ไตรสิกขา
ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา 3 ประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงไตรสิกขาไว้ในภาวสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย... ไตรสิกขาเป็นไฉน ไตรสิกขา คือ
อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา...
เมื่อใด... เธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบ."
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้อธิบายขยายความเรื่องไตรสิกขาไว้ว่ามี 2 ระดับ คือ ระดับปกติหรือระดับต้น และ ระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไป
ไตรสิกขาระดับต้นนั้น จะเรียกว่า ศีล จิต (สมาธิ) และปัญญา หรือเรียกว่า ศีลสิกขา จิตสิกขา (สมาธิสิกขา) และปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับต้นนี้เป็นไตรสิกขาในระดับ "รู้" หมายถึง รู้ว่าไตรสิกขามีอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขานั้น เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึงไตรสิกขาระดับสูงต่อไป
ไตรสิกขาระดับสูงเรียกว่า อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา หรือเรียกว่า อธิศีลสิกขาอธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับสูงนี้เป็นไตรสิกขาในระดับ "เห็น" หมายถึง ได้ปฏิบัติสมาธิจนสามารถ "เห็น" ได้ด้วยตนเองว่าไตรสิกขาในตัวเรามีอะไรบ้าง กล่าวคือ ได้ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ในตัวที่ละเอียดเป็นชั้น ๆ เข้าไปนั่นเอง
คำว่า "อธิ" ในคำว่า อธิศีล เป็นต้น แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง หมายถึง ไตรสิกขาที่ยิ่งกว่าหรือเกินกว่าหรือล่วงพ้นจากไตรสิกขาในระดับต้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree