เหตุใดเราจึงต้องเคารพพระธรรม

วันที่ 30 มค. พ.ศ.2563

เหตุใดเราจึงต้องเคารพพระธรรม

วัตถุประสงค์ของการเคารพพระธรรมนั้นมีอยู่หลายประการซึ่งเราพอสรุปได้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

                    ๑. เพื่อศึกษาศาสนธรรมให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องลึกซึ้ง แล้วยึดเป็นหลักปฏิบัติประจำใจในการดำเนินชีวิตตลอดไปเพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น นอกจากให้ความรู้ถูกต้องแล้ว ยังไม่ให้ทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติเลย มีแต่จะนำความสุขมาให้

 

                     ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็คือ ความเคารพในพระธรรมจะเป็นเหตุให้บุคคลสนใจศึกษาศาสนธรรม เมื่อศึกษาแล้วย่อมเกิดความเข้าใจถูกต้อง เกิดปัญญาพัฒนาสัมมาทิฏฐิขึ้นในจิตใจตนอย่างมั่นคงถาวร สัมมาทิฏฐิบุคคลย่อมรักและปฏิบัติสัทธรรม ผลของปฏิบัติสัทธรรมก็คือ ปฏิเวธสัทธรรม

 

                    แม้ยังไม่สามารถบรรลุปฏิเวธสัทธรรมถึงในระดับที่ได้อธิบายแล้ว แต่ก็จะพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ ๆ นับตั้งแต่มีความสบายใจ เป็นคนน่ารัก น่าเข้าใกล้ เพราะมีจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันไม่ห็นแก่ตัวจนเกินไป ไม่คิดเบียดเบียนใคร คือเป็นคนรักษาศีลได้นั่นเอง สิ่งเหล่านี้ ย่อมนำความสุขมาให้ในโลกนี้ เมื่อละโลกไปแล้วย่อมไปสู่สุคติอย่างแน่นอน

 

                    ในทางตรงข้าม บุคคลที่ไม่ศึกษาศาสนธรรม ย่อมไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง จึงมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย ซึ่งอาจนำพาชีวิตของเขาให้ตกต่ำอดอยากยากไร้ หรืออาจจะนำพาเขาให้ประสบความมั่งคั่งร่ำรวยด้วยอาชีพผิดศีล ผิดกฎหมาย อาจจะนำพาให้เขามีตำแหน่งสูงทางด้านการเมือง หรือมีฐานะสูงในสังคมด้วยอำนาจเงิน ถ้าเป็นเช่นนั้นนอกจากเขาจะก่อความชั่วได้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังจะนำพาบริวารให้ก่อกรรมชั่วได้อย่างกว้างขวาง บุคคลประเภทนี้ แม้จะมีมิตรมาก

 


                  มิตรของเขาก็เป็นมิตรเทียมทั้งสิ้น เพราะมิตรแต่ละคนย่อมเลวพอ ๆกับเขา เขาจึงต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง มิรู้ว่า วันใดจะถูกมิตรเทียมหักหลัง มิรู้ว่า วันใดจะถูกปลิดชีวิต ฯลฯ เพียงเท่านี้ จิตใจของเขาก็เศร้าหมอง หาความสงบสุขอย่างแท้จริงในโลกนี้ไม่ได้ คนที่มีจิตใจเศร้าหมองมีหรือที่เขาจะไปสู่สุคติในโลกหน้า เขาได้ปิดประตูสวรรค์ไว้อย่างสนิทแล้ว แต่ได้เปิดประตูนรกไว้อย่างกว้างขวางเต็มที่ทีเดียว

                       

                  ความแตกต่างของความเป็นไปในชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้าของบุคคลทั้ง ๒ แบบที่ได้กล่าวมานี้ คือเหตุผลว่าทำไมคนเราจึงต้องเคารพพระธรรม

 

                   ๒. เพื่อป้องกันตนมิให้กล่าวตู่พุทธพจน์ เพราะการกล่าวตู่พุทธพจน์นั้นมีโทษภัยถึงขั้นตกนรกทีเดียว ดังมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในมหาสีหนาทสูตร ที่กล่าวถึง การที่พระสารีบุตรกลับจากบิณฑบาตภายหลัง
ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า โอรสเจ้าลิจฉวีนามว่า สุนักขัตตะ ลาสิกขาจากพระธรรมวินัยแล้วไม่นานได้กล่าวในที่ชุมชน ณ กรุงเวสาลีว่า สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถกำจัดกิเลสได้วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง

 

                    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบพระสารีบุตรเกี่ยวกับ สุนักขัตตะ ซึ่งพระองค์ทรงเรียกเขาว่าเป็น   โมฆบุรุษ

                    “สารีบุตร บุคคลใดแลพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ว่า สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง บุคคลนั้น ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สละทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้”

 

                       ในปัจจุบันเอง ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินว่า บุคคลที่ไม่สนใจศึกษาศาสนธรรม ไม่มีความเข้าใจพระธรรมหรือพระพุทธวจนะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ดีแล้ว จึงพากันกล่าวตู่พระธรรมอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ

 

