การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
1. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
คำบาลี เอสาหัง ภันเตสุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตังสะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะสังฆัญจะ, พุทธมา มะโกติ มังสังโฆ ธาเรตุ.
คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว ทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า
2. วิธีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ธรรมเนียมการแสดงตนเป็นพุทธมามกะมีขั้นตอนการปฏิบัติโดยย่อดังนี้
1) แจ้งความประสงค์ของตนแก่พระสงฆ์ ณ วัดในวัดหนึ่ง นัดหมายวันเวลาที่จะมาแสดงตนเป็นพุทธมามกะ แล้วจัดเตรียมสิ่งของตามที่พระสงฆ์แนะนำ
2) เมื่อถึงวันที่นัดหมายกันไว้ ให้ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นุ่งขาว ห่มขาว หรือแต่งเครื่องแบบของตนให้เรียบร้อยแล้วไปยังบริเวณพิธี
3) ให้ผู้แสดงตนเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เปล่งวาจาว่า
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ. ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ. ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ. ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)
ถ้าเป็นการแสดงตนเป็นหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาคนเดียว นอกนั้นวางดอกไม้ธูปเทียนยังที่ที่จัดไว้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ เมื่อหัวหน้านำกล่าวคำบูชา ก็ให้ว่าพร้อม ๆ กัน
4) ถวายพานเครื่องสักการะแด่พระอาจารย์ แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง ถ้าแสดงตนเป็นหมู่ ทุกคนนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่ หัวหน้าหมู่คนเดียวนำสักการะที่เดียวเข้าถวายแทนทั้งหมู่ แล้วกราบพร้อมกัน
5) กราบเสร็จแล้วคงคุกเข่าประนมมือ เปล่งคำปฏิญาณตนให้ฉะฉานต่อหน้าสงฆ์ ทั้งคำบาลีและคำแปลเป็นตอน ๆ ไปจนจบดังนี้
คำนมัสการ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำปฏิญาณ
เอสาหัง ภันเตสุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตังสะระณัง คัจฉามิ,
ธัมมัญจะสังฆัญจะ, พุทธะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ
ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ
ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า
ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิงคำปฏิญาณให้เปลี่ยนเป็นดังนี้
เปลี่ยน เอสาหัง เป็น เอเต มะยัง (ชาย) เอตา มะยัง (หญิง)
เปลี่ยน คัจฉามิ เป็น ิทั้งชายและหญิง
เปลี่ยน พุทธมามะโกติ เป็น พุทธมามะกาติ ทั้งชายและหญิง
เปลี่ยน มัง เป็น โน ทั้งชายและหญิง
คำแปลเปลี่ยนเฉพาะคำ "ข้าพเจ้า" เป็นว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย" นอกนั้นเหมือนกัน
สำหรับหญิงผู้ปฏิญาณคนเดียวว่า เอสาหัง ฯลฯ เมื่อถึง พุทธะมามะโกติ เปลี่ยนเป็น พุทธะมามะกาติ ที่เหลือไม่เปลี่ยนรวมทั้งคำแปล
ถ้าหญิงกับชายปฏิญาณคู่กัน เฉพาะคู่เดียว ให้ว่าแบบปฏิญาณคนเดียวคือขึ้น เอสาหัง ฯลฯ พุทธมามะโกติ (ชาย) หญิงให้ว่า เอสาหัง ฯลฯ พุทธะมามะกาติ นอกนั้นคงเดิมรวมทั้งคำแปล
6) เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระสงฆ์จะประนมมือรับ "สาธุ" พร้อมกันจากนั้นให้ผู้ปฏิญาณลดลงนั่งราบแบบพับเพียบกับพื้น แล้วประนมมือฟังโอวาทพระอาจารย์
7) เมื่อพระอาจารย์ให้โอวาทเสร็จแล้ว ท่านก็จะให้ศีล 5 โดยผู้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะจะต้องอาราธนาศีลก่อนแล้วพระสงฆ์ก็จะให้ศีล อันนี้เป็นธรรมเนียมที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันดี เมื่อรับศีลเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นั่นคือ ได้เป็นอุบาสก อุบาสิกาผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยสมดังตั้งใจแล้ว
พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะอาจจะรวบรัดกว่านี้หรือมีขั้นตอนมากกว่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบพิธีของแต่ละวัดหรือแต่ละท้องถิ่น แต่หลักใหญ่ใจความอยู่ที่การปฏิญาณตนว่าขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคือที่พึ่งที่ระลึก
วิธีปฏิบัติที่ง่ายที่สุดคือ การกล่าวคำปฏิญาณด้วยตนเองโดยใช้ภาษาไทยต่อพระพุทธรูปหน้าโต๊ะหมู่บูชาที่วัด ที่บ้าน หรือ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ดังนี้
ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า
เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้เป็นพุทธมามกะโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ต้องทำด้วยความตั้งใจจริง
3. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในสมัยพุทธกาล
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปแล้ว มีชนพื้นเมืองอินเดียหันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งกันจำนวนมาก ทั้งพระราชา ข้าราชการ มหาเศรษฐี ประชาชนทั่วไป นักบวชทั้งหลาย เมื่อฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ฝ่ายชายก็แสดงตนเป็นพุทธมามกะและประกาศตนว่าเป็นอุบาสก ฝ่ายหญิงแสดงตนเป็นพุทธมามกะแล้วประกาศตนเป็นอุบาสิกา หากเป็นนักบวชในศาสนาอื่น เมื่อมีศรัทธาและได้กล่าวคำขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้วก็ขอบวชในพระพุทธศาสนา
1) พระเจ้าพิมพิสารแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นพระองค์เสด็จไปพร้อมพระภิกษุหมู่ใหญ่จำนวน 1,000 รูป ซึ่งล้วนเคยเป็นอดีตชฎิล คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น พระภิกษุเหล่านี้แต่เดิมมีท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้นำ ต่อมาเมื่อได้เห็นอิทธิปาฏิหาริย์และได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชฎิลทั้งหมดจึงละความเชื่อเดิมแล้วขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา บวชอยู่ได้ไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด
เมื่อพระพุทธองค์และหมู่สงฆ์เสด็จจาริกถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ทรงประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อสุประดิษฐเจดีย์ใน วนตาลหนุ่มเขตพระนครราชคฤห์นั้น ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งแคว้นมคธได้เสด็จมาต้อนรับพร้อมด้วยชาวมคธ 12 นหุต2 หรือ 120,000 คน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมหมวดอนุปุพพิกถา ได้แก่ ทาน ศีล วรรค์ โทษของกามและอานิสงส์การออกจากกาม จากนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมหมวดอริยสัจ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรคมีองค์ 8 หนทางดับทุกข์
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารและชาวมคธ 11 นหุต ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ชาวมคธอีก 1 นหุต ได้แสดงตนเป็นอุบาสก เมื่อบรรลุธรรมแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะโดยตรัสว่า "หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
2) อนาถบิณฑิกเศรษฐีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ครั้งหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเมืองราชคฤห์ด้วยกิจบางอย่าง ท่านได้ไปพักอยู่บ้านราชคหเศรษฐีซึ่งเป็นพี่เขย ครั้งนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทราบจากราชคหเศรษฐีว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทันทีที่ทราบท่านเศรษฐีดีใจมาก ได้ย้อนถามราชคหเศรษฐีถึง 3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า "ท่านคหบดี ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้หรือ" และกล่าวอีกว่า "ท่านคหบดี แม้เสียงว่า พุทธะ นี้ก็ยากที่จะหาได้ในโลก"
เมื่อท่านทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแน่ชัดแล้ว ก็ตั้งใจจะไปเข้าเฝ้าพระองค์ในเวลานั้นทีเดียว แต่เป็นกาลที่ไม่สมควรจึงต้องรอจนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้ คืนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีนอนนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ว่า พรุ่งนี้ เราจะได้เข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ท่านลุกขึ้นในกลางคืนถึงสามครั้งเพราะเข้าใจว่า ว่างแล้ว
วันรุ่งขึ้นเศรษฐีรีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่เช้ามืด ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาท่านเศรษฐีก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะว่า "ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป"
3) ปริพาชกวัจฉโคตรแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตรส ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและกราบทูลถามปัญหาธรรมะหลายข้อ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบได้แจ่มแจ้งทุกคำถามทำให้ท่านประทับใจมากถึงกับกล่าวว่า "ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด"
จากนั้นปริพาชกวัจฉโคตรก็ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะและขอบวชในพระพุทธศาสนาโดยกล่าวว่า "ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะข้าพระองค์พึงได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดม" เมื่อท่านได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็หมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา
4. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในปัจจุบัน
1) การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในอินเดีย
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในประเทศอินเดียและในประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ ในช่วงเทศกาลวิสาขบูชาแต่ละปีจะมีชาวินดู ในอินเดียทำพิธีเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์เป็นวัดหนึ่งที่ชาวินดูนิยมไปทำพิธีดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนวิสาขะไปจนถึงวันวิสาขบูชา ซึ่งปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมาตรงกับวันที่ 28 พฤษภาคม มีชาวอินเดียเดินทางมาที่วัดไทยกุสินาราฯ เพื่อประกาศตนเป็นพุทธมามกะไม่ขาดสาย ในพิธีมีพระสงฆ์ไทยทำหน้าที่รับเข้าสู่ความเป็นพุทธมามกะและให้ศีลห้าไปปฏิบัติตนเพื่อยังความสุขสันติ ร่มเย็นภายใต้ร่มธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก่อนหน้านี้คือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มีชาวินดูหลายหมื่นคน รวมตัวกันที่นครมุมไบเพื่อทำพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะ คณะผู้จัดพิธีกล่าวว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประกาศตนเป็นพุทธมามกะในครั้งนี้อาจสูงถึง 100,000 คน ทั้งนี้ ชาวินดูหวังว่าการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาจะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากระบบแบ่งชั้นวรรณะ ได้สิทธิและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับพุทธศาสนิกชนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน
พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะครั้งใหญ่ที่สุดหลังยุคพุทธกาลเกิดขึ้นใน 14 ตุลาคม พ.ศ.2499 ในครั้งนั้น ดร.อัมเบดการ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย ได้นำชาวินดูกว่า 500,000 คน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะและมีการกล่าวคำปฏิญญา 22 ข้อคือ
1. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
2. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระราม พระกฤษณะเป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
3. ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
4. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
5. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้นคือคนบ้า
6. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารทและบิณฑบาตแบบินดูต่อไป
7. ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
8. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป
9. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
10. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน
11. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 โดยครบถ้วน
12. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ โดยครบถ้วน
13. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
14. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยของคนอื่น
15. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
16. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
17. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
18. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา
19. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดูที่ทำให้สังคมเลวทรามแบ่งชั้นวรรณะ
20. ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
21. ข้าพเจ้าเชื่อว่า การที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง
22. ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ดร.อัมเบดการ์ ได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน" ท่านได้กล่าวคำปราศรัยในครั้งนั้นถึงคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้ว่า
"พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาจากตระกูลต่าง ๆ กัน ย่อมมีความเสมอกันเมื่อมาสู่ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนมหาสมุทรย่อมเป็นที่รวมของน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำและทะเลต่าง ๆ เมื่อมาสู่มหา มุทรแล้วก็ไม่สามารถจะแยกได้ว่าน้ำส่วนไหนมาจากที่ใด" พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ปฏิเสธระบบวรรณะ และคนบางคนไม่มีเหตุผลจะโจมตีพระพุทธศาสนา หรือไม่มีเหตุผลมาหักล้างคำสอนได้ก็อ้างเอาอย่างหน้าด้าน ๆ ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของพวกนอกวรรณะ" "ถ้าหากจะมีพระนามใดที่โจษขานกันนอกประเทศอินเดียที่โด่งดังและกล่าวกันด้วยความเคารพสักการะแล้ว จะมิใช่พระนามของพระรามหรือพระกฤษณะแต่เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าเท่านั้น"
