดเวลา
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree