พระนันทเถระ  

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2562

พระนันทเถระ  
เอตทัคคะในทาง “ผู้สำรวมอินทรีย์”

 

พระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตรมี (พระน้านาง) 

เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดาพระประยูรญาติปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติยินดีร่าเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึงขนานนามว่า “นันทกุมาร”

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ และในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในนิวาสสถานแห่งนันทกุมาร เนื่องในการอาวาหมงคลอภิเษกสมรส ระหว่างนันทกุมารกับนางชนบทกัลยาณี

* อุ้มบาตรตามเสด็จ
ครั้งเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ตรัสมงคลกถาแก่พระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จลงจากนิวาสสถานโดยมิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนนันทะเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วยความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้แต่ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า พระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร จึงดำริต่อไปว่า เมื่อเสร็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อย แล้วก็ดำริอยู่ในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับบาตรคืนเลย

ส่วนนางชนบทกัลยาณี เมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพานันทกุมารไปด้วย ก็ตกพระทัย รีบเสด็จตามไปโดยเร็ว แล้วร้องทูลสั่งว่า:- “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับโดยด่วน”

* จำใจบวช
นันทราชกุมาร ได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปขวางอยู่ในหฤทัย ให้รู้สึกปั่นป่วนอยากจะหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาค ทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด”

สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิต คิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนบทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือนให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระเชษฐาเป็นยิ่งนักไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกา บวชในวันนั้น

พระนันทะ นับตั้งแต่บวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนบทกัลยาณีเจ้าสาวของตน ที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อนสหธรรมมิกด้วยกันฟัง

* เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่
พระบรมศาสดา ทรงทราบความจึงทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่างๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้ได้เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่ง จมูกโหว่ และหางขาด นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก 

จนกระทั่งให้ได้เห็นนางเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่างๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิดความกระสันอยากได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงตรัสถามว่า “นันทะ เธอมีความเห็นอย่างไร ระหว่างนางเทพอัปสร เหล่านี้ กับนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ ?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนบทกัลยาณีนั้นเปรียบเสมือนนางลิงแก่ ที่นั่งอยู่บนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางเทพอัปสรเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ทรงรับรองว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เธอก็จะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นตามต้องการ ตั้งแต่นั้นมาพระนันทะได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสร ตามที่พระบรมศาสดา ทรงรับรองไว้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายทราบความแล้ว ต่างก็พากันพูดจาเยาะเย้ยว่า “พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะ ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อ
หวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง” จนทำให้พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นว่า:-

“ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด”

“อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้”

ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิกรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนา จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า:-

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์เปลื้องปลดจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า:-

“อันเปือกตมคือ กามคุณ และเสี้ยนหนามคือ กองกิเลส อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวง

อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุถามท่านว่า “เมื่อก่อนนี้ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้ ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ?"

ท่านตอบว่า “ไม่มีความปรารถนาอย่างนั้นอยู่อีกแล้ว”

ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้ว ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระนันทะพูดไม่เป็นความจริง พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า:-
“ภิกษุทั้งหลายเมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ 

แต่บัดนี้ เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลส ราคะทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น”

* ได้รับยกย่องในทางสำรวมอินทรีย์
พระนันทเถระ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจระวัง ไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม 

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง “ผู้สำรวมอินทรีย์”

ท่านพระนันทเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยู่ พอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

Cr เนื้อหา: โยมพี่ปุ้ย กองภาคนครหลวง ๕
Cr ภาพ: Line Official โรงภาพยนตร์ 3 มิติ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024150602022807 Mins