เราจะศึกษา“ศาสนธรรม” ได้จากที่ใด

วันที่ 27 มค. พ.ศ.2563

เราจะศึกษา“ศาสนธรรม” ได้จากที่ใด                                                                                                                               

                     ศาสนธรรม คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาโลกุตตรธรรม ที่พระองค์ทรงเข้าถึงมาเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ในแง่มุมต่างๆ โดยได้ทรงอาศัยบริบทต่างๆ ในสังคมยุคนั้น ทั้งบุคคล สถานที่ ภูมิหลัง เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดให้เข้าถึงโลกุตตรธรรมดังกล่าว ดังนั้น ศาสนธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นสมมติสัจจะ ที่มีโลกุตตรธรรมเป็นแก่น

 

                     ธรรม ในเบื้องต้นคือ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระธรรมจักรนั้น ได้แก่ อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ การประกาศศาสนธรรมครั้งแรกนี้มีผลใหบังกิด พระสาวกรูปแรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ นอกจากนี้ ยังมีพรหมอีก ๑๘ โกฏิ ที่บรรลุธรรมตามไปด้วย

 

                      ระยะเวลาต่อมาของการประกาศศาสนธรรม ได้มีผู้ออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ผู้ออกบวชที่มีปัญญาน้อย มักก่อความผิดพลาดให้เกิดขึ้นในพระศาสนามากมาย พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อปรับโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด และยังใช้เพื่อควบคุมกาย วาจา และเป็นระเบียบปฏิบัติที่จะน้อมนำใจเข้าสู่พระธรรมโดยเฉพาะ ส่วนเพิ่มเติมที่พระองค์ทรงบญัญัติเพื่อใช้ควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อยนี้ เรียกว่าพระวินัย คำสอนในระยะนี้จึงเรียกรวม ๆ ว่า พระธรรมวินัย

 

                    หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว พระพุทธสาวกทั้งหลายได้ร่วมมือกันทำสังคายนา คือ รวบรวมศาสนธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วตลอด ๔๕ พรรษา แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า ซึ่งในยุคแรกนั้น เป็นรูปแบบของการทรงจำด้วยวาจาที่เรียกว่า มุขปาฐะ และในกาลต่อมา         

 

                    ได้มีการทำสังคายนาอีกหลายครั้งด้วยเหตุต่าง ๆ และมีการจัดระเบียบให้เป็นหมวดหมู่ รวมถึงการจารึกไว้เป็นตัวอักษร โดยแบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๓ หมวด หรือ ๓ คัมภีร์ เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งประกอบด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเมื่อนับเป็นจำนวนพระธรรมได้ ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ ดังนี้

 

                     ๑. พระวินัยปิฎก เป็นประมวลพุทธพจน์ หมวดพระวินัยหรือศีลอันเป็นพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม และการประกอบกิจการต่าง ๆ ของภิกษุ และภิกษุณีมีจำนวน ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

 

                    พระวินัยปิฎกนี้ท่านเรียกว่า อาณาเทศนา การเทศนาโดยอำนาจบังคับบัญชา เพราะเป็นปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรออกคำสั่ง ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยคำสั่ง และเรียกว่า     ยถาปราธศาสนา การสั่งสอนตามความผิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนเหล่าผู้มีความผิด มากมายตาม ความผิดนั้นๆ

 

                  ไว้ในปิฎกนี้ เป็นบทฝึกกาย และวาจาอย่างมากมายที่ต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้น ไปตรัสไว้โดยเฉพาะในวินัยปิฎกนี้ เพื่อให้เกิดความสำรวมระวัง

 

                 วัตถุประสงค์ของการศึกษาพระวินัยปิฎก ก็เพื่อการละกิเลสอย่างหยาบ ซึ่งเป็นการละกิเลสชั่วคราว เพราะศีลเป็นเครื่องมือปราบปรามต่อกิเลสอย่างหยาบ การศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัยย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ

 

                 ๑) กองศีลของตน ย่อมเป็นของอันบุคคลนั้น คุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว
                 ๒) ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตร ผู้ถูกความสงสัยครอบงำ
                 ๓) ย่อมเป็นผู้กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
                 ๔) ย่อมข่มขี่พวกข้าศึกได้ด้วยดี โดยสหธรรม
                 ๕) ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม

 

                  นอกจากนี้ พระวินัยเป็นมูลของกุศลธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว บุคคลผู้ทรงวินัยนั่นแล ชื่อว่า เป็นทายาทแห่งกุศลธรรมเหล่านั้น เพราะธรรมเหล่านั้น มีวินัยเป็นมูล ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

 

                  - วินัย ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สังวร (ความสำรวมระวัง)


                  - สังวร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่อวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน)


                  - อวิปปฏิสาร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์ (ปีติอย่างอ่อน)


                  - ความปราโมทย์ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ปีติ (ความอิ่มใจ)   

                                                       
                  - ปีติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ (ความสงบกายและจิต)

   

                 - ปัสสัทธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสุข (ความสบายกายและจิต)

 

                 - ความสุข ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ (ความตั้งใจมั่น)


                 - สมาธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทสัสสนะ (ความรู้เห็นไปตามความเป็นจริง)


