ความหมายของพระสงฆ์นัยต่าง ๆ

วันที่ 22 กพ. พ.ศ.2563

ความหมายของพระสงฆ์นัยต่าง ๆ

                 ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของคำว่า พระสงฆ์ กันก่อน ซึ่งโดยทั่วไป เรามักพบเห็นคำว่า ๑) พระภิกษุ (ภิกฺขุ) และ ๒) พระสงฆ์(สงฺโฆ) โดยในบางครั้งเราจะเรียกทั้ง ๒ คำนี้รวมกันว่า พระภิกษุสงฆ์(ภิกฺขุ + สงฺโฆ)

                  ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ เป็นความหมายโดยทั่วไปแก่ผู้ขอและนักบวชทุกประเภท เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น จึงอาศัยการเที่ยวขอ แต่เป็นการขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ หมายถึง จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ไม่ออกปากขอเลย คนฉลาดมีปัญญาจึงจะรู้ว่านักบวชยืนเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือ การขออย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย

                

                  คำว่า ภิกษุ ในที่นี้นอกจากมีความหมายทั่วไปแล้ว ยังมีความหมายเฉพาะไม่ทั่วไปแก่นักบวชอื่น คือหมายถึง ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารปฏิบัติในไตรสิกขา หรือมีศีลและทิฏฐิตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เพื่อการบรรลุมรรคผลและนิพพาน ซึ่งในปัจจุบันก็ได้แก่ผู้ชายที่มีคุณสมบัติบวชได้และได้อุปสมบทด้วยสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

 

                คำว่า สงฆ์ โดยทั่วไปแปลว่า หมู่ หรือ ฝูง เช่น หมู่พระภิกษุ(ภิกฺขุสงฺโฆ) หมู่เทพ (เทวสงฺโฆ) ฝูงนก (สกุณสงฺโฆ) เป็นต้น แต่ในเรื่องความเคารพในพระสงฆ์นี้มุ่งหมายเฉพาะ “หมู่พระภิกษุ” ผู้ที่เข้ากันได้โดยมีทิฏฐิและศีลอันเสมอกัน คือ มีสัมมาทิฏฐิและศีล

 

                 ตามครรลองที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากำหนดไว้เหมือนกันเท่านั้นไม่ใช่หมู่อื่น เพราะเป็นหมู่ที่ประเสริฐสุดและเป็นหมู่รวมเข้ากันได้กับพระรัตนะทั้งสองข้างต้นคือ พระพุทธเจ้าและพระธรรม ดังกล่าวมาแล้ว

                 ความเป็นสงฆ์มีความหมาย ๒ ประการคือ

               ๑. เป็นสงฆ์โดยจำนวน ตามความหมายในพระวินัยจะ กำหนดเอาจำนวนพระภิกษุผู้พร้อมเพรียงกันในแต่ละสังฆกรรม ซึ่งจะเรียกว่า สงฆ์ แตกต่างกันไป ในบางสังฆกรรม เช่น อุโบสถกรรม
คือ การสวดพระปาติโมกข์ในวันอุโบสถทุก ๆ กึ่งเดือน ต้องมีพระภิกษุอย่างน้อย ๔ รูปขึ้นไป จึงจะทำสังฆกรรมได้ ถ้าน้อยกว่านี้คือ ๒-๓รูป เรียกว่า คณะ ให้บอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กันและกัน สำหรับ
๑ รูป จะเรียกว่า บุคคล

 

                ให้อธิษฐานกำหนดในใจเอา จะสวดพระปาติโมกข์เป็นสังฆกรรมไม่ได้ ส่วนสังฆกรรมที่ต้องใช้พระภิกษุพร้อมเพรียงกันมากกว่า ๔ รูป คือ ตั้งแต่ ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูปขึ้นไป เช่น การปวารณา การให้อุปสมบท การอัพภาน เป็นต้น พระภิกษุที่น้อยกว่าในกรรมนั้น ๆ ก็ไม่จัดเป็นสงฆ์ในกรรมนั้น ๆ เหมือนกัน แต่เป็นสงฆ์ในกรรมที่เหลือได้ สาเหตุที่พระองค์ทรงกำหนด ๔ รูปขึ้นไป ก็เพื่อให้สังฆกรรมนั้น ๆ สำเร็จได้ด้วยความบริสุทธิ์บริบูรณ์

 

                 ๒. เป็นสงฆ์โดยเจาะจงต่อ “อริยคุณ” หรือ “อริยภาวะ”โดยผ่านทาง สงฆ์ (ภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป) คณะ (พระ ๒-๓ รูป) หรือบุคคล (พระรูปเดียว) อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ทำการแทนสงฆ์ จะเป็นพาล หรือเป็นบัณฑิต มีศีล หรือทุศีลก็ตาม ตามนัยพระสูตร ซึ่งมี ๔ ประเภท คือ

                 ๑) หมู่พระอริยบุคคล ๘ ประเภท


                 ๒) หมู่พระภิกษุปุถุชนผู้มีศีล คือ สมมติสงฆ์ในปัจจุบัน


                 ๓) พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเดียวกันกับพระรูปอื่น


                 ๔) หมู่โคตรภูสงฆ์ผู้ทุศีล มีเพียงผ้ากาสาวะพันคอเป็นเครื่องหมายของความเป็นพระเท่านั้น ซึ่งจะมีในอนาคต         

   

                สรุปความว่า เพราะเป็นหมู่ของพระภิกษุ จึงชื่อว่า พระภิกษุสงฆ์ (ภิกฺขุสงฺโฆ) และเพราะเป็นหมู่ที่เกิดจากการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงชื่อว่า พระสงฆ์สาวก (สาวกสงฺโฆ) ปัจจุบันเรียกกัน
สั้น ๆ ว่า พระสงฆ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายเอาพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่หากพิจารณาในฐานะของผู้ทำการแทนสงฆ์ แม้จะมีเพียง ๑ รูปก็ได้ชื่อว่า สงฆ์ ด้วยเหตุนี้

 

               "ภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารปฏิบัติในไตรสิกขา มีศีล และทิฏฐิตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนไว้เพื่อการบรรลุมรรคผลและนิพพาน"

                                                                      

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ วิ.มหา. ๔/๖๙-๗๐/๙๗-๙๙ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

                     

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042561765511831 Mins