สรุปใจความสำคัญของสัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการ

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2560

สรุปใจความสำคัญ
ของสัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการ

พุทธธรรม 2 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการ , สัปปุริสธรรม

     จากที่ได้แสดงรายละเอียดมาทั้งหมด เราจะมาสรุปใจความสำคัญของสัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการ เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้นสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย ดังนี้

1. ธัมมัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักธรรม หรือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ)
     ในการฝึกฝนพัฒนาตนเองนั้นเริ่มตั้งแต่การรู้จักเรียนรู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างทั่วถึงทั้งหมดในพระไตรปิฎก จนกระทั่งสามารถสรุป หรือมองเห็นภาพรวมสำคัญที่ปรากฏในพระไตรปิฎกได้ เช่น เห็นภาพการบากบั่นสร้างความดี การบำเพ็ญบารมีมาอย่างตลอดต่อเนื่องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น กระทั่งเกิดเป็นความศรัทธา เชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกำลังใจที่จะเดินตามแบบอย่างอันดีงามที่พระพุทธองค์เทศนาสั่งสอนไว้ เมื่อพระภิกษุศึกษาได้อย่างนี้จึงเรียกว่า เป็นธัมมัญญู

      สำหรับฆราวาสนั้น เนื่องจากเวลาและการดำเนินชีวิตจะหมดไปกับภารกิจหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งการดูแลครอบครัวหมู่ญาติ จึงมีเวลาที่จะศึกษาธรรมะให้ทั่วถึงอย่างที่

     พระภิกษุทำได้ยาก การที่จะเป็นธัมมัญญูรู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นเบื้องต้นจึงอยู่ที่การได้เข้าวัด เพื่อได้สนทนา ได้ฟังธรรมะจากพระภิกษุเป็นประจำ จนสามารถจดจำธรรมะนั้นมาพินิจพิจารณา เห็นถึงผลดีในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่พระภิกษุแนะนำให้ทำ เห็นถึงข้อเสียในสิ่งที่เป็นโทษที่พระภิกษุห้ามไม่ให้ทำ จนเกิดกำลังใจอยากที่จะปฏิบัติตามอย่างท่านไปด้วย และหากหาโอกาสมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ก็ถือเป็นเบื้องสูงต่อไป เช่น ฝ่ายชายลางานมาบวชในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้โอกาสตนเองได้เข้ามาศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนาในช่วงสั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ส่วนฝ่ายหญิงก็มาช่วยงานในวัดเป็นครั้งเป็นคราวตามที่ทางวัดสะดวกรองรับ เป็นต้น


2. อัตถัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักอรรถ หรือความเป็นผู้รู้จักผล)
     พระภิกษุเมื่อได้ศึกษาความรู้ธรรมะอย่างทั่วถึง ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในธรรมะ นำความรู้ที่มีอยู่นั้นมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้ นั่นหมายถึงจะต้องเข้าใจความหมายและนัยต่าง ๆ จนนำมาปฏิบัติให้ได้ผล ซึ่งการที่พระภิกษุจะสามารถทำได้เช่นนี้ ก็ต้องมีครู หรือกัลยาณมิตรผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ที่จะคอยพร่ำสอน บอก แนะนำ แก้ไขความเข้าใจที่ไม่ มบูรณ์ในการปฏิบัตินั้นให้สมบูรณ์ อย่างเช่น พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ภายในวัด เป็นต้น เมื่อทำได้อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่า เป็นอัตถัญญู

    สำหรับฆราวาสการจะเป็นอัตถัญูได้อย่างพระภิกษุ นอกจากจะขวนขวายในการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างต่อเนื่องแล้ว การได้ครูดีก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงขึ้นอยู่กับการหมั่นเข้าวัดเป็นประจำนั่นเอง โดยเฉพาะวัดที่มีความพร้อมในการแนะนำธรรมะ มีบุคลากรทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่สามารถให้ความรู้กับเรา ซึ่งเท่ากับได้กัลยาณมิตรมาคอยแนะนำพร่ำสอนให้เราปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามมา


3. อัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักตน)
    ถัดจากนั้น ขั้นตอนที่สำคัญคือ การประเมินคุณธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน โดยอาศัยธรรม 6 ประการ คือ ศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ เพื่อตรวจ อบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ รวมทั้งตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้น ๆ ด้วย เพราะเมื่อผลที่ได้จากการประเมินตนไม่สมบูรณ์ ย่อมเป็นตัวชี้วัดว่า ความรู้และความเข้าใจตลอดจนการปฏิบัติก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย เมื่อประเมินได้อย่างนั้น จะได้ปรับปรุงตนเองได้ทันกาล

      สำหรับฆราวาสก็อาศัยธรรมทั้ง 6 ประการมาใช้ในการประเมินคุณธรรมของตนเช่นกัน หากแต่ขอบเขตในธรรมที่ใช้ประเมินนั้น จะแตกต่างกันบ้าง เพราะความแตกต่างของวิถีชีวิต เช่น การประเมินเรื่องศีลของพระภิกษุก็จะมุ่งเน้นไปในศีลทั้ง 227 ข้อ และปาริสุทธิศีล 4 ในขณะที่ฆราวาสจะมุ่งเน้นในศีล 5 ข้อ หรือ ศีล 8 รวมถึงการประกอบอาชีพอันบริสุทธิ์ เป็นต้น


4. มัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณ)
     ในวิถีชีวิตประจำวัน ปัจจัย 4 ล้วนมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขเพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พระภิกษุใช้ฝึกเพื่อสร้างนิสัย ดังนั้นจึงต้องรู้จักควบคุมปัจจัย 4 ที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของตนเองให้ได้ จึงจะเรียกว่า เป็นมัตตัญญู

      ส่วนฆราวาสการฝึกจะเน้นไปที่การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เหมาะสมกับฐานะของตน โดยต้องพิจารณาตั้งแต่การซื้อหา การนำมาใช้ การดูแลรักษา โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาฝึกฝนคุณธรรมของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การไม่เลือกดื่มไวน์ แม้เหตุเพื่อความแข็งแรงของสุขภาพ เพราะผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม เป็นต้น


5. กาลัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักกาล)
     เพราะเวลาเป็นสิ่งมีคุณค่า พระภิกษุจึงต้องฝึกบริหารเวลาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด โดยต้องจัดสรรเวลาเพื่อใช้ในงานที่สำคัญของชีวิตทั้ง 4 ประการ คือ การเรียนพระธรรมวินัย การสอบถาม การนั่งสมาธิ และหลีกออกเร้น จึงจะเรียกว่า เป็นกาลัญญู

   สำหรับฆราวาส การรู้จักจัดสรรเวลาย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากพระภิกษุนัก หากแต่ว่าการใช้เวลาของฆราวาสนั้นส่วนใหญ่มักสูญเสียไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของตน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็สามารถฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นกาลัญญูได้ เบื้องต้นคือ การจัดสรรเวลาในระหว่างวันเพื่อการทำสมาธิภาวนา เพื่อการศึกษาธรรมะ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรมาวัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ เพื่อจะได้มีโอกาสได้รับคำแนะนำในธรรมะอื่น ๆรวมถึงเพื่อสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ การหาเวลามาเพื่อปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะให้มากขึ้น เช่น การลาพักร้อน มาปฏิบัติธรรมต่อเนื่องระยะยาว เช่น 7 วัน 10 วัน ก็จะได้ชื่อว่าได้ฝึกหัดให้เป็นกาลัญูขึ้นมาได้


6. ปริสัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือชุมชน)
     เมื่อพระภิกษุฝึกฝนสัปปุริ ธรรม 5 ข้อแรกจนสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองได้อย่างดีแล้ว ขั้นต่อไปก็คือฝึกการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้แก่ชาวโลก ด้วยการฝึกฝนสัปปุริสธรรมข้อที่ 6 คือ ปริสัญญู (ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือชุมชน) และข้อที่ 7 คือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบุคคล)

