สาวกทั้งปวงต่างเคารพพระพุทธองค์อย่างยิ่ง
ในสมัยพุทธกาล1 มีสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิ เป็นคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักดีในสังคมจำนวนมากมาย เจ้าลัทธิบางท่านก็เกิดก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเสียอีก เจ้าลัทธิบางท่านก็มีศิษยานุศิษย์มากมาย ครั้นถึงฤดูเข้าพรรษา คณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากมาย ต่างก็พากันมาจำพรรษา ณ กรุงราชคฤห์
ในบรรดาเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น มีเจ้าลัทธิที่เด่นดังมากอยู่ ๖ ท่าน ซึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเรียกว่า “ครูทั้ง ๖” ครูแต่ละคนล้วนมีสาวกมากมาย แต่มักมีข่าวปรากฏเนือง ๆ ว่า ในขณะที่ครูเหล่านั้นกำลังแสดงธรรมแก่บริษัท (ผู้เข้าฟัง) จำนวนหลายร้อย แต่สาวกบางคนกลับส่งเสียงตะโกนโต้แย้งครูท่ามกลางที่ประชุม การแสดงมารยาทหยาบคายไร้ความเคารพเช่นนั้น ย่อมสร้างความอับอายขายหน้า ให้แก่ครูเจ้าลัทธิอย่างแน่นอน แต่ครูก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสาวกนอกลู่นอกทางเหล่านั้น
เหล่าปริพาชกต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า มีแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่สาวกของพระองค์ นอกจากสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ยังอาศัยพระองค์อยู่อีกด้วย (คำว่า “อาศัย” ในบริบทนี้ หมายถึง อาศัยพระพุทธองค์เป็นต้นแบบสำหรับถ่ายทอดนิสัย และสร้างคุณความดีต่าง ๆ ตลอดจนรับฟังการพร่ำสอนชนิดขนาบแล้วขนาบอีกเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมวินัย เพื่อจะได้มีคุณวิเศษดังเช่นพระพุทธองค์)
แม้ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บริษัท จำนวนหลายร้อยหลายพัน ที่ประชุมก็เงียบกริบเสมอ ปราศจากเสียงไอ เสียงจาม ทั้งนี้เพราะหมู่มหาชนต่างตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่งต่อชีวิต หาฟังได้ยาก ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีความเคารพพระพุทธองค์เปี่ยมล้นจิตใจ ดังเช่น
ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรม บังเอิญมีสาวกรูปหนึ่งไอขึ้น เพื่อนสหธรรมิกที่นั่งอยู่ใกล้กันถึงกับใช้เข่าสะกิดแทนการใช้มือ ก็เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ไอให้รู้ว่ากำลังทำผิดอย่างร้ายแรง เพราะเสียงไอนั้นนอกจากจะทำให้บริษัทได้ยินพระธรรมเทศนาไม่ถนัดแล้ว ยังเป็นการแสดงความไม่เคารพพระพุทธองค์อีกด้วย
อนึ่ง แม้สาวกของพระพุทธองค์ที่บาดหมางกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน แล้วลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์ แต่ก็ยังกล่าวยกย่องสรรเสริญพระพุทธองค์ กล่าวสรรเสริญพระธรรมและพระสงฆ์ ไม่กล่าวติเตียนผู้อื่น ไม่กล่าวติเตียนพระรัตนตรัย แต่ติเตียนเฉพาะตนเองว่า ตนเป็นคนมีบุญน้อย เพราะทั้ง ๆ ที่ได้โอกาสบวชในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ก็ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต
นับเป็นเรื่องอัศจรรย์มากที่ไม่มีพุทธศาสนิกกล่าวติเตียนพระรัตนตรัยเลย นอกจากนี้ สาวกของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็นอารามิกชน หรืออุบาสกอุบาสิกาต่างก็สมาทานปฏิบัติศีล ๕ เป็นกิจวัตรประจำวัน สาวกทั้งหลายต่างสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระพุทธองค์ และยังอาศัยพระองค์เพื่อรอรับการเคี่ยวเข็ญอบรมจากพระองค์ด้วยความเคารพรักเป็นอย่างยิ่ง
" พุทธสาวกต่างเคารพพระพุทธองค์
อย่างยิ่ง เห็นได้จาก...
ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ที่ประชุม
เงียบกริบเสมอ แม้คนจะมากเพียงใด
ไม่มีพุทธสาวกกล่าวติเตียนพระรัตนตรัยเลย
แม้เป็นภิกษุที่ลาสิกขาออกไป
พุทธสาวกต่างสมาทานศีล ๕ เป็นปกติ ต่าง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา รอรับการเคี่ยวเข็ญ
จากพระพุทธองค์ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง"
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก
1ม.ม. มหาสกุลุทายิสูตร (ไทย) ๒๐/๓๑๔/๕๔๙