อย่าประมาท...ต้องรีบสร้างความดี

วันที่ 17 มค. พ.ศ.2563

อย่าประมาท...ต้องรีบสร้างความดี


               ตลอดชีวิตของคุณยายที่ได้เป็นแบบอย่างในการสร้างความดีนั้น ท่านมีชีวิตที่สันโดษ เรียบง่าย ยินดีในปัจจัยที่พึงมีพึงได้ รักความสะอาด รักธรรมะ รักในการสั่งสมบุญ แล้วก็รักที่จะสอนบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด
ตลอดเวลา ท่านเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ก็อยากเข้าใกล้  เพราะเข้าใกล้แล้วมีความสุข ใจสงบอย่างประหลาดทีเดียว  แค่คิดถึงท่าน ใจเราก็เริ่มรวม สบาย อบอุ่น และมีกำลังใจอย่างน่าอัศจรรย์ มีกำลังใจที่จะสร้างความดีให้ได้เหมือนยาย  แล้วก็มีกำลังใจว่า คุณยายอยู่ใกล้ ๆ เรา

 

               อาตมาแม้ได้มาร่วมสร้างบารมีกับคุณยายในช่วงที่ท่านอายุประมาณ ๖๔ ปีแล้ว แต่ก็มีความคิดว่า เราเองยังมาช้ากว่ารุ่นพี่ ๆ อีกหลายคน การสร้างบุญในขณะที่เรายังเรียนอยู่ ช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์ก็พยายามที่จะมาวัดตลอด  อยากจะรีบเรียนให้จบเร็ว ๆ  จะได้มีโอกาสอยู่สร้างวัด  ได้มาอยู่ใกล้ ๆ คุณยาย เพราะท่านบอกว่า ให้ไปเรียนให้จบปริญญาตรีเสียก่อน จึงค่อยมาอยู่วัด จะได้เป็นแบบอย่าง แล้วใคร ๆ ก็จะติเราไม่ได้


                อาตมาจึงพยายามศึกษาเล่าเรียนไปด้วย มาสร้างบารมีกับคุณยายและหลวงพ่อไปด้วย โดยไม่ให้ขาดเลยเพราะกลัวว่า เดี๋ยวบุญจะไม่ทันรุ่นพี่ ๆ รุ่นพี่ ๆ เขาคุยกัน ในเรื่องการสร้างบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็มีความรู้สึกว่าจะตามไม่ทัน ทำให้เรารีบขวนขวายในการสร้างบุญให้ยิ่ง ๆ  ขึ้นไป คิดว่า ถ้าเราได้อยู่ใกล้ ๆ คุณยาย อยู่ใกล้ ๆ หลวงพ่อซึ่งเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม ก็จะมีโอกาสสร้างบุญได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป หมู่ญาติของเราเองก็จะได้บุญไปด้วย

 

                ในการมาวัด ครั้งนั้นอาตมายังศึกษาอยู่  ก็พยายามที่จะติดกลุ่มมากับรุ่นพี่ ๆ ชมรมพุทธศาสตร์ฯ
แล้วบางทีก็มาเองบ้าง  แต่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น   สาธุชนที่มาวัดยังไม่มาก วันอาทิตย์ธรรมดามีสาธุชน
มาปฏิบัติธรรมประมาณสัก ๓๐๐ คนเศษ อาทิตย์ต้นเดือน  ประมาณ ๕๐๐ คนเศษ ไม่มากมายเหมือนปัจจุบัน
เรามาวัดวันศุกร์เย็นก็มาเตรียมพื้นที่ สำหรับการเทศน์สอนของหลวงพ่อทัตตชีโว พยายามเร่งเตรียมให้เสร็จภายในครึ่งวันเสาร์เช้า เพื่อว่าในครึ่งวันบ่าย จะได้มีโอกาสไปร่วมสร้างบุญปลูกต้นไม้กับคุณยาย


               ความที่มีเจ้าหน้าที่ช่วยงานกันน้อย ดังนั้นในช่วงต้นงานทุกอย่างเราจะช่วยกันทำทั้งหมด ไม่มีการแบ่งแผนกช่วยกันทุกอย่างตั้งแต่งานเตรียมพื้นที่ งานก่อสร้างบ้าง นิดหน่อย งานครัว งานปักร่มกลด ตลอดจนงานกางเต็นท์และกางร่มชูชีพ   (ร่มขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร) โดยเอาไม้ไผ่ยาว ๆ
ยันตรงกลาง แล้วแผ่ชายผ้าร่มออกโดยรอบ เอาเชือกยึดโยงกับสมอบก ภารกิจทุกอย่างถือว่าทุกคนมีหน้าที่
ร่วมกัน และไปจบที่ต้องช่วยกันล้างห้องน้ำเตรียมไว้


