อารัมภบท

วันที่ 08 มิย. พ.ศ.2554

 

.....ครั้นได้บริโภคอาหารเป็นที่อิ่มหนำสำราญ หายหน้ามืดเพราะความหิวแล้ว และได้ยินเขาสรรเสริญตนอยู่หนักหนาว่าเป็นพระอรหันต์ ออปูรณะผู้มีปัญญาสั้น ก็เลยสำคัญตนเองว่าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจริง ๆ ตั้งแต่นั้น ก็เกิดอโยนิโสมนสิการถือมั่นเห็นเป็นอกิริยทิฐิว่า
 
.....“ ทำบุญก็ไม่เป็นอันทำ จะทำบุญสักเท่าไร ? ก็คงเป็นอันทำเหนื่อยเปล่า หาได้บุญไม่ ทำบาปก็ไม่เป็นอันทำ ถึงจะทำบาปสักเท่าไร ก็หาได้บาปไม่ ดูตัวอย่างเช่นอาตมานี้เถิด อาตมาได้กระทำบุญสักทีเมื่อไร อยู่เฉยเปล่าแท้ ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ถึงทีจะได้เป็นพระอรหันต์ ก็ได้เป็นเอาเฉย ๆ อย่างนั้นเอง การที่อาตมาได้เป็นพระอรหันต์ในครั้งนี้ มิใช่ว่าด้วยอานุภาพแห่งบุญหรือบาป แต่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็เพราะกิริยาที่อาตมาไม่นุ่งห่มผ้า ฉะนั้น ภาวะที่ไม่นุ่งห่มผ้านี้ จึงเป็นบรรพชาเพศอย่างดีมีคนไหว้นบนับถือมากมาย ลาภสักการะทั้งหลายบังเกิดขึ้นเป็นหนักหนา อย่ากระนั้นเลย ต่อแต่นี้ไปอาตมาจะไม่นุ่งผ้าเลยเป็นอันขาด”
 
.....ออปรูณอรหันต์เถื่อนถือมั่นในความคิดเห็นแห่งตนเช่นนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้จะมีใครนำเอาผ้านุ่งผ้าห่มมาให้ ก็ไม่นุ่งห่มเลย ถือเพศเปลือยกายแก้ผ้านั่น แลเป็นบรรพชาแห่งตน คนโฉดเขลาไร้ปัญญา ก็พากันเคารพนับถือมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ปรากฏว่าในภายหลังได้มีผู้คนเลื่อมใส พากันสมัครเป็นสาวกอยู่ในสำนัก ของนายปูรณะชีเปลือยนั้นประมาณ ๕๐๐ คนเคารพนับถือปูรณะชีเปลือยเป็นครูบาอาจารย์ ขนานนามปูรณกัสสปผู้เป็นศาสดาจารย์เจ้าลัทธิแห่งตนว่า ท่านปูรณกัสสปศาสดาจารย์ ก็แนวคำสอนที่สาวกแห่งตนอยู่เนือง ๆ นั้น มีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้
 
อกิริยทิฐิ

เมื่อกระทำบาปเอง ผู้ทำจะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่

เมื่อใช้ให้ผู้อื่นกระทำบาป ผู้ใช้จะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่

เมื่อตัดอวัยวะมีมือเป็นต้นของผู้อื่น ผู้ตัดจะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่
 
เมื่อใช้ให้ผู้อื่นตัดอวัยวะมีมือเป็นต้นของคนอื่น
ผู้ใช้ให้ตัดจะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่
 
เมื่อเบียดเบียนผู้อื่นโดยการทุบตีด้วยท่อนไม้หรือโดยการขู่ตะคอก
ผู้เบียดเบียนนั้นจะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่
 
เมื่อใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียนโดยการทุบตีด้วยท่อนไม้หรือโดยการขู่ตะคอก
ผู้ใช้ให้เบียดเบียนจะได้ชื่อว่กระทำบาปก็หาไม่
 

เมื่อทำให้ผู้อื่นเศร้าโศกโดยการลักเอาทรัพย์สมบัติของเขามาเป็นของตน

ผู้ทำจะได้ชื่อว่ากระทำบาปก็หาไม่ …
 
ฯลฯ
.....
.....แม้หากบุคคลตะไปยังซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา แล้วทำการให้ทานด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นให้ทานก็ดี ทำการบูชาด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นทำการบูชาก็ดี บุญที่มีการกระทำเช่นนั้นเป็นเหตุก็ย่อมไม่มีแก่เขาผู้นั้น ไม่มีบุญมาถึงเขาผู้นั้น
 
