คู่มือการบวช
ประเพณีการบวช เป็นการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ตามประเพณีปฏิบัติในการบวชนั้น ชายไทยจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนแห่งความจริงในโลก ที่สอนให้มนุษย์รู้สาเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ช่วยให้มนุษย์มีสติสัมปชัญญะที่จะนำไปสู่ในทางที่ดีที่ชอบ การบวชจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะต่อผู้ที่จะเป็นหลักของครอบครัว อีกทั้งผู้บวชยังได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมครูของเรา ผู้บวชสามารถนำข้อปฏิบัติที่ได้จากการบวชพระมาใช้ในการดำรงชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีความสุข การที่จะส่งเสริมประเพณีการบวชให้สืบทอดต่อเนื่อง ไม่ให้สูญหาย ก็คือการบันทึกรวบรวมเป็นองค์ความรู้ไว้ให้เป็นระบบ เพื่อเป็นฐานความรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้สืบทอดและพัฒนาต่อยอด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้เรื่อง “คู่มือการบวช” จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้และสามารถนำไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่น ๆ ต่อไป
ในสมัยโบราณ คนที่ออกบวชย่อมบวชเพราะชรา เจ็บป่วย จนทรัพย์ สิ้นญาติขาดมิตร สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์ปรารภความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงออกบวช ส่วนคนทุกวันนี้บวชตามประเพณี เมื่ออายุครบ ก็บวช บวชเป็นการแก้บนบ้าง บวชตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่บ้าง
ความหมายของคำว่า “บวช”
คำว่า บวช มาจากศัพท์ว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา มีสวดมนต์ ภาวนา เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็น สามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท
ความเป็นมาของการบวช
บรรพชาหรือการบวชนั้น ตามความหมายทั่วไป มีมาแต่เดิมก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น คือในหมู่ประชาชนนั้น มีบุคคลบางคนที่ รู้จักคิดพิจารณา มองเห็นชีวิตของหมู่มนุษย์ในสังคมมีความเป็นไป ทั้งทางดีและทางร้าย บางครั้งสังคมก็มีความเสื่อม บางครั้งก็มีความเจริญ ผันผวนปรวนแปรไปต่าง ๆ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน หาสาระและความสุขแท้จริงไม่ได้
การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคม นอกจากวุ่นวาย หาความสุขจากความสงบได้ยากแล้ว ก็มักไม่ เปิดโอกาสแก่การที่จะแสวงหาความเข้าใจ และความรู้จริงเกี่ยวกับชีวิต จึงมีคนบางคนในหมู่ชนเหล่านั้น ปลีกตัวออกจากสังคม แล้วออกไปอยู่ในที่ห่างไกลเพื่อจะได้มีความสุขสงบ และมีเวลาคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ไม่ถูกรบกวนด้วยเรื่องวุ่นวายที่เกี่ยวกับคนอื่น ด้วยการปลีกตัวออกไปจากสังคมนั้น ก็จึงได้เกิดมีชีวิต แห่งการบวชขึ้นมา ผู้ที่ออกบวชเหล่านี้ก็ได้ไปอยู่ตามป่าตามเขา ในที่สงัดเช่นในถ้ำ แล้วก็หาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ไปคิดค้นพิจารณา ตลอดจนหาความสงบของจิตใจ และได้มีความสุขจากสันติ อันเป็นความสงบที่ปราศจากเรื่องวุ่นวายทางโลก
การแสวงหาความหมายของชีวิต และชีวิตที่มีความหมายพร้อมกับหาความสงบของจิตใจอย่างนี้ ได้มีมาเป็นพื้นฐาน จนกระทั่งถึงสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ประสูติ ตอนแรก เจ้าชายสิทธัตถะก็อยู่ท่ามกลางชีวิตในโลก โดยประทับอยู่ในวังและวุ่นวายอยู่กับเรื่องการหาความสุขจากวัตถุที่เรียกว่า กามสุข แต่ต่อมาก็ทรงเห็นว่า การที่จะอยู่ตาม ๆ กันไปกับผู้อื่น เกิดมาแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บตายกันไป วนเวียนกันอยู่แค่นี้ โดยไม่รู้ไม่เข้าใจในความจริงของชีวิต ไม่ช่วยให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนความเป็นอิสระของจิตใจ ในที่สุดพระองค์ได้ทรงพิจารณาหาทางว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเข้าถึงความจริงและความดีงามนั้นได้ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมนั้น ไม่อำนวยโอกาส เพราะชีวิตการครองเรือนมีห่วงกังวลรุงรัง วุ่นวายผูกรัดตัวมาก อย่างที่ท่านกล่าวว่า สมพาโธ ฆราวาโส แปลว่า ชีวิตครองเรือนนี้คับแคบ ทรงเห็นว่า การออกบวชอย่างนักบวชที่มีในยุคพุทธกาลสืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณนั้น เป็นทางออกที่ดี อพโภกาโส ปพพชชา การบรรพชานั้น เหมือนกับการออกมาสู่ที่โล่งแจ้ง ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คล่องตัว ไปไหนไปได้ จึงตัดสินพระทัยสละชีวิตในวัง เสด็จออกผนวช เรียกว่าบรรพชา แล้วก็เสด็จไปแสวงหาความรู้ความเข้าใจจากสำนักต่าง ๆ และทรงประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพวกนักบวชเหล่านั้น ทุกแบบ พระองค์ทรงไปทดลองตามแนวทางปฏิบัติของนักบวชสมัยนั้น ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า ลัทธิของนักบวชเหล่านั้น รวมทั้งฤาษีดาบสต่าง ๆ ไม่เป็นทางที่จะให้บรรลุความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญา ที่จะรู้แจ้งความจริงและทำชีวิตจิตใจให้เป็นอิสระหลุดพ้นได้ จึงทรงแสวงหาหนทางของพระองค์เอง แล้วก็ได้ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ดังที่เราเรียกวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า “วันวิสาขบูชา”