               พอถึงบ่าย คุณยายพักจากการนั่งปฏิบัติธรรม  ก็จะออกมาเตรียมการสำหรับการปลูกต้นไม้ ท่านมีงอบใบหนึ่งสวมที่ศีรษะกันแดด  มือซ้ายถือกระป๋องพลาสติก  ซึ่งบรรจุไปด้วยมีดอีโต้เล็ก  ไว้สำหรับสับแต่งกิ่งไม้  หรือดายหญ้า แล้วก็มีเชือกพลาสติกหลากสีซึ่งได้มาจาก  การมัดของที่ซื้อมาจากตลาด ท่านเก็บไว้สำหรับมัดต้นไม้ที่ปลูกใหม่ติดกับหลักไม้ไผ่เล็ก ๆ ส่วนมือขวาท่านจะหิ้วจอบเล็ก ๆ อันหนึ่ง หรือไม่ก็ชะแลงเหล็กอันย่อม ๆเพื่อไปปลูกต้นไม้
 

              พวกเราจะเตรียมพันธุ์กล้าไม้หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่จะใช้ในการปลูก ซึ่งมีทั้งพันธุ์ไม้ป่าต่าง ๆ แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้คือ หน่อกล้วยน้ำว้า กับต้นกล้ามะละกอ โดยใส่รถเข็นแล้วเข็นตามคุณยายไป   พอถึงพื้นที่ที่ปลูกคุณยายก็สั่งการว่า ปลูกบริเวณนั้นบริเวณนี้ มีระยะห่างปลูกให้เข้าแถวเข้าแนว ระยะห่างที่เราใช้ประมาณ
๔ เมตรคูณ ๔ เมตร หรือไม่ก็กะได้ว่า ๔ ก้าวใหญ่ ๆ


              คุณยายจะสั่งงานว่า เอ้า คนโน้นขุดดิน คนนี้ไปขนกล้าไม้มา ไปขนปุ๋ยมา หรือคนโน้นไปช่วยกันเตรียมถากหญ้า หรือขนพวกใบไม้ผุ ๆ มารองก้นหลุม คุณยายก็จะสอนไป ให้กำลังใจไป แล้วอธิบายว่า การปลูกนั้นทำอย่างไร พอพวกเราเข้าใจแล้วก็เริ่มลงมือทำ แต่ในขณะทำนั้นคุณยายก็จะสังเกตการทำงานของทุก ๆ คน   ท่านทำไปด้วย สังเกตไปด้วย

 

              ใครที่ทำแล้วไม่ค่อยได้ตรงเป้าหมาย ท่านก็จะเข้าไปสอนใหม่ว่า ขุดหลุมขนาดนั้น  ลึกเท่านั้น ลึกเท่านี้ กว้างเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็เอาพวกปุ๋ยคอก ขี้เถ้าแกลบ หรือไม่ก็เศษใบไม้ผุ  รองก้นหลุม   ต้องเอาดินใส่เข้าไปหน่อยหนึ่ง ต้นไม้ก็ถอดถุงออกแล้ววาง  ตั้งตรง เอาดินกลบ เอาปุ๋ยใส่อีกครั้ง แล้วอย่าลืมโรยหน้าด้วยขุยมะพร้าว กาบมะพร้าว หรือฟางข้าวแห้ง ๆ  ปักไม้ไผ่เอาไว้ เอาเชือกที่ท่านเตรียมมา ผูกต้นไม้ตรึงแน่นกับไม้ไผ่ เพื่อไม่ให้ลมโยก ทำให้ต้นไม้เอียง  จากนั้นก็รดน้ำ ท่านรดน้ำด้วยกระป๋องที่หิ้วมานั่นแหละ โดยไปจ้วงตักเอาจากคูน้ำใกล้ ๆ คุณยายทำเองทุกอย่าง แต่พวกเราที่ไปก็จะช่วยท่าน

 

                 พอเห็นท่านไปขุดดิน เราก็ไปช่วยท่าน พอท่านไม่ได้ขุดดิน ก็ไปทำอย่างอื่น ไม่ยอมยืนอยู่เฉย ๆ ท่านจะไปดายหญ้าตรงต้นไม้เก่า ที่ท่านปลูกในวันก่อนหน้านี้ หรือไปรดน้ำ   พวกเราก็จะไปช่วยกันตักน้ำ ไม่อยากให้คุณยายลงไปตักน้ำในคู เพราะตลิ่งมันลาดชันกลัวจะลื่นพลัดตกในคูน้ำ

