ธรรมของพุทธมามกะ

วันที่ 20 มิย. พ.ศ.2560

ธรรมของพุทธมามกะ

คู่มือพุทธมามกะ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พุทธมามกะ , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , ธรรมของพุทธมามกะ

    ธรรมของพุทธมามกะในที่นี้หมายเอาเฉพาะหลักธรรมสำหรับคฤหัสถ์ คือ อุบาสกและอุบาสิกา แต่ก่อนอื่นมาศึกษาความหมายของคำว่า อุบาสกและอุบาสิกากันก่อน

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ บุคคลชื่อว่า เป็นอุบาสก"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนมหานาม เมื่อใดแล บุคคลถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุบาสก"

      คำว่าสรณะ แปลว่า ที่พึ่ง หรือ ที่ระลึก

   เหตุที่เรียกว่า "อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า อุบาสก คือ "คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง"

   ดังนั้น อุบาสกคือ คฤหัสถ์ผู้ชายที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย และผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

      อุบาสิกา คือ " ตรีผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ผู้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ" อุบาสิกาจึงเป็นคฤหัสถ์ผู้หญิงที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย และผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

     กล่าวอีกนัยหนึ่ง อุบาสกอุบาสิกา ก็คือ "พุทธศาสนิกชน" หรือชาวพุทธทุกคนซึ่งถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคือที่พึ่งที่ระลึกนั่นเอง แต่พุทธศาสนิกชนที่ว่านี้จะต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงในนาม คือเป็นเพราะในทะเบียนบ้านเขียนไว้ว่านับถือศาสนาพุทธแต่พฤติกรรมกลับไม่ใช่ ยังนับถือผีสางนางไม้อยู่ กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา

     อุบาสกอุบาสิกาที่ดีจะต้องประกอบด้วยธรรม 5 ประการคือ "มีศรัทธา มีศีล ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกพระพุทธศาสนา และทำการสนับสนุนพระพุทธศาสนา"

    1) มีศรัทธา หมายถึง มีตถาคตโพธิสัทธาคือมีความเชื่อในคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศรัทธาในที่นี้เป็นความเชื่ออันเกิดจากการได้ศึกษาพระพุทธคุณจนมีความเข้าใจไม่ได้เป็นความเชื่อแบบงมงาย

    2) มีศีล หมายถึง มีศีล 5 ได้แก่ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ และงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา

    สำหรับอุบาสกอุบาสิกาที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็จะต้องรักษาศีล 8 ซึ่งเพิ่มมา 3 ข้อ คือ งดเว้นการรับประทานอาหารหลังจากมื้อกลางวันไปแล้ว งดเว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยของหอมตลอดจนงดการฟังเพลง งดดูหนังดูละครที่เป็นอกุศล งดเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี

    สำหรับศีลข้อ 3 เปลี่ยนจากเว้นการประพฤติผิดในกามเป็นเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ได้แก่ เมถุนธรรม เป็นต้น

    3) ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล หมายถึง ไม่ถือฤกษ์ยาม แต่ให้เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคลคือ ทำดีเมื่อไร ถือว่า เป็นเวลาดี ฤกษ์ดี ยามดี เมื่อนั้น

  4) ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกพระพุทธศาสนา หมายถึง ไม่ไปขวนขวายทำบุญกับนักบวชนอกพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในนักบวชที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะจะทำให้อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นมีโอกาสเห็นผิดไปด้วย

   5) สนับสนุนพระพุทธศาสนา หมายถึง ให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในการก่อสร้างศาสนสถานในวัด เป็นเจ้าภาพงานบวช ช่วยเป็นธุระจัดการงานบุญต่าง ๆ ของวัด บางท่านก็ช่วยเรื่องการรักษาพยาบาลภิกษุสงฆ์ เช่น หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นต้น บางท่านช่วยเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา เช่น จิตตคฤหบดี อุบาสกท่านนี้เป็นเลิศในการแสดงธรรม มีความสามารถในการสอนธรรมะเฉกเช่นพระธรรมกถึกทั้งหลาย

    เมื่ออุบาสกอุบาสิกาปฏิบัติตามธรรมทั้ง 5 ประการนี้แล้ว ย่อมได้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ ประการแรก ได้ประโยชน์แก่ตนเอง คือ ได้บุญได้บารมีอันจะส่งผลให้มีความสุขความเจริญทั้งในชาตินี้และภพชาติเบื้องหน้า ประการที่สอง ได้ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นการสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง


 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.053022102514903 Mins