นักสร้างบารมี ต้องสู้
ในสมัยที่คุณยายสร้างวัดนั้น ท่านได้ใช้ความวิริยอุตสาหะ พยายามที่จะช่วยประคับประคองหมู่คณะเหมือนที่อาตมาได้กล่าวแล้วในครั้งก่อนว่า ในช่วงแรกที่เราได้รับบริจาคที่ดิน ๑๙๖ ไร่ ช่วงนั้นพระที่บวชยังมีจำนวนน้อยอายุพรรษาก็ยังไม่มาก ผู้ที่ศรัทธาในช่วงต้นส่วนมากก็จะศรัทธาคุณยาย เพราะคุณยายมีลูกศิษย์ลูกหาเก่า ๆที่เคยสอนธรรมะเมื่อครั้งท่านอยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ หรืออยู่กับคุณยายทองสุข
ฉะนั้นนอกจากการนั่งธรรมะปฏิบัติธรรมตามปกติประจำวันของท่านแล้ว คุณยายยังต้องเป็นทั้งประธานการก่อสร้าง ประธานหาทุน แล้วก็รวบรวมทีมที่จะช่วยสร้างวัด รวบรวมหมู่คณะอาสาสมัครทั้งหลาย ต้องคอยประคับประคองให้กำลังใจ จะขอใช้คำว่า ท่านเหมือนกับเป็นนายท้ายเรือคอยคัดหางเสือ ประคับประคองนาวาลำนี้ให้ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง ไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ไม่ปัดเป๋ไปทางอื่น นี่แหละงานหลักของคุณยาย
คุณยายจะคอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ แล้วก็คอยแก้ไขเหตุการณ์ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมาสมัยนั้นเรามีเด็กวัดอยู่ไม่กี่คน ช่วงนั้นอาตมาเข้าวัดแล้วถ้าจะพูดไปก็เหมือนอุบาสกสมัยนี้แหละ เพราะเด็กวัดทุกคนถือศีล ๘ ความที่มีคนอยู่กันไม่กี่คนนั่นเอง ทำให้เรามีความรักสมัครสมานสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีงานที่ไหนก็ไปช่วยลุยกันที่นั่น ไม่มีการแบ่งแยกแบ่งแผนกกันมากทุกคนก็ไปรุมกันอยู่ที่งานจนกว่าจะเสร็จ
เช้า ๆ คุณยายมักจะมาคอยให้กำลังใจ มาคุยธรรมะในช่วงที่เด็กวัดทุกคนนั่งรับประทานอาหาร อยู่ที่ลานโรงครัวอาคารยามา ท่านเห็นว่า พวกเราเหนื่อยกัน เพราะงานเยอะแต่คนน้อย
ท่านจะคุยธรรมะในเรื่องพื้น ๆ อย่างเช่นเรื่องบุญเพื่อให้ทุกคนอยู่ในบุญ ตั้งใจสร้างบุญสร้างกุศล ท่านว่าทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เป็นสิ่งที่สุดประเสริฐแล้ว โชคดีแล้วที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะกว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ได้เราเกิดเป็นอะไรต่ออะไรมาเยอะแยะไปหมด เราผ่านมาหมดแล้ว เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ทั้งเกิดเป็นสัตว์นรกก็เคยแล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอสุรกายในทุคติภูมิ เคยมาหมดแล้วทั้งนั้นทุก ๆ คน ในสุคติภูมิจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม เราก็เคยเกิดมากันหมดแล้วทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้พวกเราอย่าประมาท ถ้าเราเผลอไผลไปทำบาปอกุศลเดี๋ยวก็ร่วงลงไปในทุคติภูมิ ในนรกอีกแหละ กว่าจะมีโอกาสได้วนกลับมาสร้างบารมีอีกก็ใช้เวลาอีกยาวนาน แต่ถ้าเราไม่ประมาท สั่งสมบุญเรื่อย ๆ ก็มีแต่ไปสู่สุคติภูมิเรื่อย ๆท่านจะเน้น ให้พวกเราต้องพยายามหมั่นสร้างความดีไปเรื่อยๆ
