ความสูญเสีย

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2563

ความสูญเสีย

              ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ราวปลายเดือนมีนาคม ข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกการศึกษาสงเคราะห์ กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ ต้องดูแลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กพิการประเภท
ต่างๆ ตลอดจนเด็กยากจน เด็กกำพร้าในถิ่นทุรกันดาร เวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ก็จัดอยู่ในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าต้องดูแล ด้วยเหมือนกัน เป็นโรงเรียนรับเด็กยากจนหรือเด็กกำพร้าจากถิ่นทุรกันดาร ตั้งอยู่ตามภาคต่างๆ ของประเทศ รับนักเรียนชาย-หญิงอยู่ประจำ เรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่หนึ่งถึงปีที่เจ็ด (ในสมัยนั้น) ทางราชการเป็นผู้รับออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง  หน้าที่ของข้าพเจ้า นอกจากจัดสรรเรื่องงบประมาณ จัดหาครู  และสิ่งจำเป็นต่างๆ แล้ว ยังต้องออกเดินทางไปตรวจตราเยี่ยมเยียนอยู่เป็นประจำ และบ่อยครั้งที่ต้องไปเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากมีการร้องเรียน  เกี่ยวกับการทุจริตของผู้บริหารโรงเรียน

 

             ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไปเยี่ยมโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แห่งหนึ่ง  เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการขอย้ายของครูบางคนซึ่งร้องเรียนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม การเดินทางไปครั้งนั้น ต้องพักค้างแรมที่โรงเรียนคืนหนึ่ง
ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกเดินสังเกตการณ์ไปทั่วบริเวณตามลำพัง  ไม่รอให้คนของทางโรงเรียนเป็นฝ่ายนำชมสถานที่ เพราะจะไม่ได้รับรู้ตามความเป็นจริง จะได้เป็นแต่สิ่งที่เป็น "ผักชีโรยหน้า"

 

              ขณะที่เดินอยู่ใกล้หอพักของนักเรียนชาย เด็กๆ ที่เดินผ่านพากันทำความเคารพด้วยความนอบน้อม ข้าพเจ้าทักทายพวกเขาอย่างให้ความเอ็นดูเป็นพิเศษ เพราะนึกเวทนาว่าตัวเล็กๆ กันทั้งนั้น ต้องกำพร้าพ่อแม่ ครั้งแรกดูเด็กๆ แสดงอาการหวาดกลัว แต่เมื่อข้าพเจ้าพูดด้วยถ้อยคำเป็นกันเอง ใช้สรรพนามแทนตัวข้าพเจ้าว่า ครู และเรียกพวกเขาว่า ลูก
 

"เมื่อคืนลูกนอนหลับกันสบายดีรึเปล่า"


"คนนั้นเป็นหวัด น้ำมูกไหล ไปขอยาที่ครูพยาบาลมากินแล้วหรือยังจ๊ะ"


"อ้าว ลูกคนนั้นกางเกงขาดเปื่อยเชียว วันนี้ไปบอกครูผู้ปกครองขอกางเกงตัวใหม่หน่อยนะจ๊ะ ถ้ากางเกงตัวใหม่หมด ให้ครูของหนูมาหาครูนะ เพราะครูมีกางเกงติดท้ายรถมาหลายกล่อง"


                เมื่อคุยอย่างสนิทสนมนานเข้า เด็กๆ ก็พากันหายจากท่าทีหวาดกลัว เริ่มยิ้มแย้มคุ้นเคย พอข้าพเจ้าถามประโยคสุดท้ายขึ้นว่า ทุกวันกินข้าวกันอิ่มมั้ยจ๊ะ เท่านั้น เด็กๆ ต่างคนต่างก็หันหน้ามองกันเอง ทำท่าเหมือนเกี่ยงกันตอบคำถาม อ้ำอึ้งกันอยู่ครู่ใหญ่ ก็มีเด็กคนหนึ่งท่าทางองอาจก้าวเท้าออกมายืนข้างหน้าข้าพเจ้า เขาพูดเหมือนคนตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า


"ครูครับ ครูมาเยี่ยมที่นี่บ่อยๆ ได้มั้ยครับ" พร้อมกับเงยหน้า  จ้องมองข้าพเจ้า รอคำตอบ


"ทำไมเหรอลูก ทำไมชอบให้ครูมาบ่อยๆ" ข้าพเจ้าสงสัยเต็มที


"เวลาครูหรือพวกผู้ใหญ่ที่อื่นมาเยี่ยมพวกเรานะครับ ทางโรงเรียนทำกับข้าวอร่อยๆ ให้พวกเรากินทุกครั้งเลยครับ ครูมาสองวันเนี่ย  พวกผมได้กินทั้งแกงเนื้อและแกงไก่เลยครับ อร่อยจัง"


ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนกลืนอะไรสิ่งหนึ่งลงในลำคอ เพราะรู้สึกว่าสิ่งนั้นวิ่งมาค้างอยู่ข้างใน ถามว่า


"อ้าว แล้วทุกวันลูกกินข้าวกะอะไรกันล่ะจ๊ะ"


ตอนนี้เด็กๆ กลับตอบได้พร้อมกันราวกับนัดไว้


"ตอนเช้า ข้าวต้มกับพัก (ผัก) กาดเค็มครับ กลางวันต้มผักกาดดองครับ"


"ผักกาดเค็มยำหรือเปล่า คือครูหมายถึงใส่มะนาว น้ำตาล หัวกระเทียม พริกขี้หนู อะไรทำนองนี้น่ะ"


"เปล่าครับ เป็นหัวๆ คนละหัว ถ้าหัวใหญ่ก็ตัดคนละครึ่งครับ"  เด็กแย่งกันตอบ


"ผักกาดดองต้มกับอะไร หมูหรือไก่" ข้าพเจ้าถามใหม่อย่างมีความหวัง


"ไม่เห็นมีอะไรต้มด้วยนี่ครับ ต้มกับน้ำเปล่าเท่านั้น" เด็กๆ ตอบ  ตามประสาซื่อ ความจริงคงจะมีหมูสามชั้นต้มด้วย แต่เมื่อไม่มีชิ้นหมูในชามของแกเลย แกก็ต้องเข้าใจว่าต้มกับน้ำเปล่าๆ เมื่อถามย้ำให้แน่ใจ  ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า อาหารของเขาเป็นอย่างนี้ทุกวัน ยกเว้นผักกาดดองต้มน้ำ บางวันก็เปลี่ยนเป็นมะเขือจิ้มน้ำพริก ไม่มีปลาทู
 

ความจริงเวลานั้นปลาทูนึ่งเข่งละไม่เกิน ๕๐ ตางค์ ถ้าตัวเล็กหน่อย  ราคาสามเข่งบาท แต่เด็กๆ ก็บอกว่าไม่เคยได้รับประทาน  ข้าพเจ้ามองหน้าเด็กสงสารจนพูดไม่ถูก หนูเอ๋ย พวกเจ้าคงมีกรรมเวรเก่าติดตัวมาไม่น้อย เป็นกำพร้าพ่อแม่ไม่มี หรือมีก็ยากจน  แสนเข็ญยังไม่พอ อุตส่าห์มีโชคดีได้เป็นลูกรัฐบาล แต่เจ้าคงไม่ได้ทำบุญด้วยทานไว้ในชาติปางก่อน รัฐบาลให้เงินค่าเลี้ยงดูเจ้าก็จริง เจ้าก็ยังไม่มีบุญพอได้กิน ต้องถูกฝ่ายไหนต่อฝ่ายไหนคดโกงเอาเงินของเจ้าไป  จนเหลืออาหารเพียงผักกาดเค็ม ผักกาดดองกับมะเขือที่ปลูกเองกิน
ค่าอาหารของเจ้าตกวันละ ๔ บาท ( สมัยข้าวแกงจานละ ๕๐ ตางค์)  แต่เจ้าก็ได้กินวันละไม่ถึงบาท (ข้าวสารถังละ ๒๐ - ๒๕ บาท) น่าอนาถใจนัก


                 เดินจากหอพักนักเรียนชายไปทางหอพักนักเรียนหญิง ในใจของข้าพเจ้าก็คิดหาวิธีแก้ไขเรื่องอาหารการกินของนักเรียน แก้ไขความทุจริต  คดโกงต่างๆ ก็คิดออกว่าจะทำเป็นขั้นตอนต่างๆ อย่างไร ข้อสำคัญที่สุด  ก่อนกลับ ข้าพเจ้าจะต้องขอเชิญครูทุกคนของที่นั่นประชุม ข้าพเจ้าจะให้ข้อคิดเห็นในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ให้พวกเขาเกิดความเมตตาสงสารเด็กๆ พวกเด็กพลัดพรากจากพ่อแม่ญาติพี่น้องมาตั้งแต่เยาว์วัยก็เป็นทุกข์  ขาดคนดูแลทะนุถนอมเอาใจใส่น่าเห็นใจอยู่แล้ว ยังต้องมาอดอยากลำบาก ผอมหัวโตกันเป็นแถว มีความหวังอยู่ที่ครูเพียงแห่งเดียว ครูกินเลือดเนื้อ  เด็กได้ลงคอกันอย่างไร ข้าพเจ้าตั้งใจจะเน้นจุดนี้ให้มากที่สุด เงินทุนของนักเรียน ทางราชการจ่ายให้เป็นค่าอาหารประจำวัน ใครจะคดโกงด้วย  วิธีใดๆ ก็ตาม จะต้องถือว่าเหมือนการกินเลือดกินเนื้อเด็ก มีอาชีพเป็นผีดิบ ไม่ใช่ครู จะต้องพูดกันให้เจ็บแสบขนาดนี้ และข้าพเจ้ายังคิดต่อเนื่อง  ในการโยกย้ายขบวนการครูขี้โกงที่ร่วมมือกันเป็นทีมออกไป จะต้องหาครูที่มีคุณธรรมมาบริหารงานแทน

 

                   ครั้นพอเดินผ่านมาทางหอพักนักเรียนหญิง ก็เห็นนักเรียนหญิง ๕-๖ คน วิ่งหน้าตาตื่นหนีกันสุดฝีเท้าออกมา ข้างหลังนักเรียนเหล่านั้น  มีนักเรียนคนหนึ่งวิ่งไล่ตามส่งเสียงร้องกรีÍด กรี๊ด.. กรี๊ด.. จนสุดเสียง
พร้อมทั้งหยิบฉวยสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวขว้างปาพวกที่วิ่งหนี เมื่อพวกแรกวิ่งได้เร็วกว่า เด็กคนสุดท้ายวิ่งตามไม่ทัน แกก็ทรุดตัวลงนั่งเหยียดเท้า  เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา พร้อมทั้งใช้มือทั้งสองทุบตีตนเองไปด้วย ทึ้งเผ้าผม
ตนเองไปด้วย

 

                    ที่ทำให้ข้าพเจ้าตกใจสุดขีดตรงที่เด็กหญิงวัยประมาณสิบขวบผู้นั้น ใช้นิ้วมือทั้งสิบหยิกข่วนใบหน้าของตนเอง เล็บฝังลงไปในเนื้อ เลือดออกมาแดงเลอะหน้าเขรอะไปหมด ปากก็ร้อง กรี๊ด.. กรี๊ด.. พร้อม
กับด่าทอคำหยาบคายต่างๆ

 

                   ข้าพเจ้ากรากเข้าไปจับมือทั้งสองของเด็กไว้ ไม่ให้ทำร้ายร่างกาย พูดว่า


"หนู หนู เป็นอะไรลูก ใครทำอะไรให้ลูกโกรธกันเนี่ย โธ่เอ๋ย แม่คุณ หน้าตาสวยๆ เป็นแผลหมดเลย" ข้าพเจ้าพูดด้วยความจริงใจ  ใบหน้าของเด็กหญิงคนนั้นสวยงามผิดจากเด็กคนอื่นๆ ผิวเนื้อก็ขาวสะอาด ไม่ดำคล้ำ ต่างจากเด็กอื่นอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะของเด็กไม่น่าเป็นเด็กไร้ผู้ปกครอง  น้ำเสียงที่จริงใจของข้าพเจ้า รวมทั้งที่เป็นคนแปลกหน้า ทำให้เด็กหญิงนั้นหยุดชะงักอาการอาละวาด แต่ก็ยังร้องไห้เสียงดัง ฮือ.. ฮือ..
เอาเท้าสองข้างถูกันไปมา  เด็กกลุ่มที่วิ่งหนีเดินย้อนกลับมา ข้าพเจ้าหันไปถามสาเหตุ   ได้รับคำชี้แจงว่า


"อีพงษ์เพชรคนนี้มันบ้า..ค่ะ มันชอบร้อง กรี๊ด.. กรี๊ด.. แล้วก็วิ่งไล่ขว้างปาพวกหนู วิ่งไม่ทัน มันก็จะหยิกข่วนตัวเองยังงี้แหละค่ะ"
 

ข้าพเจ้าใช้กระดาษชำระที่อยู่ในกระเป๋าถือซับเลือดที่ออกซิบๆ  อยู่ทั่วไปในหน้า เห็นแผลเป็นรอยเล็บอยู่ทั่วไป จึงพูดเหมือนปรารภว่า