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำธรรมะมาสั่งสอนเผยแพร่ต่อไป ผู้ที่เห็นด้วยและศรัทธา ในคำสอนของพระองค์ เข้าใจความจริงของชีวิต และเข้าใจหลักความดีต่าง ๆ ที่พัฒนาชีวิตให้ถึงความสุข ความเจริญงอกงามที่แท้จริง ก็ขอมาประพฤติปฏิบัติอยู่กับพระองค์โดยสละความเป็นอยู่ท่ามกลางบ้านเรือน เรียกว่าออกบวช เมื่อมีผู้มาขอบวชอยู่กันมากขึ้น มีนิสัยใจคอความประพฤติ ต่างๆ กัน บางคนก็ทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร พระพุทธเจ้าก็ทรงจัดตั้งวางระเบียบวินัยขึ้น ทำให้ชีวิตการบวชมีแบบแผนเฉพาะขึ้นมา
สำหรับ พระพุทธศาสนา ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าจัดวางไว้นั้น ในขั้นต้น ขอบวชเป็นสามเณรก่อน เรียกว่า บรรพชา ต่อมาเมื่อมีคุณสมบัติพร้อมแล้ว จะบวชให้สมบูรณ์ จึงเข้าที่ประชุมสงฆ์บวชเป็นพระภิกษุเรียกว่า อุปสมบท การบวชเป็นสามเณร ที่เรียกว่า บรรพชานั้น ไม่จำเป็นต้องมีสงฆ์ มีแต่ พระอุปัชฌาย์องค์เดียวก็พอ แต่ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุคือจะอุปสมบท ต้องมีสงฆ์ประชุมพิจารณาให้มติความเห็นชอบร่วมกัน
ลักษณะของการบวช
การบวชจะมี ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑. การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า "บรรพชา"
๒. การบวชเป็นพระภิกษุ เรียกว่า "อุปสมบท"
ประเภทของการบวช
การบวชพระหรือการอุปสมบทในพุทธศาสนาแยกได้ ๓ ประเภท คือ
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การบวชประเภทนี้ เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าประทาน แก่กุลบุตร ผู้ขอบวชด้วยพระองค์เอง เป็นการอนุญาตให้มาเป็นภิกษุโดยการตรัสด้วยพระวาจาแต่จะมีอยู่ ๒ แบบ คือ
๑.๑ หากบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาขอบวช พระองค์ก็จะตรัสเรียกให้เข้าเป็นภิกษุว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” การตรัสพระวาจาเพียงแค่นี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว
๑.๒ เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้แก่บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถกำจัดกิเลสได้แล้ว พระองค์จะตรัสพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” จะตัดข้อความตอนสุดท้ายออก คือ “ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะผู้ที่กำจัดกิเลสตัณหาได้แล้ว จะไม่มีความทุกข์โดยสิ้นเชิง
๒. ติสรณคมนูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยวิธีให้ผู้ขอบวชกล่าวคำรับเอาและเข้าถึง พระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง (สรณะ) เป็นที่ระลึก แต่การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทานี้ เดิมใช้บวชพระมาก่อน กล่าวคือ ตอนที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยออกประกาศศาสนา ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ประทานการบวชแก่บุคคลผู้เลื่อมใสศรัทธา ขณะที่ประทับอยู่ในเขตเมืองพาราณสีนั้น มีจำนวนถึง ๖๐ รูป แล้วพระองค์ก็ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้นออกประกาศศาสนาไปตามบ้าน คามนิคมและราชธานี โดยส่งไปแห่งละรูป มิให้เดินทางไปแห่งเดียวกันสองรูป
เมื่อมีผู้ศรัทธาจะขอบวชในพุทธศาสนา พระสาวกก็ไม่อาจจะบวชให้แก่ผู้เลื่อมใสเหล่านั้นได้ ต้องพาผู้มีศรัทธาเหล่านั้นเดินทางรอนแรม หนทางก็ทุรกันดาร พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากเหล่านี้จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถบวชด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทานี้ โดยไม่ต้องพาผู้ขอบวชเดินทางมาหาพระพุทธองค์อีกต่อไป
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา หมายถึง การบวชด้วยคำประกาศย้ำ ๓ ครั้ง รวมทั้งคำประกาศนำเป็นครั้งที่ ๔ เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชให้แก่กุลบุตร โดยให้ผู้นั้นบวชเป็นสามเณรชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้ขออุปสมบท จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์สวนประกาศย้ำครั้งที่ ๑ ว่าสงฆ์จะรับผู้นั้นเป็นภิกษุหรือไม่ เมื่อสงฆ์ยังนิ่งอยู่ก็สวดประกาศย้ำอีก ๓ ครั้ง ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็เป็นอันสำเร็จเป็นพระภิกษุ วิธีอุปสมบทแบบนี้ใช้มาตั้งแต่พุทธกาล ตอนกลางมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อทรงอนุญาตญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ทรงเลิกเอหิภิกขุอุปสัมปทา และติสรณคมนูปสัมปทาเสีย