เรายังต้องเกิดกันอีกหลายภพหลายชาติเราจะต้องสั่งสมเสบียงใครมีเสบียงมากก็สบายหน่อย
แล้วบุญก็เป็นเสบียงที่ดีที่สุดที่จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติมนุษย์ไม่ได้เก่งเลย มีแต่บุญและบาปชักใยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่าง ๆ เกิดจากบุญเท่านั้น บุญที่ได้ทำมาดีแล้วในอดีต
เรามีโอกาสได้มารวมกันอยู่ที่นี่ ก็ขอให้ตั้งใจเอาบุญด้วยกัน ให้ทุกคนช่วยกันอย่างเต็มที่ เรามีกันอยู่น้อย ต้องร่วมมือร่วมใจกัน กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกันให้รักกันเหมือนพี่น้องนักสร้างบารมี คุณยายจะให้โอวาทในลักษณะนี้
ท่านจะให้กำลังใจตลอดว่า เราต้องสู้นะ อย่าหนีไม่ใช่สู้กับอะไร สู้กับกิเลสความขี้เกียจของเราน่ะแหละ ไอ้ตัวขี้เกียจที่มันนอนนิ่งอยู่ในกมลสันดานของเรา ทำให้เราไม่ไปสู่หนทางพระนิพพานเสียที เราไม่ได้ไปรบพุ่งกับใครนะ เรารบกับกิเลสในตัวของเรา แก้ไขความไม่ดีของเรา ความขี้เกียจของเรา เพราะฉะนั้นให้สู้เถอะ ทุกคนเกิดมาแล้ว ก็ต้องสู้กันไป สู้เพื่อสร้างบารมีของเราไปเรื่อยจนกว่า จะตายจากกันไป เพื่อเราจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์ที่สุด ที่จะไปสู่หนทางพระนิพพาน สู้ก็ตาย หนีก็ตาย สู้ดีกว่า ยังมีหนทางชนะ ไหน ๆ ชาตินี้มันก็ต้องตายหมดทุกคน อยู่แล้ว ก็สู้ให้มันสุดฤทธิ์สุดเดชไปเลย ชาติหน้าจะได้มีบุญเป็นทุนได้เยอะ ๆ ทำบุญจะได้มากต้องทำตอนมีชีวิตอยู่ยังมีกายมนุษย์ ทำอยู่ในเส้นทางพระรัตนตรัย
คุณยายเล่าว่า ในสมัยที่ท่านเด็ก ๆ ท่านจะพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองตลอด พอได้ยินผู้ใหญ่ดุด่าว่ากล่าวคนอื่น ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ท่านก็จะจดจำเอาไว้แล้วมาปรับตัวเองว่า เออ เราจะต้องไม่เป็นอย่างนั้นนะเราจะแก้ไขตัวของเรา ไม่ทำผิดอย่างนั้น
แม้กระทั่งสมัยที่มาอยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านจะไม่ยอมให้หลวงพ่อมาดุว่าเป็นไอ้ขี้ไต้ จะพยายามแก้ไขตัวเอง จากการที่หลวงพ่อดุว่าคนอื่น ท่านจะเอามาปรับตัวเองเสียก่อน เพราะฉะนั้นท่านจะสอนให้พวกเด็กวัด ในสมัยก่อนนั้น ปรับปรุงแก้ไขสำรวจตรวจตราตัวเองว่า
เรามีข้อบกพร่องอะไร ไม่ว่าจะความคิด คำพูดหรือการกระทำ ไหน ๆ ก็เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วพบคุณยาย พบหลวงพ่อธัมมชโย พบหลวงพ่อวัดปากน้ำ และพบวิชชาธรรมกายแล้ว ก็ให้แก้ไขไป
ได้มากได้น้อยก็ต้องตรึกไว้เสมอว่า ความไม่ดีทุกอย่าง ของตัวเองนี้ ต้องแก้ให้ได้ อย่าไปเสียดาย เลิก ๆ โละ