     ก่อนที่พระภิกษุจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคลสำคัญในสังคมทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มนักปกครอง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจและผู้ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และกลุ่มนักบวช เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หากรู้จักวางตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็ย่อมจะสามารถแนะนำธรรมะ เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ พระภิกษุจึงต้องศึกษาถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกลุ่มไว้ เพื่อจะได้เป็นปริสัญญู

     สำหรับฆราวาส การพัฒนาตนเองเพื่อการเป็นปริสัญญู ด้วยการเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ก็ทำคล้ายคลึงกับพระภิกษุเช่นกัน แต่ควรมุ่งไปที่การเป็นกัลยาณมิตรให้กับกลุ่มที่มีบทบาททางสังคมใกล้เคียงกับตนเองแทน เช่น หากตนมีอาชีพครู เมื่อต้องเข้าไปหากลุ่มบุคคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ ก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมในฐานะครูกับบุคคลทั้ง 4 กลุ่มรวมทั้งต้องคำนึงไปถึงอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์อื่น ๆ อีกด้วย หากเราสามารถเรียนรู้ธรรมเนียมและปฏิบัติตนเองได้อย่างเหมาะสม ก็ถือว่าเป็นปริสัญญูได้เช่นกัน


7. ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบุคคล)
       เมื่อพระภิกษุแสดงธรรม แนะนำความรู้อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถแนะนำธรรมะให้ตรงกับสภาวะที่คนฟังเป็นอยู่ จนผู้ฟังเกิดกำลังใจ นำธรรมะที่ตนได้ฟังไปปฏิบัติจนบังเกิดผลดีขึ้นกับตัวเองได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น จึงเรียกพระภิกษุได้ว่า เป็นปุคคลปโรปรัญญู

    สำหรับฆราวาสก็สามารถฝึกตัวเองให้เป็นปุคคลปโรปรัญญูได้เช่นเดียวกับพระภิกษุ คือสามารถแนะนำธรรมะให้เหมาะสมแก่คนนั้น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างในด้านของวิธีการแนะนำอันเนื่องมาจากความแตกต่างของเพศภาวะระหว่างพระภิกษุกับฆราวาสทำให้รูปแบบที่ใช้ ควรเป็นการแนะนำมากกว่าการสั่งสอนในบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่าส่วนบุคคลผู้มีระดับต่ำกว่าทั้งอายุ วัย การทำงาน อย่างเช่น เป็นเด็ก เป็นลูก เป็นลูกน้องในที่ทำงาน เป็นต้น ก็อาจแนะนำสั่งสอนให้ได้ไปตามความเหมาะสม เป็นต้น

      จากวิธีการทั้ง 7 ขั้นตอนที่กล่าวมานั้นสัปปุริสธรรม 7 จึงเป็นวิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้กับทั้งพระภิกษุและฆราวาสในทุก ๆ ระดับและทุก ๆ อาชีพ ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถพันาคุณธรรมของตนเองให้ก้าวหน้าแล้ว ยังทำให้มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

      ถ้าใครทำได้ครบทุกข้อ ชีวิตก็จะพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองส่วนคนที่ทำได้แค่ข้อ 1-2 แล้วเอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วก็ชนแหลก ทำให้มักน้อยใจและคิดว่าทำดีไม่ได้ดี แต่ที่จริงเพราะปฏิบัติไม่ครบตามหลักธรรมดังกล่าว ก็ให้สำรวจตัวเองว่าทำครบทุกข้อหรือไม่ ตรงไหนด้อยก็ให้เสริมให้ดีขึ้น ถ้าทำได้ครบจึงจะประสบผลสำเร็จอย่างที่ต้องการ


ข้อควรรู้
      สัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการนี้สามารถสรุปเป็นคำจำกัดความเพื่อให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ง่าย ดังต่อไปนี้คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล เป็นกุศลธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ชาติกำเนิด ฐานันดร ภาพความเป็นอยู่ หรือความมีการศึกษาสูง บุคคลใดน้อมนำไปฝึกฝนจนชำนาญแล้ว บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเป็นคนดีที่โลกต้องการ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวโลกได้

     สัตบุรุษ ในที่นี้หมายถึง คนดีที่รักความสงบสุข รักสันติภาพ เป็นคนที่มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือมีพฤติกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือเรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นผู้มีจิตสงบระงับจากบาปอกุศลธรรม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน

     ข้อสำคัญ เมื่อเราอยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษหรือคนดีแล้ว ก็ควรต้องหมั่นเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับฟังโอวาทของสัตบุรุษ เพราะสัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดีสละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว

     การจะปลูกฝังคุณธรรมในสัปปุริสธรรม 7 ประการ ให้มีในตนได้นั้น จะต้องกระทำตามหลัก 3 ประการ ได้แก่ ศึกษา ทำความเข้าใจ แล้วน้อมนำไปฏิบัติ

      1. การศึกษานั้นสามารถทำได้หลายทาง เช่น ฟังจากครูบาอาจารย์ผู้มีภูมิรู้ภูมิธรรมอ่านจากหนังสือต่าง ๆ เป็นต้น แต่ที่สำคัญต้องศึกษาจากพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้ก่อน แล้วค่อยศึกษาจากตำหรับตำราที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายแแต่งขยายความไว้ ซึ่งควรอ่านหลาย ๆ เล่ม อ่านจากผู้แต่งหลาย ๆ คน จะได้มีข้อเปรียบเทียบและได้รับความรู้ที่หลากหลาย เพราะคนที่เขียนหนังสือแต่ละท่านนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่างกันบ้าง จับแง่คิดขยายความได้ดีคนละจุดบ้าง เป็นต้น

    2. ในขณะที่ศึกษาควรพิจารณาไตร่ตรองทำความเข้าใจตามไปด้วย และเมื่อศึกษาจบแต่ละบทแต่ละตอนแล้วควรพยายามสรุปเป็นประเด็นสำคัญออกมา เพื่อจะได้ง่ายแก่การจดจำทั้งยังเป็นการฝึกให้จับประเด็นเป็นอีกด้วย และหากแม้เกิดความสงสัยประการใดก็ให้เข้าไปสอบถามครูบาอาจารย์ผู้รู้อีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุด จะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้ไม่ผิดเพี้ยน

    3.สำหรับในขั้นปฏิบัตินี้ควรหมั่นระลึกถึงหลักธรรมและน้อมนำไปปฏิบัติบ่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัย พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า เรายังปฏิบัติบกพร่องในส่วนไหนบ้างซึ่งหากพบเห็นก็ให้รีบปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

   อย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นคือ เมื่อศึกษาพิจารณาทำความเข้าใจในเนื้อหาแล้วสิ่งสำคัญในลำดับต่อไปคือ น้อมนำไปปฏิบัติ แต่หากยังมีความสงสัยตรงจุดไหนก็ควรรีบไปถามผู้รู้ในทันที หากบุคคลใดกระทำอย่างนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ เพราะเป็นผู้มีสัปปุริสธรรม 7 อยู่ในตน


อานิสงส์
      ผู้มีสัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการในตน จะได้รับคุณประโยชน์ ดังนี้

1. ทำให้เป็นพหูสูต เป็นผู้รู้จริง รู้อย่างลึกซึ้งแตกฉาน

2. ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล ไม่โง่งมงาย และรู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

3. ทำให้มีทัศนกว้างไกลสามารถสาวไปหาเหตุและผลที่เกิดขึ้นได้ คาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง

4. ทำให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมประจำตน และรู้จักประมาณในการทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างพอดี

5. ทำให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม

6. ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักกาลเทศะวางตัวเป็น เข้าสังคมเป็น ทำให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

7. ทำให้เป็นผู้ที่มองคนออก แยกแยะคนเป็น เลือกคบคนเป็น และเป็นกัลยาณมิตรให้ผู้อื่นได้

8. ทำให้สามารถพัฒนาคุณธรรมที่มีอยู่ในตนให้ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนและผู้อื่นได้อย่างไร้ขีดจำกัด

9. ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทสามารถสร้างหนทางไปสวรรค์และพระนิพพานได้โดยง่าย

10. ทำให้เป็นต้นแบบของคนดีที่โลกต้องการ

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 008 พุทธธรรม 2
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01797734896342 Mins