ธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้พุทธสาวกเคารพพระพุทธองค์อย่างยิ่ง ๓) อธิปัญญา

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2562

ธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้พุทธสาวกเคารพพระพุทธองค์อย่างยิ่ง

๓) อธิปัญญา
 

           อธิปัญญา แปลว่า ปัญญายิ่ง หมายถึง สัมมาทิฏฐิในองค์โลกุตตรมรรค เป็นปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตามความเป็นจริง ปัญญาที่ทำให้เห็นแจ้งรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ชนิดแทงตลอด ปัญญาที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงมั่นใจในวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรลุมรรคผลไปตามลำดับ ๆ สามารถกำจัดกิเลสอาสวะออกจากใจให้เหลือน้อยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งหมดสิ้นโดยเด็ดขาด ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นบุคคลผู้พ้นโลก และบรรลุพระนิพพานในที่สุด
 

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อบรรลุมรรคผลไปตามลำดับนั้นคืออะไร ?


เพราะเหตุที่วิธีปฏิบัตินี้ทำให้พระพุทธองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้นเมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรงเกิดอธิปัญญาเข้าพระทัยอย่างชัดเจนว่า วิธีปฏิบัตินี้เป็นวิธีที่ถูกต้องและดีที่สุด เนื่องจากได้ทรงเคยลองถูกลองผิดโดยวิธีอื่นมาพอแรงแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์๑๐ ว่า


“การปฏิบัติอันเป็นสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) นี้เองที่ทำให้ตถาคตตรัสรู้ ทั้งนี้เพราะการปฏิบัตินี้เป็นเหตุให้เกิดจักษุ (ปัญญาอันเกิดจากการเห็นแจ้ง) ก่อให้เกิดญาณ (ความรู้แจ้งอันเกิดจากการเห็นแจ้ง)  เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน”

 

หมายความว่า ญาณเป็นเหตุให้จิตใจสงบ คือ ปลอดจากกิเลส  ขณะเดียวกันก็เกิดความรู้ยิ่ง คือ อธิปัญญา ทำให้รู้แจ้งแทงตลอดความจริงทั้งมวลในอนันตจักรวาลและในสรรพธาตุสรรพธรรมทั้งปวง ซึ่งเป็นสภาวะของบุคคลผู้บรรลุพระนิพพานอย่างยอดเยี่ยม
 

สำหรับการปฏิบัติตนหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลายอย่างคฤหัสถ์ (กามสุขัลลิกานุโยค) และการประกอบความเพียรแบบทรมานตน (อัตตกิลมถานุโยค) นั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย เป็นวิธีปฏิบัติที่ไร้ประโยชน์ อย่าได้สนใจพาตนเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

“มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา
จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย
สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ
ปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน” ๑๑

 

วิธีปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้นคืออะไร ?
 

วิธีปฏิบัติอันเป็นสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ประกอบด้วยทางอันประเสริฐ ๘ ประการ หรือเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
 

๑) สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗) สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

 

อนึ่ง สำหรับมรรคมีองค์ ๘ นี้ ยังแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ๑๒ คือ
 

๑) มรรคมีองค์ ๘ ที่ยังมีอาสวะ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติของบุคคลที่ยังมีกิเลสอาสวะอยู่
๒) มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระอันเป็นข้อปฏิบัติของพระอริยบุคคล ที่จิตหมดอาสวะกิเลสแล้ว เช่นพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลที่จิตยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังมีอาสวะ แต่ระดับความบริสุทธิ์แห่งกาย วาจา ใจ และระดับปัญญา อันเกิดจากการปฏิบัติ ย่อมแตกต่างกันไป เช่น สัมมาทิฏฐิของสัมมาทิฏฐิบุคคลที่เป็นปุถุชนจะอยู่ในลักษณะที่มีปัญญาเห็นว่า การทำทานมีผลดี ควรทำ กฎแห่งกรรมมีจริง เป็นจริง พ่อแม่มีพระคุณจริง สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ ทั้งในอบายภูมิและในสุคติภูมิ เช่น สัตว์นรก เปรต เทวดา เป็นต้น มีจริง ที่เรียกว่า “กัมมัสสกตา สัมมาทิฏฐิ” ไม่จัดเป็นอธิปัญญา
 