 

               ลักษณะนี้จะเป็นภาพที่เห็นอยู่ตลอดในบรรดาอุบาสกรุ่นแรก ๆ ที่มาช่วยท่านทำงาน ในขณะทำงานท่านก็จะให้โอวาทไปด้วย ให้กำลังใจไปด้วย แม้ในช่วงอากาศร้อนมาก ท่านก็ไม่ได้ถือร่มไปเลย ใส่งอบเพียงใบเดียว  พวกเราที่ไปช่วย ท่านก็จะให้ใส่หมวกตอกไม้ไผ่ แล้วก็ให้โอวาทไปว่า อากาศร้อนก็ทนเอานะ อดทนสร้างความดีไป  ในนรกมันร้อนกว่านี้ ถ้าทนได้เราก็จะไม่ต้องไปลงนรกหรอก  ให้เร่งสร้างความดี แล้วก็ช่วยกันปลูกต้นไม้ จะได้เสร็จเร็ว ๆ

 

              ต้นไม้ที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้ป่าหรือไม้ตระกูลถั่ว เช่น ต้นประดู่ เราได้รับความกรุณา
จากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรฯ โดยไปขอพันธุ์ไม้  จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้   หรือจากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บ้าง หรือจากศูนย์ฝึกนิสิตเกษตรฯ บ้าง เป็นไม้ป่าคละชนิดกัน แต่เท่าที่สังเกต
ไม้ที่โตได้ดีที่สุดคือต้นประดู่ ต้นกระถินณรงค์ ไม่เพียงแต่พวกไม้ป่า คุณยายยังไปขอหน่อกล้วยน้ำว้า
จากสาธุชนข้าง ๆ วัด หรือกลุ่มสาธุชนที่มาวัดในยุคนั้น   มาปลูกแทรกในพื้นที่ทั่ววัด ปนกันไปด้วย


              ในครั้งนั้นอาตมายังเรียนหนังสืออยู่ บางทีก็ต้องไปดำเนินเรื่องเอกสารการขอกล้าไม้กับผู้ใหญ่ทางราชการของกรมป่าไม้กับรุ่นพี่ ๆ ในนามชมรมพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ  เพื่อให้ท่านอนุมัติพันธุ์ไม้
แล้วก็ไปเบิกตามศูนย์เพาะชำที่ต่างจังหวัด ซึ่งได้มากบ้าง  น้อยบ้างแล้วแต่เขาจะมีเหลือ บางครั้งเราได้มาไม่พอ   เพราะบางช่วงหลวงพ่อธัมมชโยมีนโยบายให้พวกนิสิตนักศึกษามาช่วยกันปลูกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นกิจกรรมให้เขามาวัด


               ช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๘ คุณยายมักจะปรารภเสมอว่า ช่วงนี้ยายอยากจะเร่งปลูกต้นไม้ให้มาก
เพราะยายเห็นในที่อีกไม่นานคนจะมากันเยอะ เป็นพัน  เป็นหมื่น เป็นแสน เราจะได้ต้นไม้ซึ่งโตเพียงพอที่จะ
รองรับบุคคลเหล่านั้น ช่วงบ่ายแต่ละวันท่านจึงไปปลูกต้นไม้  อย่างมีความสุขเพื่อรองรับผู้ที่จะมาปฏิบัติธรรมในอนาคต


               แต่พันธุ์กล้าไม้ที่เราได้มานั้นมันไม่เพียงพอ  เลยหันมาปรึกษากันว่า จะทำยังไงถึงจะได้กล้าไม้ที่เพียงพอ  ไปขอจนเขาผลิตให้ไม่ทันแล้ว เพราะตอนนี้ต้นไม้โตไม่ทัน  คุณยายเลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เขาไม่มีให้ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา  เราต้องช่วยตัวเอง เราปลูกขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเองก็ได้


               ท่านให้ความคิดว่า ลองไปหาวิธีเพาะต้นกล้าขึ้นมาเอง อาตมากับรุ่นพี่ ๆ ตอนนั้นดูแล้วว่า เป็นแนวทางที่ดี เราจะได้ไม้ซึ่งตรงกับความต้องการของเราด้วย คือ  ต้นประดู่ ก็สอบถามไปยังรุ่นพี่ ๆ ว่า ต้นประดู่นั้น   มีต้นใหญ่ ๆ ที่ไหน ที่มีเมล็ดพอที่เราจะเอามาเพาะปลูกได้   

