พระอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา (ตอนจบ)

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2547

 

.....(ความเดิม) ...สารีบุตรและโมคคัลานะ พร้อมบริวารเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

.....พระโมคคัลลานะ ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ไม่บังเกิดผล เพราะมีแต่ความง่วงครอบงำอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปอบรมสั่งสอนวิธีแก้ง่วง ว่า

๑. ถ้านึกอะไรได้แล้วยังง่วง ก็นึกเรื่องนั้นให้มากๆ เข้า

๒. นึกแล้วยังไม่หายง่วง ให้ไตร่ตรองพิจารณาธรรมที่ได้ฟัง ได้เรียนมาแล้วด้วยความตั้งใจ

๓. พิจารณาธรรมแล้ว ยังแก้ไม่ได้ ให้ท่องบ่นสาธยายธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาโดยพิสดาร

๔. ท่องแล้วยังไม่หาย ให้ยอนหูทั้งสองข้าง และเอาฝ่ามือลูบหัว

๕. ถ้าแก้ยังง่วงไม่ได้ ควรลุกขึ้นยืนเอาน้ำลูบนัยน์ตา เหลียวไปมองสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว และแหงนมองดูดาวนักขัตฤกษ์ (สร้างความสนใจในสิ่งต่างๆ)

๖. ถ้ายังแก้ไขไม่สำเร็จ ให้ทำใจนึกถึงแสงสว่าง ตั้งใจว่ามีแต่กลางวันอย่างเดียว ไม่มีกลางคืน ให้ใจเป็นอิสระเปิดเผย ไม่มีอะไรห่อหุ้ม

๗. ถ้าความง่วงยังเกิดได้อีก ให้อธิษฐานจิตเดินจงกรม กลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ไม่คิดเรื่องภายนอกตัว ให้ส่งจิตเข้าสู่กลางตัว

.....ต่อจากนั้นพระองค์ทรงสอนวิธีป้องกันความฟุ้งซ่านว่า

.....๑. เวลาเข้าไปบ้านใด ไม่ควรถือตัวว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ให้คิดเสมอว่าในแต่ละบ้านเหล่านั้น มีภารกิจยุ่งอยู่ ผู้คนในบ้านต้องมีธุระของเขา อาจจะไม่มีเวลาเอาใจใส่เรา ถ้าเราถือตัว เราก็จะคิดมากว่า มีอะไรผิดปกติ ใครมายุยงให้พวกเขาไม่พอใจเรา พอคิดอย่างนี้เราก็รู้สึกเก้อเขินที่เขาไม่แสดงอาการต้อนรับที่เท่าควร พอเก้อเขินก็คิดฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่สำรวม ทำสมาธิไม่ได้

.....๒. เมื่อต้องพูดกับใคร ไม่ควรพูดเรื่องที่ทำให้โต้เถียงกัน เพราะถ้าเถียงกันก็ต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็ต้องคิดวุ่นวายฟุ้งซ่าน ใจไม่สำรวมทำสมาธิไม่ได้

.....๓. การคลุกคลีกับหมู่คณะ ทำให้ไม่สงบ พระองค์ไม่สรรเสริญ ที่ใดเป็นที่อยู่เงียบสงัด ไม่มีคนผ่านไปมา ควรเป็นที่พักอันหลีกเร้นของสมณะ

.....พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า กล่าวอย่างย่อมีข้อปฏิบัติเพียงไร ในการทำให้ตัณหาสิ้นไป ทำโยคะ (กิเลสที่ประกอบสัตว์ติดไว้ในภพต่างๆ) ให้สิ้นไป ให้เป็นพรหมจารีบุคคลได้ประโยชน์สูงสุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

.....พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

.....เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็จะมีปัญญาสูงสุดทราบธรรมทั้งปวง

.....เมื่อทราบธรรมทั้งปวง ก็ย่อมกำหนดรู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งใดเป็นธรรมเหล่านั้น

.....เมื่อกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เวลามีเวทนาอย่างใดเกิดขึ้น คือรู้สึกทุกข์ก็ดี สุขก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาด้วยปัญญาเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย พิจารณาด้วยปัญญาเห็นเป็นของควรระงับดับไป พิจารณาด้วยปัญญา เห็นเป็นของควรสละเวทนาเหล่านั้นออกไป

.....เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสของตนเองลงได้ เมื่อดับกิเลสได้ ย่อมทราบชัดว่าเลิกเกิดแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจหน้าที่ของชีวิตสำเร็จแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว นี่คือข้อปฏิบัติโดยย่อของพระองค์

.....พระโมคคัลลานะปฏิบัติตามพุทโธวาททุกประการบรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง

.....ส่วนพระสารีบุตร ทำความเพียรอยู่ถึงครึ่งเดือน ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นมีปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาดา พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธองค์ ในถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ทีฆขนะทูลแสดงความคิดเห็นของตนซึ่งเขาคิดว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องว่าเขาไม่ชอบใจทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ต้องไม่ชอบใจความคิดเห็นของท่านด้วยซี” ครั้นแล้วพระองค์ประทานพระธรรมเทศนาว่า

.....สมณพราหมณ์บางพวกมีทิฏฐิคือความคิดเห็นว่า คนเราควรชอบทุกสิ่งทุกอย่าง บางพวกมีความคิดเห็นว่า คนเราไม่ควรชอบอะไรเลย บางพวกเห็นว่า บางอย่างควรชอบ บางอย่างไม่ควรชอบ

.....ความจริงแล้ว ความคิดเห็นทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง พวกแรกเน้นหนักไปในทางรัก พวกที่สองเน้นหนักไปทางเกลียด พวกที่สามเน้นเรื่องบางอย่างรัก บางอย่างเกลียด ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันดังนี้แล้ว ก็จะต้องถกเถียงกันไม่มีวันจบสิ้น เถียงกันก็ต้องวิวาททะเลากัน ทะเลาะกันก็จะต้องอาฆาตแค้นปองร้ายหมายพิฆาต ปองร้ายก็ต้องมีการเบียดเบียนตามมา

.....ผู้มีปัญญาเห็นโทษดังนี้แล้ว ไม่ถือความคิดเห็นทั้ง ๓ อย่างว่าถูกต้อง และไม่คิดถือความเห็นอย่างอื่นขึ้นมาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ควรถือมั่น เพราะกาย คือรูปร่างของเรานี้เกิดด้วย มหาภูตรูป ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) มาประชุมรวมกันเข้า มีพ่อกับแม่เป็นแดนเกิด ร่างกายเจริญเติบโตได้เพราะมีความหล่อเลี้ยง ต้องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยของหอมต่างๆ ต้องขัดสีฉวีวรรณให้สะอาด แต่ท้ายที่สุดก็แตกกระจักกระจายไปเหมือนกันหมดทุกชีวิต

.....เราควรพิจารณาให้เห็นว่า กายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อดทนได้ยาก เป็นเหมือนหัวฝี (ปวดอยู่เสมอ) เหมือนลูกศร (ปลายแหลม บาดให้เจ็บได้ง่าย) อยู่ด้วยความยากลำบาก ชำรุดทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตนอะไร

.....เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ย่อมละความรักใคร่พอใจความกระวนกระวายในกามลงได้

.....อีกอย่างหนึ่ง เวทนา (คือความรู้สึก) มี ๓ อย่าง ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์(เฉย) เวทนาเหล่านี้ไม่เที่ยง มีปัจจัย(คือส่วนประกอบ)แต่งขึ้น เมื่อมีขึ้นแล้วก็สิ้นไปเสื่อมไป จางไปดับไป เป็นธรรมดาอยู่ดังนี้

.....ผู้มีปัญญาเมื่อฟังแล้ว ได้พิจารณาเห็นตาม ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาทั้ง ๓ เหล่านั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายจากความกำหนัด คือพอใจรักใคร่อยากได้ เมื่อหมดความกำหนัดจิตใจก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อใจพ้นแล้วก็เกิดญาณที่ทำให้รู้ว่าพ้นแล้ว

.....รู้ว่าไม่เกิดเป็นอะไรอีกแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หน้าที่ของชีวิตเสร็จสิ้นลงแล้ว กิจการอื่นๆ ที่ต้องทำให้ได้ประโยชน์ยิ่งกว่านี้ไม่มี ภิกษุที่พ้นแล้วอย่างนี้ จะไม่วิวาทโต้เถียงกับใครๆ คำพูดสิ่งใดที่ผู้คนพูดกันอยู่ในโลกตามที่สมมติกัน ก็พูดไปตามนั้น แต่ไม่ติดยึดถือมั่นด้วยทิฏฐิ

.....พระสารีบุตรฟังพระธรรมเทศนาทั้งหมดตั้งแต่ต้นตลอดมา ส่งใจเข้าภายในตัว คิดได้ว่าพระบรมศาสดาตรัสสอนให้ละการยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้แล้ว จิตก็พ้นอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

.....ส่วนทีฆขนะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน สิ้นความเคลือบแคลงในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า ไพเราะและแจ่มแจ้ง เข้าใจได้ชัดเจนเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องตะเกียงในที่มืด ทำให้คนตาดีมองเห็นทาง และปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับแต่วันนั้น

.....ต่อมา พระบรมศาสดาได้ทรงแต่งตั้งให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้เลิศด้วยการแสดงฤทธิ์ พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา พระเถระทั้งสองเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา

.....พระบรมศาสดาทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนามั่นคงในแคว้นมคธ แล้วเสด็จจาริกไปตามแว่นแคว้นอื่นๆ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนประชุมชนให้ได้มีความเลื่อมใสและปฏิบัติตาม บางพวกออกบวชในพระธรรมวินัย เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ช่วยกันประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายต่างๆ มา สมดังพระพุทธปณิธานที่ทรงตั้งไว้แต่เดิมโน้น

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023982965946198 Mins