มันทิ้งไปเสีย อย่าไปถนอมมันไว้ อะไรไม่ดี พยายามเลิกเสีย โละออกจากจิตใจของเราไปเสียให้ได้
ถ้าเราแก้ไขในชาตินี้ได้ สิ่งเหล่านี้จะหลุดออกไปเลย ไม่ติดไปในภพเบื้องหน้าอีก ท่านจะสอนให้เราพยายามแก้ไขตัวเอง แล้วก็ให้อธิษฐานล้อมคอกเอาไว้ให้ดี อย่าได้เจอะเจอสิ่งที่ไม่ดีอีก อย่าได้คบคนพาล อย่าใกล้ชิดหรืออยู่ในแวดวงของคนพาล ให้เราคบแต่บัณฑิตนักปราชญ์ที่จะชักนำพาไปสู่ความดี ให้เราสร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในสมัยต้น ๆ ของการสร้างวัด คุณยายนอกจากจะหาทุน ดูแลอะไรต่ออะไรสารพัดแล้ว ท่านยัง
ตั้งกฎระเบียบขึ้นมา ดูเรื่องต่างๆ ของเด็กวัด เด็กวัดที่มาสมัยนั้น ก็คือ ธรรมทายาทรุ่นเก่า ๆ ที่อบรม
ผ่านไปแต่ละปี จะมารวมกัน บางทีเข้ามาวันศุกร์ตอนเย็นบางทีมารวมกันวันเสาร์ เพื่อเตรียมงานบุญวันอาทิตย์
สมัยก่อนงานบุญวันอาทิตย์ เราจัดอยู่ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา ในบริเวณวัด ๑๙๖ ไร่ ถ้าวันไหนมีงานเยอะ เราก็ทำงานไปจนค่ำมืด แล้วก็พักผ่อน แต่ถ้าวันไหนงานน้อย พองานเสร็จเร็ว คราวนี้ก็นั่งปรึกษางานกันแหละ นั่งคุยกัน ว่างั้นเถอะ นั่งเม้าท์ (mouth) กันไปเรื่อย คุยกันไป คุยกันมา พอเรื่องงานจบก็ต่อเรื่องโน้น คนโน้น ต่อเรื่องนี้ทีเรื่องโน้นที ต่อไปต่อมายาวเป็นชั่วโมง คือ ในเบื้องต้นอาจจะคุยให้กำลังใจกัน เสร็จแล้วก็คุยเรื่องนั้น เรื่องนี้เลยเถิดไป จนกระทั่งไปถึงเรื่องโลก ๆ
พอสัก ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่ม คราวนี้ ดึกหน่อยยังไม่จบคุณยายมาแล้วถือไฟฉายมาอันหนึ่ง ส่องกราดเลย สมัยนั้นคุณยายอายุประมาณ ๗๐ ปี ท่านเดินเร็วมาก แป๊บเดียว ถึงแล้ว นั่งเม้าท์ (mouth) กันอยู่ หลบไม่ทันหรอก เปิดประตูเข้ามาเท่านั้น พูดได้คำเดียวว่า “วงแตก” เพราะคุณยายไม่อยากให้คุยเรื่องโลก ๆ
ท่านก็จะมาให้โอวาทว่า แหม คุยกันไม่รู้จักจบ จักสิ้นนะ ท่านจะเปรียบว่า เหมือนไอ้ขี้เหล้าในวงเหล้า คุยกันไม่รู้จักจบจักสิ้น คุยกันทั้งวันอย่างนี้ คุยกันได้ถึงเช้า หาจุดจบไม่เจอ อย่าดีแต่คุยนักเลย คุยน่ะมันง่าย แต่จะทำให้ได้อย่างที่คุยมันยาก วัตถุประสงค์คือ ท่านไม่อยากให้นอนดึก เมื่อเสร็จภารกิจอะไรแล้วก็รีบไปอาบน้ำ อาบท่า ไปนั่งสมาธิ ได้พักผ่อน ตื่นเช้าจะได้สดชื่น ใครมีภาระหน้าที่อะไรในวันอาทิตย์ ก็ไปประจำตามหน่วยตามจุดงานของตัวเอง
เรื่องที่คุณยายดูแลอุบาสกเด็กวัด (คุณยายมักจะเรียกอุบาสกในสมัยนั้นว่าเด็กวัด) ในสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างนี้ ท่านมักจะบอกว่า อุบาสกรุ่นนี้ต้องเข้มงวดหน่อย เพราะว่า ชุดนี้ต่อไปบวชเป็นพระ จะได้เป็นพระที่ดี แล้วก็รู้อุปนิสัย คุณยาย ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต่อไปเราก็จะได้มีเรื่อง หรือมีหัวข้อธรรมที่จะไปสอนรุ่นน้อง ๆ ต่อไป
