มรรค 8 (หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ 8 ประการ)

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2560

มรรค 8
(หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ 8 ประการ)

พุทธธรรม 2 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , มรรค 8  , มรรค 8 (หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ 8 ประการ)

        มรรค 8 หรือ หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ 8 ประการ มีความหมาย และรายละเอียดดังนี้

    แต่ก่อนที่เราจะได้เข้าสู่เนื้อหาของมรรค 8 นั้น เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า มรรค 8 นั้นเป็นข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ดังต่อไปนี้

     อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ หรือ ความจริง 4 ประการอันทำให้บุคคลผู้เห็นเป็นผู้ประเสริฐ

      อริยสัจ 4 คือความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็นจนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้คือรู้และเห็น แล้วทรงชี้ให้เราดู ได้แก่

1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ
2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง
4. มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์

      ถ้าจะเปรียบกับโรค

      ทุกข์ เปรียบเหมือน สภาพที่ป่วยเป็นโรค

      สมุทัย เปรียบเหมือน ตัวเชื้อโรค

      นิโรธ เปรียบเหมือน สภาพที่หายจากโรค แข็งแรงแล้ว

      มรรค เปรียบเหมือน ยารักษาโรคให้หายป่วย

     ทุกคนในโลกนี้ ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนคนป่วยแต่ไม่รู้ว่าป่วยจากสาเหตุอะไร จะแก้ไขรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร

     การศึกษาให้เข้าใจในเรื่องอริยสัจ 4 จึงเป็นหนทางที่จะทำให้เรารู้จักทุกข์พร้อมทั้งสาเหตุที่มาและวิธีปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ จนสามารถดับทุกข์ที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง แต่ในบทนี้เราจะมาศึกษากันเฉพาะในเรื่องของ มรรค ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์เท่านั้นดังต่อไปนี้


1. ความหมาย
     พระศาสดาของศาสนาต่าง ๆ ย่อมจะแสดงให้ศาสนิกชนของตนได้รู้ไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่นับถือศาสนาของท่านจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามที่ศา นานั้น ๆ กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น

      ศาสนาคริสต์ มีบัญญัติ 10 ประการ เป็นทางดำเนินชีวิต

      ศาสนาอิสลาม มีรุก่นอิสลาม 5 ประการ เป็นทางดำเนินชีวิต

      ศาสนาฮินดู มีสันสการ 16 ข้อ เป็นทางดำเนินชีวิต

      ในศาสนาพุทธของเรา พระบรมศาสดาก็ทรงสอนทางดำเนินชีวิตไว้ให้แล้วเหมือนกัน คือ มรรค 8

     มรรค แปลว่า ทาง หมายถึงทางปฏิบัติ หรือทางดำเนินชีวิต ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประการ เรียกว่า มรรค 8 หรือมรรคมีองค์ 8 ซึ่งก็คือ หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ 8 ประการนั่นเอง

      มรรค 8 นี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ อีกหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

     "ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา" แปลว่า ปฏิปทาอันยังผู้ปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์หมายความว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพาน หรือถึงนิโรธ อันเป็นความดับทุกข์อย่างสนิท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุถึงนิพพานก็ด้วยทางสายนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามทางสายนี้จึงบรรลุนิพพาน

     "มัชฌิมา ปฏิปทา" แปลว่า ทางสายกลาง หมายความว่า ทางปฏิบัติของบรรดาเจ้าลัทธิอื่น ๆ เมื่อว่าโดยย่อแล้วมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบกามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้มัวเมาอยู่ในกาม) กับแบบอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนให้ได้รับความลำบากเกินไป) พวกแรกหย่อนยานเกินไป พวกหลังตึงเกินไปส่วนมรรค 8 นี้ เป็นข้อปฏิบัติที่พอเหมาะ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป จึงเรียกว่า ทางสายกลาง

      "อัฏฐังคิกมรรค" แปลว่า มรรคมีองค์แปด หมายความว่า เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติควบกัน 8 ข้อ

     "อริยมรรค" แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง 8 นี้ ผู้ใดได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นจะหมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนภาพจากปุถุชน (คนกิเลสหนา) เป็นอริยชน (คนประเสริฐ) เช่นดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

     เราจะได้พบสำนวนเทศนาใช้คำว่า มรรคมีองค์แปดบ้าง มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดบ้าง ซึ่งเป็นคำแปลออกจากพระบาลีว่า อัฏฐังคิกมรรค ข้อนี้หมายความว่า มรรคเป็นทางเอกมีสายเดียวเท่านั้น แต่ที่ท่านว่ามีองค์แปดนั้นหมายถึงว่ามีเงื่อนไขในทางปฏิบัติ 8 ข้อต้องปฏิบัติควบกันให้สมบูรณ์ทั้งแปดข้อ จึงจะได้ผลเต็มที่ คล้ายกับถนนสายหนึ่ง มีส่วนประกอบแปดอย่าง เช่น พื้นถนน ผิวถนน ขอบถนน ไหล่ถนน ทางเท้า คูระบายน้ำ ฯลฯ แต่ความจริงสิ่งเหล่านี้รวมกันแล้วก็เป็นถนนสายเดียวนั่นเอง

     มรรคทั้งแปดนี้เป็นแม่บทแห่งการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับบรรดาธรรมปฏิบัติทั้งสิ้นในพระศาสนาล้วนแต่เป็นส่วนขยายของมรรคแปดนี้ หรือกล่าวได้ว่าคำสั่งสอนของศาสนาทุกข้อรวมลงในมรรคแปดนี้ทั้งสิ้น

     มรรค 8 เป็นทางสายเอกในศาสนา มรรค 8 แต่ละข้อจึงมีความหมายทั้งเบื้องต่ำและเบื้องสูง ที่ชาวพุทธทุกระดับดำเนินตามได้ พอเหมาะกับความสามารถของตน เหมือนกับรัฐบาลตัดถนนไว้สายหนึ่ง จากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ยาวหลายร้อยกิโลเมตร แต่ราษฎรคนใดจะเดินไปตามถนนนั้นสั้นยาวแค่ไหน ก็แล้วแต่ความประสงค์และความสามารถของผู้นั้น รัฐบาลท่านไม่ห้าม การดำเนินตามมรรค 8 นี้ก็เหมือนกัน ผู้ปฏิบัติตามได้น้อยก็ได้ผลคือ เป็นคนดีชั้นสามัญ ที่เรียกว่ากัลยาณปุถุชน เป็นคนดีที่โลกสรรเสริญ มีความทุกข์เดือดร้อนเบาบาง ผู้ปฏิบัติตามได้มากก็เป็นคนดีชั้นประเสริฐ ที่เรียกว่าอริยชน เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามี จนถึงเป็นพระอรหันต์ พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง

     ต่อจากนี้ไป เราจะได้มาศึกษากันว่า มรรค 8 นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้สามารถนำไปเป็นหนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ได้ในทุกระดับ

 

2. องค์ประกอบ
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงองค์ประกอบของมรรคไว้ 8 ประการ คือ

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
4. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ)
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ)
6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
8. สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)

     คำว่า "ชอบ" ในที่นี้มิได้หมายความว่า ชอบใจพอใจ แต่หมายความว่า ถูกต้องไม่ผิดพลาด เหมือนคำว่า เห็นชอบ มิได้หมายความว่า เห็นแล้วก็ชอบใจ แต่หมายความว่าเห็นถูกต้องไม่ผิดพลาด ข้ออื่น ๆ ก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน ดังจะได้อธิบายต่อไป


รายละเอียดของมรรคทั้ง 8 ประการ
สัมมาทิฏฐิ
องค์มรรคข้อที่ 1 สัมมาทิฏฐิ

     ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเห็นที่ว่านี้หมายถึงความเห็นของใจ คือคนเราทุกคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ อาจเห็นอะไร ๆ ได้ 2 ทาง คือเห็นทางตา เรียกว่าพบเห็น กับ เห็นทางใจ เรียกว่าคิดเห็น ความเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นทางใจเท่านั้น คือใจคิดไปเห็นไป เห็นด้วยอำนาจความคิด ก็เรียกว่า คิดเห็น ทางศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ

     คำว่า "ทิฏฐิ" เป็นคำกลาง ๆ อาจหมายถึงทิฏฐิที่ดีก็ได้ หมายถึงทิฏฐิที่ไม่ดีก็ได้ถ้าเป็นความเห็นที่ดี คือเห็นถูกต้องก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่เสียคือเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

    ทิฏฐิ คือความเห็นของแต่ละคนนี่แหละ คือจุดเริ่มแห่งความประพฤติของตน ใครมีมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ เขาก็จะเดินไปในทางผิด กลายเป็นคนชั่ว คนอันธพาล เป็นโจรถึงความวิบัติย่อยยับในที่สุด ใครมีสัมมาทิฏฐิคือผู้เห็นถูกต้อง อะไรผิดเห็นว่าผิด อะไรถูกเห็นว่าถูก เขาก็จะเดินไปในทางถูก มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในการดำเนินตามมรรคข้อต้น อันเป็นก้าวแรก พระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้องก่อน คือให้เป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ อย่าเป็นคนมีมิจฉาทิฏฐิ


ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ มีดังนี้
     ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึง มีญาณ รู้อริยสัจ 4 ความรู้อริยสัจ 4 ด้วยญาณนี่แหละเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์

    ข. ความหมายเบื้องต่ำ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น ทำดีต้องได้รับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว บุญบาปมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริงสัตว์ตายแล้วไปเกิดเป็นโอปปาติกะ (พวกกายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดปุบโตปับทันที) พ่อแม่มีพระคุณจริง ผู้หมดกิเลสมีจริงผู้หมดกิเลสแล้วสอนให้ผู้อื่นหมดกิเลสตามมีจริง เป็นต้น

      สรุปว่า ความเข้าใจถูกในเรื่องที่ทำให้กิเลสให้หมดไปได้ จึงเรียกว่าสัมมาทิฎฐิ

      การปฏิบัติเกี่ยวกับทิฏฐิของตนนั้น เมื่อ สรุปตามหลักคำสอนของพระบรมศาสดา มีความโดยย่อดังนี้

      ถ้าตนเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ก็พึงประคับประคองสัมมาทิฎฐินั้นไว้ และเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

     ถ้าตนมีทิฏฐิวิปลาศคือเห็นคลาดเคลื่อนไป ก็พึงทำทิฏฐิของตนให้ตรง ที่เรียกว่า ทิฏุฐุชุกรรม โดยวิธีสามอย่าง คือ ธัมมานุสรณะ คิดนึกทบทวนข้อธรรมคำสอน (เช่นนึกไปตามคำสวดมนต์) ธัมมัสวนะ ฟังธรรม (เช่นฟังเทศน์ ฟังบรรยายธรรม) และธัมมสากัจฉาสนทนาธรรม กิจกรรมทั้งสามนี้เป็นทิฏุฐุชุกรรม คือ วิธีดัดทิฏฐิให้ตรงตามทำนองคลองธรรม


สัมมาสังกัปปะ
องค์มรรคข้อที่ 2สัมมาสังกัปปะ

     สังกัปปะ แปลว่า ความดำริ ในวงงานทั่วไป มัยนี้เรียกว่า ความคิดริเริ่ม ได้แก่ความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ให้มีความก้าวหน้าเรื่อยไป แทนที่จะปล่อยตัวให้จมอยู่อย่างคนที่สำนวนทางศาสนาเรียกว่า "เป็นคนมีความดำริอันจมเสียแล้ว" คนประเภทนี้มักปล่อยตัวตามยถากรรมทำงานไม่เจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าคนสิ้นคิด