"รอยเล็บพวกนี้ พงษ์เพชรเค้าทำตัวเองทั้งนั้นรึ"


"ใช่ค่ะ มันบ้า มันชอบหยิกข่วนตัวเองอย่างนี้แหละค่ะ ที่ขานั่นก็เหมือนกัน" เด็กคนหนึ่งชี้แจง


ข้าพเจ้าโอบกอดเด็กมีปัญหาไว้ในอ้อมแขน โบกมือไล่ให้เด็กคนอื่นๆ กลับไปเสีย เมื่ออยู่กันตามลำพัง จึงได้ปลอบถาม


"ลูกโกรธที่เพื่อนเค้าล้อเลียนว่าลูกบ้า ใช่ไหมจ๊ะ"


อีกฝ่ายตอบเป็นคำพูดไม่ได้เพราะยังสะอึกสะอื้นอยู่ ได้แต่พยักหน้ารับ


"ครูว่าลูกไม่ใช่เด็กบ้า พวกล้อลูกเหล่านั้น เค้าไม่ตั้งใจว่าลูก เป็นบ้าจริงๆ หรอกจ้ะ เค้าล้อเพื่อความสนุกสนาน เห็นหนูโกรธแล้ว วิ่งไล่พวกเค้า เค้าก็วิ่งหนีกันเฮฮา เห็นเป็นสนุกไป ถ้าเค้าล้อแล้วลูกเฉยๆ ไม่แสดงอาการโกรธตอบ เค้าก็จะเลิกล้อไปเอง"


เด็กฟังแล้วค่อยๆ ลดเสียงสะอื้นลง พูดว่า


"หนู้ทนไม..ไหว๊..ผวกมั้นหล่อกันไมเหลิก เดี๋ยวผวกโน้นมาหล่อ เดี๋ยวผวกนีมาหล่อ"


ข้าพเจ้าฟังแล้วต้องลอบอมยิ้ม เพราะสำเนียงพูดของเด็กแปร่ง  เป็นภาษาทางภาคใต้ พวกนักเรียนที่เป็นเพื่อนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง  ฟังแล้วคงเห็นเป็นของแปลก เห็นผิดจากพวกตน ยังไม่คิดเอาเป็นเพื่อน

ไม่ยอมรับ จึงพากันล้อเลียนเป็นตัวตลก เพื่อนๆ อาจจะสนุกสนานในการล้อให้พงษ์เพชรโกรธ แต่ตัวของคนถูกล้อกลับมีอารมณ์วิปริตเข้าทุกวัน

 

สมดังคำตรัสอนของพระพุทธองค์ว่า


"คนมักโกรธ ย่อมอยู่เป็นทุกข์"


"คนมักโกรธ ย่อมมีผิวพรรณเศร้าหมอง"


นี่ไม่ใช่เศร้าหมองอย่างเดียว แต่เป็นแผลไปทั่วหน้า ทั่วแขน  ทั่วขา
 

                    ข้าพเจ้าปลอบโยนเด็กไปตามสมควร พร้อมทั้งคิดแก้ปัญหา  ประการแรกต้องทราบสาเหตุเสียก่อนว่าเด็กจากภาคใต้มาอยู่ที่ภาคนี้  ได้อย่างไร


"ท่านหัวหน้าครับ เด็กหญิงพงษ์เพชรเนี่ยเป็นเด็กพิเศษครับ  มาจากแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการทางโน้นฝากผ่าน  มาทางผู้ว่าราชการทางนี้ เพิ่งมาอยู่ปีนี้เองครับ" ครูผู้ดูแลกล่าวอธิบาย


"เด็กจากพายุแหลมตะลุมพุกปีก่อนนั่นหรือ เขาฝากมากี่คน  ที่นี่น่ะ"


                  ข้าพเจ้าฟังคำอธิบายด้วยความเข้าใจ เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว มีลมพายุพัดเอาน้ำทะเลขึ้นมาหอบบ้านเรือนผู้คนที่แหลมตะลุมพุกตายไป  ร่วมพันคน เด็กที่เหลืออยู่ รอดชีวิตมาได้ คนในบ้านคงตายไปหมดแล้ว


"เด็กถูกส่งมาที่นี่ ๒ คนครับ ผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายนิสัยปกติครับ ผู้หญิงโกรธรุนแรงอย่างที่หัวหน้าเห็นแหละครับ"


"ตอนเด็กมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ มีอาการโกรธเพื่อนๆ รุนแรงอย่าง  ทุกวันนี้รึเปล่าคะ"


"ไม่เป็นครับ มาถูกเพื่อนล้อกันบ่อยเข้า จึงเป็นอย่างนี้ ครูก็ห้ามปรามกันทั้งสองฝ่าย แต่ก็ยังไม่วายเกิดเรื่องทุกวัน ครูหนักใจกัน  ทุกคนครับ กำลังคิดว่าจะเรียนถามหัวหน้าเรื่องปัญหานี้"


"เมื่อเด็กมาใหม่ๆ เป็นเด็กปกติใช่ไหม ?"


"ก็ไม่เชิงครับ มีอาการเศร้าซึม ไม่พูดจากับใครๆ บางทีก็เหม่อลอย เหมือนขาดสติ"


"ครอบครัวของเด็ก ไม่มีเหลือเลยสักคนกระมัง เด็กจึงขวัญเสียยังงี้"


"ใช่ครับ พ่อ แม่ และน้องๆ อีก ๔ คน เมื่อพายุพัดน้ำขึ้นมา  พ่ออุ้มลูกคนหนึ่ง แม่อุ้มอีกคนที่ยังเล็ก มือที่เหลือก็จับลูกคนโต และให้  พี่ๆ น้องๆ จับมือกันไว้แน่น น้ำพัดมาโครมเดียว หลุดหายจากกันไปหมด  เด็กผู้หญิงคนนี้ถูกคลื่นซัดลอยลิ่วขึ้นไปปะทะกับยอดมะพร้าว แกเลยได้ยึดทางมะพร้าวเกาะเอาไว้แน่น เลยรอดตายมาครับ คนอื่นๆ ถูกคลื่นกวาดลงทะเลเกลี้ยง"


ข้าพเจ้านึกเอาตนเองไปเปรียบว่า ถ้าข้าพเจ้ามีอายุไม่ถึงสิบขวบเหมือนพงษ์เพชร เมื่อวานนี้ยังอยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่และน้องๆ แต่วันนี้  เหลือลำพังตัวคนเดียว ภัยธรรมชาติขนาดคลื่นลูกโตสูงเท่าต้นมะพร้าวคงเท่าภูเขาลูกย่อมๆ ใครพบกับตนเองก็น่าขวัญเสียจนบ้าได้เหมือนกัน
 