                      ซึ่งมีความหมายว่า สวรรค์และนรกไม่มีอยู่จริง หรือเอาสวรรค์มาล่อเอานรกมาขู่ หรือบางคนที่ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ก็มักจะพูดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป หรือตายแล้วสูญ ซึ่งมีความหมายว่า สังสารวัฏไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าสุนักขัตตะ หรือบุคคลใดที่กล่าวตู่พระพุทธเจ้า กล่าวตู่พระธรรม นอกจากจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เคารพพระพุทธเจ้าและพระธรรมแล้ว ยังถูกลงโทษถึงขั้นตกนรกอีกด้วย

 

                      ๓. เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว สำหรับเป็นที่พึ่งที่ระลึกทั้งของตนเองและลูกหลานสืบไป บางคนอาจจะรู้ว่าชีวิตเป็นทุกข์ แต่ก็เห็นว่าความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเรา เพราะ
ไม่ว่าคนยากดีมีจน ก็ล้วนต้องประสบความทุกข์กายและใจด้วยเหตุต่าง ๆ กันไป

 

                     แต่เพราะไม่รู้เหตุที่แท้จริงแห่งทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เป็นศาสนธรรม คนเราจึงไม่รู้วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ อีกทั้งไม่มีปัญญารู้ว่า ทุกข์นั้นดับได้จริง ดังนั้นคราใดที่ตนต้องประสบทุกข์ประสบปัญหา คนเราก็จะหันไปกราบไหว้ต้นไม้ ภูเขา บนบานศาลกล่าวเจ้าป่า ผีสาง นางไม้ เทวดา ที่ตนไม่เคยเห็นตัว หรือมิฉะนั้น ก็พากันไปพึ่งดิรัจฉานวิชาต่าง ๆ เช่น หมอดู หมอผี หมอเสน่ห์ หรือไสยศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ       

 

                     ถ้าผู้คนที่เรียกตนเองว่า ชาวพุทธ แต่ไม่มีความเคารพในพระธรรม หันไปสนใจดิรัจฉานวิชา หรือเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ และยึดเอาเป็นที่พึ่งที่ระลึก นานไปดินแดนแห่งชาวพุทธก็จะถูกครอบงำ
ด้วยดิรัจฉานวิชาและไสยศาสตร์ มีชีวิตอยู่กับความงมงาย ไม่รู้จักค้นคว้าหาเหตุผล ในที่สุดศาสนธรรมก็จะอันตรธานไป เพราะไม่มีผู้สืบทอด

 

                     ๔. เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในตนเองความเคารพในพระธรรมเท่านั้น จะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ คอยกระตุ้นเร้าบุคคลให้พากเพียรปฏิบัติสัทธรรมอยู่ทุกลมหายใจ ทั้งนั่ง ยืน เดิน นอน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าถึงธรรมชาติบริสุทธิ์ในตนเอง เมื่อเข้าถึงในเบื้องต้นก็เกิดปัญญารู้ได้ทันทีว่า ความสุขที่แท้จริงของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์

 

                       ในโลกนี้ก็คือ การบรรลุธรรม มิใช่ทรัพย์ศฤงคารกองโต มิใช่ฐานันดรศักดิ์สูงส่ง มิใช่เกียรติยศชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก มิใช่การมีอำนาจปกครองโลกหรือจักรวาลต่าง ๆ ดังเช่นพระเจ้าจักรพรรดิที่ผู้คนโดยทั่วไปปรารถนากัน เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจได้ แม้เพียงระยะสั้น ๆ ทว่ามีแต่จะก่อให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นในจิตใจอย่างยากที่จะหาความสงบได้

 

                        แต่การบรรลุธรรมชาติบริสุทธิ์ในตนเองต่างหาก ที่ก่อให้เกิดความสุขสงบในจิตใจอย่างแท้จริง จนเกิดศรัทธามั่นต่อไปอีกว่า การบรรลุธรรมชาติบริสุทธิ์ในตนเองในระดับที่ประณีตลุ่มลึกยิ่ง ๆ ขึ้นไป
กว่านี้ ถึงขั้นที่สามารถเห็นอริยสัจ ๔ อย่างชัดแจ้งและมั่นคงถาวรรอบแล้ว รอบเล่า

 

                        ย่อมสามารถทำลาย อาสวกิเลสในใจตนได้โดยเด็ดขาด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้ว เมื่อมีศรัทธามั่นเช่นนี้บุคคลย่อมพร้อมที่จะดำเนินรอยตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ อย่างไม่ยอมลดละชนิดตายเป็นตาย เพราะถึงอย่างไร คนเราก็ต้องตาย แต่การตายที่ทำให้เราพ้นไปจากวัฏสงสาร ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเกินคุ้มมิใช่หรือ

 

                       ความเคารพในพระธรรมเป็นเหตุให้บุคคลศึกษาศาสนธรรมซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจถูก
เกิดปัญญาพัฒนาสัมมาทิฏฐิขึ้นในจิตใจตนอย่างมั่นคงถาวร

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ม.มู. ๑๒/๑๔๖-๑๔๙/๑๔๑-๑๔๘ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

                       

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013009134928385 Mins