ในการจัดงานบุญวันอาทิตย์ สมัยก่อนที่บอกมา แต่ต้นว่า เราจะจัดงานบุญกันอยู่ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา แล้วก็บริเวณลานหญ้ารอบ ๆ ถ้าเป็นอาทิตย์ต้นเดือนงานบุญใหญ่ก็เอาเต็นท์มากางเพิ่ม เอาร่มกลดมาตอกเสริม ถ้าอาทิตย์ธรรมดาไม่ต้องใช้เต็นท์ งานก็เบาหน่อย ถ้ามีธรรมทายาทมาช่วยกันเยอะ งานเราก็เสร็จเร็ว แต่ถ้าคนช่วยมาน้อยก็เสร็จช้าหน่อย
และถ้าวันหนึ่งวันใดมีภัยธรรมชาติ ซึ่งก็คือฝนตกน่ะแหละ ในสมัยก่อนฝนตกหน้าฝน และชอบตกวันเสาร์ต้นเดือน ตกได้ทุกเสาร์ต้นเดือน ฝนตก งานก็เพิ่มคนเราก็น้อย งานที่เตรียมไว้เสร็จแล้วก็ต้องเตรียใหม่หมด ฝนตกก็แฉะ ต้องมาขุด มาเซาะร่องน้ำ ทำทางเดินฉุกเฉินให้ญาติโยม เตรียมไว้สำหรับวันอาทิตย์ ถ้าวันไหนฝนตกแรง มีพายุเข้า ต้นไม้โค่น เต็นท์พัง ต้องไปกู้เต็นท์กัน เต็นท์ไหนไม่พัง ก็ไปปลดผ้าใบเสีย ผ้าใบ มันรองรับน้ำฝน ถ้าเยอะไป เดี๋ยวผ้าใบจะขาดและช่วยกันเก็บกิ่งไม้ ใบไม้ที่ร่วงหล่นตามถนนให้เรียบร้อย
มิหนำซ้ำ เขตนี้ก็แปลกจัง ฝนตกทีไร ไฟฟ้าดับทุกที ไฟดับสมัยก่อน ดับนานนะ
ครึ่งวันค่อนวัน ยิ่งดับตอนค่ำไปรอเช้าได้เลย ไม่มีช่างมาแก้หรอก ไฟดับงานก็เพิ่มอีก ไม่มีเครื่องปั่นไฟ เพราะฉะนั้นต้องจุดเทียน และใช้ไฟฉายทำงานกัน ถังน้ำบาดาลของเราก็ใบนิดเดียว ไฟดับแล้ว จับเวลาได้เลยอีก ๒๐ นาทีน้ำหมด
เพราะฉะนั้นพอไฟดับปุ๊บ อาตมาต้องวิ่งรองน้ำทันที ถ้าไม่ทันล่ะก็ต้องเหนื่อยกันละ ถ้ายิ่งเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนนี่ ต้องใช้น้ำเยอะมากในการล้างภาชนะ ล้างจาน หรือในการทำภารกิจ ใช้น้ำเยอะมาก ถ้าไฟดับหมด ภาชนะทั้งหลาย ไม่ว่าตุ่ม ถัง กะละมัง หม้อ หงายขึ้น มารองน้ำบาดาลเก็บตุน ๆ ไว้ให้หมด
แต่บางทีก็ไม่ทันเหมือนกัน เราไม่ได้เฉลียวใจ คุณยายถาม น้ำในห้องน้ำญาติโยมมีตุนไว้หรือยัง อ้าว ไม่มีเลย ๒๐ นาทีแล้ว น้ำหยุดไหลแล้ว คราวนี้ท่านก็จะบอกว่า งั้นไปตักน้ำในคูใส่ตุ่มทุก ๆ ใบตุนไปก่อนนี่...ปฏิภาณของท่านนะ แป็บเดียว ใส่เต็มทุกห้องน้ำเลย สำรองใส่ตุ่มไว้อีก หน้าห้องน้ำอีกหลาย ๆ ตุ่ม
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่คุณยายบอก พอเมื่อไหร่ เหตุการณ์ไฟดับ น้ำไม่มีเมื่อไหร่ล่ะก็ ตักน้ำในคลอง ทุกทีเเหละ ใครไม่เคยตักน้ำด้วย ฝนตกด้วย มันทั้ง หนาวด้วย เหนื่อยด้วย ต้องตากฝนด้วย คนก็มีไม่กี่คน แล้วยังไฟฟ้าดับมืดอีกต่างหาก เราก็พยายามเตรียมงานบุญใหญ่กันมาได้ทุกอาทิตย์ต้นเดือน แล้วก็ทุกปีไม่ขาด รุ่นพี่ ๆ สมัยก่อน อุบาสกสมัยก่อนแข็งขันกันดี เรียกว่า อึดเข้าว่าแหละ เดี๋ยวนี้ก็บวชกันมาแล้วหลายรูปบวชกันหมดแล้ว