 

                ก็ได้ความว่า พี่วิชา ซึ่งปัจจุบันคือ พระมหาวิชา อธิวิชโช  ทำงานอยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งว่าที่สนามกีฬารามคำแหง มีต้นประดู่เยอะ มีต้นประดู่เป็นต้นใหญ่  ซึ่งเราจะได้เมล็ดพันธุ์มากพอ


              พอรู้แหล่งว่ามีที่ไหน พวกเราเด็กวัดทั้งหลาย  ก็รีบไปเก็บเมล็ดพันธุ์กัน มีอาตมาแล้วก็มีพี่ ๆ ไปอีก ๒-๓ คน  ต้องไปปีนต้นนะ เพื่อจะเก็บเมล็ดประดู่ เอาไม้ไผ่ไปช่วยกันสอยบ้าง ก็ได้เมล็ดประดู่มาหลายกระสอบ แล้วไปหาพื้นที่เพาะที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้น หลวงพ่อธัมมชโย   ตั้งชื่อให้ว่า “บ้านเอื้อเฟื้อ”
ทำแปลงเพาะเมล็ดประดู่  และบรรจุลงถุงเพาะ ปลูกประมาณ ๓ เดือนก็ได้ต้นกล้า  ที่ใหญ่พอจะเอามาใช้ลงในพื้นที่ของวัดได้

 

                คุณยายให้กำลังใจอยู่เรื่อย ๆ ว่า อุปสรรคแม้เล็กน้อย อย่าให้มาขวางการสร้างความดีของเราได้
การที่เราไปศึกษาวิชามานี้ ต้องพยายามใช้วิชาที่เราเรียนนั้นให้ได้ ท่านเล่าให้ฟัง หลวงพ่อวัดปากน้ำเคยสอนยายไว้   เรียนวิชาอะไรมา ต้องใช้วิชานั้นให้ได้ ถ้าเรียนวิชามาแล้ว  ใช้วิชานั้นไม่ได้ เรียนมาเสียข้าวสุก เพราะฉะนั้นยายก็เอาวิชชาของหลวงพ่อมาใช้สร้างวัด สร้างบุญ  สร้างบารมีของยาย พวกเราเรียนวิชาทางโลกมา เรียนวิชาของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ นี้ ต้องพยายามเอาวิชานั้น  มาใช้ให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศลของเราให้ได้จึงจะคุ้ม ท่านจะให้กำลังใจอย่างนี้

 

               ท่านบอกว่า ยายอยากได้ต้นประดู่เยอะ ๆ เป็นหมื่น ๆ มาปลูกในพื้นที่ มันจะได้โตเร็ว ทันกับการ
ใช้งาน ต้นไม้จะมีมากก็บริเวณที่วัดของเรานี่เอง  นอกนั้นรอบ ๆ วัดจะเป็นทุ่งโล่งหมด  เพราะฉะนั้นถ้าใคร
เข้ามาวัด เห็นต้นไม้เยอะ ๆ ใจเขาก็จะสบาย ใจเขาจะเริ่มรวม ความสบายใจนี้เป็นต้นเหตุในการเข้าถึงธรรม.

 

                 ไม่มีใครอยากไปอยู่ในพื้นที่ร้อน ๆ แม้คุณยายเองท่านเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ยายขี่ควายไปทำนา ในเขตท้องนามันร้อน  พอได้เห็นพวกต้นสะแกบ้าง ต้นมะขามเทศบ้าง ก็จะดีใจว่า เออ เราพอจะหลบร้อนตรงนี้ได้ ใช้เป็นที่พักอาศัย แม้จะชั่วคราวก็ยังทำความสบายใจให้กับคนที่ไปพักอาศัยได้

 

             พื้นที่วัดที่เราสร้างให้เกิดความร่มเย็นด้วยต้นไม้นี้เอง  ต่อไปเมื่อต้นไม้โตขึ้น ผู้คนได้มาอาศัยประพฤติปฏิบัติธรรมกันมาก พวกเราก็จะได้บุญมาก นกกาได้มาอาศัย  พวกเราเองก็จะได้บุญด้วย เพราะฉะนั้นให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มาก ๆ เราเองก็จะได้ร่มเงา สาธุชนมาเขา   ก็จะได้ความสบายใจ
 