ส่วนสัมมาทิฏฐิในองค์มรรคของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “มรรคสัมมาทิฏฐิ หรือมรรคปัญญา” จัดเป็นอธิปัญญาสูงสุดของพระอริยสาวก ที่ทำให้เกิดการรู้แจ้ง เห็นแจ้ง อริยสัจ ๔ อย่างหมดจด แต่อธิปัญญาของพระอรหันต์ก็นำคุณวิเศษมาให้ไม่เท่าอธิปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 

สำหรับพระพุทธองค์นั้น เนื่องจากอธิปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิในอรหัตมรรคจิตของพระองค์ นำคุณวิเศษทั้งปวงมาให้ และเป็นปัญญาปรมัตถบารมีที่อบรมบ่มมานานแสนนาน จึงทำให้ทรงมีพระปัญญายิ่งกว่าเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งปวง ดังที่ตรัสว่า
 

“ดูก่อนกัสสปะ ปัญญาอันประเสริฐ ยอดเยี่ยมมีประมาณเท่าใด เรายังไม่เห็นผู้ใดทัดเทียมเราในปัญญานั้น ผู้ที่ยิ่งกว่าจะมีที่ไหน แท้จริง เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งกว่า ในปัญญานั้นคือ อธิปัญญา” ๑๓

ด้วยอธิปัญญาจึงทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ตลอดทั่วอนันตจักรวาล ทรงเข้าใจสัจธรรมทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริยสัจ ๔ โดยทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความไม่สมปรารถนา ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เรียกว่า ทุกขอริยสัจ เป็นอริยสัจอันดับที่ ๑ ในอริยสัจ ๔ ซึ่งยังไม่เคยได้ยินศาสดา เจ้าลัทธิคนใดในโลกนำมาสั่งสอน
 

อธิปัญญา ในลำดับต่อไปก็คือ ทรงทราบว่า สาเหตุแห่งทุกขอริยสัจ ก็คือ ตัณหา ๓ ได้แก่

๑) กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม อยากได้สิ่งอันน่ารักใคร่

๒) ภวตัณหา คือ ความอยากมี ความอยากเป็นอีก ให้คงอยู่ตลอดไปไม่แปรเปลี่ยน รวมทั้งความทะยานอยากในรูปฌานและอยากเกิดในรูปภพ และ

๓) วิภวตัณหาคือ ความอยากไม่มี อยากไม่เป็นเช่นนี้อีก อยากให้สภาพที่ประสบอยู่สูญหายไปและไม่อยากถือกำเนิดในภพต่าง ๆ รวมทั้งความติดใจใน
 

อรูปฌานและในอรูปภพ สาเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้ เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นอริยสัจอันดับที่ ๒ ในอริยสัจ ๔    เมื่อพระองค์ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งว่า ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ  ด้วยโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ ทำให้พระหฤทัยของพระองค์ไม่ทรงพัวพันในตัณหานั้นอย่างเด็ดขาด ความดับแห่งตัณหานี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอริยสัจอันดับที่ ๓ ในอริยสัจ ๔

 

ส่วนข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอริยสัจ อันดับที่ ๔
 

การเห็นแจ้งรู้แจ้งอริยสัจ ๔ มีกระบวนการอย่างไร ?