   คนที่มีความคิดริเริ่มนั้น ในวงการบริหารเรียกว่า คนมีภาวะสร้างสรรค์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Creative Person ซึ่งเป็นที่ต้องการกันมาก

     สังกัปปะ คือ ความคิดริเริ่มของคนเรามีทั้งดีและเสีย ความคิดริเริ่มในทางดีเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ความคิดริเริ่มในทางเสีย เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ

    ดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า คนเราถ้าปักใจคิดจะทำสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องทำสิ่งนั้น เมื่อทำไปแล้วก็จะต้องรับผลแห่งการกระทำของตน เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้ปรับปรุงสังกัปปะของตนให้ดี ให้เป็นคนมีสัมมาสังกัปปะลักษณะของสัมมาสังกัปปะ มีดังนี้

    ก. ความหมายเบื้องสูงสัมมาสังกัปปะมีลักษณะ 3 อย่าง คือ 1.เป็นความคิดที่จะพรากตนออกจากกาม (ตัดความมัวเมาในกามารมณ์) 2.เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น และ 3.เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยการเบียดเบียนสัตว์

    ข. ความหมายเบื้องต่ำ มีนัยเหมือนความหมายเบื้องสูง คือหมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ก็อย่าให้เป็นเรื่องหมกมุ่นอยู่ในกาม เช่น หมกมุ่นในการดื่มสุรายาเมา หมกมุ่นในเพศตรงกันข้าม หมกมุ่นในอบายมุข ตลอดจนความเมาลาภ เมายศ เมาสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า นอกจากนี้ต้องเป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตเคียดแค้นผู้อื่น ไม่แฝงด้วยเล่ห์กลมายาหาทางเบียดเบียนความสุขของใคร ๆ


สัมมาวาจา
องค์มรรคข้อที่ 3 สัมมาวาจา

     วาจา หมายถึง การเจรจา คือการแสดงเจตนาของตนให้คนอื่นเข้าใจ โดยตรงได้แก่การพูด อย่างที่คนเราพูดกันด้วยปากอยู่ทั่วไปนี่แหละ โดยอ้อมได้แก่การแสดงออกแทนคำพูดทุกวิธี เช่น การใช้ใบ้ส่ายหน้าเมื่อปฏิเสธ พยักหน้าเมื่อรับ การบอกกล่าวด้วยอักษร เช่น การเขียนหนังสือ การทำเครื่องหมายด้วยภาพหรือด้วยแสงด้วยสี การแสดงโดยปฏิญญา เช่น การครองผ้ากาสาวะอย่างนักบวช การแต่งเครื่องแบบอย่างทหาร การแต่งเครื่องแบบอย่างตำรวจการแสดงตัวเป็นข้าราชการ กิริยาเหล่านี้ ถ้าทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนเป็นเช่นนั้น ก็อนุโลมเป็นวาจา

    การใช้วาจา เป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งจุดหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะรู้ความประสงค์ของกันและกันได้โดยทางเดียว คือทางวาจา วาจาจึงเป็นสื่อระหว่างตัวเรากับคนอื่น

การเรียนวิชาความรู้ก็ใช้วาจา
การสอนวิชาความรู้ก็ใช้วาจา
การก่อตั้งครอบครัวก็ใช้วาจา
การทำมาค้าขายก็ใช้วาจา
การประชุมปรึกษาหารือก็ใช้วาจา
การแพทย์ก็ใช้วาจา (ระหว่างหมอ พยาบาล คนไข้)
การเลือกตั้งก็ใช้วาจา (บัตรที่ลงคะแนนนั้นแทนคำพูด)
การปกครองประเทศก็ใช้วาจา (กฎหมายเป็นสิ่งแทนคำพูด)
การคมนาคมก็ใช้วาจา (เช่นเครื่องหมายจราจร โทรเลข ไปรษณีย์)
การอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจก็ใช้วาจา (เช่นเครื่องหมายการค้า)
การเมืองระหว่างประเทศก็ใช้วาจา
การบวชในศาสนาก็ใช้วาจา
การบริหารพระศาสนาก็ใช้วาจา

    รวมความว่า กิจการทุกอย่างมีวาจาเป็นหลักทั้งนั้น คนที่ไม่ตระหนักในการใช้วาจาย่อมมีทางเสื่อมเสียได้รอบด้าน อาจทำให้ตนเองเสื่อมจากผลประโยชน์ก็ได้ อาจทำให้ครอบครัวสังคม ตลอดจนประเทศชาติล่มจมก็ได้ ลงได้วาจาเหลวแหลกเสียอย่างเดียว ชีวิตทั้งชีวิตก็จะล้มเหลวตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ปรับปรุงวาจาของตน

      หลักการปรับปรุงตนในข้อนี้ คือทำตนให้เป็นคนมีสัมมาวาจา อย่าเป็นคนมีมิจฉาวาจา

ลักษณะของสัมมาวาจา มีดังนี้

ก. ความหมายเบื้องสูง
ข. ความหมายเบื้องต่ำ

  ลักษณะของสัมมาวาจา ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการเจรจานั้นจักต้องปราศจากวาจาชั่ว ที่เรียกว่า วจีทุจริต คือ

     1. มุสาวาท พูดเท็จ คือเจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง ซึ่งกินความไปถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ รวมทั้งสิ้น 7 วิธีด้วยกัน คือ ปด (โกหกจัง ๆ) ทนสาบาน (เช่นครูถามสั่งนักเรียนว่าใครทำผิดให้ยืนขึ้น ตนทำผิดแล้วไม่ยืนขึ้น) ทำเล่กระเท่ห์ (เช่นทำอวดความศักดิ์สิทธิ์ของตนเกินความจริง) มารยา (เช่นเจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก) ทำเล (ทำทีให้คนอื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง) เสริมความ (เรื่องมีมูลพูดน้อยให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่) อำความ (เรื่องมากปิดบังไว้ให้เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย)

     เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญกับความจริงเยี่ยงสุภาพชน

    2. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด คือเก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะให้เขาแตกกัน หรือให้เขารักตนเจตนารมณ์ของทางศาสนา คือไม่ให้หาความชอบด้วยการประจบสอพลอ

    3. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่ คำด่า (พูดกดให้ต่ำลง) ประชด (พูดยกจนลอย) กระทบ (พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อคิด) แดกดัน (พูดกระแทกกระทั้น) สบถ (แช่งชักหักกระดูก) คำหยาบโลน (พูดคำที่สังคมรังเกียจ) คำอาฆาต(พูดให้ผู้ฟังมีอันหวาดกลัวจะถูกทำร้าย) คำต่ำ (เช่นคำว่า กู มึง อีไอ้ ฯลฯ)

    เจตนารมณ์ของทางศาสนา ให้ศาสนิกชนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด

     4. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหล พูดพล่อย ๆสักแต่ว่ามีปาก อยากพูดก็พูดไป หาสาระมิได้

     เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ศาสนิกชนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน

    รวมความว่าสัมมาวาจานั้นท่านมิได้บังคับว่าต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คำนั้นคำนี้ หรือภาษานั้นภาษานี้ กำหนดแต่ให้เป็นวาจาบริสุทธิ์ขั้นพื้นฐาน คือไม่ใช้วจีทุจริตทั้งสี่อย่างดังกล่าวแล้ว

    ในทางตรงกันข้าม เมื่อเว้นจากวจีทุจริตแล้ว ก็ใช้วจีสุจริต วจีสุจริต ได้แก่ วาจาสุภาษิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ

1. พูดเรื่องจริง
2. พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์
3. พูดถูกกาลเทศะ
4. พูดด้วยคำสุภาพ
5. พูดด้วยจิตเมตตา


สัมมากัมมันตะ
องค์มรรคข้อที่ 4 สัมมากัมมันตะ

      กัมมะ หรือ กรรม แปลว่า การงาน การทำงาน งานที่ทำ

   กัมมันตะ หมายถึง เป็นผู้มีงานทำ ขอให้กำหนดความลงในตอนต้นนี้เสียก่อนว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนทำงาน มีงานทำทุกคน ไม่ใช่ปล่อยตัวให้เป็นคนว่างงาน หรือเป็นคนเกียจคร้าน งานการไม่ทำ

    งานที่ว่านี้ หมายถึงงานทั่วไป ซึ่งคนเราจำต้องทำตาม มควรแก่วัยและสุขภาพ ตลอดจนหน้าที่ของแต่ละคน เช่น การเรียน การสอน การทำนา การทำสวน การค้า การเล่นกีฬา การบันเทิง การท่องเที่ยว การรับจ้าง ฯลฯ จนกระทั่งถึงการบำเพ็ญสมณธรรม การทำตนให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร

    ตัวคนเรานี้ธรรมชาติสร้างมาให้ทำงานได้หลายอย่าง อาจทำงานที่ดีก็ได้ทำงานที่ไม่ดีก็ได้ อย่างเช่น มือของเราจะใช้พนมมือไหว้พระก็ได้ จะใช้กำเข้าชกต่อยใครก็ได้ จะใช้ถือจอบถือเสียมขุดดินก็ได้ จะใช้เพื่อไปทำบุญก็ได้ จะใช้เพื่อไปทำบาปก็ได้

    เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่รู้ไม่เท่าทันตัวเองจึงหลงใช้ตัวเองทำงานผิด ๆ เป็นการปล้นตัวเองฝังตัวเอง คนเราที่ตายเพราะคนอื่นฆ่ามีน้อยส่วนมากนั้นตายเพราะตัวเอง เช่น ฆ่าตัวเอง คนที่ต้องรับโทษเพราะคนอื่นใส่ความก็มีน้อย คนที่หาความชั่วความผิดมาใส่ตัวเองแล้วต้องรับโทษนั้นมีมาก ในทำนองเดียวกัน คนที่ได้ดีมีชื่อเสียง ไปสวรรค์ ไปนิพพาน เพราะพึ่งผลการทำงานของคนอื่นก็มีส่วนน้อย แต่ส่วนมากได้บรรลุคุณวิเศษสมปรารถนาเพราะผลการทำงานของตนเอง

    ด้วยเหตุนี้แหละพระบรมศาสดาของเราจึงทรงแสดงจุดสำคัญในการปฏิบัติไว้ คือ การทำงานการปฏิบัติในเรื่องนี้ก็คือให้เป็นคนมีงานดี หรือมีสัมมากัมมันตะ อย่าเป็นคนมีมิจฉากัมมันตะ

ลักษณะของสัมมากัมมันตะ มีดังนี้
    ก. ความหมายเบื้องสูง ได้แก่การตั้งเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 1 เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ 1 เจตนางดเว้นจากการเสพเมถุน 1 (โดยนัยนี้หมายความว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่รักษาอุโบสถศีลขึ้นไป)

      ข. ความหมายเบื้องต่ำ ได้แก่การทำงานโดยสุจริต ใช้ความรู้ความสามารถของตนโดยชอบ ไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกายของผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นและไม่ประพฤติผิดในทางกามารมณ์ต่อใคร ๆ

     รวมความว่าสัมมากัมมันตะ หรือการงานชอบนั้น ท่านมิได้ระบุว่าต้องเป็นงานอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กำหนดพื้นฐานเบื้องต้นไว้ ว่าต้องเป็นงานที่ไม่แฝงด้วยทุจริต 3 อย่างเท่านั้น

