คุณสมบัติของผู้บวช คู่มือการบวช

วันที่ 12 กพ. พ.ศ.2563

คุณสมบัติของผู้บวช

คุณสมบัติของผู้บวช
 

      สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศ การหละหลวมในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวชให้คนทั่วไปกราบไหว้ นับถือ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น คนเคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาบวชเป็นพระแล้ว นอกจากจะไม่อยู่ในศีลแล้วยังก่อคดีอุกฉกรรจ์ขึ้นอีก

คุณสมบัติของผู้บรรพชาอุปสมบท 
      ๑. ต้องรู้เดียงสา คือมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ส่วนผู้อุปสมบทต้องอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป 
      ๒. ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน โรคฝีดาษ โรคกลาก หอบหืด ลมบ้าหมู และโรคที่สังคมรังเกียจอื่น ๆ 
      ๓. ไม่เป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง หรือพิการ เช่น มือด้วน แขนด้วน ขาเป๋ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย 
      ๔. ไม่เป็นคนมีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น เตี้ยเกินไป สูงเกินไป คนคอพอก 
      ๕. ไม่เป็นคนทุรพล เช่น แก่เกินไป ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 
      ๖. ไม่เป็นคนมีพันธะ คือ คนที่บิดามารดาไม่อนุญาต คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต 
      ๗. ไม่เป็นคนเคยถูกลงอาญาหลวง เช่น คนถูกสักหมายโทษ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย 
      ๘. ไม่เป็นคนประทุษร้ายความสงบ เช่น เป็นโจรผู้ร้ายต้องอาญาแผ่นดิน

บุคคลต้องห้าม ไม่ให้บวชในพระพุทธศาสนาโดยเด็ดขาด 
      ประเภทที่ ๑ บุคคลที่มีเพศบกพร่อง ได้แก่ 
            - ผู้เป็นบัณเฑาะก์ คือ กะเทย 
            - อุภโตพยัญชนก คือ คนสองเพศ 
      ประเภทที่ ๒ บุคคลที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา ได้แก่ 
            - ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์มาก่อน 
            - ผู้ที่ข่มขืนทำร้ายภิกษุมาก่อน 
            - ลักเพศ คือ ผู้ที่ปลอมบวชมาก่อน 
            - ภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ คือเคยบวชมาแล้วเปลี่ยนศาสนาไปเมื่อกลับมาขอบวชใหม่จะไม่รับ ถือว่าใจโลเล 
            - ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก คือ ผู้ที่บวชแล้วทำผิดร้ายแรงขาดความเป็นภิกษุมาครั้งหนึ่งแล้ว จะกลับมาบวช อีกไม่ได้ 
            - ภิกษุทำสังฆเภท คือ ทำให้สงฆ์แตกแยก แม้ที่สุดคนที่มีนิสัยเสีย ทำให้หมู่คณะแตกแยก ก็ไม่รับเข้าบวช 
            - ผู้ทำโลหิตุปบาท คือ ทำร้ายพระศาสดาถึงห้อพระโลหิต
      ประเภทที่ ๓ ผู้ทำผิดต่อผู้ให้กำเนิดคือ ฆ่าบิดามารดาของตน 
      บุคคลทั้ง ๓ ประเภทนี้เรียกว่า "อภัพบุคคล" ห้ามอุปสมบทเด็ดขาด แม้บวชแล้ว รู้ทีหลังก็ต้อง ให้เขาออกจากความเป็นภิกษุสงฆ์ของผู้ที่จะบวชได้

