มหาอาณาจักรล่มสลายเพราะขาดความเคารพ

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2562

มหาอาณาจักรล่มสลายเพราะขาดความเคารพ

สมัยหนึ่ง*1 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลา  แคว้นมคธ ได้ตรัสแสดงธรรมเพื่อให้พระภิกษุพิจารณาเห็นความสำคัญ และประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของความเคารพในธรรมว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่เถิด”

สาระสำคัญของพระพุทธดำรัสนี้ อาจสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ทรงย้ำเตือนให้พระภิกษุทั้งหลายพากเพียรทุ่มเทชีวิตจิตใจศึกษา พระปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติพระสัทธรรม จนเกิดผลเป็นปฏิเวธ สัทธรรมนั่นเอง มิฉะนั้นก็จะไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบวชเข้ามาเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา และ
การที่จะประสบผลสัมฤทธิ์ก็เพราะมีความเคารพในตนและในธรรมเป็นเบื้องต้น

ครั้นแล้วพระพุทธองค์ได้ทรงยกตัวอย่างเรื่อง พระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ ประกอบการตรัสเทศนา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
 

ในอดีตกาล ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระ
ราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต

 

เมื่อเวลาล่วงไปหลายพันปี พระเจ้าทัฬหเนมิรับสั่งราชบุรุษคนหนึ่งว่า ถ้าเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์เคลื่อนจากที่ตั้ง ให้เขากราบทูลให้พระองค์ทราบ
 

ต่อมาอีกหลายพันปี ราชบุรุษได้เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ เคลื่อนจากที่ตั้ง จึงกราบทูลให้พระเจ้าจักรพรรดิทรงทราบ พระองค์จึงรับสั่งแก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ว่า การที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์เคลื่อนที่นั้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า พระองค์จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน จึงจะเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิต (เป็นฤๅษี) และทรงมอบหมายให้ราชโอรสปกครองแผ่นดินแทน

เมื่อพระราชฤๅษีผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานหายไป ราชบุรุษคนหนึ่งจึงเข้าไปกราบทูลให้พระราชาองค์ใหม่ทรงทราบ ท้าวเธอทรงเสียพระทัยมาก จึงไปกราบทูลให้พระราชฤๅษีทรงทราบ
พระราชฤๅษีจึงตรัสห้ามมิให้พระราชโอรสแสดงความเสียใจให้ปรากฏ เนื่องจากจักรแก้วอันเป็นทิพย์ไม่ได้เป็นมรดกสืบทอดจากบิดาถึงบุตร และได้ทรงแนะนำให้พระราชโอรสทรงประพฤติจักรวรรดิ วัตรอันประเสริฐ ที่เมื่อทรงประพฤติแล้ว

ครั้นถึงวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ก็จะปรากฏแก่ท้าวเธอผู้สนานพระเศียรแล้วรักษาอุโบสถอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงามพระราชาองค์ใหม่ ยังไม่ทรงทราบวิธีปฏิบัติจักรวรรดิวัตรอันประเสรฐิ จึงทูลถามพระราชฤๅษี

พระราชฤๅษีกล่าวตอบว่า “ลูกจงอาศัยธรรม*2 เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน*3 กำลังพลพวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดีชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์จำพวกนกและเนื้อโดยธรรมการกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้มีเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของลูก พึงให้ทรัพย์แก่บุคคลที่ไม่มีทรัพย์ทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้น

อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความมัวเมา และความประมาท*4 ตั้งอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยม) ฝึกตน สงบตนให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นตามกาลอันควรแล้ว
 

ถามท่านว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน

 

ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้นให้มั่นทั้งหมดนี้คือจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ


หลังจากรับสนองพระดำรัสของพระราชฤๅษีแล้ว พระราชาองค์ใหม่ก็ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐตลอดมา ครั้นถึง วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะที่ประทับรักษาอุโบสถศีลอยู่ชั้นบนปราสาทจักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมีส่วนประกอบครบทุกอย่างก็ปรากฏขึ้นบนปราสาทนั้น ท้าวเธอจึงประจักษ์แจ้งว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า
จักรพรรดิแล้ว

 

ครั้นแล้วท้าวเธอได้ทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า “จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่”

ทันใดนั้นจักรแก้วก็หมุนไปทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา*5 ได้เสด็จตามไป และเข้าพักแรมในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
 

พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้า แล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด โปรดรับราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทาน พระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า”
 

