.....ในการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระธรรมราชานุวัตร วัดพระเชตุพน รับพระราชทานถวาย
.....แปลว่า ดูก่อนมาณพ จงเดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว อย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม อย่าประทุษร้ายมิตรไม่ว่ากาลไหน ๆ และอย่าตกอยู่ในอำนาจของเหล่าอิสตรี
.....ปุณณกยักษ์สดับแล้ว ไม่เข้าใจในสาธุนรธรรมทั้ง ๔ ข้อนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงวิสัชนาธรรมภาษิตโดยวิจิตรพิสดาร มีใจความสำคัญ ดังนี้
.....ข้อที่ ๑ คำว่า จงเดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้วนั้น อธิบายว่า ผู้ที่เชื้อเชิญบุคคลที่ไม่คุ้นเคยแม้เพียงเชิญให้นั่งเท่านั้น ยังมิได้เชิญด้วยข้าวน้ำ บุคคลที่ได้รับเชื้อเชิญนั้น พึงทำประโยชน์ตอบแทนผู้นั้น ชื่อว่าเดินตามทางที่ท่านเดินแล้ว กล่าวคือ ผู้ที่ทำคุณก่อนชื่อว่า บุพการี เรียกว่าคนเดินหน้า ผู้ที่ระลึกถึงอุปการคุณนั้น และปฏิบัติปฏิการะตอบแทนในกาลสมควร ชื่อว่ากตัญญูกตเวที เรียกคนเดินหลัง คือ เดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว
.....ข้อที่ ๒ อย่าเผาฝ่ามือที่ชุ่ม คือ ผู้ที่ได้อยู่ในเรือนของบุคคลใดแม้คืนเดียว และยังบริโภคข้าวน้ำในเรือนนั้นด้วย ไม่พึงคิดประทุษร้ายแก่บุคคลนั้นแม้ด้วยใจ มิต้องถึงแก่ประทุษร้ายด้วยกายและวาจา ผู้ที่ประทุษร้ายแก่บุคคลเช่นนั้น ชื่อว่า เผาฝ่ามืออันชุ่ม คือมือที่บริโภคอาหารอันชุ่มด้วยน้ำนั่นเอง
.....ข้อที่ ๓ อย่าได้ประทุษร้ายแก่หมู่มิตร อธิบายว่า ผู้ที่เผาฝ่ามืออันชุ่มนั่นแหละ จัดว่าเป็นคนประทุษร้ายแก่มิตร แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงานั่งหรือนอน ก็ยังไม่ควรจะหักก้านรานกิ่งเลย เพราะผู้ประทุษร้ายแก่หมู่มิตร จัดเป็นคนชั่วช้าสามานย์
.....ข้อที่ ๔ อย่าตกอยู่ในอำนาจของเหล่าอิสตรี อธิบายว่า หญิงที่สามียกย่องเป็นอย่างดี ถึงแก่ให้ปฐพีอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์นี้ เมื่อมีโอกาสยังบังอาจดูหมิ่นสามีแม้นั้นได้ หญิงเช่นนี้ชื่อว่า อิสตรี ไม่ควรสมาคม คำว่าสตรี เป็นชื่อของหญิงที่ดี มีความรักใคร่ ในสามีสม่ำเสมอ ส่วนหญิงที่ประพฤติตรงกันข้ามนี้ชื่อว่า อิสตรี ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจอิสตรีเหล่านั้น
.....ปุณณกยักษ์สดับสาธุนรธรรมนั้นแล้ว มีจิตเบิกบานแช่มชื่น เหมือนหลับแล้วตื่น พิจารณาเห็นว่าตนประพฤติผิดในสาธุนรธรรม จึงกลับจิตจะนำพระวิธุรบัณฑิตคืนยังกรุงอินทปัตตแต่พระโพธิสัตว์ขอให้นำไปยังพิภพของพญานาคราช เมื่อได้แสดงธรรมกถาสมความปรารถนาของพระนางเทวีแล้ว จึงนำกลับไปยังพระนครอินทปัตต พระบรมกษัตริย์โกรพยะ ตลอดทั้งข้าราชบริพารพสกนิกรก็ชื่นชมสโมสร สมโภชต้อนรับพระมหาบัณฑิตแห่งพระนครด้วยการบูชาที่ยิ่งใหญ่โดยอานุภาพแห่งสัจจบารมี ดังนี้