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงกระบวนการเห็นแจ้งรู้แจ้งของพระองค์แก่พระปัญจวัคคีย์ ดังนี้
 

ภิกษุทั้งหลาย จักษุ (การเห็นแจ้ง) เกิดขึ้นแล้ว ญาณ(รู้แจ้ง) เกิดขึ้นแล้ว ปัญญา (รู้ทั่วถึง) เกิดขึ้นแล้ว วิชชา
(แทงตลอด) เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่าง (สว่างไสวที่กลางใจ) เกิดขึ้นแล้ว๑๔ ในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่านี้ ทุกขอริยสัจ (จัดเป็นสัจจญาณ)

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้ (จัดเป็นกิจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขอริยสัจนี้ เราได้กำหนดรู้แล้ว (จัดเป็นกตญาณ)

 

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ (จัดเป็นสัจจญาณ)

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้ ควรละเสีย (จัดเป็นกิจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้ เราละได้แล้ว (จัดเป็นกตญาณ)

 

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ (จัดเป็นสัจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ ควรทำให้แจ้ง (จัดเป็นกิจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว (จัดเป็นกตญาณ)

 

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่านี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (จัดเป็นสัจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ (จัดเป็นกิจจญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว...ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราได้ให้เจริญแล้ว
(จัดเป็นกตญาณ)

 

จากพระพุทธดำรัสที่ยกมานี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นแล้วว่ากระบวนการเห็นแจ้งรู้แจ้งนั้น เกิดจากการเจริญภาวนา ที่มีประสบการณ์ภายใน ส่งถึงขั้นแสงสว่างเกิดขึ้น และแน่นอนแสงสว่างนั้นย่อมมิใช่แสงสว่างในระดับที่เกิดขึ้นกับผู้บรรลุวิปัสสนาญาณ  โดยทั่วไป แต่จะต้องเป็นแสงสว่างโพลงยิ่งกว่าตะวันเที่ยงหลายร้อยหลายพันดวงมาประชุมรวมกัน มิฉะนั้น จักษุ ญาณ ปัญญา และวิชชา คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ข้อนี้ผู้มีประสบการณ์ในการเจริญสมาธิภาวนาย่อมเข้าใจได้ดี และย่อมเข้าใจอีกด้วยว่า ปัญญาที่เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วนั้นคืออธิปัญญา หรือปัญญาของผู้สิ้นอาสวะนั่นเอง ณ จุดนี้ท่านผู้อ่านคงจะมองเห็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ส่งเสริมสนับสนุนกันและกันระหว่างอธิศีล ญาณทัสสนะ และอธิปัญญาของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี

 

อธิปัญญานี่เอง ที่ทำให้เหล่าพุทธสาวกต่างพากันสรรเสริญว่า
“พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยพระปัญญาขันธ์อันยิ่ง เป็นไปไม่ได้เลยที่พระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็นถ้อยคำที่ยังมาไม่ถึงหรือจักไม่ทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการถูกต้อง มีเหตุผลดี” 

 

เพราะเหตุนี้ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทไม่ว่าจะมากมายเพียงใด ที่ประชุมก็เงียบกริบ เพราะทุกคนต่างตั้งใจฟังสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่หรือเป็นธรรมะที่ตนยังไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลย  เพื่อเพิ่มพูนปัญญาของตน จึงไม่มีสาวกผู้มีปัญญาท่านใดเลยที่บังอาจอวดดีโต้แย้งคำสอนของพระพุทธองค์ ยิ่งกว่านั้นแต่ละท่านยังหวังการพร่ำสอนจากพระพุทธองค์ทั้งสิ้น อธิปัญญา จึงเป็นธรรมประการที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายนอกจากสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระพุทธองค์แล้ว ก็ยังปรารถนาที่จะอาศัยพระองค์อยู่

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

๑๐ วิ.มหา. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ไทย) ๖/๑๓/๔๔

๑๑ วิ. มหา. (ไทย) ๖/๔๕

๑๒ ม.อุ. มหาจัตตารีสกสูตร (ไทย) ๒๒/๓๔๑

๑๓ ที.สี. มหาสีหนาทสูตร (ไทย) ๑๒/๑๓๒

๑๔ ความสว่างโพลงที่กลางใจเกิดขึ้นตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักษุ และสว่างยิ่งขึ้นตามลำดับ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033384116490682 Mins