เมื่อนักหนังสือพิมพ์ถามถึงเหตุผลในการนับถือพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า "เพราะการกระทำอันป่าเถื่อนของชาวินดูที่มีต่อคนวรรณะศูทรเช่นเรามานานกว่า 2,000 ปี" พร้อมกันนั้นท่านกล่าวต่อว่า "พอเราเกิดมาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นวรรณะศูทรซึ่งมีค่าต่ำกว่าสุนัข อะไรจะดีเท่ากับการผละออกจากลัทธิป่าเถื่อน ปลีกตัวออกจากมุมมืด มาหามุมสว่าง พุทธศาสนาได้อำนวยสุขให้ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า โดยไม่เลือกว่าเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ความจริงข้าพเจ้าต้องการเปลี่ยนศาสนาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 แต่เหตุการณ์ยังไม่อำนวย ข้าพเจ้าขอกล่าวว่าระบบวรรณะควรจะสูญไปจากอินเดียเสียที แต่ตราบใดที่ยังนับถือพระเวทอยู่ระบบนี้ก็ยังคงอยู่กับอินเดียตลอดไป อินเดียก็จะได้รับความระทมทุกข์ความเสื่อมโทรมตลอดไปเช่นกัน พวกพราหมณ์พากันจงเกลียดจงชังพระพุทธศาสนา แต่หารู้ไม่ว่าพระสงฆ์ในพุทธกาล 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนมาจากวรรณะพราหมณ์ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าอยากจะถามพวกพราหมณ์ในปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหรือ "
2) การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในตะวันตก
ปัจจุบันชาวตะวันตก ได้แก่ ชาวอเมริกันและชาวยุโรป หันมานับถือพระพุทธศาสนากันจำนวนมาก แต่การเปลี่ยนศาสนานั้นมีทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย บางคนก็เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเต็มรูปแบบ บางท่านไม่ใส่ใจพิธีกรรม มุ่งนำคำสอนมาปฏิบัติเป็นสำคัญ แต่ก็ถือว่าเป็นพุทธมามกะโดยสมบูรณ์เช่นกัน พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ตะวันตกผ่านการศึกษาของนักวิชาการก่อน ภายหลังเริ่มแพร่หลายสู่คนทั่วไป
ถามว่าชาวตะวันตกคิดอย่างไรจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา แมกซมึลเลอร์ (ค.ศ.1823-1900) ศาสตราจารย์ทางนิรุกติศาสตร์ชาวเยอรมันกล่าวว่า "ประมวลศีลธรรมของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยรู้จักมา" ศาสตราจารย์คาร์ล กุสตาฟ จุง (ค.ศ.1875-1961) นักจิตวิทยาชาวสวิสกล่าวว่า "ในฐานะเป็นนักศึกษาศาสนาเปรียบเทียบข้าพเจ้าเชื่อว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยพบเห็นมา ปรัชญาของพระพุทธเจ้า ทฤษฎีวิวันาการและกฎแห่งกรรมยิ่งใหญ่เหนือลัทธิอื่นอย่างห่างไกล"
บรรดาซูเปอร์ ตาร์ระดับโลก ทั้งนักแสดงจากฮอลลีวูด นักดนตรี และนักกีฬาหันมานับถือพระพุทธศาสนากันจำนวนมาก ได้แก่ ริชาร์ด เกียร์ (Richard Gere) สตีเวน ซีกัล (Steven Seagal) แองเจลินา โจลี (Angelina Jolie) เจนนิเฟอร์ โลเปซ (Jennifer Lopez) ทอม ครูซ (Tom Cruise) คีนู รีฟส์ (Keanu Reeves) เดวิด เบ็คแฮม (David Beckham) โรเบอร์โต บักจิโอ (Roberto Baggio) ไทเกอร์ วูดส์ (Tiger Woods) ทีนา เทอร์เนอร์ (Tina Turner) เป็นต้น ซูเปอร์ ตาร์เหล่านี้เกิดในท่ามกลางศาสนาคริสต์ ได้รับการปลูกฝังคำสอนและการดำเนินชีวิตแบบคริสต์ แต่ทำไมคนเหล่านี้จึงสนใจศึกษาและดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา
ทอม ครูซ นักแสดงชาวอเมริกัน กล่าวว่า "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งสอนให้คนรู้จักตนเองและมอบความรักเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้ และถือว่าการได้สัมผัสกับพระพุทธศาสนาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งในชีวิต"
เดวิด เบ็คแฮม นักฟุตบอลขวัญใจชาวไทยและคนทั่วโลก หลังจากเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ โดยในช่วงเช้าหลังตื่นนอนจะนั่งสวดมนต์ทำสมาธิทุกวัน เพื่อให้จิตใจสงบ
ทีนา เทอร์เนอร์ นักร้องและนักแสดงชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา "ราชินีแห่งร็อกแอนด์โรล : The Queen of Rock & Roll" กล่าวว่า "จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ฉันมองว่าพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ การสวดมนต์จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ซึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของตัวเรา"
3) การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในไทย
ไทยเป็นประเทศที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก จนผู้นำชาวพุทธนานาชาติพร้อมใจกันยก "พุทธมณฑล" เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก ซึ่งเป็นมติการประชุมทางวิชาการของผู้นำทางพระพุทธศาสนาจาก 41 ประเทศทั่วโลก เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาโลกระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ณ หอประชุมพุทธมณฑล และที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประมาณ 1,600 รูปคน
ปัจจุบันไทยยังมีวัดและองค์กรต่าง ๆ ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาจำนวนมาก หนึ่งในวัดที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เข้มแข็งคือวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนามากมาย เพื่อให้ชาวไทยและคนทั่วโลกได้เข้าถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ชาวไทยเป็นพุทธมามกะที่แท้จริง ไม่ได้เป็นชาวพุทธแต่เพียงในนาม วัดพระธรรมกายได้จัดให้มีพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะในโครงการต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำความเป็นชาวพุทธ เช่น โครงการตักบาตรพระ 1,000,000 รูปทั่วไทย โครงการบวชอุบาสิกาแก้ว และโครงการเด็กดี ผู้นำฟนฟูศีลธรรมโลก เป็นต้น
โครงการตักบาตรพระ 1,000,000 รูปทั่วไทยนั้นได้จัดขึ้นทุกจังหวัดและจัดตลอดทั้งปี โดยคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย คณะสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ และชาวพุทธในพื้นที่นั้น ๆ การจัดตักบาตรแต่ละครั้งจะนิมนต์พระภิกษุในพื้นที่มารับบาตร 1,000 รูปบ้าง 3,000 รูปบ้าง 5,000 รูปบ้าง 10,000 รูปบ้าง และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาร่วมกันใส่บาตร ในขั้นตอนพิธีกรรมได้สอดแทรกพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะด้วย ทำให้ชาวพุทธที่มาใส่บาตรได้ตระหนักว่าตนเป็นชาวพุทธ และจะต้องปฏิบัติตนตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จมาก มีชาวพุทธมาร่วมใส่บาตรมากมาย ยิ่งถ้านิมนต์พระมารับบาตรเป็น 10,000 รูป ก็ยิ่งมีคนมาใส่บาตรกันมาก เพราะเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ทั้งนี้การตักบาตร 10,000 รูปนี้ได้จัดขึ้นประมาณ 20 ครั้งแล้ว (พ.ศ. 2551 - ม.ค. 2554)ส่วนพิธีตักบาตรที่มียอดพระต่ำกว่า 10,000 รูป ได้จัดขึ้นหลายครั้งต่อหลายครั้งทั่วประเทศ
โครงการบวชอุบาสิกาแก้วนั้นได้จัดบวชครั้งละ 100,000 คนบ้าง 500,000 คนบ้าง และ 1,000,000 คนบ้าง โครงการดังกล่าวได้จัดให้มีพิธีรับผ้าสะไบและแสดงตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันที่วัดพระธรรมกาย โดยครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 815 มีนาคม พ.ศ.2553
โครงการเด็กดี ผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก เป็นโครงการสำหรับฝึกนักเรียนให้นำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล เจริญ ภาวนา ความเคารพ เป็นต้น โดยจะมี มุดให้นักเรียนบันทึกความดีที่ได้ทำแต่ละวันแล้วให้ผู้ปกครองและครูตรวจ ซึ่งจะมีรางวัลให้แก่นักเรียนที่ทำความดีได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย ในระหว่างโครงการจะมีกิจกรรมรวมพลังเด็กดี ทั่วประเทศ ณ วัดพระธรรมกาย กิจกรรมดังกล่าวจัดมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกจัดในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 มีนักเรียนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 200,000 คน ซึ่งครั้งล่าสุดจัดในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553 มีนักเรียนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 1,000,000 คน และในวันรวมพลังเด็กดี นั้นได้จัดให้มีพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะด้วย
นอกจากโครงการที่กล่าวมาแล้ววัดพระธรรมกายยังมีโครงการอีกมากมายที่ส่งเสริมให้ชาวพุทธเป็พุทธมามกะที่แท้จริง ได้แก่ โครงการบวชพระ 100,000 รูป โครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้าทั่วประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา มีนักเรียนร่วมสอบกว่า 5 ล้านคน โครงการมาวัดวันอาทิตย์ธรรมดาและอาทิตย์ต้นเดือน โครงการเผยแผ่ธรรมะผ่านจานดาวเทียม เป็นต้น โครงการที่กล่าวมานี้ทำให้ชาวพุทธมีโอกาสได้ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมมากขึ้น จะทำให้เขาเหล่านั้นเป็นพุทธมามกะที่สมบูรณ์และดำรงชีพอย่างเป็นสุขภายใต้ร่มเงาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree