ไม่อยากทำบุญเพราะหมดศรัทธาพระผิดไหม?

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2561

จากกลยุทธ์การประโคมข่าวเรื่องพระถี่ ๆ
แล้วเดินเกมเป็นขั้นตอนอย่างแยบยล
ทำให้ชาวพุทธหลายคนหวั่นไหว
คิดเลิกทำบุญกับทุกวัดกันเลย
ซ้ำร้าย..เมื่อทำบุญไปแล้วยังนึกเสียดายอยากเอาคืน !!!
------------------------
 
..หากมาดูประเด็นนี้อย่างเป็นธรรม จริง ๆ แล้ววัดในประเทศไทยมีตั้งหลายหมื่นวัด พระก็มีตั้ง ๓ แสนกว่ารูป ท่านจะแย่ไปเสียทั้งหมดเลยก็ไม่ใช่ เพราะพระที่ปฏิบัติไม่ดีจริง ๆ ก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ถูกทำให้เป็นประเด็นใหญ่โตจากการประโคมข่าว เหมือนผ้าขาวผืนใหญ่ที่มีจุดดำเพียงนิดเดียว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะโฟกัสเฉพาะจุดสีดำเล็ก ๆ แล้วเอามาเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้ว พื้นที่สีขาวนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก
 
จุดนี้อยากจะให้ลองไตร่ตรองดูว่า..เราอาจตกเป็นเหยื่อการประโคมข่าวที่จงใจบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาหรือเปล่า ฉะนั้นอย่าเอามาเป็นอารมณ์จนขวางการทำบุญของตัวเองเลย หากศรัทธาวัดไหน ก็จงไปแสวงบุญวัดนั้นเถิด...
 
ที่สำคัญหากเราได้ศึกษาและเข้าใจคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เราจะเข้าใจลึกซึ้งว่า..บุญเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิต เพราะบุญเป็นต้นเหตุแห่งความสุขความสำเร็จ ถ้ามีบุญน้อยอุปสรรคในชีวิตก็มาก ถ้าบุญอ่อนกำลังลงหรือบุญหมด  บาปที่เคยทำไว้ก็จะได้โอกาสส่งผล  ทำให้ชีวิตมีอุปสรรคต่าง ๆ  นานา เช่น  เจ็บไข้ได้ป่วย  ไร้ความสุข  หมดอำนาจวาสนา  เสียชื่อเสียงเกียรติยศ  แม้คนที่รักกันก็หมดรัก  แม้ทรัพย์ที่มีอยู่น้อยนิดก็ยังรักษาไว้ไม่ได้...
 
ด้วยเหตุนี้  เราจึงเลี่ยงไม่ได้เลยจริง ๆ ที่จะต้องสั่งสมบุญ เพราะถ้าหยุดทำ ก็เท่ากับตัดรอนบุญของตัวเอง และพอบุญหมดจนหายนะแห่งชีวิตมาเยือน คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือตัวเรา โดยไม่มีใครมารับผิดชอบชีวิตกับเราด้วยหรอก ดังนั้นการหยุดทำบุญ ถือเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มกันเลย
 
ทำบุญไปแล้ว รู้สึกเสียดายอยากเอาคืน คิดผิดไหม ?
 
หลายคนพอได้ยินข่าวพระที่เคยไปทำบุญด้วย ก็เชื่อข่าวโดยยังไม่ทันพิสูจน์อะไรเลย หนำซ้ำยังนึกเสียดายทรัพย์ที่เคยทำบุญไปขึ้นมาทันที ซึ่งเรื่องการทำบุญแล้วนึกเสียดายไม่ใช่เพิ่งมีในยุคนี้เท่านั้น แม้ในสมัยพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นอยากให้ลองอ่านเรื่องนี้ดู ก่อนที่จะคิดและตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ถึงผลของมัน...
 