สมัยก่อนรุ่นแรก ๆ พี่สมบุญ (ปัจจุบันเป็น พระมหาสมบุญ สมมาปุญโญ) จะแข็งแรงกว่าใครเพื่อนเพราะฉะนั้นถ้าต้นไม้โค่น ต้องมารุมช่วยกันหมด หรือถ้าต้องยกของหนัก ทุกคนจะบอกว่า พี่สมบุญต้องไปช่วยทำไปช่วยยก เป็นหัวแรง ซึ่งท่านก็ไม่เคยบ่นเลย ท่านมีอุปนิสัยว่าไงว่าตามกัน บอกแต่ว่าเอาเลย ลุย ทุกคนช่วยกันหมด
อาตมาเอาบรรยากาศเก่า ๆ มาเล่าให้ทุกท่านฟัง เพื่อให้รู้ว่า เมื่อมาถึงรุ่นพวกเราก็ยังโชคดีที่หลวงพ่อธัมมชโยตัดสินใจให้สร้างสภาธรรมกายสากล หลังคาจาก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เริ่มใช้ ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติก็เบาลง เรื่องการต้องต่อสู้กับฝน ไม่ใช่หมดนะ เบาลง เพราะว่าหลังจากที่ญาติโยมมามากขึ้น สภาธรรมกายสากลหลังคาจากก็เต็มอีกน่ะแหละ ก็เลยต้องสร้างสภาธรรมกายสากลขึ้นใหม่อีกในพื้นที่ ๒,000 ไร่นี้
สิ่งที่เราได้ช่วยกันมานี้ เป็นสิ่งที่ประทับใจ เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนได้เอาไว้บอกไว้สอนรุ่นน้องต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้เราเคยทำมาแล้ว เป็นแบบอย่างให้ทุกคนได้ทำต่อไป
เรื่องน้ำของวัดสมัยก่อน อย่างที่บอกไว้แต่ตอนต้นว่า ถ้าพอมีปัญหาน้ำไม่ไหลก็ตาม ท่อแตกหรืออะไรก็ตาม พอน้ำหมดแท็งก์ เราก็ต้องใช้น้ำจากคูคลองนั่นแหละ ใช้สารพัด ตั้งแต่ล้างภาชนะ ล้างพื้น จนกระทั่งใช้ในห้องน้ำ คุณยายเคยเล่าว่า สมัยท่านอยู่วัดปากน้ำ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ท่านใช้น้ำคลอง ไม่ได้ใช้น้ำประปาอย่างที่เราคิด ใช้น้ำคลองใส่ตุ่มเก็บไว้ ท่านมีตุ่มเยอะเลย รอบบ้านสิบกว่าใบ ตุ่มส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่น้ำฝน เป็นน้ำดื่ม ท่านจะแยกไว้มุมหนึ่ง ส่วนที่เป็นน้ำใช้ ท่านก็จะเเยกไว้กลุ่มหนึ่ง
พอถึงช่วงค่ำ คุณยายจะรู้นะว่า ช่วงเวลากี่โมง น้ำในคลองภาษีเจริญจะขึ้นสูงสุด พอน้ำขึ้นสูงสุดท่านจะชวนหลาน ๆ ของท่านไปช่วยกันตักน้ำ โดยใช้ถังผูกเชือกหย่อนลงไปตักน้ำแล้วดึงสาวขึ้นมา ท่านจะบอก เอ้า น้ำขึ้นให้รีบตัก ไปช่วยกันตักเร็ว ท่านตักน้ำเอามาตุนไว้ในตุ่ม แล้วตอนเช้าก็เอาน้ำที่ตักแล้ว มาสู่กระบวนการของท่าน ท่านจะแบ่งตุ่ม ๑๐ กว่าใบเป็นกลุ่ม ๆ ไว้ ๓ กลุ่ม
ตุ่มกลุ่มแรก ๓-๔ ใบ ท่านตักน้ำดิบจากคลองขึ้นมาตุน ๆ เอาไว้ พอดึกน้ำเต็มทุกตุ่มก็หยุด แล้วทิ้งให้มันตกตะกอน ทิ้งไว้ค้างคืน พอตอนเช้า ท่านจะค่อย ๆช้อนเอาน้ำส่วนหน้ากรองด้วยผ้า แล้วก็ไปตักถ่ายเทสู่ตุ่ม ชุดที่ ๒ มีประมาณ ๓-๔ ใบ กรองเอาไว้ น้ำที่เหลือจากการกรอง ก้นตุ่มมันขุ่นหน่อย ก็เอาไว้ล้างพื้น ซักผ้าถูบ้านบ้าง รดน้ำต้นไม้บ้าง ท่านใช้น้ำประหยัดอย่างนี้ หลังจากกรองเสร็จแล้ว ก็แกว่งสารส้ม ทิ้งไว้ พักใหญ่ ๆ หลายชั่วโมงทีเดียว ท่านก็จะตักช้อนเอาน้ำข้างหน้าที่ใสแจ๋ว ไปสู่ตุ่มชุดที่ ๓ แล้วก็เอาน้ำก้นตุ่มชุดที่๒ นั้น ซึ่งมีพวกสารแขวนลอยจากสารส้มต่าง ๆ เอามาล้างพื้น ทำอะไรต่ออะไรไป ท่านทำอย่างนี้ พอได้น้ำใสจากตุ่มชุดที่ ๓ ก็เก็บไว้ใช้ได้ทั้งวัน ตุ่มชุด ๑ ชุด ๒ ก็ว่าง พอที่จะใส่น้ำชุดใหม่ได้อีก วนเวียนอยู่อย่างนี้แหละ