.....โดยการให้ทานก็ดี โดยการทรมานอินทรีย์ก็ดี โดยการสำรวมศีลก็ดี โดยการกล่าวคำสัตย์ก็ดี บุญที่มีการกระทำเช่นนี้เป็นเหตุย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำ ไม่มีบุญมาถึงเขาผู้กระทำเลย
 
.....ท่านปูรณะกัสสปศาสดาจารย์ผู้มีความเห็นเป็นอกิริยทิฐิ ได้บัญญัติหลักคำสอนเป็นลัทธิแห่งตนไว้โดยนัยดังพรรณนามานี้ ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าสาวกผู้โฉดเขลาเป็นยิ่งนัก ถึงกับจดข้อความนำเอาหลักการเหล่านี้ไปพร่ำสาธยายเพื่อให้จำขึ้นใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติมากมายหนักหนา
 
 
.....ในครั้งนั้นยังมีข้าทาสเขาอีกคนหนึ่ง ซึ่งภายหลังต่อมาก็ได้รับการยกย่อง ให้เป็นศาสดาจารย์เจ้าลัทธิใหญ่เช่นเดียวกับท่านปูรณกัสสปเหมือนกัน ชีวประวัติของท่านศาสดาจารย์ผู้นี้มีอยู่ว่า เดิมทีเมื่อเขาคลอดจากครรภ์มารดาซึ่งเป็นทาสีอยู่ในตระกูลหนึ่งนั้น เขาคลอดที่โรงโคอันเรียกตามศัพท์ว่าโคศาล คนทั้งหลายจึงขนานนามเขาว่า โคศาล ซึ่งเป็นนามบัญญัติ ตามสถานที่ซึ่งเขาคลอด นายโคศาลนั้น ครั้นเติบโตขึ้นมาก็ต้องรับหน้าที่ทำงานหนักให้แก่นายเงิน งานแบกหามหนักเบาอย่างไร ก็ต้องจำใจอดทนทำไป ตามคำสั่งของท่านผู้เป็นมูลนาย จักขัดขืนคำสั่งหาได้ไม่ต้องทำงานต่าง ๆ ไปสุดแต่นายเงินจักจิกหัวใช้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าตนเกิดมามีกรรม เป็นคนไร้ทรัพย์อับปัญญา ตกอยู่ในภาวะเป็นทาสเขา มีชีวิตอยู่อย่างแสนจะลำเค็ญโดยเป็นข้าเขาอย่างนี้เรื่อยมา เมื่อถึงวาระก็บังเอิญให้มีเรื่องอันเป็นเหตุบันดาลเป็น คือ
 
.....วันหนึ่ง มูลนายใช้ให้เขาแบกไหน้ำมันเดินไปในเบื้องหน้า ส่วนตัวมูลนายเจ้าเงินนั้นเดินคอยกำกับการอยู่ทางเบื้องหลัง ในขณะที่พากันเดินทางมาถึงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนทางที่เฉอะแฉะและเต็มไปด้วยเปือกตมมูลนายเกรงว่าเขาจะลื่นหกล้ม จึงกำชับว่า
 
         “ มา ขลิ! มา ขลิ! “ ซึ่งแปลว่า “ ระวัง อย่าให้ลื่นล้มได้ ระวัง อย่างให้ลื่นล้มได้”
 
.....มูลนายกล่าวกำชับว่าดังนี้ยังมิทันขาดคำ นายโคศาลเจ้ากรรมก็ให้มีอันเป็นล้มหัวคะมำลงไป ไหน้ำมันตกจากบ่าแตกกระจาย เขารีบผุดลุกขึ้นมาทันใดด้วยความตกใจสุดขีด ครั้นเหลียวหลังมองไปทางมูลนาย ก็เห็นเงื้อไม้จังก้าทำท่าว่าจะตีด้วยความโกรธ ในกาลอันคับขันนั้น เขาจึงพลันตัดสินใจเผ่นผลุงวิ่งหนีไปซึ่งหน้า เพื่อให้รอดพ้นจากอาญาอันจะมาต้องกายตน
 
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026398980617523 Mins