จากพระวินัยข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุและคนอื่น ๆ รับเงินทองแทนพระภิกษุสงฆ์ อีกทั้งทรงไม่อนุญาตให้ใครรับเก็บไว้เพื่อพระภิกษุสงฆ์ มากไปกว่านั้นก็ทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสงฆ์ยินดีในเงินทองที่เขาฝากไว้เพื่อตนอีกด้วย...
แต่ในเวลาต่อมา ในครั้งที่พระภิกษุสงฆ์ต้องเดินทางไปในถิ่นที่ทุรกันดารที่อัตคัดข้าวปลาอาหารมาก ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมเสบียงไปเลย อาจต้องมรณภาพเพราะความอดอยากกันหมด ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงผ่อนปรนพระวินัยที่ทรงเคยบัญญัติไว้ ตามคำขอของท่านเมณฑกเศรษฐี คือ ทรงอนุญาตให้มีคนรับเงินทองแทนภิกษุได้ ซึ่งเรียกว่า “กัปปิยการก” แล้วคน ๆ นั้นก็มีหน้าที่เอาเงินนั้นไปซื้อหาของอันสมควรมาถวายแด่ภิกษุ อีกทั้งภิกษุก็สามารถยินดีในสิ่งของที่คนจัดหามาถวายได้ ดังข้อความที่ว่า...
“...ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใสมอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงินไม่ว่ากรณีใดๆ”
(อ่านเพิ่มเติมจาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒ เมณฑกคหปติวัตถุ ว่าด้วยเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง)
จะเห็นว่า..พระพุทธองค์ยังทรงผ่อนปรนเพื่อให้พระภิกษุอยู่รอดปลอดภัยในยุคที่พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ในยุคนี้..ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด ซึ่งถ้าพระรับเงินไม่ได้เลยก็ไม่รู้พระพุทธศาสนาเราจะดำรงอยู่อย่างไร ถ้าพระพุทธองค์ทรงอยู่ก็คงดี เพราะพระองค์จะทรงให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ดีที่สุด...
Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