ท่านก็ได้น้ำสะอาดใช้อยู่ตลอดปี ท่านใช้น้ำอย่างนี้ ไม่ต้องไปเสียค่าน้ำประปา ถึงน้ำประปาจะขึ้นราคาท่านก็ไม่เดือดร้อน นี่แหละความประหยัดของคุณยาย
สมัยนั้นอาตมาไปวัดปากน้ำ ยังทึ่งในความสามารถและความขยันของคุณยาย เคยแอบไปเปิดตุ่มของคุณยายดู โอ้ คุณยายกรองน้ำได้สะอาดถึงขนาดนี้ ใช้น้ำประหยัดขนาดนี้ มีความเพียรพยายามมาก ไม่ค่อยกล้าใช้น้ำของท่าน กลัวท่านจะลำบาก มาคอยนั่งกรองน้ำให้เราใช้เพราะความประหยัด สมัยแรกที่ได้แผ่นดิน ๑๙๖ไร่มาใหม่ ๆ ท่านก็พยายามรวบรวมเงินทองเก็บเอาไว้ แล้วก็ประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เพื่อจะเอาเงินมาใช้ในการก่อสร้างวัด สร้างศูนย์พุทธจักรฯ ที่ปทุมธานีน่ะแหละ คุณยายบอกว่า ยายไม่คิดอะไร รีบ ๆ ทำให้มันเสร็จ ๆ สร้างวัดให้เขาอยู่สร้างบุญบารมีกัน ยายขออาศัยมีข้าวกิน ๒ มื้อ มีกุฏิเอาไว้คุดหัวนั่งเข้าที่
ตามสมบัติในที่ เอามาให้เขากินเขาใช้ทำงานให้พอ ก็พอใจแล้ว
สมัยก่อนแม้แต่จานข้าวของคุณยาย ดูเหมือนจะเป็นจานที่เขาแถมมากับผงซักฟอกที่ซื้อมา เป็นจานสีชมพู ใช้มา ๒๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดปากน้ำ จนกระทั่งย้ายมาที่วัดพระธรรมกาย ก็ใช้ใบนั้น
สมัยอาตมาบวชแล้ว ก็ยังใช้ใบนั้น ใช้จนสีชมพูมันจาง เกือบจะเป็นสีขาวแล้ว บางครั้งเคยจะเปลี่ยนให้ท่าน
ท่านก็จะเรียกหาจานข้าวยายอยู่ไหน ก็ต้องกลับไปเอาใบเดิมนั้นมาให้ท่านอีก ตกลงท่านก็อยากจะใช้ใบนั้น
จานใบเก่าของท่าน ใช้ให้คุ้ม
อยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสอนลูกหลานต่อไปว่า สิ่งที่ท่านสอนเรื่องความประหยัด ท่านทำให้ดู
เป็นตัวอย่างด้วย เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกา วัดพระธรรมกายทั้งหลายพยายามเอาแบบอย่างคุณยาย
ช่วงนี้เป็นฤดูแห่งความประหยัด บ้านญาติโยมทั้งหลาย ตอนนี้เขาประหยัดกันเต็มที่แล้ว ว่ากันสุดตัวทีเดียว
น้ำมันก็ขึ้นราคา น้ำประปาก็ขึ้นแล้ว ไฟฟ้าก็ขึ้นอีก สินค้าต่าง ๆ ขึ้นราคาตามมาเป็นแถว ๆ แต่ว่าเงินเดือน
ไม่ค่อยจะขึ้นเท่าไหร่ ญาติโยมเหล่านั้นอุตส่าห์เจียดเงิน ส่วนหนึ่งมาทำบุญได้นี่ โอ้โฮ กัดฟันกันจริง ๆ นะ
เพราะรักในการสั่งสมบุญ
เพราะฉะนั้น เราแต่ละคนต้องพยายามช่วยกันทีเดียว อะไรประหยัดได้ต้องประหยัด ประหยัดให้สุดตัวทีเดียว ใช้จ่ายทรัพย์อะไรที่ไม่สมควร ก็อย่าไปจ่าย อะไรที่ไม่ควรซื้อหา ก็ไม่ต้องไปซื้อ คิดวางแผนซะก่อนที่จะซื้อก่อนจะเดินทาง ช่วงนี้ภัยเศรษฐกิจมีทุกแห่งทั่วโลก