              คุณยายมักจะพูดเสมอ ๆ ว่า  ไม้ดกนกชุม ความสบายใจเป็นต้นทางในการเข้าถึงธรรม  ใครมานั่งธรรมะใต้ต้นไม้ที่เราปลูกเราก็จะได้บุญไปด้วย  คุณยายทำงานค่อนข้างหนักมาก นอกจากการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว บางครั้งก็ต้องรับแขกด้วย  ปลูกต้นไม้ด้วย ทำภารกิจอะไรต่ออะไรหลาย ๆ อย่าง  สุขภาพท่านก็ไม่ค่อยดี เริ่มมีอาการป่วย ต้องไปหาหมอบ่อย  แต่ท่านก็พยายามที่จะประคับประคองสังขารให้สามารถ สร้างบุญไปได้เรื่อย ๆ


               คุณยายจะสอนให้พวกเรารักษาสมบัติพระศาสนาควบคู่ไปกับการทำความสะอาด มีบ่อยครั้งที่ท่านไปตรวจวัดแล้วเจอพวกเศษวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่วางทิ้งไว้บ้าง  พวกช่างก่อสร้างลืมเอาไว้บ้าง หรือไม่ก็ของเหลือใช้ต่าง ๆ  พวกเศษไม้ เศษเหล็ก เศษอิฐ หรือเศษแผ่นปูน ท่านเห็นแล้ว  ก็มักจะบอกพวกเราว่า ให้พยายามใช้ของพวกนี้ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คิดหาทางเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้

 

                 เพราะถ้ามัวแต่ซื้อของใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ  เราเองก็ไม่ค่อยมีเงินที่จะซื้อประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเราจะใช้ของญาติโยมที่เขาทำบุญมาไม่คุ้ม เพราะเขาทำบุญมา ถ้าเราใช้ของเขาไม่คุ้ม เดี๋ยวเราเกิดไปชาติหน้าก็ต้องไปเป็นขี้ข้าเขา

 

               ท่านสอนว่า ของที่เขาทำบุญมาทั้งหมดนี่  พยายามใช้ให้คุ้มที่สุดเลย ท่านเล่าว่า ในสมัยที่ท่าน
อยู่วัดปากน้ำ บ้านธรรมประสิทธิ์ บางครั้งวัสดุของใช้ต่าง ๆ ที่คนอื่นเอาไปทิ้งที่กองขยะ ท่านไปเห็นแล้ว
ของบางอย่างยังพอใช้ได้ ท่านก็ไปเก็บมา จะเป็นโต๊ะ  เป็นเก้าอี้ บางทีขาหัก ก็ไปวานให้ช่างเขาช่อมให้ แล้วก็เอามาล้างมาเช็ดทำความสะอาดเสียอย่างดี เอามาตั้งรับแขกก็จะพอใช้งานได้  จะเป็นขวดน้ำหรือควนหวาย
(ตะกร้าหวาย บรรจุขวดน้ำดื่มเป็นชุด ๆ ละ ๔-๖ ขวด)  ที่เขาใช้ใส่ขวดน้ำ ท่านก็ไปเก็บบังสุกุลเอามา ขวดน้ำ
ท่านไปเอามาจากโรงครัว พวกขวดน้ำหวาน ขวดน้ำปลา  เอามาล้างให้สะอาด แล้วก็ใส่น้ำฝนไว้รับแขก

 

                 ท่านพยายามเอาของที่ทุกคนคิดว่าไม่มีประโยชน์  ทำให้มีประโยชน์ขึ้นมา คุณยายบอกว่า ท่านจะทำของที่ตายแล้วให้คืนชีพขึ้นมา ทำให้เป็นของที่มีค่าเหมือนเดิม  ทุกคนจะได้ใช้อย่างสบายใจ

 

                นอกจากจะสอนเรื่องการรักษาความสะอาดแล้ว  บางครั้งท่านก็วางต้นแบบในการทำพิธีกรรมต่าง
ที่จะขยายงานมาในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนการบูชาข้าวพระในวันอาทิตย์ต้นเดือน เราทำพิธีที่ศาลาจาตุมหาราชิกา
บางทีก็มีสาธุชนมาประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ คน ยังไม่มาก เพียงแต่ล้นศาลาออกมาหน่อย ๆ ที่โคนต้นไม้บริเวณสนามหญ้าด้านข้าง ญาติโยมผู้มีศรัทธาก็เอาข้าวของบ้าง  อาหารบ้าง ขนมบ้าง มาจัดในแท่นพิธีที่บูชาข้าวพระ

 