ท้าวเธอได้ตรัสตอบว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด”
 

พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ ต่อจากทิศตะวันออก จักรแก้วก็หมุนไปยังทิศใต้ ต่อจากทิศใต้ก็หมุนไปยังทิศตะวันตก จากทิศตะวันตกก็หมุนไปทางทิศเหนือ
 

พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในแต่ละทิศ ต่างพากันเสด็จมาเฝ้าท้าวเธอ พร้อมทั้งกล่าวถวายราชสมบัติของตนให้ท้าวเธอ ทั้งขอให้ท้าวเธอประทานพระราโชวาทให้ด้วย ท้าวเธอก็ปฏิบัติต่อพระราชา ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อท้าวเธอเสมอกันทั้ง ๔ ทิศ

เมื่อจักรแก้วนั้นได้ชนะวิเศษยิ่งซึ่งแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตได้แล้ว จึงกลับคืนสู่ราชธานี และหยุดอยู่ที่ประตูพระราชวังของท้าวเธอ ปรากฏเหมือนเครื่องประดับ ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำให้ภายใพระราชวังของท้าวเธอสว่างไสว แม้เวลาล่วงไปหลายพันปี พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ องค์ที่ ๔ องค์ที่ ๕ องค์ที่ ๖ องค์ที่ ๗ ต่างก็ทรงสืบสานพระราชประเพณี พระราชบิดามาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผิดเพี้ยน
 

แต่สำหรับพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๘ นั้น แม้จะได้รับการสั่งสอนจากพระราชบิดาแล้วก็ตาม ครั้นเมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอก็ได้แต่ทรงเสียพระทัย และไม่เสด็จไปหาพระราชฤๅษีเพื่อถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ ทรงปกครองประชาราษฎร์ตามมติของพระองค์เอง ราชธานีก็ไม่เจริญร่งุ เรืองเหมือน
สมัยกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ

 

ครั้นเมื่อบรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพาร โหราจารย์ แม่ทัพ นายกองและองคมนตรี กราบทูลให้ทรงทราบถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐให้ทรงทราบ ท้าวเธอจึงจัดการรักษาป้องกันเเละคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่กระทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ คือไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนไร้ทรัพย์ ความยากจน ขัดสนก็แพร่หลายในหมู่ประชาชน อันเป็นเหตุแห่งอทินนาทาน

เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ปาณาติบาตก็เพิ่มขึ้น ทั้งจากการลงโทษของพระราชาบ้าง ประชาชนฆ่ากันเองบ้าง เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาทก็แพร่หลาย และส่งผลไปถึงการแพร่หลายของ ปิสุณวาจา (วาจาส่อเสียด) ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) สัมผัปลาปะ(พูดเพ้อเจ้อ) อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นโดยมิชอบ) พยาบาท(ความคิดร้าย) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อธัมมราคะ (ความกำหนัดที่ผิดธรรม เช่น พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย) วิสมโลภะ (ความโลภจัด) มิจฉาธรรม (ความกำหนัดผิดธรรมชาติ เช่น ชายต่อชาย หญิงต่อหญิง)

จากพุทธดำรัสที่ยกมาโดยย่อนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า การที่พระราชามหากษัตริย์ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้นำชาติบ้านเมือง)ขาดความเคารพในธรรม ประชาชนในประเทศชาติบ้านเมืองนั้น ก็จะประพฤติวิปริตผิดศีลธรรม ก่อความเดือดร้อนต่าง ๆ นานัปการ ในที่สุดประเทศชาติบ้านเมืองก็ล่มสลาย ดังมีตัวอย่างมากมายทั้งใน
คัมภีร์พระพุทธศาสนา และในตำราพงศาวดารโลก

" เมื่อผู้นำบ้านเมืองไม่เคารพในธรรม ประชาชนก็จะประพฤติวิปริต ผิดศีลธรรม ก่อความเดือดร้อน วุ่นวาย
ในที่สุดแม้เป็นมหาอาณาจักร ก็ต้องล่มสลายไป "

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

 

*1  ที.ปา. จักกวัตติสูตร (ไทย) ๑๕/๙๙

*2 ที.ปา.อ. จักกวัตติสูตร (ไทย) ๑๕/๑๓๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐
 *3 ชนภายใน ในที่นี้หมายถึง พระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา

*4 ความประมาท ในที่นี้หมายถึง ความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ ๕

*5 จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพนี้มีกำลัง ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047247930367788 Mins