                 - ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา(ความเบื่อหน่าย)


                 - นิพพิทา ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ (ความสำรอกกิเลส)


                 - วิราคะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ (ความหลุดพ้น)

 

                 - วิมุตติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ วิมุตติญาณทัสสนะ (ญาณรู้เห็นว่าหลุดพ้น)

 

                 - วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน (ความดับสนิทหาเชื้อมิได้)

 

                 ๒. พระสุตตันตปิฎก เป็นประมวลพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงให้เหมาะสมกับบุคคล เหตุการณ์ โอกาส เรื่องเล่า เรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนาหรือในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงมี
พระชนม์ชีพอยู่ รวมถึงภาษิต ประวัติต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวกและชาดก มีจำนวน ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

 

                 พระสุตตันตปิฎก ท่านเรียกว่า โวหารเทศนา การเทศนาโดยบัญญัติ เพราะเป็นปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงฉลาดในเชิงสอนทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยคำสอน ไม่ใช่คำสั่ง

 

                เหมือนอย่างพระวินัยปิฎกท่านเรียกว่า ยถานุโลมศาสน์ การสั่งสอนอนุโลมตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยอนุสัย จริยา และวิมุตติ แตกต่างกันมิใช่น้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนแล้วในปิฎกนี้ตามอนุโลม และเป็นบทฝึกที่มุ่งขัดเกลาจิตใจให้สงบระงับโดยเฉพาะ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุมรรค ผล และนิพพานในที่สุดอีกด้วย

 

                ๓. พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือหลักธรรมซึ่งว่าด้วยความจริงตามธรรมชาติ ที่ทรงสภาวะลักษณะของตนไว้ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ มีจำนวน ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

 

                 พระอภิธรรมปิฎกนี้ เป็นปิฎกที่อธิบายขยายความ โดยการหยิบยกเอาหมวดธรรมในเรื่องของ นามและรูป มีอรรถาธิบายโดยพิสดาร ปิฎกนี้ท่านจึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า นามรูปปริจเฉทกถาคำบรรยายการกำหนดนามและรูป ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีราคะเป็นต้น

 

                ศาสนธรรม หรือ พระไตรปิฎก นี้ แต่ละปิฎกล้วนมีคัมภีรภาพคือความลึกซึ้ง ๔ ประการ คือ ลึกซึ้ง โดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนา และโดยปฏิเวธ อันผู้มีปัญญาน้อยทั้งหลาย ซึ่งมิได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ หยั่งรู้ได้ยาก และพึ่งไม่ได้ เหมือนมหาสมุทร สัตว์เล็กทั้งหลาย มีกระต่าย เป็นต้น หยั่งเท้าไม่ถึง หาที่พึ่งไม่ได้ การศึกษาพระธรรม คือ พระไตรปิฎกจึงต้องสั่งสมบุญบารมี และปฏิบัติธรรม

 

                 ควบคู่กันไปจนเกิดผลกับจิตใจไปด้วย จึงจะเข้าใจธรรมได้อย่างลึกซึ้งตามบารมีที่สั่งสม ส่วนผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานแต่ไม่มีศรัทธา อันเป็นมูลให้เกิดสัมมาทิฏฐิ แม้มีปัญญาในการทรงจำธรรม
แต่ไม่มีศรัทธาในการตรัสรู้ธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีความเห็นถูกในบุญกุศล จึงไม่สั่งสมกุศลมีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น การศึกษาและการแสดงธรรมของบุคคลประเภทนี้ มีแต่จะพาตนให้ทุกข์และพาผู้อื่นให้ได้รับทุกข์ไปด้วย การศึกษาของเขาจึงเปรียบด้วยการจับงูพิษเอาไว้สำหรับขบกัดตนเอง

 

                   บุคคลใดก็ตามที่ตั้งใจศึกษาศาสนธรรมหมวดต่าง ๆ จนเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วยึดเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตด้วยศรัทธามั่นไม่คลอนแคลน ไม่สงสัย ย่อมมีโอกาสบรรลุญาณทัสสนะเห็นแจ้งรู้แจ้งสัจธรรมต่าง ๆ ไปตามลำดับ ๆ ด้วยตนเอง

 

                 สามารถขัดเกลากิเลสในใจตนให้เหลือน้อยลง ๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งเห็นแจ้งรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ครบ ๓ รอบ โดยอาการ ๑๒ นั่นคือ สามารถกำจัดอาสวกิเลสในจิตใจตนได้โดยเด็ดขาด บรรลุมรรค ผล และนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา สามารถบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรที่สมบูรณ์แบบให้แก่ชาวโลกได้อย่างกว้างขวาง

                 

                 บุคคลที่ตั้งใจศึกษาศาสนธรรมจนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องยึดถือปฏิบัติด้วยศรัทธามั่นไม่คลอนแคลนย่อมมีโอกาสบรรลุญาณทัสสนะเห็นแจ้งรู้แจ้งสัจธรรมต่าง ๆ ไปตามลำดับ

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ วิ.ป. ๑๐/๙๘๖/๔๙๘-๔๙๙ (แปล.มมร)

๒ องฺ.ทสก. ๒๔/๑/๑-๓ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

     

 

      

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042064718405406 Mins