สถานที่เกิดด้วยกายธรรม วัดโบสถ์บน จ.นนทบุรี

วันที่ 18 มค. พ.ศ.2563

สถานที่เกิดด้วยกายธรรม วัดโบสถ์บน จ.นนทบุรี

                   วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งยังอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ ประวัติความเป็นมาและผู้สร้างวัดโบสถ์บนบางคูเวียง ไม่แน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าที่ปรากฏในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2526) ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 ในสมัยอยุธยาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310

                  ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ณ วัดโบสถ์บนภิกษุหนุ่มนามว่า สด จนฺทสโร เป็นผู้ที่สนใจในการเรียนด้านวิปัสสนาเป็นชีวิตจิตใจนับจากวันแรกที่บวช ท่านได้เรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ตลอดพรรษาแรก นอกจากนี้ท่านยังหาความรู้ด้านวิปัสสนาเพิ่มเติมจากตำรา โดยส่วนใหญ่อ่านจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ถ้าวันไหนหยุดเรียนคันถธุระ ท่านมักจะไปหาพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา เพราะต้องการหาความรู้เพิ่มเติม สมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ได้รู้จักกับหลวงพ่อนก จึงไปเยี่ยมหลวงพ่อนกที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง หลวงพ่อนกมักให้ท่านไปเทศน์แทนอยู่เสมอกิจวัตรที่ท่านทำเป็นประจำเวลาไปอยู่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง คือ เวลาบ่ายสองโมงท่านจะเข้าไปปฏิบัติสมาธิ(Meditation)ในโบสถ์ บรรยากาศในสมัยนั้น รอบโบสถ์มีต้นไม้มาก เป็นป่าล้อมรอบ มีความเงียบสงัดไปทั่วบริเวณ ท่านจึงไป ๆ มา ๆ ที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง อยู่เป็นประจำ เมื่อท่านหยุดเรียนด้านคันถธุระแล้ว จึงมุ่งปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง

               

                ในขณะนั้นท่านต้องการที่จะไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง เพราะต้องการจะตอบแทนพระคุณของเจ้าอธิการชุ่ม (เจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในสมัยนั้น) ซึ่งเคยถวายคัมภีร์มูลกัจจายน์และคัมภีร์พระธรรมบทให้ท่านได้เรียนพระปริยัติธรรม ด้วยการช่วยแสดงธรรมให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในวัด ท่านจึงกราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เดินทางไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในพรรษาที่ 12
เมื่อถึงกลางพรรษา ท่านก็มีความคิดว่า “ในเมื่อเราตั้งใจจริง ๆ ในการบวช จำ เดิมอายุ 19 ปี เราปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง 15 พรรษา ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นเรายังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำ อย่างจริงจัง” (ตั้งแต่อายุ 19 ปี)

             

                   ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ปี พ.ศ. 2460) เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ ขณะนั้นเวลาประมาณแปดโมงเศษ ๆ ท่านเริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่า หากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อยและอาการเหน็บชาค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย ๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่ากระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ จนเกือบจะหมดความอดทน ความกระวนกระวายใจก็ตามมา ท่านรำพึงในใจว่า “เอ..แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อน ๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอกลองเพลจะดังสักที” คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูกความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น วันนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่มีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา

 
                ในช่วงเย็น หลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนังเอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้วไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” เมื่อตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ จึงเริ่มนั่งและตั้งจิตอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า.. “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต”

                เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนาพอดีนึกถึงมดขี้ที่อยู่ระหว่างช่องแผ่นหินซึ่งกำลังไต่ไปมา จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันมดรบกวน แต่พอจรดนิ้วที่พื้นยังไม่ถึงครึ่งวง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า “ชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัวมดขี้อยู่เล่า” ท่านนึกละอายตัวเอง จึงวางขวดน้ำมันลง แล้วนั่งเข้าที่ได้ประมาณครึ่งค่อนคืน เมื่อใจหยุดเป็นจุดเดียวกันก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น โดยที่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน

                  ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา” แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็ก ๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบ ๆ ท่านมองเรื่อยไป พลางคิดในใจว่า “นี่กระมังทางสายกลาง จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิ จะเกิดอะไรขึ้น” จุดนั้นค่อย ๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป ท่านมองไปเรื่อย ๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กัน ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็เห็นกายต่าง ๆ ผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกายเป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใดเสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า “ถูกต้องแล้ว” ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนท่านถึงกับรำพึงขึ้นมาเบา ๆ ว่า “เออ..มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกันความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้

               ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด” การค้นพบวิชชาธรรมกายอันเป็นของจริงของแท้ เป็นทางบรรลุธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุมาแล้ว เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงมาคำนึงว่า “คัมภีโรจายัง* ธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิดถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ต้องทำ ให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี่เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้แล้ว ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด”
 

  *คมฺภีโร ทุทฺทโส ทุรนุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนีโย แปลว่า ธรรมะนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต

ขอเชิญทุกท่านร่วมงานบุญโครงการธรรมยาตรา ปีที่ 8  ดังนี้..
อาทิตย์ 19 ม.ค. 2563        16.00 น.  พิธีต้อนรับพระธรรมยาตรา 1,136 รูป
ศุกร์ 24 ม.ค. 2563             14.00 น. สังฆทาน @วัดตะเคียน
                                         17.00 น. พิธีจุดประทีปบูชาธรรมเเละลอยกระทงธรรม
เสาร์ 25 ม.ค. 2563             7.00 น. พิธีตักบาตร
อนุโมนาบุญร่วมกันครับ / ค่ะ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025134932994843 Mins