ตอน 1 ตามหาพระแก่นจันทน์ สิ่งอัศจรรย์ที่หายไป

วันที่ 28 พค. พ.ศ.2561

 

ตอน 1 พระพุทธรูปแก่นจันทน์ พระพุทธรูปองค์แรกของโลก?

   จากที่เคยได้ยินได้ทราบมาว่า พระพุทธรูปแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปองค์แรกของโลก ทำให้สงสัยว่าเป็นเพียงแค่ตำนานหรือเรื่องเล่าขานปรัมปรา? ไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงได้? หรือแม้แต่นักวิชาการก็ยังไม่สามารถที่หาหลักฐานทางโบราณคดีและพุทธศิลป์ที่แสดงถึงพระพุทธรูปแก่นจันทน์ให้ได้มาอย่างชัดเจน? ทำให้สนใจได้หาหลักฐานที่มีปรากฏมารวบรวมให้ทุกท่านได้รับฟัง
         

ส่วนในเรื่องราวหรือโบราณคดีที่กล่าวถึงเรื่อง "ตำนานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์"ก็มีทำนองนี้ว่า

          ในสมัยเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาในเทวพิภพ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพล เป็นเหตุให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลห่างจากพระบรมศาสดาเป็นเวลานาน มิได้พบเห็นพระบรมศาสดาจารย์เป็นเวลาแรมเดือน ด้วยความเคารพรักได้กระตุ้นเตือนพระทัยให้ทรงระลึกถึง มีพระกมลรำพึงรันจวนอยู่มิได้ขาด ด้วยพระองค์มีพระชนม์เป็นสหชาติเสมอด้วยพระชนม์ของพระบรมศาสดา จึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานหาท่อนไม้จันทน์หอมอย่างดีมา แล้วโปรดให้ช่างไม้ที่มีฝีมือแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางประทับนั่ง มีพระรูปพระโฉมโนมพรรณงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา แล้วโปรดให้อัญเชิญพระไม้แก่นจันทน์มาประดิษฐานยังพระราชมณเฑียร ที่พระสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับมาแต่ก่อน พอบรรเทาความอาวรณ์ได้สบายพระทัยเมื่อยามได้ทอดพระเนตร ครั้นภายหลังเมื่อพระบรมโลกเชฏฐ์เสด็จกลับจากสรวงสวรรค์แล้ว เสด็จมาพระนครสาวัตถีจึงพระราชาธิบดีปัสเสนทิโกศลได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพล ให้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์เพื่อให้พระบรมโลกเชฏฐ์ทอดพระเนตรพระไม้แก่นจันทน์อันงามแม้นเหมือนพระรูปดั่งนิรมิตร ซึ่งได้โปรดให้นายช่างประดิษฐ์จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์ ครั้นสมเด็จพระพุทธชินวรเสด็จถึงซึ่งพระราชสถานที่พระไม้แก่นจันทน์ทำเสมือนหนึ่งว่ามีจิตรู้จักปฏิสันถารกิจที่ควรจะต้องลุกขึ้นถวายความเคารพพระศาสดา ได้ขยับพระองค์เขยื้อนเลื่อนลงมาจากพระแท่นที่ ครั้งนั้นพระมหามุนี จึงได้ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นห้าม พร้อมด้วยตรัสว่า :-

เอวํ นิสีทถ ขอพระองค์จงประทับนั่งอยู่อย่างนั้นแล

ครั้นสิ้นกระแสพระพุทธานุญาต พระไม้แก่นจันทน์ก็ลีลาศขึ้นประทับนั่งยังพระแท่นเดิมนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงประสบความอัศจรรย์ก็ทรงโสมนัสเลื่อมใสอัศจรรย์ใจในพระบารมี ได้ทรงอาราธนาพระชินสีห์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสวยอาหารบิณฑบาต ท้าวเธอได้เสด็จอังคาสด้วยพระหัตถ์ด้วยความเคารพเป็นอันดี ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระชินสีห์ก็ถวายพระพรลา พาพระสงฆ์เสด็จกลับไปประทับยังพระเชตวนาราม.

จบตำนานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์แต่เพียงนี้.

ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)
ที่มา http://www.onab.go.th/คลังข้อมูล/คลังข้อมูล-คลังข้อมูล/ปางห้ามแก่นจันทน์-2/


และท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "ตำนานพระพุทธรูปปางนี้ ไม่ปรากฏในบาลีฝ่ายเราแต่ประการใดเลย แต่เป็นนิยายปรำปรา คือทราบกันสืบ ๆ มาว่า ลางทีอาจมีในคัมภีร์ของพระสงฆ์ฝ่ายใต้ก็ได้ น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องหลังจากสังคายนาพระธรรมวินัยแล้ว จึงมิได้ปรากฏในคำภีร์ แต่ตำนานพระห้ามพระแก่นจันทน์ กลับเป็นตำนานเก่าก่อนพระพุทธรูปทั้งหมด แสดงว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรก ด้วยมีในสมัยเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ แต่ประหลาดที่ฝ่ายเราก็ไม่ปฏิเสธยอมรับเรื่องเข้าไว้โดยไม่มีหลักฐานสำหรับศึกษา คงเป็นแต่ที่ยอมรับรู้ ชรอยจะไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหายแต่ประการใดกระมัง ดังนั้น เรื่องพระปางห้ามพระแก่นจันทน์ จึงเป็นเรื่องปรำปราดังกล่าว ขอนำมาเล่าสำหรับประดับความรู้ในเรื่องพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้ในที่นี้ด้วย"

      ข้อสังเกตก่อนจะผ่านไป ข้อมูลด้านบนท่านใช้คำว่า "ตำนานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์" และพระพุทธรูปก็เป็น"ปางห้ามพระแก่นจันทน์" อาจจะมีเหตุผลอะไรหรือไม่อย่างไร ที่ท่านไม่ใช้คำว่า "พระพุทธรูปแก่นจันทน์" ตรงๆ ไปเลย 

   

 

     เรื่องราวของพระพุทธรูปหรือพระแก่นจันทน์ หลักฐานที่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากตำนานพระเจ้าแก่นจันทน์ (มีหลายฉบับ) ชินกาลมาลีปกรณ์  วัฏฏังคุลีชาดกในเชียงใหม่ปัญญาสชาดก ซึ่งต้นฉบับของเชียงใหม่ปัณณาสชาดกมาจากประเทศพม่า และหนังสือปิฏกมาลาของล้านนาซึ่งเขียนขึ้นในปีพ.ศ. 2367 ทว่าเอกสารหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นดู เป็นเอกสารใหม่ย้อนไปไม่กี่ร้อยปี เหตุเพราะแต่งในภายหลังนี้ จึงมีนักวิชาการบางท่านกล่าวทักว่า “จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์นั้น เพิ่งมาแต่งขึ้นภายหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกล้านนาให้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นกับสมัยพุทธกาล” แม้จะเป็นเอกสารใหม่ที่ไม่ได้ปรากฏบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็ตาม แต่ไม่สามารถปฏิเสธหักล้างได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริงในครั้งพุทธกาลอย่างแน่นอน? เพราะบางเรื่องราวไม่ได้มีในพระไตรปิฎกก็เป็นเรืองจริงที่มีอยู่แต่เพียงไม่ได้บันทึกไว้เท่านั้น?
      
     เรื่องราวของพระพุทธรูปหรือพระแก่นจันทน์นี้ จึงน่าสนใจค้นหาที่มาที่ไปให้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาความเลื่อมใสและความชัดเจนของประวัติศาสตร์สืบต่อไป (มีต่อตอนที่ 2)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039259382088979 Mins