งานที่เป็นทุจริต 3 อย่าง ได้แก่

     1. ปาณาติปาต หมายถึงการฆ่าสัตว์นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าคนทั่วไปลงไปถึงฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่น ๆ บาปที่เกิดจากการฆ่านั้นก็หนักเบาลดหลั่นลงไป เช่นฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็เป็นบาปถึงขั้นอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน

    เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ศาสนิกชนแก้ปัญหาชีวิตโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และอาจต้องรับผลบาปกรรมเวรต่อไปอีก

    2. อทินนาทาน หมายถึงการแสวงหารายได้โดยทางทุจริต อันเข้าลักษณะ "โจรกรรม" คือ ลัก (ขโมยเอาลับหลัง) ฉก (ชิงเอาซึ่งหน้า) กันโชก (ขู่เอา) ปล้น (รวมหัวกันยื้อแย่งเอา) ตู่ (เถียงเอา) ฉ้อ (โกงเอา) หลอก (ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์) ลวง (เบี่ยงบ่ายลวงตาเช่นใช้เครื่องชั่งโกง) ปลอม (ทำของปลอม) ตระบัด (ปฏิเสธ) เบียดบัง (ซุกซ่อนเอาบางส่วน)สับเปลี่ยน (แอบสับเปลี่ยนของ) ลักลอบ (หนีภาษี) ยักยอก (เบียดบังเอาของที่อยู่ในหน้าที่ของตน)

    เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพราะทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตนั้นไม่ก่อให้เกิดบาปกรรมแก่ผู้บริโภค และทำให้มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นได้ดีกว่าทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต

    3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การกระทำผิดในทางเพศ ลุอำนาจแก่ความกำหนัดที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากก็คือการทำชู้ รองลงมาก็ได้แก่การข่มขืน การฉุดคร่า อนาจาร

    เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ คือ ให้มนุษย์มีจิตใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันจะเป็นทางรักษาประเวณี (เชื้อสาย) ของคนในสังคมให้เรียบร้อย และป้องกันเหตุอาชญากรรมทางเพศด้วย


สัมมาอาชีวะ
องค์มรรคข้อที่ 5สัมมาอาชีวะ

      อาชีวะ แปลว่า อาชีพ หมายถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ

     คนเราทุกคนมีสิ่งที่รักและหวงแหนอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือ ชีวิต ชีวิตหมายถึงความเป็นอยู่ ตรงกันข้ามกับความตาย ความเป็นอยู่หรือที่เรียกว่าชีวิตนี่แหละ เป็นเครื่องรองรับมนุษย์สมบัติของเรา คือไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เช่น เป็นครู เป็นนักเรียน เป็นภิกษุ เป็นสามเณรเป็นสมภารเจ้าวัด เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นหัวหน้าแผนกหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี จนกระทั่งเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ฯลฯ ก็เพราะผู้นั้นมีสิ่งหนึ่งเป็นพื้นรองรับไว้สิ่งนั้นคือชีวิต ถ้าใครหมดชีวิตเสียแล้วก็เป็นอะไรไม่ได้ แม้แต่จะเป็นคนก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงรักชีวิต หวงแหนชีวิต แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยจึงจะมีได้ ถ้าขาดปัจจัยเสียชีวิตก็ดับ ฉะนั้นทุกคนจึงมีภาระติดตัวอยู่โดยกำเนิดอย่างหนึ่ง คือต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต งานหาเลี้ยงชีวิตนี้ท่านเรียกว่า อาชีพสุภาพชนคนดีต้องมีอาชีพทุกคน แม้แต่บรรพชิตคือคนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ตัดอาชีพทางคฤหัสถ์แล้ว แต่พอเข้าสู่พิธีอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็แนะอาชีพใหม่ให้ คือบิณฑบาตเลี้ยงชีพ

    แต่เพราะความเขลา คนบางคนเกิดหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบาปกรรม อันเรียกว่า มิจฉาชีพ เพราะกรรมชั่วนั้นเขาจึงเป็นคนมีชีวิตมัวหมอง แม้จะยังไม่ตายคือยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นชีวิตที่สกปรกต่ำช้าเลวทราม จนตกแต่งให้ดีไม่ได้ ทำให้ชีวิตของตนมีแนวโน้มต่ำลง ๆ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนปรับปรุงงานเลี้ยงชีวิต หรืออาชีพของตน ให้เป็นคนมีสัมมาอาชีวะ อย่าเป็นคนมีมิจฉาอาชีวะ

ลักษณะของสัมมาอาชีวะ มีดังนี้

ก. ความหมายเบื้องสูง
ข. ความหมายเบื้องต่ำ

     ลักษณะของสัมมาอาชีวะ ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ ท่านแสดงไว้ในมรรควิภังคสูตร มีหลักการกว้าง ๆ อย่างเดียวกัน คือให้เว้นจากการประกอบอาชีพในทางที่ผิดเสีย (มิจฉาชีพ) แล้วตั้งอยู่ในสัมมาชีพ

   มิจฉาชีพสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่การแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพโดยวิธีที่เรียกว่าอเนสนาทุกอย่าง คือแสวงหาในทางไม่สมควร เช่นรับจ้างทำงานเป็นต้นส่วนมิจฉาชีพสำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่การแสวงหารายได้โดยวิธีผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ตลอดจนผิดจารีตประเพณี เป็นอาชีพที่วิญูชนตำหนิติเตียน

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อาชีพที่ควรเว้น ซึ่งเรียกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ1 มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่

1. ค้าขายมนุษย์
2. ค้าขายสัตว์ไว้สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
3. ค้าขายอาวุธเพื่อเป็นเครื่องประหาร
4. ค้าขายยาพิษ
5. ค้าขายน้ำเมา (หมายถึงสุราและเครื่องดื่มของมึนเมาทุกชนิด กับยาเสพติดทุกชนิด)


สัมมาวายามะ
องค์มรรคข้อที่ 6 สัมมาวายามะ

     วายามะ แปลว่า ความพยายาม หมายถึงความพากเพียร ในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ คุณธรรมดังกล่าวนี้ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิต จิตของใครมีคุณลักษณะอย่างนี้ จะมีความรู้สึกพึงพอใจ (ฉันทะ) ในกิจการของตน บากบั่นไม่ท้อถอย อดทน หนักแน่น และทำงานนั้นก้าวหน้าต่อไป

     คุณธรรมอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้หวังความสำเร็จจะต้องปลูกฝังขึ้นในตน เพราะการดำเนินงานในชีวิตของคนเรานี้ บางอย่างก็ต้องฝนความสะดวกสบาย บางอย่างต้องใช้เวลานานบางอย่างต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ถ้าใครขาดคุณธรรมทางใจ คือ วายามะ คนนั้นก็ยากที่จะทำงานให้เห็นผล งานต่าง ๆ นั้นต้องใช้เวลา เช่น การเรียนหนังสือ ชั้นประถมศึกษาใช้เวลา 6 ปี ชั้นมัธยมศึกษาใช้เวลา 6 ปี มหาวิทยาลัยใช้เวลา 4 ปี เรียนนักธรรมใช้เวลา 3 ปี เรียนอนุบาลใช้เวลา 9 ปี เป็นอย่างน้อย การบำเพ็ญพรต ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้ชาติสุดท้ายเสด็จออกผนวชแล้ว ยังต้องทรงทำความเพียรอยู่นานถึง 6 ปี มีอุปสรรคขัดขวางร้ายแรงนับไม่ถ้วน และการประดิษฐานพระพุทธศาสนาก็ใช้เวลาถึง 45 ปี

    ความเพียรพยายามจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพันาชีวิตจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงเน้นคำสอนไว้ว่า "วายเมเถว ปุริโส " แปลว่า "เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป"

    แต่ความพยายามของคนเราก็อาจมีได้ทั้ง องอย่าง คือมิจฉาวายามะพยายามในทางที่ผิด กับสัมมาวายามะพยายามในทางที่ถูกต้อง คนเราไม่ใช่สักแต่ว่ามีความพยายามแต่จะต้องพยายามอย่างถูกต้องด้วย

    พวกเดียรถีย์ (นักพรตประเภทต่าง ๆ ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้) ได้พยายามหาทางตรัสรู้กันมานาน โดยวิธีทำทุกรกิริยาบ้าง อัตตกิลมัตถานุโยคบ้าง แต่ก็ไม่มีใครได้สำเร็จถึงโมกขธรรม (ความพ้นทุกข์) นั่นเพราะพยายามผิดทาง ที่เรียกว่ามิจฉาวายามะส่วนพระบรมศาสดาของเราในตอนแรกก็ทรงพยายามในทางผิดอยู่นานเหมือนกัน แต่ภายหลังมาได้ตรัสรู้เพราะทรงใช้ความพยายามถูกทาง ที่เรียกว่าสัมมาวายามะ

ลักษณะของสัมมาวายามะ มีดังนี้
     ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงความเพียรใน 4 ถาน ที่เรียกว่า ปธาน 4 ได้แก่ 1.เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิดขึ้น 2.เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป 3.เพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ยังไม่มีให้มีขึ้น 4.เพียรรักษาเพิ่มพูนกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น

     ข. ความหมายเบื้องต่ำ ได้แก่การพยายามระวังอย่าให้ความชั่วเกิดขึ้นในตัว ความชั่วใดที่เกิดขึ้นและติดเป็นนิสัยแล้วก็เพียรละเสีย ความดีใดที่ยังไม่เกิดไม่มีในตนก็พยายามสร้างขึ้น (เช่นตนยังไม่มีความรู้ก็เล่าเรียนเพียรศึกษาให้ได้ความรู้) ความดีใดที่เกิดมีขึ้นแล้วก็รักษาไว้อย่าให้เสื่อม และพยายามเพิ่มพูนขึ้นให้สมบูรณ์ (เช่นตนมีความรู้อยู่แล้วเพียงใด ก็พยายามจำอย่าให้หลงลืม และเล่าเรียนเพิ่มเติมเรื่อยไปอย่างเต็มที่)

    ความเพียรใน 4 สถานดังกล่าว ถือว่าเป็นความเพียรหลัก ท่านจึงเรียกว่า ปธาน ทุกคนต้องมีความเพียรอย่างนี้จึงจะเป็นการดำเนินตามมรรค 8 ข้อนี้


สัมมาสติ
องค์มรรคข้อที่ 7 สัมมาสติ

    สติ คือ ความระลึกได้ คือนึกขึ้นได้ ฉุดคิดขึ้นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสติคือเผอเรอคนเราถึงจะมีวิชาความรู้ดี มีความสามารถสูง มีความคิดเฉียบแหลม และมีความขยันหมั่นเพียรอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นจะต้องใช้คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งกำกับตัว คือสติ เพราะถ้าขาดสติเสียอย่างเดียวแล้ว การงานทั้งปวงย่อมเสียหาย อาจถึงแก่พินาศล่มจมไปก็ได้