คุณยายจะสอนว่า ระวังนะ ใช้ทรัพย์ไม่เป็น ก็จะเป็นขี้ข้าทรัพย์ ใช้เงินไม่เป็นก็จะเป็นขี้ข้าเงิน เราใช้ทรัพย์ไม่สมควร มันก็เหมือนใช้ทรัพย์บนหัวคน เพราะก่อนที่โยมเขาจะทำบุญเขาเอาเงินจบท่วมหัวเชียวนะอีกหน่อยเดี๋ยวได้ไปเกิดเป็นขี้ข้ารับใช้เขานะ ท่านจะเน้นอย่างนี้เรื่อย ๆ กับอุบาสกเด็กวัดสมัยก่อน ทำให้พวกเราเวลาจะใช้ทรัพย์ ใช้สิ่งของต่าง ๆ จะใช้ด้วยความระมัดระวัง อะไรที่เสียพอจะซ่อมใช้ได้ก็ซ่อมใช้ไปก่อน ที่จะต้องไปซื้อใหม่ ของหายก็ให้หา ของเสียให้ซ่อม แต่ว่า ณ ปัจจุบันเรามีคนมากขึ้น คนที่ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ก็เริ่มจะมี ต้องช่วยกันตักเตือน
ญาติโยมทั้งหลายที่เคยได้ยินได้ฟังจากคุณยายล่ะก็ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ช่วยกันบอก ช่วยกันเตือนลูกหลาน อุบาสก อุบาสิกา ให้โอกาสเตือนได้ทั้งนั้นแหละ สิ่งของอะไรก็ตามที่เราเก็บเอาไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เอาไปบริจาคให้แผนกข้างเคียงหรือวัดข้างเคียงก็ได้ เพื่อเขาจะได้ใช้ประโยชน์ จะได้ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหาให้เสียสตางค์ และเป็นบุญกุศลแก่ตัวเราด้วย
คุณยายเคยบอกอาตมาไว้หลายปีแล้วว่าให้ระวังนะ คอยดูให้ดี หลังจากยายละโลกแล้ว หลวงพ่อธัมมะท่านแบกภาระทั้งวัดเชียวนะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ช่วยกัน แบ่งเบาภาระของท่านลงไปบ้างละก็ ท่านก็จะหนักอย่างนี้ เรื่อย ๆ พวกเรามาอยู่รวมกันต้องช่วยกัน นอกจากช่วยกันกินช่วยกันใช้แล้ว ต้องช่วยกันหา ช่วยกันรักษาของช่วยกันประหยัดด้วย ให้พยายามบอกสอนรุ่นน้อง ๆ ต่อไป สอนไปอย่างที่ยายสอน
บางครั้งคุณยายท่านก็รำพึง ท่านพูดคุยกับอาตมา คุยกันเล่น ๆ ท่านใช้ภาษาของท่าน เออ กูนะแก่ป่านนี้แล้ว จะ ๙๐ ปีแล้ว ยังต้องตามบอกตามสอน ตามจำจี้จำไช เรื่องเหล่านี้ มันแยกกันไม่ออกหรือไง อะไรบุญ อะไรบาป อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ประโยชน์ สงสัยอย่างนี้ ยายจันทร์ ชาตินี้เหนื่อยทั้งชาติเลย สร้างวัดให้เขาอยู่แล้วยังต้องตามดูแล รักษา ตามหาสมบัติให้เขาอีก ให้เขากินให้เขาใช้ ยังต้องไปปราบไอ้พวกเลอะเทอะทั้งหลาย ไม่ช่วยกันเลย อย่างนี้ยายก็หนักอยู่คนเดียว ไอ้ที่ยายบอก ยายสอน จะเอาไปให้ได้สักขี้เล็บยังทำไม่ได้เลย
บางทีคุณยายก็อธิษฐานว่า ภพต่อไป ยายเกิดเป็นมนุษย์ ยายจะเป็นผู้ชายแล้ว ยายจะไปสร้างวัดอีก จะหอบเอาลูกหลานไปเกิดด้วยกัน ไอ้พวกดี ๆ ก็จะเอามาเกิดไว้ใกล้ ๆ แหละ แต่ไอ้พวกที่มันยังติดเลอะเทอะ ใจไม่สู้ หนักไม่เอา เบาไม่ไหว พวกนี้ให้ไปเกิดไกล ๆ อย่างนี้ดีไหม
เพราะฉะนั้น พวกเราพิจารณาตัวให้ดีนะ เราเป็นพวกไหน ถ้าอยากเกิดอยู่ใกล้คุณยาย ก็เลิกเสียนะ อะไรที่ไม่ดี เลิกเสีย แล้วก็พยายามชำระใจให้สะอาด บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ พวกเราลองคิดดู ตลอดชีวิต
