อเหตุกทิฐิ ๒

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2554

 

....มักขลิโคศาลศาสดาจารย์ ผู้มีความเห็นเป็นอเหตุกทิฐิ ได้บัญญัติหลักคำสอนเป็นลัทธิแห่งตนไว้โดยนัยดังพรรณนามานี้ ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าสาวกผู้โฉดเขลาเป็นยิ่งนัก เพราะถึงแม้ว่าพวกตนจะฟังคำสอนอันกระท่อนกระแท่นเลอะเลือน มิค่อยจะเข้าใจความหมายได้ทุกวรรคทุกตอนก็จริง ถึงกระนั้นก็มีความเข้าใจเป็นเค้า ๆ ว่า ท่านศาสดาจารย์ผู้เป็นอรหันต์แห่งตนนั้น มีหลักการสอนเป็นอัศจรรย์ คือสอนให้ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เมื่อจะบริสุทธิ์ทรงคุณวิเศษเป็นพระอรหันต์ปราศจากกองทุกข์ พอถึงคราวแล้ว ก็อาจจะเป็นได้ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรทั้งสิ้น เหล่าชนผู้ถวิลหวังใคร่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยสะดวกดายตามสันดานมักง่ายเหล่านั้น จึงมีความเลื่อมใสและเกิดความภาคภูมิใจในปัญญาขององค์ศาสดาแห่งตนเป็นยิ่งนัก ต่างก็พากันนำเอาหลักการอันผิดไม่เข้าท่าเหล่านี้ไปพร่ำสาธยาย เพื่อจำให้ขึ้นใจโดยหมายว่าเป็นคำสอนอันประเสริฐสำหรับตน
 
....ขณะที่คนทั้งสองซึ่งตั้งตนเป็นศาสดา คือปูรณกัสสปศาสดาจารย์ และมักขลิโคศาลศาสดาจารย์ กำลังประกาศลัทธิโง่ ๆ ให้แก่คนโง่ทั้งหลายผู้คลั่งไคล้ในปรัชญาแปลกหูอยู่อย่างเพลิดเพลินนั้น อีกมุมหนึ่งแห่งชมพูทวีปสมัยนั้น ก็มีศาสดาจารย์ผู้เปรื่องปราดเกินคนธรรมดาสา ม ัญปรากฏขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ซึ่งประชาชนทั้งหลายได้รู้จักท่านในนามว่า อชิตเกสกัมพลศาสดาจารย์ เดิมทีก็เป็นแต่เพียงบุคคลชาวบ้านธรรดามีชื่อว่า อชิตะ ภายหลังเกิดมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงออกไปบวชเป็นเดียรถีย์ พยายามประพฤติวัตรตามความสามารถแห่งตน ปรารถนาจะให้คนทั้งปวงเลื่อมใสศรัทธาว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เพื่อนจึงสู้อุตส่าห์นุ่งห่มผ้าที่ทอด้วยผมคน แม้จะมีผู้นำเอาผ้านุ่งผ้าห่มเนื้อดีสีสวยราคาแพงสักเท่าใดมาให้ อชิตเดียรถีย์ก็มิได้มีจิตยินดีพอใจเลย กลับปฏิเสธเสียสิ้น แล้วก็สั่งสอนคนทั้งหลายไปตามอำนาจแห่งความถือมั่นเห็นเป็นนัตถิกทิฐิว่า
 
....“ ผลทานไม่มี ผลแห่งการบูชาใหญ่น้อยก็ไม่มี สวรรค์ไม่มี นรกไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าก็ไม่มี ผลที่ปฏิบัติต่อบิดามารดาไม่มี สัตว์บุคคลเกิดมาทุกวันนี้ เกิดมาชาติเดียว แต่พอตายแล้วก็สิ้นสูญกันเท่านั้นเอง ที่ตายแล้วและจะไปเกิดในชาติหน้านั้นหามิได้ จะกระทำดีสักเท่าใด ๆ จะกระทำชั่วสักเท่าใด ๆ ก็กำหนดกันเพียงแค่ตาย สุดเกณฑ์กันเพียงตายเท่านั้น”
 
....บรรดาประชาชนผู้โง่เขลาทั้งหลายได้สลับโอวาทดังนี้ ต่างก็มีความเชื่อถือเลื่อมใสศรัทธา เพราะเห็นเขาประพฤติตนผิดคนธรรมดา ผ้าผ่อนที่นุ่งห่มนั้นเล่า เขาก็นุ่งห่มแต่ผ้าที่ทอด้วยผมของมนุษย์ ซึ่งมีสัมผัสอันหยาบยากที่ผู้อื่นจักกระทำได้เช่นนั้น จึงพากันเข้าใจว่านายอชิตะเป็นพระอรหันต์แล้วชวนกันมานมัสการกราบไหว้ด้วยความเลื่อมใส ในที่สุดก็สมัครเป็นสาวกมากมาย ยกย่องแต่งตั้งให้เขาเป็นคณาจารย์ขนานนามว่า ท่านอชิตเกสกัมพลศาสดาจารย์ ซึ่งแปลว่าท่านศาสดาจารย์อชิตะผู้นุ่งห่มผ้าที่ทอด้วยผมของมนุษย์ ก็แนวคำสอนที่ท่านอชิตเกสกัมพลศาสดาจารย์สั่งสอนเหล่าสาวกแห่งตนอยู่เนือง ๆ นั้น มีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้
 

นัตถิกทิฐิ

ทานไม่มีผล          การบูชาไม่มีผล
 
การเซ่นสรวงไม่มีผล      
 
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี.
 
โลกนี้ไม่มี             โลกหน้าไม่มี
 
บิดามารดาไม่มี                 สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี
 
 
....สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วย ตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งในโลกนี้ไม่มี คนเรานี้เป็นแต่เพียงมหาภูตรูปสี่ประชุมกัน เมื่อดับขันธ์ตายไปแล้ว
 
ธาตุดินก็ไปตามธาตุดิน
 
ธาตุน้ำก็ไปตามธาตุน้ำ
 
ธาตุไฟก็ไปตามธาตุไฟ
 
ธาตุลมก็ไปตามธาตุลม
 
อินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ
 
....คนเราทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ ทานนั้น เป็นสิ่งที่พวกคนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกที่พูดว่า
 
“ ทานมีผล ! ทานมีผล !”
 
....คำพูดเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นคำเปล่า เป็นคำเท็จ เป็นคำเพ้อ เพราะว่าเมื่อร่างกายสลาย คนเราทั้งพาลทั้งบัณฑิต ย่อมขาดสูญพินาศสิ้น จะได้กลับมาเกิดอีกก็หามิได้
 
....อชิตเกสกัมพลศาสดาจารย์ ผู้มีความเห็นเป็นนัติกทิฐิได้บัญญัติหลักคำสอนเป็นลัทธิแห่งตนไว้ โดยนัยดังพรรณนามานี้ ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าสาวกผู้โฉดเขลาเป็นยิ่งนัก เพราะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายและปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ขัดกับอัธยาศัยอันหยาบหนาแห่งตน บางคนถึงกับจดเอาข้อความเหล่านี้ไปพร่ำสาธยายเพื่อจำให้ขึ้นใจ และใช้เป็นคติประจำชีวิตของตนสืบไปในวันหน้า ด้วยประการฉะนี้
 
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023018964131673 Mins