   คนขาดสติ ก็คือคนขี้ลืมนั่นเอง โปรดคิดดูเองและนึกหาตัวอย่างเอง ว่าความลืมทำให้คนเสียหายอย่างไรบ้าง คนไข้ลืมกินยา หมอลืมคนไข้ พระลืมสิกขาวินัย ทหารลืมเวรยาม คนขับรถลืมบังคับรถ นักเรียนลืมวิชา ราษฎรลืมเสียภาษีอากร โจทก์จำเลยลืมไปศาล ฯลฯ เป็นเรื่องของการขาดสติทั้งสิ้น คนที่จิตขาดสติไปมากเราเรียกว่าคนสติวิปลาสในกิจการที่สำคัญมากเกี่ยวกับความเป็นความตาย หรือผลได้ผลเสียใหญ่โต การทำสมาธิภาวนาสติยิ่งจำเป็นมาก

     เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนบริหารจิตของตนให้มีสติเพียบพร้อม

ลักษณะของสัมมาสติ มีดังนี้
ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงการระลึกในสติปัฏฐานทั้ง 4 ได้แก่ การพิจารณาเนือง ๆ ในกาย 1 เวทนา 1 จิต 1 ธรรม 1


วิธีพิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน 4 ว่าโดยย่อ มีดังนี้

    หลักการพิจารณากาย คือ พิจารณาให้เห็นกายในกาย ได้แก่พิจารณาส่วนประกอบของร่างกายอย่างละเอียด แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในกายเสีย

     หลักการพิจารณาเวทนา คือ พิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา ได้แก่พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งความสุข (สุขเวทนา) ความทุกข์ (ทุกขเวทนา) ความเฉย ๆ (อุเบกขาเวทนา) แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในเวทนา

    หลักการพิจารณาจิต คือ พิจารณาให้ เห็นจิตในจิต ได้แก่พิจารณาเท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตรัก จิตชัง จิตหลง ก็รู้ แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในจิตเสีย

      หลักการพิจารณาธรรม คือ พิจารณาให้ เห็นธรรมในธรรม ได้แก่พิจารณาให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต (เช่นจิตเกิดมีนิวรณ์ขึ้นแล้วก็ให้รู้ นิวรณ์ยังมีอยู่ก็ให้รู้ นิวรณ์ดับไปแล้วก็ให้รู้)ลักษณะคล้าย ๆ กับการเห็นจิตในจิต แต่ต่างกันตรงที่ว่า เห็นจิตในจิตได้แก่เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตส่วนเห็นธรรมในธรรมได้แก่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต

     รวมความว่า การตั้ง ติพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นสัมมาสติเบื้องสูง

       ข. ความหมายเบื้องต่ำ หมายถึง การทำงานโดยมีสติระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่เผอเรอ


สัมมาสมาธิ
องค์มรรคข้อที่ 8 สัมมาสมาธิ

      สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น

     ตัวคนเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2ส่วน คือ กายกับใจ โดยที่ใจเหมือนนาย กายเหมือนบ่าว มรรคข้อที่ 8 นี้เป็นหลักปฏิบัติกับจิตหรือใจโดยเฉพาะ

   การปฏิบัติใจนั้นมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง เช่นหาความรู้ใส่ใจ หาความดีใส่ใจ หาความผ่องใสใส่ใจ รวมความว่า ทุกคนมีงานหลายอย่างที่จะต้องพันาจิตใจของตนให้เจริญขึ้น แต่ในบรรดางานปฏิบัติจิตใจนั้น มีงานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากที่สุด คือ การตั้งใจ

    ทุกคนคงไม่แปลกใจกระมัง ที่ว่าทำไมเราจะต้องมาตั้งใจของตน เพราะของทุกอย่างที่เราจะใช้การใช้งานเราก็ต้องตั้งมันเสียก่อน จะใช้แก้วเราก็ต้องตั้งแก้ว จะใช้โต๊ะเราก็ต้องตั้งโต๊ะการตั้งเป็นงานอย่างหนึ่ง คนจะรำจะร้อง จะชกต่อย เขาก็ต้องตั้งท่าเสียก่อน เช่นเดียวกัน เรามีใจ เราจะใช้ใจของเรา เราก็ต้องตั้งใจ

      การตั้งใจนั้น ยากกว่าตั้งกายและตั้งโต๊ะเก้าอี้

     เพราะเหตุใด เพราะใจเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ผูกมัดด้วยเชือกด้วยปอไม่ได้ การตั้งใจจึงทำได้ยาก จะต้องใช้วิธีพิเศษจึงจะตั้งได้มั่นคง

      วิธีพิเศษนั้น เรียกว่าสมาธิ ซึ่งเราแปลว่า การตั้งใจมั่น

    แต่การตั้งใจมั่นที่เรียกว่าสมาธิ นั้น ก็มีได้ทั้งอย่างผิดอย่างถูก ในทางปฏิบัติเราจะต้องเลือกทำแต่สมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ อย่าไปทำสมาธิอย่างผิด ๆ ที่เรียกว่ามิจฉาสมาธิ

ลักษณะของสัมมาสมาธิ มีดังนี้
    ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงการเข้าฌาน วิธีปฏิบัติคือ ปลีกตัวจากกามารมณ์หาที่สงัด แล้วนำจิตเข้าสมาธิ ถึงขั้น งบนิ่งที่เรียกว่า ฌาน (รูปฌานมีอยู่ 4 ชั้น เรียกชื่อตามลำดับว่า ฌานที่ 1ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 และอาจเข้าอรูปฌานต่อไปอีก 4 ชั้น) ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าฌานคือ ทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสยิ่งขึ้นตามลำดับ จนถึงนิพพาน

    ข. ความหมายเบื้องต่ำ ได้แก่ การตั้งใจทำความดี ตามควรแก่วัยของตน อย่าปล่อยให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย จนถึงฝึกหัดทำสมาธิเบื้องต้น คือการสำรวมใจให้แน่วแน่ในกิจของตน และรวมลงสู่จุดเดียว

 

3. ข้อควรรู้
     มรรคมีองค์ 8 นี้ เมื่อจัดเข้าระบบการฝึกปฏิบัติหรือที่เรียกว่า ไตรสิกขาสามารถปฏิบัติได้ด้วยการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญปัญญาโดยแบ่งได้ดังนี้

1.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ เป็นการเจริญปัญญา
2.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ เป็นการเจริญปัญญา
3.สัมมาวาจา เจรจาชอบ เป็นการรักษาศีล
4.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ เป็นการรักษาศีล
5.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นการรักษาศีล
6.สัมมาวายามะ พยายามชอบ เป็นการทำสมาธิ
7.สัมมาสติ ระลึกชอบ เป็นการทำสมาธิ
8.สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ เป็นการทำสมาธิ

    สิ่งที่ต้องระวังก็คือ แม้ว่าขณะนี้ความเห็นชอบของเราได้เกิดแล้ว ความดำริชอบได้เกิดแล้ว แต่เจรจาชอบบางคนยังไม่แน่ การงานชอบไหมสมมติว่าเจรจาก็ชอบแล้ว การงานก็ชอบแล้ว การเลี้ยงชีพก็ชอบแล้ว แต่ว่าไฟในใจที่จะพยายามเพียรทำให้ยิ่งกว่านี้มันยังไม่เกิด มันยังแค่รู้จำยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง แล้วถ้าจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังจะต้องทำอย่างไร ก็จะต้องลงมือเลย นั่งสมาธิกันให้เยอะ ๆ ซึ่งเมื่อลงมือฝึกสมาธิก็เป็นการฝึกสติไปในตัว แล้วกำลังใจหรือไฟในใจของเราก็จะเริ่มเกิด คือทำให้เราเกิดความพยายาม พยายามที่จะแก้ไขตัวเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แก้ไขทั้งวาจา แก้ไขทั้งการงาน แก้ไขทั้งอาชีพ เมื่อแก้ไขอย่างนี้แล้ว ความเห็นของเรามันก็จะเกิดเป็นไปในทางที่สูงส่งยิ่งขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ก็จะยิ่งสูงส่งยิ่งขึ้น ในที่สุดเมื่อความเห็นสูงส่งยิ่งขึ้น ความคิดสูงขึ้นนี้ก็จะกลับมาย้อนประคับประคองให้คำพูดของเรา การงานของเรา อาชีพของเราให้ดีขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ความเพียรของเราก็ยิ่งแก่กล้าขึ้นสติก็แก่กล้าขึ้นมาธิแก่กล้าขึ้นไปตามลำดับ ๆ จนกระทั่งสามารถบรรลุธรรมแล้วสิ้นทุกข์ไปได้หมด

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้รีบทำความเพียรเพื่อตรัสรู้จะได้หมดทุกข์ เหมือนรีบดับไฟบนศีรษะ ดังมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกความว่า

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว จะควรกระทำอย่างไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว ควรจะกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อดับไฟบนผ้าหรือศีรษะนั้น

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงวางเฉย ไม่ใส่ใจถึงผ้าหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้ แล้วพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย ติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อตรัสรู้อริยสัจ 4 ที่ยังไม่ตรัสรู้ ตามความเป็นจริงอริยสัจ 4 เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริง ว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

4. อานิสงส์
     ผู้ที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ย่อมจะได้อานิสงส์ดังต่อไปนี้

1. ย่อมทำให้มีความเห็นความเข้าใจเรื่องราวของชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทมัวเมาหลงทางต่อการหลุดพ้นไปจากกองทุกข์

2. ย่อมทำให้มีความคิดที่เป็นกุศลอันเป็นทางมาแห่งบุญ ห่างไกลจากความคิดที่เป็นอกุศลอันเป็นทางมาแห่งบาป และทำให้มีใจน้อมที่จะคิดไปแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อการกำจัดทุกข์ต่าง ๆ ให้หมดไป

3. ย่อมทำให้เป็นคนที่มีคำพูดดี มีสาระแก่นสาร น่าเชื่อถือ ไพเราะสุภาพ เป็นที่รักของผู้ฟังสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นสามารถใช้คำพูดสร้างสรรค์โน้มน้าวให้ผู้คนเกิดกำลังใจที่จะทำความดีอย่างสุดชีวิตเพื่อหลุดพ้นไปจากกองทุกข์

4. ย่อมทำให้เป็นคนมีการงานที่สะอาดคือปราศจากบาปกรรมไม่ก่อเวรแก่ใคร ๆ ในเรื่องชีวิต ทรัพย์สิน และคู่ครอง การงานที่บริสุทธิ์นี้เองที่ทำให้เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ตามไปด้วยซึ่งจะทำให้ส่งเสริมต่อการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะหลุดพ้นไปจากกองทุกข์

5. ย่อมทำให้เป็นคนที่มีการเลี้ยงชีพที่ไม่มีโทษต่อตนเองหรือใคร ๆ เพราะเว้นจากมิจฉาอาชีวะ การมีอาชีพที่บริสุทธิ์นี้เองที่ทำให้เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ส่งเสริมต่อการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะหลุดพ้นไปจากกองทุกข์

6. ย่อมทำให้เป็นคนที่มีความบากบั่น ไม่ท้อถอย มีความอดทน หนักแน่น ขยัน พากเพียรและไม่กลัวอุปสรรคสามารถทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เกิดความก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะความเพียรขจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป

7. ย่อมทำให้เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันในสิ่งต่างๆที่ต้องประสบพบเจอสามารถทำการงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดประสิทธิผลที่ดีงาม โดยเฉพาะการมีสติสัมปชัญญะต่อการขจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป

8. ย่อมทำให้เป็นคนที่มีสมาธิต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลกหรืองานทางธรรมมีความตั้งใจมั่นที่จะทำอะไรแล้วก็จะต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะความตั้งใจมั่นที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 008 พุทธธรรม 2
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027517716089884 Mins