                ทุกคนก็อยากจะจัดของตัวเองขึ้นไปบนแท่นพิธีนั้นบน stage ที่บูชาข้าวพระ ซึ่งเป็นแท่นเดียวกับที่พระสงฆ์นั่ง  แต่อยู่คนละฟากกัน จนกระทั่งของที่บูชามากขึ้นเรื่อย ๆ  ก็ต้องต่อโต๊ะเสริม ออกมาตั้งข้างหลัง stage   คุณยายไปเห็นเข้า ปรารภว่า นี่ต่อไปคนมากขึ้น  เราก็ต้องเอาโต๊ะมาเพิ่มให้มากขึ้น ภาชนะอาหารมากขึ้น  ไปอีก ดูไม่ค่อยเรียบร้อย

 

                  คุณยายจึงสั่งให้จัดวางแต่พองาม  ไม่มากไม่น้อยเกินไป ให้อาตมาพร้อมด้วยทีมงานคุย กับท่านเจ้าภาพแต่ละท่านที่เอามา ให้เข้าใจว่า ในการบูชาข้าวพระของคุณยาย ไม่ว่าอาหารนั้นจะไปมอบให้ไว้ที่โรงทานอาคารยามาก็ตาม เอาไปจัดไว้ที่วงพระฉันก็ตาม  หรือจะเอาไปเตรียมไว้สำหรับแจกสาธุชนผู้มาในวันงานก็ตาม ใครที่นำอาหารมา แล้วตั้งอกตั้งใจที่จะนำมาบูชาข้าวพระให้ตั้งใจให้ดี 

 

                ยายจะน้อมเอาไปบูชาพระพุทธเจ้าหมด ไม่ให้ตกหล่นเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะอาหารตรงแท่นพิธีกรรมหรอก เอาขึ้นไปบูชาหมดทั้งวัดแหละ  ไม่ว่าอาหารนั้นจะอยู่ตรงไหนของวัดพระธรรมกายจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งที่เจ้าภาพเอามาไว้ให้ในครัว  ยายเอาขึ้นไปบูชาหมดทั้งนั้นแหละ


                 เพราะฉะนั้นให้ทุกคนสบายใจได้ว่า ของที่เอามานั้น  ตัวเองจะได้บุญเต็มที่ จะได้ไม่ต้องกังวลว่า เขาจะจัดภาชนะของเราขึ้นไปร่วมพิธีไหม ต้องมาเป็นห่วงกังวลว่า  ภาชนะเราจะไปปนเปสับสนกันไหม ท่านได้พยายามวางรากฐานอันนี้ไว้ แล้วก็ให้ใช้วิธีนี้ตอนที่จะจัดงานใหม่  ที่สภาธรรมกายหลังคาจาก ให้บอกต่อ ๆ กันไปว่า

 

                ทุกคนจะได้บุญเต็มที่ ไม่ใช่ว่าจะเอามาไว้เฉพาะตรงแท่นพิธีกรรมเท่านั้น แม้แต่เอาไปถวายที่จุดอธิษฐานธรรมก็ไปถึงกันหมดแหละ ให้เจ้าภาพตั้งใจให้ดีก็แล้วกัน

 

                 ในช่วงที่มีภารกิจมาก คุณยายกรำงานหนัก ต่อมาท่านป่วย โอกาสที่ท่านจะไปกรำงานหนักก็เริ่มน้อยลง  บางทีหมอก็ไม่อยากให้ไปกรำงานหนัก  ป่วยในช่วงที่ ๒ นั้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖
 

                 ช่วงนั้นอาตมาอยู่ในช่วงออกไปบอกบุญ หลวงพ่อจึงให้ออกจากทีมบอกบุญมาช่วยดูแลครัว
เต็มเวลา แล้วดูแลคุณยายบ้าง เพื่อขับรถพาท่านไปหาหมอ  เพราะในช่วงนั้นอาตมายังไม่ได้บวช ตอนป่วยคุณยายบอก  ท่านไม่มีแรงไปเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ หมอบอกว่า  เป็นโรคขาดอาหาร ต้องงดรับแขก งดปลูกต้นไม้ชั่วคราว  และพักผ่อนมาก ๆ

 

                ช่วงกลางวันก็จัดเตรียมสำรับอาหารไปส่งตอนบ่าย ๆ ก็ไปคุยกับท่านที่กุฏิ ท่านมักจะถามว่า วันนี้
ทำอะไรบ้าง เราก็รายงานว่า ตอนเช้าทำโน่นทำนี่  ตอนสายทำอะไร ตอนบ่ายทำอะไร ท่านก็ว่า เออ.. ดี
แล้วก็ปรารภว่า ตอนนี้ยายป่วย ทำอะไรไม่ได้ มันไม่มีแรง  ได้แต่นอน  แล้วก็ดูองค์พระของยายไปเรื่อย องค์พระใส  ดูบุญที่ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นเข้าวัดถึงปัจจุบันนี้ ได้บุญเท่าไหร่ ๆ ก็ดูบุญไปเรื่อย ดูบุญของยายเสร็จ ก็มาดูบุญของพระทุกองค์ ดูไล่ไปตั้งแต่ของหลวงพ่อธัมมะ  หลวงพ่อทัตตะ หลวงพี่ฐิตะ หลวงพี่ญานา ดูไล่
ตามอาวุโสไปเลย จนกระทั่งถึงบุญของเด็กวัดแต่ละคน  ได้บุญเท่าไหร่แล้ว ดวงบุญโตใหญ่เท่าไหร่แล้ว