ในพระวินัยบัญญัติ ห้ามบุคคล ๘ จำพวก มิให้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา คือ
      ๑. บุคคลที่เป็นโรคอันสังคมรังเกียจ เช่น เป็นโรคติดต่อ รักษาไม่ค่อยจะหายเรื้อรัง ได้แก่โรค ๕ อย่าง คือ
            (๑) โรคเรื้อน
            (๒) โรคฝี
            (๓) โรคกลาก
            (๔) โรคหืด
            (๕) โรคลมบ้าหมู
            (๖) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาไม่หาย (เพิ่มเติม)
      ๒. คนที่มีอวัยวะไม่สมบูรณ์ คือ บกพร่อง เช่น คนที่มีมือขาด มีเท้าขาด มีนิ้วมือนิ้วเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด (ไม่ว่าจะโดยกำเนิด หรือ จากอุบัติเหตุ..เพิ่มเติม ) เป็นต้น คนอย่างนี้ตามพระวินัยบวชให้ไม่ได้
      ๓. คนที่มีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น คนที่มีมือเป็นแผ่น นิ้วมือติดกันไม่เป็นง่าม คนค่อม คนเตี้ย คนปุก (ตีนปุก) (รวมทั้ง คนที่มีอวัยวะผิดไปจากคนปกติ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม..เพิ่มเติม) เป็นต้น บวชไม่ได้
      ๔. คนที่พิกลพิการ คือ คนตาบอดตาใส คนที่เป็นง่อย คนมีมือเท้าหงิก คนกระจอกเดินไม่ปกติ และ คนหูหนวก เป็นต้น
      ๕. คนที่ทุลพล เช่น คนแก่ง่อนแง่น คนที่มีกำลังน้อย ไม่อาจทำกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้เป็นต้นว่า กิจในการซักจีวร ย้อมจีวร เป็นต้น คนอย่างนี้ห้ามบวช
      ๖. คนเกี่ยวข้อง คือ หมายถึง คนที่มีพันธะผูกพัน เช่น คนที่บิดามารดา ไม่อนุญาต คนที่มีหนี้สินคนที่มีภรรยาแล้ว ภรรยาไม่อนุญาต ก็บวชไม่ได้
      ๗. คนเคยถูกอาชญาหลวง มีหมายปรากฏอยู่ ในสมัยก่อน ส่วนมากถูกเฆี่ยนหลังลาย หรือ คนที่เป็นนักโทษ ถูกสั่งหมายโทษเอาไว้ คนอย่างนี้บวชไม่ได้
      ๘. คนที่ประทุษร้ายต่อสังคม เช่น โจรผู้มีชื่อเสียง โด่งดัง ก็บวชไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

บุคคลที่ห้ามอุปสมบท 
      คือ ผู้ที่ยังไม่พร้อม ยังบวชไม่ได้ มีดังนี้ 
      ๑. ผู้ไม่มีอุปัชฌาย์ คือ ไม่มีพระอาจารย์รูปไหนรับเป็นศิษย์ 
      ๒. ผู้ไม่มีบาตร 
      ๓. ผู้ไม่มีจีวร 
      ๔. ผู้ไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร 
      ๕. ผู้ยืมบาตรเขามา
      ๖. ผู้ยืมจีวรเขามา 
      ๗. ผู้ยืมทั้งบาตรทั้งจีวรเขามา

หน้าที่สำคัญ สำหรับผู้ที่จะอุปสมบท
      ๑. ให้ท่องคำบวช หรือ คำขานนาค อันได้แก่ คำขอบรรพชาอุปสมบท คำสมาทานสิกขาบท คำขอนิสัย คำตอบคำถามของพระกรรมวาจา ฯลฯ ให้จำได้ขึ้นใจ
     ๒. เมื่อใกล้ถึงวันบวช จะต้องไปอยู่วัด เพื่อฝึกซ้อมขั้นตอนพิธีการบรรพชาอุปสมบท จากพระพี่เลี้ยง และดูจากเจ้านาคคนอื่นๆ ที่อุปสมบทก่อนเรา
   ๓. ไปขอ “ฉายา” (ชื่อใหม่ของตน เมื่อบวชเป็นพระแล้ว) จากอุปัชฌาย์หรือเจ้าอาวาส เพื่อใช้ตอบคำถามของพระกรรมวาจาต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ในเวลาทำพิธีบวช
      ๔. ท่องบทสวดมนต์พระปริตรต่างๆ พร้อมบทให้ศีลให้พร บทอนุโมทนา ฯลฯ หลังจากที่บวชเป็นสามเณรหรือภิกษุแล้ว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023902448018392 Mins