วิชชาเพื่อสรรพสัตว์

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2560

วิชชาเพื่อสรรพสัตว์

 

 

                            ในการศึกษาวิชชาธรรมกายนั้น วิชชาแรกที่ต้องเรียนคือ การระลึกชาติ ซึ่งเป็นการย้อนหลัง สาวไปหาเหตุว่า ก่อนเรามาอยู่ตรงนี้ เรามาจากตรงไหนมาทําไม มาเมื่อไร มาเพื่อทําอะไร และทําไปถึงไหนแล้วดูอีกว่าจากนี้ต้องทําต่อไปอย่างไร ซึ่งคุณยายเอง ก็มีโอกาสได้ระลึกชาติหนหลังของท่าน โดยเห็นเป็นเรื่องราวว่าก่อนที่ท่านจะมาเกิด ท่านเป็นกายละเอียดมาจากที่ใด แล้วก็สืบสาวเรื่องราวย้อนหลังกลับไปได้ อีกยาวไกลอย่างไร้ขอบเขต

                            หลังจากเรียนเรื่องการระลึกชาติแล้วก็เรียน เรื่องกฎแห่งกรรม หรือ Law of Kamma เพื่อให้เรา หายสงสัยในเรื่องกฎของการกระทํา เราจะหายสงสัยต่อเมื่อเข้าถึงพระธรรมกายและได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย วิชชาเกิดขึ้นได้เมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกายที่ละเอียด จากนั้นจึงเรียนเรื่องการปราบมารประหารกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ดูสาเหตุแห่งความทุกข์ของชีวิตตน จนกระทั่งรวมไปถึงชาวโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เรียนโดยสาวกันไปจนถึงต้นเหตุว่า มาจากที่ไหน ผลจึงเกิดอย่างนี้ ทําให้มีภพ มีชาติ มีการเวียนว่าย ตายเกิด มีความแตกต่างในหลากหลายลักษณะ ทําไมจึงมาเกิดเป็นมนุษย์ ทําไมหมู่มนุษย์จึงมีความแตกต่างในลักษณะของรูปกาย ลักษณะของความเป็นอยู่ ทรัพย์สมบัติ เชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี หรือรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เดิมมีความแตกต่างกันหรือไม่

                         การศึกษาวิชชาธรรมกายจะดําเนินไปเช่นนี้และยังช่วยแก้ไขทุกข์ภัยของมนุษย์รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งคําว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นครอบคลุมทุกชีวิต ทั้งในภพสาม คือ มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม ในอบาย กระทั่งถึงโลกันตนรก ซึ่งเป็นที่ขังสัตว์นรก ตรวจดูอีกว่าใครเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านี้สร้างอย่างไร เป็นอย่างไร แล้วจึงแก้ไขทั้งทุกข์โศกโรคภัย เศรษฐกิจตกต่ํา แม้แต่สงครามที่เกิดขึ้น ก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิด แก้ไขสารพัดเรื่องในโรงงานทําวิชชา ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ทั้งหมดก็เป็นความจริง เป็นสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่คุณยาย และผู้ทําวิชชาได้กระทํากันตลอดมา

                        การศึกษาวิชชาธรรมกายเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ศึกษาจะต้องมีจิตบริสุทธิ์และไม่มีอะไร เหนี่ยวรั้ง ไม่เกาะเกี่ยวกับเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ จึงจะสามารถรู้เรื่องราวภายในซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยและยากต่อการเข้าใจ การนึกคิดด้นเดา การหาหลักฐานอ้างอิง หรือการให้เหตุผลด้วยวิธีธรรมดาตามอย่างศาสตร์ของมนุษย์ทั่วไป เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการศึกษาค้นคว้าโดยนักการศึกษาและปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา

                        ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเก็บใบไม้ขึ้นมาหนึ่งกํามือและถามพระภิกษุว่า ใบไม้ในกํามือของพระองค์กับใบไม้ในป่าประดู่ ส่วนไหนมีมากกว่ากัน ภิกษุตอบว่าใบไม้ในป่าประดู่มีมาก กว่าใบไม้ในกํามือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สัพพัญญุตญาณของเรานั้น รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง โดยไม่มีขอบเขตจํากัด แต่สิ่งที่เรานํามาสอนเธอนี้เป็นเพียงส่วนอันน้อยนิด เพื่อเป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ภพทั้งสาม และกฎแห่งกรรม เป็นไปเพื่อทําพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น วิชชาธรรมกายจึงเป็นทั้งใบไม้ในกํามือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และใบไม้อื่นๆ ในป่าประดู่ลาย ซึ่งแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงทราบ แต่ก็ไม่ได้นํามาสั่งสอน เพราะพระองค์ทรงมุ่งหวังให้เหล่าสาวกหมดกิเลสแล้วเข้าสู่นิพพานเป็นหลัก ดังนั้นวิชชาธรรมกายอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นประดุจใบไม้ในป่าจึงรู้กันอยู่แต่ในขอบเขตจํากัดของผู้ที่มีมโนปณิธานในการปราบมารและนําพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ที่สุดแห่งธรรม คือในหมู่ผู้ปฏิบัติในโรงงานทําวิชชาเท่านั้น นอกจากนี้แล้วก็รู้กันอย่างผิวเผินว่า ธรรมกาย คือพระรัตนตรัยภายใน เป็นที่พึ่งที่ระลึก มีอานุภาพสามารถพาไปเยือนนรกสวรรค์และนิพพานได้เท่านั้น

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015510002772013 Mins