ยิ่งได้มาอยู่ในแวดวงของเพื่อนๆ ที่ไม่เข้าใจ เห็นอาการแปลกประหลาดเหมือนคนบ้า เป็นที่น่าเย้าแหย่สนุกสนาน อาการเสียขวัญก็ยิ่งเพิ่มทับทวี คงจะกลายเป็นบ้า สติวิปลาส ไปได้ในที่สุด
 

ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจพูดว่า
"เอาเถอะ เดี๋ยววันนี้ดิชั้นจะเอาตัวแกไปด้วย จะพาไปให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จ ถ้าหมอวินิจฉัยว่าป่วยก็จะให้รักษาตัวก่อน  แล้วจะหาครอบครัวที่อบอุ่นให้"


ครูผู้รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับเด็กหญิงพงษ์เพชรยิ้มออก  ไปตามๆ กัน วันนั้น เมื่อตรวจราชการและทำหน้าที่ที่ควรทำเรียบร้อยแล้ว
 

               ข้าพเจ้าพาเด็กคนดังกล่าวกลับมาด้วย เด็กมีท่าทีดีใจ ยิ้มแย้มเมื่อรู้ตัวว่า  จะได้พ้นจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนที่ชอบล้อเลียนเหล่านั้น  ข้าพเจ้าพาพงษ์เพชรมาพักที่บ้าน เรียกเด็กว่าลูกทุกคำ เวลานั้น  ลูกชายคนโตของข้าพเจ้ามีอายุ ๕ ขวบเศษ ลูกสาวคนรอง ๔ ขวบ และ ลูกชายคนเล็ก ๗ เดือน ข้าพเจ้าพูดว่า


"หนูมาอยู่ในบ้านครู ก็เหมือนไม่ใช่นักเรียนแล้วนะจ๊ะ หนูเหมือนลูกสาวคนโตของครู เด็กๆ ลูกของครูทั้ง ๓ คนเนี่ยก็เหมือนเป็นน้องๆของหนู เราเป็นพี่น้องกัน ๔ คนเลยจ้ะ"

 

                  ข้าพเจ้าได้ให้ลูกคนโตและคนรองไหว้พี่สาวคนใหม่ ยกเว้น คนเล็กอายุ ๗ เดือน ยังไม่รู้เรื่อง ดูพงษ์เพชรมีอาการดีใจ ดวงตา  เป็นประกายตื่นเต้น ยิ่งข้าพเจ้าอุ้มลูกคนเล็กไปวางบนตักของแก แกก็ยิ่ง
ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ กอดน้องไว้แน่น ข้าพเจ้าบอกเด็กลูกจ้างทั้ง ๒ คน  ให้เอาใจใส่เหมือนพงษ์เพชรเป็นลูกคนโตของข้าพเจ้าจริงๆ ทั้งพ่อบ้านของข้าพเจ้าเมื่อทราบประวัติชีวิตเด็ก ก็ให้ความเอ็นดูรักใคร่ ไม่แสดงความรังเกียจแต่ประการใด พงษ์เพชรจึงอยู่กับข้าพเจ้าอย่างเป็นสุข  อาการเกรี้ยวกราดขาดสติร้องกรี๊ด.. กรี๊ด.. ไม่เกิดขึ้นอีกเลย


                  บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าพาพงษ์เพชรไปที่ทำงานด้วย เพราะต้องพาไปติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ มีหลายคนเข้าใจผิดแม้กระทั่งแม่ค้า ถามข้าพเจ้าว่า


"นี่ลูกสาวคนโตของคุณรึคะ หน้าตาสวยมากจังเลย คงเหมือนพ่อเค้านะคะ"  ข้าพเจ้าจะตอบต่อหน้าเด็กว่า


"ใช่ค่ะ ลูกสาวคนโต เมื่อก่อนอยู่ต่างจังหวัด นี่ไปรับให้มาเข้าเรียนในกรุงเทพฯ  เอ้า..ลูกจ๋า..ไหว้คุณป้า.. (คุณน้า..คุณอา..) ก่อนค่ะ"


                 เด็กหญิงจะเงยหน้าขึ้นมองข้าพเจ้า พร้อมกับยิ้มอย่างเป็นสุข  ก่อนยกมือไหว้ตามคำสั่งทุกครั้ง เด็กมีความสุขใจมากเมื่อข้าพเจ้าแนะนำต่อหน้าใครๆ ว่า แกเป็นลูกของข้าพเจ้า เวลาเดินไปไหนด้วยกัน
เด็กมักจะจับมือของข้าพเจ้า บางครั้งก็เอามือข้าพเจ้าไปแนบที่แก้มของแกเอง ดูมีอาการร่าเริง ยิ้มแย้ม ช่างพูดช่างซักถาม เหมือนเด็กปกติทั่วไป

 

                เมื่อถึงวันกำหนดนัดกับนายแพทย์ที่โรงพยาบาล ข้าพเจ้าได้เล่าประวัติและอาการทั้งหมดให้หมอทราบล่วงหน้า เมื่อถูกตรวจจึงได้รับคำวินิจฉัยว่า เป็นเพราะมีอาการเครียด ถ้าได้สิ่งแวดล้อมดีๆ โรคนี้ก็จะหาย แต่ถ้าทิ้งไว้ในโรงเรียนเดิม ถึงแม้จะรักษาหายแล้ว ก็อาจกลายเป็นบ้าได้จริง ๆ


"งั้น คุณหมอเห็นเป็นอย่างไรคะ ถ้าดิชั้นจะรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมน่ะค่ะ"  นายแพทย์ฟังข้าพเจ้าแล้วก็สอบถามถึงความเป็นอยู่ในครอบครัว พร้อมทั้งออกความเห็นว่า


"ผมว่าครอบครัวของคุณจะรับเลี้ยงเด็กคนนี้ก็ไม่เหมาะ เพราะมีลูกของตนเองถึง ๓ คนแล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นระหว่างลูกจริงกับลูกบุญธรรม ดีไม่ดีอาจจะเกิดเครียดขึ้นทั้ง ๒ ฝ่าย ตามความคิดของผม  ในระยะที่ยังหาพ่อแม่บุญธรรมที่เหมาะสมให้เด็กไม่ได้นี่ คุณควรให้เด็กอยู่ในโรงเรียนเด็กกำพร้าของทางราชการในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไปก่อน  ไม่ควรให้ไปอยู่โรงเรียนต่างท้องถิ่นอย่างที่เดิมนั่น เพราะมีปัญหาเข้ากับเพื่อนได้ยาก โรงเรียนในส่วนกลางรับเด็กจากทุกภาคอยู่แล้ว เด็กๆ คงเข้ากันได้"