ของคุณยาย ท่านทำเพื่อพวกเรามาตลอด ถ้าลำพังตัวของท่านเอง เอาตัวรอดด้วยวิชชาของท่านที่เรียนมา
ฝึกฝนมาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านจะเอาตัวของท่านรอดไปคนเดียวน่ะ สบายเลย สบายมาก
แต่ท่านยอมลำบากอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อพวกเราเหนื่อยก็เพื่อพวกเราแหละ ต้องไปปราบกับคนพาล
ปราบกับพญามาร ปราบไป หาสมบัติอะไรต่ออะไรมาให้ก็เพื่อพวกเราแหละ สร้างวัดให้เราอยู่ สร้างพื้นที่
ปฏิบัติธรรมให้เรานั่งธรรมะกันอย่างสบาย สร้างโรงครัว ให้เรามีอาหารกินกันไม่อดไม่อยาก กระทั่งสร้างกลุ่มคนปฏิบัติธรรม กลุ่มกัลยาณมิตรขึ้นเยอะแยะ ผู้มีศีล ผู้มีธรรมเยอะแยะ แล้วก็เอาวิชชาธรรมกายมาสอน
ซึ่งเป็นวิชชาอันเลิศที่สุด สร้างความเป็นสัปปายะครบทั้ง ๔ อย่าง ให้เกิดขึ้น ทั้งที่อยู่สัปปายะ อาหารสัปปายะ
บุคคลสัปปายะ และธรรมะสัปปายะ ให้พวกเราได้ใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นชัยภูมิในการสร้างบารมีของเรา เพื่อจะ
ได้พ้นจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ไปสู่หนทางพระนิพพาน
เพราะฉะนั้น เราลองถามตัวเองนะ คุณยายทุ่มให้เราขนาดนี้ เราทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ความจริงคุณยายก็ไม่ได้หวังอะไรนะ หวังอยากจะเห็นอย่างเดียวว่า ให้พวกเราเป็นคนดีที่โลกต้องการน่ะแหละ ให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง อยากให้เราเลิกละความไม่ดีทั้งหลาย ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน แล้วก็ทำตัวให้ดี ๆ ส่วนดี ๆ นั้นจะเป็นยังไง เราก็ลองไปเปิดอ่านดูในหนังสือของหลวงพ่อทัตตชีโว
เรื่อง คนดีที่โลกต้องการ เขาเป็นอย่างไร นั่นแหละ คุณยายก็ปรารถนาให้พวกเราเป็นอย่างนั้น แล้วสิ่งเหล่านี้เอง เมื่อเราฝึกตัวของเราได้ ก็แบ่งเบาภาระของคุณยาย ของหลวงพ่อไป พวกเราจะได้ไปบอก ไปเตือน ไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นอีก วงบุญของเราก็จะขยายวงกว้างออกไปอีก
เพราะฉะนั้น ในการที่คุณยายอยากจะหอบทั่วทุกคน ไปสู่หนทางพระนิพพานมันก็ง่ายเข้า คือ เราทำตัวให้ท่านพาไปง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่า บางทีทำเหลวไหลบ้าง บางทีก็เอาจริงบ้าง ไม่เอาจริงบ้าง อย่างนี้ก็ไปกันยาก เดี๋ยวก็ไปเกิดในที่ที่ไกลจากท่าน คุณยายบอกว่า ใครอยากจะเกิดใกล้ ๆ ยาย อะไรที่ยายสอนไว้
ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติ ทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์ก็ทำที ไม่มีอารมณ์ก็หยุดไปเสียบ้าง อะไรทำนองนี้ แล้วเราก็จะได้ติดตามไปอยู่ใกล้ ๆ คุณยายทุกภพทุกชาติ ตราบถึงที่สุดแห่งธรรม
ธรรมบรรยาย โดย พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย