อเหตุกทิฐิ ๑

วันที่ 15 มิย. พ.ศ.2554

 

.....มูลนายนั้นก็ใช่ชั่ว เมื่อเห็นเจ้าทาสของตัวมันมาวิ่งหนีไปซึ่งหน้าเช่นนั้น จึงพลันวิ่งแล่นกวดตามไปติด ๆ พอหวิดจะถึงตัวก็เอื้อมมือไปฉวยชายผ้านุ่งได้แล้วฉุดเอาไว้ นายโคศาลทาสผู้มีผิด ซึ่งหมดสติไม่มีความยั้งคิดอะไรอีกแล้วในบัดนี้ ก็แก้ผ้าออกด้วยฉับไว วิ่งแล่นไปแต่ตัวเปล่าโดยหาผ้านุ่งผ้าห่มมิได้

 
.....ครั้นวิ่งหนีมูลนายตนไปสู่ประเทศที่ไกลพอประมาณ หมายใจว่ามูลนายตามมามิทันแล้ว ก็หยุดลงนั่งอยู่ภายใต้ร่มไม้ ก็หยุดลงนั่งอยู่ภายใต้ร่มไม้แห่งหนึ่งด้วยความเหนื่อยหอบ ก็ความเป็นทาสปัญญาของนายโคศาลนั้น ย่อมมีปริมาณไม่ผิดกันเลยกับปูรณกัสสป หรือนายเต็มผู้มงคลทาส ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่มีปัญญาที่จะหาวัตถุเครื่องปกปิดกายมีใบไม้เป็นต้นมาพันกายตน คงปล่อยให้ร่างกายเปลือยเปล่าอยู่อย่างนั้น ครั้นบังเกิดความละอายเกรงว่าใครจะเห็นตน จึงดั้นด้นเข้าไปแอบซ่อนอยู่ในป่า ต่อมาไม่ช้าความหิวโหยก็เข้าครอบงำ เมื่อเกิดมีอาการหน้ามืดทำท่าจะเป็นลมเพราะความหิวแสบท้อง ก็ต้องพาสังขารของตนออกมาจากป่า สิ้นความละอายเปลือยกายเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อจะขอทาน
 
“ อโห ! พระอรหันต์.. อโห ! พระอรหันต์…”
 
.....บุรุษชาวบ้านป่าคนหนึ่ง ซึ่งเห็นเขาเป็นคนแรกอุทานออกมาด้วยความสำคัญผิด แล้วก็รีบบอกล่าวป่าวร้องชาวบ้านทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน เหล่าชาวบ้านผู้โฉดเขลาก็เข้าใจว่านายโคศาล นั้นเป็นพระอรหันต์จริง เพราะดูกิริยาท่าทางและสารรูปผิดคนธรรมดาสามัญแม้ผ้าพันกายก็ไม่มี ดูมักน้อยสันโดษนักหนา จึงพากันนำเอาข้าวปลาอาหารแต่ล้วนประณีตมาถวายแก่นายโคศาลเป็นอันมาก เมื่อได้บริโภคอาหารสมอยากหายหิวแล้ว และแลเห็นฝูงชนชาวบ้านพากันกราบกราน ตนด้วยความเลื่อมใสหนักหนา ปากก็พร่ำพรรณนายกย่องว่าเป็นพระอรหันต์อยู่เช่นนั้น นายโคศาลก็เคลิบเคลิ้มสำคัญว่าตนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา จึงเกิดอโยนิโสมนสิการถือมั่นเห็นเป็นอเหตุกทิฐิว่า
 
.....“ อหา ! ง่ายแท้ ๆ คือว่าการได้บรรลุคุณวิเศษสำเร็จเป็นพระอรหันต์ช่างเป็นการง่ายดายเป็นการบังเอิญโดยแท้ หาเหตุหาปัจจัยอะไรมิได้ ดูแต่อาตมานี้เถิดเป็นไร ความบากบั่น ความเพียรอันเป็นเหตุเป็นปัจจัย อาตมานี้ได้เคยกระทำเสียสักทีเมื่อไร เป็นทาสวิ่งหนีอาญาแห่งมูลนายมาแท้ ๆ แต่เมื่อถึงคราวจะได้เป็นพระอรหันต์ก็เป็นขึ้นมาเอง การที่อาตมาได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในครั้งนี้ มิใช่ว่าอานุภาพแห่งปัจจัยอะไรที่เคยมีมา เมื่อจะว่ากันโดยที่ถูกที่ควรแล้ว ได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็เพราะกิริยาที่อาตมาไม่นุ่งผ้า ฉะนั้น ภาวะที่ไม่นุ่งผ้านี้จึงเป็นบรรพชาเพศที่ประเสริฐก่อให้เกิดความเคารพนับถือมากมาย ต่อจากนี้ไป อาตมาจะอธิษฐานบรรพชาจักไม่นุ่งผ้าห่มผ้าเลยเป็นอันขาด”
 
.....นายโคศาลผู้เป็นพระอรหันต์โดยบังเอิญ ดำริจิตคิดฉะนี้แล้ว ก็สำแดงกิริยาขรึม ส่อเจตนาว่าตนเป็นผู้สันโดษมักน้อยนักหนา แม้ว่าจะมีผู้นำเอาผ้านุ่งห่มมาให้ ก็ปฏิเสธเสีย ประพฤติตนเป็นคนไม่นุ่งห่มเลย ถือเพศเป็นอเจลกไม่มีผ้าพันกายอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน ภายหลังต่อมาก็ปรากำว่าได้มีคนโฉดเขลาไร้ปัญญาพากันมาเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น ๆ เขาจึงตั้งตนเป็นคณาจารย์ ขนานนามตนเองเสียอย่างไพเราะว่า มักขลิโคศาลศาสดาจารย์ โดยถือเอาคำมูลนายเดิมกำชับสั่ง ในขณะที่ตนจะหกล้มทำไหน้ำมันแตกว่า มา ขลิ ผสมเข้ากับชื่อเดิมซึ่งเป็นกิริยาที่ตนคลอดจากครรภ์มารดาในโรงโคว่า โคศาล สำเร็จเป็นนามบัญญัติว่า มักขลิโคศาลศาสดาจารย์ ก็แนวคำสั่งสอนเหล่าสาวกแห่งตนอยู่เนือง ๆ นั้น มีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้
 

อเหตุกทิฐิ

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายหาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ เมื่อจะเศร้าหมองก็ย่อมเศร้าหมองเอง
 
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายหาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ เมื่อจะบริสุทธ์ก็ย่อมบริสุทธิ์เอง
 
ไม่มีการกระทำของตนเอง
 
ไม่มีการกระทำของผู้อื่น
 
ไม่มีการกระทำของบุรุษ
 
ไม่มีกำลังแห่งความเพียร
 
ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ
 
ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ
 
.....สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูติทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย แปรไปตามความประจวบเหมาะ แปรไปตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในชาติต่าง ๆ
 
.....สภาวะมีกำเนิดเป็นอาทิ ที่ชนพาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปด้วยความหวังว่า “เราจักอบรมกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราจักสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำกองทุกข์ให้สิ้นสุดไปด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะหรือด้วยพรหมจรรย์” ดังนี้ ความสมหวังจักไม่มีในสภาวะมีกำเนิดเป็นอาทินั้นแลเป็นอันขาด
 
.....สุขทุกข์ที่สัตว์ทั้งหลายสามารถทำให้สิ้นสุดลงได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสังสารวัฏนี้เลย
 
ไม่มีความเสื่อมความเจริญ
 
ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง
 
.....คนพาลและบัณฑิตทั้งหลายเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำกองทุกข์ให้สิ้นสุดได้เอง เปรียบเหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไปย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น
 
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)
 
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.044633849461873 Mins