              สีหน้าไม่สบายใจของข้าพเจ้าหลังจากพบกับนายแพทย์  เด็กหญิงพงษ์เพชรสังเกตเห็น แกถามอย่างไม่สบายใจนักว่า


"แม่คะ หมอเค้ายอมให้หนูอยู่กับแม่มั้ยคะ"  ข้าพเจ้าตอบไม่ออก นิ่งอยู่ครู่ใหญ่ จึงอธิบายเลี่ยงไปว่า


"มันมีปัญหานิดหน่อยจ้ะลูก เรื่องที่แม่มีลูกของตัวเองมาก  เกินไปถึง ๓ คนน่ะจ้ะ หมอเค้ากลัวแม่จะเลี้ยงหนูได้ไม่ดี เดี๋ยวลูกโตขึ้น  แม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน แต่ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาล ที่นั่นมีเงินมาก  ส่งเรียนได้เต็มที่ แต่ไม่ใช่ที่โรงเรียนเก่าของหนูนะจ๊ะ จะอยู่ที่ไหนก็ตาม  แม่ไม่ทิ้งลูกหรอกจ้ะ"


               คืนนั้นข้าพเจ้านอนไม่ใคร่หลับ คิดเสียใจที่ไม่มีสิทธิ์ได้เด็กหญิงพงษ์เพชรเป็นลูกสาว นึกไปว่าทฤษฎีของหมอจะถูกต้องรึเปล่า..ลูกบุญธรรมกับลูกจริง ถ้าเราเลี้ยงดีๆ เด็กๆ น่าจะเข้ากันได้

 

อย่างกรณี  พงษ์เพชรนี่ เราก็เลี้ยงมาเป็นเดือน ตลอดปิดภาคเรียนเทอมปลาย  เด็กก็ไม่มีปัญหาอะไร แกก็รักน้องใหม่ซึ่งเป็นลูกจริงๆ ของเราดีออก..
 

               แล้ววันหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ได้พบว่าทฤษฎีของหมอเป็นเรื่องถูกต้อง

 

                วันนั้นข้าพเจ้าต้องไปตรวจราชการกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สะดวกในการเอาเด็กไปด้วย จึงให้พงษ์เพชรอยู่ที่บ้านกับลูกข้าพเจ้า และลูกจ้าง ๒ คน   

 

               ตอนเย็นข้าพเจ้ากลับมา ได้ยินเสียงร้องกรี๊ด.. กรี๊ด..ของพงษ์เพชรดังลั่นออกจากบ้านไปไกลตามทางเดินหลายร้อยเมตร  มีคนหลายคนเดินยืนมุงดูอยู่ที่หน้าบ้านสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้น ข้าพเจ้ารีบไขกุญแจประตูรั้วเข้าไปโดยเร็ว ภาพที่เห็นคือเด็กหญิงที่น่าสงสารนั้น  มีอาการเหมือนเดิม นอนเกลือกกลิ้งทิ้งเนื้อทิ้งตัวไปกับพื้นบ้าน ปากก็แผดเสียงร้องอย่างขาดสติ ลูกจ้างในบ้านพากันอุ้มลูกๆ ของข้าพเจ้า  หนีจากตัวบ้าน ออกมาแอบดูอยู่ข้างนอก


               ข้าพเจ้ารีบไปประคองปลอบพงษ์เพชรถามสาเหตุ เด็กน้อยไม่ตอบ ได้แต่สะอึกสะอื้น เมื่ปลอบโยนอยู่ครู่ใหญ่ พอมีอาการทุเลาลงบ้างแล้ว ข้าพเจ้าจึงผละมาถามเด็กลูกจ้าง  ยังไม่ทันที่ลูกจ้างจะกล่าวชี้แจงสาเหตุ ลูกชายคนโตของข้าพเจ้า ๕ ขวบเศษ ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นขึ้นมา ทำให้ข้าพเจ้างุนงงหนักขึ้น ดึงลูก
มาโอบกอดไว้ ฟังคำอธิบายของพี่เลี้ยงเด็ก ได้ความว่า


"ช้าง (ชื่อเล่นของลูกคนโต) เค้ากำลังเล่นของเล่นอยู่กับน้อง   พงษ์เพชรมาหยิบเอาไปเล่นชิ้นหนึ่ง ไม่ได้พูดขอยืมหรือขออนุญาต  ช้างไม่ยอม พงษ์เพชรก็ไม่คืนให้ สองคนก็เลยทะเลาะกัน ช้างเถียงไม่ทัน ก็เลยพูดไล่พงษ์เพชรว่า ไป..ไป..กลับไปบ้านตัวเองซะที..นี่บ้านของหนูนะ..พ่อก็ของหนู แม่ก็ของหนู.. ตัวก็กลับไปหาพ่อแม่ของตัวซี  ..มาแย่งพ่อแม่เค้าทำ..ม..า..ย ช้างพูดไล่พงษ์เพชรแล้วก็ร้องไห้ไปด้วย"


ข้าพเจ้าบอกความรู้สึกของตนเองในขณะนั้นไม่ถูก ให้รู้สึกสงสารทุกฝ่ายขึ้นมาจับใจ ลูกชายอายุ ๕ ขวบของข้าพเจ้ารู้ว่าตัวเองทำผิด แม่พูดขอร้องไว้แล้ว ก็ยังไปพูดไล่ส่งพี่คนใหม่ที่เป็นเด็กกำพร้าได้ลงคอ ความกลัวว่าแม่จะลงโทษดุว่าหรือเฆี่ยนตีจึงร้องไห้ออกมาเสียก่อน แกคงอธิบายความคับแค้นใจของตนเองไม่ถูก

ข้าพเจ้าไม่ได้ดุลูก ได้อธิบายเป็นทำนองว่า


"พี่พงษ์เพชรเค้าขอลูกเล่นแป๊บเดียว ไม่ได้เอาของหนูไปจริงๆ หรอกจ้ะ พี่เค้าไม่สบาย ถ้าใครพูดให้เค้าเสียใจ เค้าจะไม่สบาย ร้องไห้ยังงี้แหละ วันหลังลูกมาบอกแม่ก่อนนะจ๊ะ อย่าเพิ่งไปว่าหรือไล่ส่งเค้าให้แม่เป็นคนดุเค้าเอง คราวนี้หนูยังไม่รู้ว่าพี่เค้าไม่สบาย แม่ไม่ว่าหนูหรอกจ้ะ โอ๋..โอ๋..เงียบซะลูกษเงียบซะ..แม่ซื้อขนมมาฝากทุกคนเลย  เดี๋ยวหนูเอาขนมห่อนี้ไปให้พี่พงษ์เพชรเค้าหน่อย เค้าจะได้หายป่วย  เลิกร้องเสียงดัง แล้วเค้าก็จะหายโกรธลูกด้วยไงจ๊ะ"