              ท่านบอกว่า ดวงบุญที่โตใหญ่เท่านั้น ๆ แล้วนี่เมื่อเทียบกับยายแล้วยังกะจิ๊ดริด ดูยายไว้เป็นตัวอย่างนะ   ยายสั่งสมบุญมาขนาดนี้ ไอ้ดำมันยังเล่นงานเสียนอนซมอยู่นี้ เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนอย่าประมาทว่าจะไม่ป่วยไม่ไข้ ถ้าแข็งแรงอยู่ก็ต้องรีบสร้างความดี

 

             ยายอธิษฐานตลอดเลยว่า อย่าให้ลูกหลานของยายต้องมาป่วยอย่างนี้เลย แม้ท่านป่วย ท่านยัง
อธิษฐานว่า อย่าให้ลูกหลานป่วย ยายอยู่ในบุญตลอด  อธิษฐานเรียกบุญทั้งบุญเก่าบุญใหม่ที่ทำมาทั้งหมด
ให้มาช่วยให้แข็งแรงไว ๆ ท่านบอกว่า ถ้ายายสามารถฟื้นกำลังได้อีกสักหน่อย พอเดินได้อีกสักหน่อยล่ะก็
ยายจะรีบสร้างบุญ คราวนี้ท่านบอก จะสร้างบุญให้ยิ่งกว่าเดิมขึ้นไปอีก แล้วก็จะลุยให้สุดฤทธิ์สุดเดชจนกระทั่ง
ให้ถึงที่สุดกันเลย ขนาดป่วยนะ ท่านยังมีจิตใจที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวอย่างนี้

 

                 ต้องใช้เวลา ๔ ปี กว่าอาการป่วยของท่านจะทุเลา ออกมาตรวจวัดได้ หรือทำภารกิจอะไรข้างนอกได้บ้าง  สมัยนั้นได้รถสามล้อ มีคุณอารีพันธุ์ขี่ให้  หรือบางทีก็มีเด็กวัด คือ คุณประดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบัน 

คือ พระประดิษฐ์ อริญชโย ช่วยปั่นให้ ท่านได้อาศัย  สามล้อนั้นไปตรวจวัด ไปดูต้นไม้ที่ปลูกไว้ แต่ในระยะหลัง  ท่านไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้มาก ๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว  ได้แต่ชื่นชมต้นไม้ที่ท่านปลูกไว้ว่า เออ มันโตแล้วนะ  จะได้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

 

                  ท่านมักจะสั่งผู้ใกล้ชิดว่า  ช่วยกันดูนะ ต้นไม้เหล่านี้ เป็นของมีค่า กว่าจะได้มา ต้องเหนื่อยกันมากทีเดียว ต้นไม้มันก็โตขึ้นทุกวัน ชีวิตเรามันก็แก่ลงทุกวัน ต้องรีบทำความดีไว้เยอะ ๆ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไป
โดยเปล่าประโยชน์ เวลาไม่คอยใคร เดี๋ยวก็วัน เดี๋ยวก็เดือน เดี๋ยวก็ปี เดี๋ยวก็ตาย  เพราะฉะนั้นอยู่ใกล้ ๆ ยาย
ต้องทำอย่างยายทีเดียวนะ  ช่วยกันดู ช่วยกันทำ ช่วยกันเก็บให้ดี

 

                 คุณยายพูดว่า ยายจะพูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ พวกเราก็อย่าเบื่อนะ ยายจะพูดบ่อย ๆ เพราะต้องการให้จำ
เข้าไปในใจ ต่อไปจะได้จำคำของยายได้แม่น ๆ วันข้างหน้าจะได้ไม่ลืม ถ้ากลัวจำไม่ได้ ให้จดเอาไว้เลย เพื่อกันลืม  ยายจะอยู่กับพวกเราอีกไม่นาน อีกไม่นานยายก็ตายแล้ว  เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจดจำเอาไว้ สิ่งที่เป็นคำสอนของยายก็ตาม จะเป็นตัวแทนของยาย หมั่นเอามาอ่าน แล้วก็ทำให้ได้อย่างที่ยายสอน

