อดีต ปัจจุบัน อนาคตของการเผยแผ่

วันที่ 20 ตค. พ.ศ.2549

 

 

.....เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่งว่า ศาสนาที่เกิดขึ้นมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้วอย่าง พระพุทธศาสนา นั้น มีประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการอย่างไร และเพราะเหตุใด ทั้งที่พระพุทธศาสนาก่อกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย แต่พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเจริญรุ่งเรืองมาได้ในระดับหนึ่ง และต่อมากลับตกอยู่ในภาวะเสื่อมดังที่ทราบกันดี นักวิชาการ นักการศาสนาในปัจจุบันมองอดีตเป็นบทเรียนอันมีค่า จึงศึกษาถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าถึงอุปสรรค ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

.....ความสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระประสงค์จะให้เหล่าพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรก แยกย้ายกันไปทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ชาวโลกนั้น พระองค์ทรงให้โอวาทแก่พระอรหันต์เหล่านั้นว่า

 

.....ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

 

.....ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธออย่าไปทางเดียวกันถึง ๒ รูป

 

.....ภิกษุทั้งหลาย เธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดลงรอบ จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไป พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์โลกทั้งหลายที่เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้จักอาจรู้ทั่วถึงธรรมนั้นมีอยู่ เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็น เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม

 

ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน

วิ. มหา. ๔/๓๒/๓๙

 

.....จะเห็นได้ว่า ภารกิจสำคัญของพระภิกษุสงฆ์นอกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้แก่ชาวโลก ให้ชาวโลกได้พบกับความสุขที่แท้จริง หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยการปฏิบัติธรรมตามพุทธวิธี ดังนั้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงขึ้นอยู่กับพระภิกษุสงฆ์เป็นสำคัญ

 

ความหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

.....ความหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พิจารณาจากกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ฟัง หรือผู้รับสารได้ ๒ ประเภทดังนี้ คือ การเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชน และการเผยแผ่แก่คนทั่วไปที่ยังไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

 

.....การเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น จนสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต รักการปฏิบัติธรรม และตระหนักในคุณค่าของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป

 

.....การเผยแผ่แก่บุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้นับถือศาสนาพุทธนั้น ก็เพื่อให้มีความเข้าใจถึงแนวความคิดพื้นฐาน หรือหลักธรรมเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา สร้างทัศนคติที่ดีต่อศาสนาพุทธ จนเกิดความสนใจศึกษาและทดลองปฏิบัติธรรมตามคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น ลองฝึกสมาธิจนกระทั่งเห็นผล เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในที่สุดแล้วหันมานับถือศาสนาพุทธ เป็นชาวพุทธโดยสมบูรณ์

 

คุณสมบัติของนักเผยแผ่

 

ผู้ที่จะทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ควรมีคุณสมบัติพื้นฐาน ต่อไปนี้ คือ

 

๑. มีอุดมการณ์ มีเป้าหมายในการบวชที่ชัดเจน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ตั้งใจปฏิบัติธรรม ฝึกฝนตนเอง มุ่งพระนิพพาน และเผยแผ่ธรรมะแก่บุคคลอื่น บำเพ็ญ ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ตามโอวาทของพระบรมศาสดา

 

.....การมีอุดมการณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากไม่มีอุดมการณ์อันมั่นคง เมื่อทำงานไปแล้วประสบปัญหาใดๆ ก็จะเกิดความท้อถอย เบื่อหน่าย มักจะทำงานไปไม่ได้ตลอด จนถึงกับลาสิกขา หรือมีเป้าหมายที่เบี่ยงเบนไป เช่น แทนที่จะมุ่งไปนิพพาน กลับมุ่งแสวงหาลาภสักการะ เป็นต้น

 

๒. มีศีลาจารวัตรงดงาม ด้วยการสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา ในครั้งพุทธกาลนั้น ผู้ที่ทำงานเผยแผ่พระศาสนา ส่วนใหญ่เป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว เป็นพระอริยบุคคล หมดกิเลสแล้ว บำเพ็ญประโยชน์ตนได้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จึงสามารถทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ ในยุคปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อครั้งพุทธกาล ผู้ทำงานเผยแผ่ศาสนายังไม่หมดกิเลส จำเป็นจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองไปด้วย สั่งสอนเผยแผ่ธรรมแก่ผู้อื่นด้วย เช่นนี้แล้วจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ต้องพยายามรักษาศีลและอาจาระ๑ ของตนให้ดี ไม่ให้เผลอถลำไปในทางที่เสื่อมได้

 

.....พระมหาเถระรูปหนึ่งได้เคยให้โอวาทแก่ศิษยานุศิษย์ไว้ว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากของพระภิกษุสงฆ์ก็คือ สตรี สตางค์ และสรรเสริญ

 

.....เนื่องจากผู้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เมื่อการเผยแผ่เริ่มได้ผลก็จะมีผู้เคารพศรัทธามาก มีลาภสักการะมาก จึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เผลอพึงใจในเพศตรงข้ามที่ศรัทธาห้อมล้อมอยู่ ให้มีสมณสัญญาเตือนใจตนอยู่เสมอ ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ให้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ติดยึดในลาภสมบัติ และไม่มีทิฏฐิมานะ ทะนงตนว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ มีศิษย์มาก ทั้งต้องหมั่นเตือนตนอยู่เสมอว่ากิจหลักของสงฆ์คือ การปราบกิเลสในตัวเพื่อมุ่งพระนิพพานนั้น เรายังทำไม่สำเร็จ จึงต้องมีสติระมัดระวังตั้งใจฝึกตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

 

๓. มีความรู้ความสามารถ ผู้เผยแผ่ศาสนาจะต้องมีความรู้ทั้งพระปริยัติธรรมและธรรมปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา จะต้องรู้หลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนาอย่างดี มีความรอบรู้ที่กว้างขวาง รู้จักโลก เข้าใจโลก สามารถแนะนำบุคคลอื่นให้นำหลักธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แนะนำการปฏิบัติธรรมได้

 

.....โดยสรุปคือ สามารถแนะประโยชน์ ทั้งประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพานได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0081374804178874 Mins