                 ลูกเห็นข้าพเจ้าไม่ดุ ก็เลิกร้องไห้ แล้วทำตามคำสั่งของข้าพเจ้า  พงษ์เพชรจึงหยุดอาละวาด
เมื่อหายเสียใจเด็กก็ถาม


"แม่ขา หมอเค้าให้หนูไปอยู่โรงเรียนใช่มั้ยคะ แม่จะพาหนูไปเมื่อไหร่ แม่ไม่รักหนูแล้ว แม่จะเอาหนูไปทิ้งแล้วหรือ"

 

               ตอบเด็กว่า ข้าพเจ้าไม่ทิ้งแก เพราะความจริงที่เกิดขึ้นในใจ  ระหว่างนั้นเป็นอย่างที่พูด คือคิดรักเด็กเหมือนลูกจริงๆ ถ้าไม่มีสิทธิ์เลี้ยงไว้ เด็กอยู่ที่ไหนก็จะหมั่นไปเยี่ยมเยียน
 

                 ในที่สุดผู้บังคับบัญชาชั้นสูงตัดสินให้พงษ์เพชรไปอยู่ในโรงเรียนเด็กกำพร้าของกรมประชาสงเคราะห์ในกรุงเทพฯ

 

                วันจากกันเมื่อข้าพเจ้าขับรถพาเด็กไปส่งที่โรงเรียนนั้น พงษ์เพชรร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้า
ต้องไปอยู่ด้วยที่นั่นเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งเด็กคุ้นเคยกับนักสังคมสงเคราะห์พอสมควร เลิกร้องไห้ ข้าพเจ้าจึงขอตัวจากมา โดยไม่ลืมสัญญาว่าจะหมั่นมาเยี่ยม

 

                  นักสงคมสงเคราะห์คนเดิมได้วิ่งตามมาหาที่รถ พูดกับข้าพเจ้าว่า


"คุณคะ ดิชั้นอยากขอร้องหน่อยนะคะ คือรู้สึกว่าเด็กจะติดคุณและรักคุณมาก ระยะนี้ถ้าคุณมาเยี่ยมบ่อยๆ เด็กจะไม่ยอมรับสภาพของตนเองว่าเป็นลูกกำพร้า จะยึดเอาคุณเป็นแม่ และก็คิดอยากออกจากที่นี่ไปอยู่กับคุณ จะเป็นตัวอย่างทำให้เด็กอื่นอยากมีคนมาเยี่ยมอย่างนี้บ้างเกิดความเปรียบเทียบน่ะค่ะ"


ข้าพเจ้านิ่งอึ้งไปครู่ใหญ่ รู้สึกมีความทุกข์ใจผสมปนเปกับความสลดหดหู่ สงสารเด็กหญิงกำพร้าผู้นี้จับใจ


"ลูกเอ๋ย หลักจิตวิทยากับน้ำใจของเรานี้ มันเดินร่วมทางกันไม่ได้เสียแล้ว แม่คงมาเยี่ยมหนูไม่ได้อีกนาน ลูกไม่รู้สาเหตุ คงน้อยใจว่า  แม่ลืม ไม่รักษาคำพูด ไม่รักลูกจริงๆ"


หลังจากนิ่งเงียบอยู่นาน และนักสังคมสงเคราะห์ยังยืนคอยคำตอบอยู่ ข้าพเจ้าตัดสินใจตอบเธอไปว่า


"เอาเถอะค่ะ คุณไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว ดิฉันจะไม่มาเยี่ยมเด็ก  ในระยะนี้ เอาให้ห่างไปสัก ๒-๓ อาทิตย์แล้ว จึงจะมาเยี่ยมค่ะ คงจะอนุญาตนะคะ" เธอผู้นั้นรับคำ


                   พงษ์เพชรจากไปแล้ว ลูกๆ ของข้าพเจ้า โดยเฉพาะลูกคนโต  อายุ ๕ ขวบเศษ มีสุขภาพจิตดีขึ้นทันที หายร้องไห้กวนโยเยเรียกร้อง ความสนใจจากข้าพเจ้า แกเล่นกับน้องและรักน้องเป็นปกติเหมือนเดิม
ข้าพเจ้าเองก็ค่อยตัดใจเลิกคิดถึง มองในแง่ดีต่อไปใหม่


"ไม่มีลูกเพิ่ม ก็ไม่ต้องเหนื่อยหาเลี้ยง"


                  การมองเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีเรื่องร้ายให้เห็นเป็นธรรมดา มองเรื่องดีให้เห็นเป็นร้าย มองเรื่องร้ายให้เห็นเป็นดี ทั้ง ๓ วิธีนี้  ข้าพเจ้ากระทำอยู่เสมอ เป็นความคิดที่เกิดจากการสอนตนเองให้ใจพ้นจากความขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ของเรื่องราวต่างๆ ในโลกได้พบเรื่องที่ชวนให้ดีใจ เช่น ได้ลาภ ได้คำชมเชย ดีใจไปได้ก็ไม่นาน เพราะไม่ช้าสิ่งเหล่านั้นก็จางหายไป

 

                   ดังนั้นเมื่อพบเข้าก็จะทำใจว่า ได้ลาภมาครั้งนี้  จำนวนนิดหน่อยเท่านั้น ไม่พอแจกให้คนนั้นคนนี้ ไม่พอทำบุญสร้างสาธารณสถานเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดว่าได้มาไม่พอใช้เสีย ใจก็เลิกพองฟู  ครั้นพอพบสิ่งไม่ถูกใจ ได้รับอุบัติเหตุ ถูกกล่าวร้าย ก็จะปลุกปลอบใจ  ตนเองว่า มีกรรมเวรเก่าตามมาทัน ใช้หนี้เสียแล้ว จะได้หมดๆ กันไป  หมดหนี้กรรมที่เป็นบาปแล้ว ต่อไปอาจได้รับผลจากกรรมที่เป็นบุญบ้างก็ได้

 

                 ส่วนเรื่องถ้าถูกใครนินทาว่าร้าย ก็จะปลงใจเสียว่า คนพูดไม่มานั่งคิดถึงเรื่องคนอื่นอยู่ได้นานอะไร พูดแล้วก็เบื่อลืม เรื่องนั้นจะจริงหรือไม่จริง เราซึ่งเป็นคนถูกนินทา ย่อมเป็นผู้รู้ดีที่สุด ถ้าเป็นจริงก็แก้ไขข้อบกพร่องของตนเองเสีย ถ้าไม่จริง ก็ไม่จำต้องสนใจ ขืนให้ใจของเราขึ้นอยู่กับปากของคนอื่น ชาตินี้คงจะหาความสุขได้ยากนัก  เพราะไม่มีใครอยากเห็นคนอื่นเป็นคนดี อยากให้ตนเองดีคนเดียวทั้งสิ้น