 

                 แล้วก็สอนเด็กรุ่นใหม่ ๆ ไว้ด้วยว่า  สิ่งนี้ยายสอน สิ่งนี้ยายทำ สิ่งนี้ยายพูด เขาจะได้มีแบบอย่าง
ในการสร้างความดี ใครอยากได้บุญอย่างยาย ก็ต้องทำให้ได้อย่างยาย ใครก็ตามที่มาใกล้ชิดจะได้รับการสอน
แบบนี้ทั้งหมด  คุณยายจะพยายามสอนทุกคนว่า ในการสร้างความดี ที่จะไปให้ได้ถึงที่สุดนั้น ต้องทำแบบสุดฤทธิ์ สุดเดช ต้องทำจนหมดอายุขัยเลย  ทำบุญจนสุดชีวิตของเราแหละ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านบอกว่า


                เวลาสู้นี่ สู้กันแค่ตาย สู้ไปจนชนะ อย่างนี้เราจะได้บุญมากที่สุด เราจะได้ส่วนที่เป็นที่สุดของบุญ เพราะฉะนั้น  พวกเราลูกหลานยายต้องดูคุณยายไว้เป็นต้นบุญเป็นต้นแบบ  สิ่งที่คุณยายได้ฝากฝังไว้กับพวกเราทุก ๆ คนก็คือ สร้างลานธรรมมหารัตนวิหารคด รอบมหาธรรมกายเจดีย์  ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นที่รวมของคนรุ่นหลังที่จะมา แล้วก็เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรมที่พวกเราทุกคนจะได้บุญใหญ่ ในฐานะที่เป็นผู้สร้าง


               ก่อนที่คุณยายจะละโลกประมาณสัก ๖๐ วัน วันนั้น  ประมาณวันที่ ๑๒ กรกฎาคม อาตมาเข้าไปหาคุณยาย  แล้วก็เรียนท่านว่า ได้รับบุญเอาลายโป้งของผู้มีบุญทั้งหลายไปติดตั้งที่ลานธรรม จะมาขอลายโป้งของยายบ้าง เผื่อจะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์แก่ลูกหลานว่า ลายโป้งของยายเป็นแบบนี้ เป็นลายโป้งของคนที่ทำบุญตลอดชีวิต สร้างกุศลมาตลอดชีวิต ก็เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งหมึกStamp ทั้งกระดาษ เตรียมไปปึกใหญ่เชียว กะเอาเยอะเลย


              คุณยายลืมตามาดู แล้วก็ยิ้ม ๆ ท่านไม่ได้พูดอะไร หงายมือให้ดูที่ฝ่ามือ ช่วงนั้นท่านไม่ค่อยพูดแล้ว
เราก็ตกลงกันเองว่า ท่านอนุญาตแล้ว เพราะท่านหงายมือให้ ก็ให้คุณอารีพันธุ์รีบจัดการพิมพ์ลายนิ้วมือ
คุณยายเลย ก็ได้ลายนิ้วมือเอาไว้ อย่างที่เราเห็นในธงชัยที่โบกสะบัดเมื่อวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อวัดปากน้ำ ลายโป้งข้างหลังธงเป็นของคุณยาย


                เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่ตามมาภายหลัง  จะได้เห็นว่า นี่คือลายนิ้วมือของมหาปูชนียาจารย์ที่สร้างความดีเป็นต้นบุญต้นแบบของเราตลอดชีวิตทีเดียว เราเองจะได้เอาอย่าง แล้วบอกคนต่อ ๆ ไปว่า เอาแบบอย่างนี้   ลายนิ้วมือนี้เป็นสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้เป็นอนุสรณ์แห่งความดีของท่านที่ได้ทำตลอดชีวิต

 

ธรรมบรรยาย โดย พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย

 

***************************************

..ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมสั่งสมบุญ ..

เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิด ครบ ๑๑๑ ปี
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
(ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย)
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
ณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี

ภาคสาย เวลา ๑๐.๐๐ น.
พิธีเจริญพระพุทธมนต์
และพิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน
ณ หอฉันคุณยายอาจารย์ฯ

ภาคเย็น พิธีฉลองชัย ชิตัง เม
สวดธรรมจักรให้ครบ
๒,๐๖๐,๐๑๙,๑๑๑ จบ
ณ มหารัตนวิหารคด วัดพระธรรมกาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0049538016319275 Mins