.....ตามเค้าโครงแห่งเรื่องกรรมอันปรากฏมีในพระคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา มีพระคัมภีร์มโนรถปูรณี ( อังคุตตรนิกายัฏฐกถา ทุติยภาค หน้า ๑๓๒) เป็นต้น เพื่อชี้แจงให้ท่านสาธุชนผู้มีปัญญาทั้งหลายที่น่ารู้ เช่น ปัญหาที่ว่า กรรมมีอยู่กี่ประเภท และกรรมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณาการแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราผู้เป็นพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระบวรพุทธศาสนา ควรจักสนใจและศึกษาให้รู้ไว้เป็นอย่างยิ่ง ในการศึกษาเรื่องประเภทแห่งกรรมนี้เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ เราควรจะได้ศึกษากันถึงกรรมประเภทที่ ๑ เสียก่อน จึงจะเป็นการดี
กรรมประเภทที่ ๑
กรรมที่ว่าโดยหน้าที่
.....ใน กิจจจตุกกะ คือกรรมประเภทที่ว่าโดยหน้าที่นี้ มีอยู่ ๔ หมวดด้วยกัน คือ ชนกรรม ๑ อุปถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑ ซึ่งมีอรรถาธิบายตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
ชนกกรรมชเนตีติ ชนกํ
“ กรรมใด ย่อมทำวิบากนามขันธ์ และกัมมชรูปให้เกิดขึ้น กรรมนั้น ชื่อว่า ชนกกรรม”
.....ชนกกรรม นี้ ย่อมเป็นกรรมที่ทำให้วิบากและกัมมชรูปเกิดขึ้น ทั้งในปฏิสนธิกาลและประวัติกาล หมายความว่า ครั้นสัตว์ทั้งหลายตายลงแล้ว เมื่อจะไปเกิดในภูมิต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในสงสารวัฏนี้ เช่น ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานในติรัจฉานภูมิก็ดี ไปเกิดเป็นเทวดาในเทวภูมิก็ดี หรือมาเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิก็ดี เหล่านี้ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งชนกกรรม ซึ่งทำหน้าที่ให้วิบากและกัมมชรูปเกิดขึ้นในปฏิสนธิกาลทั้งสิ้น และเมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีอวัยวะน้อยใหญ่เกิดขึ้นตามสมควรแก่สัตว์นั้น ๆ พร้อมทั้งมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัส และการรักษาภพ ( ภวังค์) เกิดขึ้นตามสมควร เหล่านี้ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งชนกกรรม ซึ่งทำหน้าที่ให้วิบากและกัมมชรูปเกิดขึ้นในประวัติกาล
.....ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ความหมายแห่งชนกกรรม ตามที่กล่าวมานี้เป็นอย่างไรบ้างเล่า รู้สึกว่าจะเข้าใจยากไปหรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่าจะเข้าใจยากไปสักหน่อยก็ไม่เป็นไร อย่าเพิ่งท้อใจ ขอให้จำไว้ง่าย ๆ แต่เพียงว่าชนกกรรมนี้ ทำหน้าที่ยังปฏิสนธิให้บังเกิดขึ้น คือเป็นพนักงานตกแต่งปฏิสนธิให้เกิดขึ้นเท่านั้น มิได้ทำหน้าที่อย่างอื่น
.....ถ้าจะเปรียบชนกกรรมนี้ ย่อมเปรียบเสมือนมารดาเป็นที่เกิดแห่งบุตร ธรรมดาว่ามารดาย่อมมีหน้าที่ยังบุตรให้เกิดขึ้น คือเป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โดยเฉพาะอย่างเดียวเท่านั้น ครั้นบุตรเกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของนางนมเอาไปเลี้ยง นางนมก็ใส่ใจบำรุงรักษา พูดง่าย ๆ ว่ากิจที่จะต้องเลี้ยงดูและคอยพิทักษ์รักษาในเมี่อทารกคลอดออกมาแล้วนั้น เป็นพนักงานของนางนม มิใช่เป็นพนักงานของมารดา อุปมานี้ฉันใด ชนกกรรมซึ่งเปรียบเสมือนมารดา ก็มีหน้าที่เป็นพนักงานเพียงนำปฏิสนธิ คือยังสัตว์ทั้งหลายให้เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ทำหน้าที่อย่างอื่น พอทำหน้าที่ยังสัตว์ให้เกิดแล้ว ก็หมดหน้าที่ของชนกกรรม เหมือนมารดาพอยังทารกให้เกิดแล้วก็หมดหน้าที่ของตน ส่วนการที่จะคอยอุปถัมภ์ค้ำชูหรือคอยเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้วนั้น เป็นพนักงานของกรรมอื่น เหมือนการเลี้ยงดูและคอยพิทักษ์รักษาในเมื่อทารกนั้นเกิดมาแล้ว เป็นหน้าที่ของนางนมซึ่งเป็นคนอื่น หาใช่เป็นหน้าที่ของมารดาที่ยังทารกให้เกิดไม่ ฉะนั้น
.....จึงเป็นอันว่า บัดนี้เราทั้งหลายก็ได้ทราบกันแล้วว่า การที่สัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในวัฏภูมิ ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือเป็นอะไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ แล้ว เอะอะก็เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยอะไรทั้งสิ้น หรือว่านึกจะเกิดเป็นอะไรก็วิ่งพรวดไปเกิดเอาตามใจชอบอย่างนั้นเอง โดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่อย่างนั้น อันที่จริงการที่สัตว์ทั้งหลายจักเกิดเป็นอะไรนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งชนกกรรมชักนำ ชนกกรรมนี้แลเป็นพนักงานตกแต่งชักนำให้เกิด ชนกกรรมนี้แลเป็นใหญ่ในการนำปฏิสนธิ และในขณะที่เขาทำหน้าที่นำปฏิสนธิคือยังสัตว์ให้เกิดนั้น เขาเป็นใหญ่จริง ๆ กรรมอื่นจะมาแทรกแซงแย่งทำหน้าที่ของเขาไม่ได้เลยเป็นอันขาด เขาทำหน้าที่ตามลำพังตนในขณะนั้นเท่านั้น เปรียบเสมือนมารดากำลังคลอดทารกซึ่งเป็นบุตรของตน ย่อมทำหน้าที่คลอดแต่เพียงคนเดียว คนอื่นจะมาแย่งหน้าที่เป็นผู้คลอดร่วมด้วยในขณะนั้นจะได้ที่ไหนเล่า ชนกกรรมก็เหมือนกัน ย่อมเป็นใหญ่ในขณะนำปฏิสนธิคือยังสัตว์ทั้งหลายให้เกิดเป็นตัวบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้น
.....ชนกกรรมนี้มีอยู่ ๒ ฝ่าย คือ ชนกกรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล ๑ ชนกกรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ๑ ชนกกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล เมื่อทำหน้าที่นำปฏิสนธิยังสัตว์ให้เกิดนั้น ย่อมผลักดันสัตว์ให้ไปเกิดในทุคติภูมิอันเป็นภูมิชั่วช้า ซึ่งได้แก่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นิรยภูมิ ๑ เปตติวิสัยภูมิ ๑ อสุรกายภูมิ ๑ ติรัจฉานภูมิ ๑ ชักนำสัตว์ทั้งหลายให้ไปเกิดในอบายภูมิเหล่านี้ภูมิใดภูมิหนึ่ง ตามสมควรแก่กรรมที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้ ในกรณีที่ชนกกรรมฝ่ายอกุศล ทำหน้าที่ชักนำสัตว์ทั้งหลายให้ไปเกิดในอบายภูมินั้น พึงเห็นตัวอย่างตามเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)