ในครั้งพุทธกาลมีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ อปุตตกเศรษฐี เศรษฐีผู้นี้เป็นคนรวยมาก แต่ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ครั้นพอรู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า ตครสิขี จะเสด็จมาบิณฑบาต ด้วยความรำคาญ จึงสั่งภรรยาทำนองว่า ให้เอาภัตตาหารมาใส่บาตรเพื่อให้ท่านรีบไป ๆ เสีย พอสั่งภรรยาเสร็จ ก็รีบเดินออกไปนอกบ้าน พอภรรยาได้ยินอย่างนี้ ก็ดีใจมาก เพราะเศรษฐีไม่เคยอนุญาตให้ทำบุญอะไรแบบนี้เลย จึงรีบจัดเตรียมภัตตาหารชั้นดีประณีตที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้แล้วเอาไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า พอท่านเศรษฐีกลับมาโดยเดินสวนกับพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงขอดูในบาตรของท่าน ครั้นพอเห็นอาหารอันประณีตเท่านั้นเอง ก็นึกไม่พอใจอย่างมาก แล้วพลันคิดในใจว่า...
อาหารดีขนาดนี้ ให้พวกทาสหรือกรรมกรของเรากินยังดีเสียกว่า เพราะถ้าพวกนั้นกินก็ยังเอาเรี่ยวแรงมาทำงานรับใช้เรา ส่วนสมณะนี้ฉันแล้วก็ไปนอน ไม่ได้อะไรขึ้นมา บิณฑบาตของเรานี้ฉิบหายแล้ว’…
 
และด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ได้ถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้านี้เอง ทำให้ไปเกิดบนสวรรค์ต่อเนื่องกันถึง ๗ ชาติ และเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองมนุษย์อีก ๗ ชาติ
 
แต่ด้วยวิบากกรรมที่ทำบุญด้วยความไม่ตั้งใจ และเสียดายนึกอยากเอาคืนในภายหลัง ทำให้แม้จะเกิดเป็นเศรษฐี ก็เป็นเศรษฐีที่มีจิตใจไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันประณีตเพื่อให้สมกับบุญตัวเอง คือ กินแต่อาหารชั้นเลว พวกข้าวปลายเกรียนกับน้ำผักกาดดอง หรือแม้การใช้เครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้เสื้อผ้าเนื้อหยาบ ๆ เก่า ๆ ที่ต้องเอาผ้าสามสี่ชิ้นมาเย็บต่อ ๆ กัน และใช้ยานพาหนะเก่า ๆ หรือใช้ร่มก็ใช้ร่มที่ทำจากใบไม้ สรุปคือ ไม่ได้รับความสุขจากสมบัติของตนอย่างเต็มบริบูรณ์ เพราะไม่สามารถใช้สมบัติที่เป็นของตนได้อย่างเต็มที่ และหลังตายแล้วสมบัติทั้งหมดก็ถูกยึดเข้าพระคลังหลวงจนหมดสิ้น
 
จากการที่อปุตตกเศรษฐีไม่ยอมสร้างบุญเพิ่มเลย พอบุญเก่าหมด เลยทำให้วิบากกรรมที่เคยฆ่าหลานชายเอาไว้ได้ช่องตามมาส่งผลทันที ทำให้หลังจากตายแล้วต้องไปตกนรก ที่เรียกว่า มหาโรรุวะนรก ต้องชดใช้กรรมอย่างสาสมยาวนานเลยทีเดียว... 
 
[อ่านเพิ่มเติมที่ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔ เรื่องเศรษฐีผู้ไม่มีบุตร และพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ (ฉบับมหาจุฬาฯ) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปฐมอปุตตกสูตร ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร สูตรที่ ๑]
 
ดังนั้น หากเราทำบุญไปแล้ว ไม่ควรนึกเสียดายภายหลัง เพราะเราได้ตัดสินใจให้ไปแล้ว ก็ให้ทานที่ให้นั้นขาดจากใจไปเลย เพราะหากเรารู้สึกเสียดาย แม้บุญจากการทำทานจะทำให้เกิดเป็นคนรวยก็จริง แต่กลับเป็นคนรวยที่มีอัธยาศัยชอบใช้แต่ของเก่า ๆ กินแต่อาหารไม่มีคุณภาพ ค้าง ๆ ไม่ประณีต ใช้ของเก่า ๆ ขาด ๆ เหมือนที่เราคงเคยเห็นเศรษฐีหลาย ๆ คนที่เป็นแบบนี้ เห็นไหมมันไม่คุ้มกันเลย...
 
Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038602300484975 Mins