สังฆคารวตา...สะพานเชื่อมคฤหัสถ์และบรรพชิต

วันที่ 18 มีค. พ.ศ.2563

สังฆคารวตา...สะพานเชื่อมคฤหัสถ์และบรรพชิต

 

                 ดังที่เราทราบเป็นอย่างดี บุคคลในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต บุคคลทั้ง ๒ ประเภทนี้ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สำหรับคฤหัสถ์นั้นอยู่ในฐานะผู้บำเพ็ญบุญและอุปถัมภ์บรรพชิตด้วยปัจจัย ๔ และสิ่งที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ตามหน้าที่หรือ ความจำเป็นตามสมควร ส่วนบรรพชิต นั้นอยู่ในฐานะผู้บำเพ็ญบุญบารมี ผู้สงเคราะห์คฤหัสถ์ในฐานะเป็นกัลยาณมิตรผู้ให้ธรรมทาน หรืออาจเรียกว่าเป็นเนื้อนาบุญของคฤหัสถ์ก็ได้ ดังที่ปรากฏใน พหุการสูตร ดังนี้

 

                “ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายผู้บำรุงอุปถัมภ์เธอทั้งหลายด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุดพร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วนแก่พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ชื่อว่าเธอทั้งหลายก็มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่          ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อต้องการสลัดโอฆะออกให้ได้เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ด้วยประการดังกล่าวนี้”

 

                    รวมความว่า คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างอาศัยซึ่งกันและกันด้วยอามิสทาน คือ ปัจจัย ๔ มีบิณฑบาต เป็นต้น และธรรมทานคือ การแสดงธรรมแก่คฤหัสถ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีความเคารพในพระสงฆ์ ดังนั้นสังฆคารวตาจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้คฤหัสถ์และบรรพชิต ต่างได้มีโอกาสพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาอย่างแท้จริง นั่นคือ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบนั้นเอง

 

                     อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับการที่เราจะมีความเคารพต่อพระภิกษุที่เราไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะพระภิกษุผู้ใหม่ในพระธรรมวินัย ยังอยู่ในขั้นฝึกฝนอบรมตนเองอยู่ ยังมีมารยาทและโคจรที่ยัง ไม่สมบรูณ์อยู่ ในประเด็นนี้ขอให้คฤหัสถ์ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนลองขยายใจจากภาพของพระภิกษุไปสู่หมู่สงฆ์ เราก็จะพบว่ามีพระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่อีกมากมายจริง ๆแม้ในเรื่องนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นนัยสำคัญเกี่ยวกับทัศนคติในการมองบรรพชิต แบบรายบุคคล (พระภิกษุ) และแบบภาพรวม (หมู่สงฆ์) ไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร โดยมีใจความสรุปว่า

 

                   “อานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าโคตรภูภิกษุมีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ชนทั้งหลายจักถวายทานเจาะจงพระสงฆ์ได้ในภิกษุผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้ในเวลานั้น เราก็ยังกล่าวทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ว่า มีอานิสงส์นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถวายในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย”

 

                   แม้ในอนาคตจะมีพระภิกษุสงฆ์ผู้มีวัตรปฏิบัตไม่เรียบร้อยและเป็นผู้ทุศีลก็ตาม แต่การถวายทานแบบสังฆทาน คือ ถวายโดยรวมโดยไม่จำเพาะเจาะจงไปที่ผู้ใดผู้หนึ่ง แม้อย่างนั้นก็ตาม ก็ยังได้บุญได้อานิสงส์มาก และมากกว่าการถวายทานแบบเจาะจงบุคคล แม้บุคคลนั้นจะเป็นถึงพระอริยเจ้าก็ตาม เช่นนี้ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นถึงทัศนคติด้านคุณหรือด้านบวกในการมองบรรพชิตแบบภาพรวม (หมู่สงฆ์) ว่ามีความสำคัญมากกว่าการมองแบบรายบุคคล (พระภิกษุ)

 

                    จากที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า ทัศนคติในด้านลบที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ล้วนนำมาซึ่งผลเสียโดยประการทั้งปวง จริงอยู่ว่าทัศนคติเหล่านี้ อาจมีสาเหตุมาจากผู้อื่นเพราะผ้อื่นเป็นเช่นนั้น จึงทำให้เรามีทัศนคติในด้านลบเช่นนี้ แต่ความคิดเช่นนี้ไม่นำมาซึ่งการปรับปรุงตัวของเราแต่อย่างไร สู้เป็นว่าปรับทัศนคติที่ตัวของเราจะเป็นการดีกว่า เพราะอย่างไรเสีย ผู้ที่ได้รับผลจากทัศนคติในด้านลบนี้ ก็คือตัวของเราเองหาใช่ผู้อื่นไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วทัศนคติในด้านลบที่มีต่อตัวของพระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นสมมติสงฆ์หรือพระอริยสงฆ์ ก็นำมาซึ่งความทุกข์ในภายภาคหน้า ในทางกลับกัน หากเราเป็นผู้ที่มีความเคารพในพระสงฆ์ ย่อมนำมาซึ่งความ

 

                  สุขกายสุขใจ ไม่ต้องทนทุกข์ที่จะเกิดในภายภาคหน้า นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่ม ต้นที่สำคัญในการศึกษาธรรมอย่างมีแบบแผนลุ่มลึก ไปตามลำดับ จากพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม ซึ่งต่างจะเกื้อกูล
ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังทำให้พระพุทธศาสนาอันประกอบด้วยฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีความแข็งแกร่งและเป็นปึกแผ่นอีกด้วย

 

             "สังฆคารวตาเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้คฤหัสถ์และบรรพชิตได้มีโอกาสพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาอย่างแท้จริง"

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๕๐ ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๗/๔๘๖ (แปล มจร.)

๕๑ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดทั้งหมดของ ทักขิณาวิภังคสูตร ในเรื่องของ ปาฏิปุคคลิกทาน และ
สังฆทาน ในรูปแบบต่างๆ ได้ใน ม.อุ. ๑๔/๓๗๖-๓๘๒/๔๒๔-๔๓๒ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01250919898351 Mins