                  เมื่อได้สนใจคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ข้าพเจ้าก็นำข้อคิดจากหลักธรรมมาสอนใจตนเองเพิ่มขึ้น ในเวลาต้องพบกับเรื่องไม่ถูกใจต่างๆ ก็จะถือว่าเป็นการฝึกซ้อมจิตใจให้เข้มแข็ง อดทน เมื่อต้องทนอยู่เรื่อยๆ ใจก็จะแกร่งกล้า เป็นการสะสมขันติบารมีขึ้นมา ถ้าเป็นเรื่องรุนแรงก็จะคิดเอาประวัติชีวิตของผู้อื่นที่ต้องเผชิญเรื่องร้ายๆมากกว่า และท่านเหล่านั้นทนได้มาเป็นตัวอย่างชีวิต

 

                ข้าพเจ้าจึงพออยู่ในสภาพทนได้ตลอดมา ไม่ว่าจะต้องพบกับเรื่องดีเรื่องร้ายอะไรๆ  ตัดใจเรื่องเด็กหญิงกำพร้าที่เล่าไว้ วางใจให้เป็นปกติได้ไม่ถึงสัปดาห์ จากกันเพียง ๔ วัน พอวันที่ ๕ เวลาเย็น เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงบ้าน ก็ต้องตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพงษ์เพชรพาเพื่อนๆ มาด้วย  ถึง ๔ คน เด็กเข้ามากอดข้าพเจ้าไว้แน่น พูดว่า


"แม่ขา หนูคิดถึงแม่จังเลยค่ะ หนูไม่อยากอยู่ที่โรงเรียนนั้น  หนูอยากอยู่กับแม่ พอหนูเล่าเรื่องแม่ให้เพื่อนฟัง เพื่อนๆ ก็อยากมาเป็นลูกแม่ทุกคนเลยค่ะ หนูเลยพากันปีนรั้วหนีมาหาแม่ไงคะ แม่เลี้ยงพวกเรา เป็นลูกหมดทั้ง ๕ คนเลยนะคะ"


                 เด็กๆ แต่ละคนทำความเคารพข้าพเจ้าสายตาของพวกเขามีประกายของความหวังและความดีใจ ทั้งมีแววของการขอร้องวิงวอน  เปี่ยมด้วยศรัทธาในตัวข้าพเจ้ายิ่งนัก ข้าพเจ้าไม่สามารถกล่าวคำพูด  อะไรที่เป็นการทำลายความหวังของเด็กๆ ได้เลย ทั้งที่ในใจอยากจะพูดว่า


"ตายแล้ว ฉันจะเลี้ยงได้ยังไงตั้ง ๕ คน ใกล้จะรุ่นสาวทั้งนั้น  แค่หาข้าวให้กินวันละ ๓ มื้อ ก็หมดปัญญาแล้ว จะเอาที่ไหนให้ค่าเล่าเรียน  ค่าเครื่องแต่งกาย ฉันตายแน่ๆ"


ปากข้าพเจ้าพูดว่า "เอาเลย มาเป็นลูกแม่ให้หมดทั้ง ๕ คน  นี่แหละ เดี๋ยวแม่จะไปจ่ายตลาด ซื้อกับข้าวเพิ่มเลี้ยงพวกหนูให้อิ่มก่อน  นะจ๊ะ"


                ข้าพเจ้าขับรถออกมาจากบ้านพร้อมด้วยลูกจ้างที่มีหน้าที่ทำกับข้าว ให้เขาลงไปจ่ายตลาด ข้าพเจ้าเองขับรถต่อไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น เจ้าหน้าที่กำลังหาตัวเด็กที่หายไปโกลาหล
หายพร้อมกันทีเดียว ๕ คน โดยไม่รู้จะตามหาตัวได้ที่ไหน เมื่อทราบเรื่องจากข้าพเจ้า ก็ดีใจ โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ต้องรับหน้าที่หนักในการเกลี้ยกล่อมเด็ก


"ดิชั้นไม่ได้ปฏิเสธเด็กนะคะ ทนเห็นพวกแกผิดหวังไม่ได้  จึงรับว่า ยินดีรับเป็นลูกหมดทุกคน แต่ความจริงแล้ว ฐานะของดิชั้นก็รับเลี้ยงไม่ไหวหรอกค่ะ เป็นหน้าที่ของคุณแล้วที่จะเกลี้ยกล่อมพวกเค้า"


                 นักสังคมสงเคราะห์รับปากข้าพเจ้า "คุณไม่ต้องเป็นห่วง ดิชั้นจะอธิบายเองว่า ถ้าอยู่กันหลายคน คุณจะไม่มีเงินส่งเรียน จะไม่ได้ความรู้ ไม่มีอาชีพ จะทำให้คุณลำบากมาก เด็กๆ รักคุณ แกต้องเข้าใจดีแล้วค่ะ ที่คุณไม่ปฏิเสธให้แกเสียใจกันแต่ต้น"

 

                 ในที่สุดเราก็จากกันอีกครั้ง เด็กๆ เข้าใจดีและเต็มใจกลับไป  นักสังคมสงเคราะห์ให้ความเห็นต่อข้าพเจ้าว่า
 

"ต่อจากนี้ คุณไม่ควรไปเยี่ยมเด็กนะคะ ให้แกลืมคุณเสียเถอะ  เป็นผลดีแก่เราทุกฝ่าย ไม่อย่างงั้น แกพาเพื่อนๆ มาอยู่กับคุณเป็นฝูงยังงี้อีก คุณก็จะเลี้ยงไม่ไหวค่ะ"

เธอพูดพร้อมหัวเราะขำ ข้าพเจ้าต้องพลอยขำกับเธอไปด้วย ขำทั้งที่มีความใจหายปนอยู่เป็นอันมาก เพราะต่อแต่นี้จะต้องจากกันสิ้นเชิง ไม่ได้เห็นหน้ากันอีกแล้ว


                    จากนั้นข้าพเจ้าก็ไม่กล้าไปเยี่ยมเด็กหญิงพงษ์เพชรอีก ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด ตอนแรกๆ ก็คิดถึงเด็กบ่อยๆอยู่บ้าง นึกเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน การเข้ากันได้กับ
เพื่อนๆ ได้ใช้วิธีไต่ถามจากนักสังคมสงเคราะห์ จึงทราบว่าเด็กอยู่ได้ไม่มีปัญหาอย่างไร จึงคลายใจ และคลายความคิดถึงลง

 

                 หลายปีต่อมา  เมื่อไปไต่ถามข่าวคราวอีกครั้ง เด็กเรียนจบ เรียนวิชาชีพ และกลับไปทำมาหากินอยู่ในท้องถิ่นเดิม เพราะยังพอมีคนรู้จักที่เป็นญาติห่างๆเหลืออยู่บ้าง
 

                 นำเรื่องนี้มาเล่าไว้ให้ท่านฟัง เป็นตัวอย่างของพระพุทธพจน์  ที่ตรัสอนไว้ว่า "ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์"   เด็กหญิงที่ข้าพเจ้าเอามาเล่าไว้เป็นตัวอย่าง ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักคือ บิดามารดาญาติพี่น้อง ทุกข์ทับถมจิตใจน้อยๆ ของแก  จนทนแทบไม่ได้ ยังต้องมาทุกข์เพราะเพื่อนฝูงไม่เห็นใจ พากันล้อเลียน  เห็นเป็นตัวตลก จึงควบคุมสติไม่อยู่ ต้องแผดเสียงอาละวาด ทำร้ายใครไม่ได้ ก็ทำร้ายตนเอง

 

                 แม้ได้พบข้าพเจ้า พอจะได้ความรัก ความอบอุ่นใหม่ขึ้นมาบ้าง ก็มีอันต้องพลัดพรากจากกันให้มีทุกข์เพิ่มขึ้นอีก  การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก กล่าวโดยสรุปสิ่งที่รัก คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่งพอกล่าวเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๕ อย่าง ได้แก่


๑. คนที่รัก เช่น ญาติสนิท มิตรสหาย คนที่เคารพบูชา
๒.โภคทรัพย์สมบัติ เช่น เงินทอง ยศตำแหน่ง ความมั่งคั่ง  อาจรวมไปถึงโลกธรรมฝ่ายดี ๔ ประการ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  และบริวารสมบัติ หรือให้หมายรวมทั้งทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ  ก็ใช้ได้
๓.สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
๔. การปฏิบัติในคุณงามความดี เช่น การรักษาศีล
๕. ความคิดเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง


ของ ๕ อย่างนี้ ถ้าเรามีอยู่และต้องมีอันพลัดพรากหมดสิ้นไป  มักจะทำให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าของเป็นอันมาก โดยเฉพาะ ๒ ข้อท้าย   นอกจากเกิดทุกข์แล้ว ยังเกิดบาปด้วย  ส่วนสิ่งไม่เป็นที่รัก คือสิ่งที่ตรงข้ามกันกับของทั้ง ๕ นั้น และยังมีอีกมากมายหลายประการที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต  ไม่มีชีวิต เป็นเหตุการณ์เรื่องราว กระทั่งความรู้สึกนึกคิด เมื่อต้องพบเข้าก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย


แต่ยามใดที่เรารู้ทันว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของมีอยู่ประจำโลก  เราเกิดมาในโลกก็ต้องพบเป็นธรรมดา และที่สุดก็จะต้องผ่านไป  เพราะเรามิได้มาอยู่ประจำยั่งยืนในโลกนี้ มาเกิดอยู่ชั่วคราวแล้วก็จากไป  สิ่งเหล่านั้นถ้าไม่จากเราไปก่อน เรานั่นแหละจะต้องเป็นฝ่ายจากไป  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่รักหรือสิ่งที่ไม่รัก เราก็ต้องทิ้งไปทั้งนั้น 

 

               ข้าพเจ้าชอบคำพูดเปรียบเทียบอยู่คำหนึ่งที่ว่า ทุกคนเกิดมาควรรู้ตัวว่า เกิดมาเพื่อมา  "ดู" โลก ไม่ใช่มา "หลง" โลก   

 

                ดู เพื่อให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เรามาเกิดนี้ล้วนแต่เต็มไปด้วยของต่างๆ ที่มีโทษสมบัติ ไม่ใช่มีคุณสมบัติ โทษสมบัติคือ  เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่แน่นอน มีแต่ความเปลี่ยนแปลงอยู่เนืองนิตย์  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ความทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจเกิดขึ้น และทุกสิ่งที่เกิดไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม  ล้วนแต่ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเข้าไปเป็นเจ้าของครอบครองได้ ถ้า "ดู" ให้เห็นจริงตามนี้สิ่งต่างๆ ในโลก  ไม่สามารถทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น
 

                แต่ที่เราทุกคนต้องมีทุกข์กันอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะต่างพากันดูแล้ว "ลุ่มหลง" หลงยึดว่าทุกสิ่งในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นของเรา เป็นของคงที่ ให้ความสุข สมหวัง และสามารถบังคับบัญชา ให้เป็นไปดังใจหมาย หลงเห็นแต่คุณสมบัติ มองไม่เห็นโทษสมบัติที่มีในสิ่งเหล่านั้น


                คำว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง หมายความเอาทั้งสิ่งที่เป็นตนเอง และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งสิ้น เข้าอยู่ในข่ายธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกันหมด  เมื่อของทุกอย่างสามารถเป็นบ่อเกิดความทุกข์ให้เราได้ตลอดเวลา   ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ความทุกข์จากสิ่งเหล่านั้นย่อมไม่มี
 

                นี่คือหลักเหตุผลธรรมดาๆ ที่ควรได้รับพิจารณา  ขอให้เกิดมาเพื่อ "ดู" และ "ไม่ยึด"  ไม่ใช่เกิดมาเพื่อ "หลง" และ "ยึด"  ทำเพียงแค่นี้ เราก็จะพ้นทุกข์ ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วย ใช่ไหมคะ
 

                  ข้าพเจ้าได้ใช้คำพูดสั้นๆ และง่ายที่สุด หลีกเลี่ยงคำในภาษาพระที่เป็นหลักวิชา ไม่ให้เข้าใจยากแล้วค่ะ   หยุดหลงโลกเสีย มองทุกสิ่งเหมือนการเล่นละคร เราเป็นเพียงคนดู ไม่ใช่คนเข้าไปเล่นตามบทบาทที่กิเลสบังคับให้เราแสดงตามบทของเขา เราเป็นคนดู ไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับคนเล่น เราก็จะมีอิสระ  ถ้าเรายอมเป็นคนเล่น เราก็จะตกเป็นทาสของ (กิเลส ) เขา   เราจงมาเป็นคน "ดู" กันเถิด ไม่ใช่คน "หลง" เล่นตามบทที่เขาวางไว้ล่อต่อไปอีกแล้ว เราย่อมมีอิสระ พ้นจากความทุกข์ของโลกอย่างสิ้นเชิง...

 

Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0095028320948283 Mins