กฎการเดินทางของเวลา เกินกว่า 24 ชั่วโมง
ก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่องการใช้เวลาให้เป็น เรามาทำความเข้าใจเรื่องของ "เวลา" ทั้งทางโลกและทางธรรมในแบบเจาะลึกกันก่อน หลายท่านคงเคยชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการย้อนเวลาหาอดีต อย่างภาพยนตร์ที่โด่งดัง ในอดีตเรื่อง "Back to the Future (1985)" แล้วในทางพระพุทธศาสนา เราสามารถเดินทางย้อนกลับไปในอดีต หรือเดินทางไปสู่อนาคตได้หรือไม่
"ย้อนอดีต" ในทางพระพุทธศาสนา
ในทางพระพุทธศาสนาสามารถไปในภพอดีตและอนาคตได้ แต่ไปคนละวิธีกับทางวิทยาศาสตร์ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น พยายามเดินทางข้ามเวลาไปด้วย "วัตถุ" แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นไปด้วย "จิตใจ"
ทางพระพุทธศาสนา การย้อนไปดูอดีตชาติตนเอง เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ มีญาณหยั่งรู้การไปเกิดมาเกิดของตนเองในอดีต บางคนสามารถระลึกไปได้ร้อยชาติล้านชาติก็มี ยกตัวอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถระลึกชาติได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การระลึกชาติเพื่อดูการไปเกิดมาเกิดของบุคคลทั้งหลาย หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมในวันวิสาขบูชา ยามต้นพระองค์ทรงบรรลุ "บุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ระลึกชาติตนเอง ยามสองพระองค์ทรงระลึกชาติของสัตว์อื่น เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" ไม่มีที่สิ้นสุด
การระลึกชาติไม่ต้องใช้เวลานาน ก็สามารถระลึกชาติไปล้านชาติได้โดยไม่ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ แต่ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น เพราะธรรมะเป็นเรื่องของ "อกาลิโก" คือ "ไม่ถูกจำกัดด้วยกาล"
เปรียบว่า เราจะดาวน์โหลดข้อมูลหนังสือเป็นพันหน้าลงคอมพิวเตอร์ เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงแค่วินาทีเดียวก็เสร็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติเป็นร้อยล้านชาติโดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีได้นั่นเอง
อดีต คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว การระลึกชาติ คือ การไประลึกดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด อนาคตไม่ได้เกิดขึ้นสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เราไม่สามารถจะเดินทางไปดักในอนาคต แล้วล่วงรู้ทั้งหมดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่สามารถบอกอนาคตได้เป็นกรณีไป เช่น พระบรมโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีไว้มากจนบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว จะได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า บุคคลผู้นี้จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใด เป็นต้น
กรณีนี้เป็นความดีที่สั่งสมไว้ยาวนานจนกระทั่งผังชีวิตแน่นอนแล้ว เปรียบเสมือนเราจะซื้อบ้านหลังหนึ่งใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท เราออมเงินไว้ได้ 999,999 บาทแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เราจะซื้อบ้านหลังนี้ได้สำเร็จอย่างแน่นอนเพราะขาดอีกเพียงบาทเดียวเท่านั้น
แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่า คนนี้อีก 10 ชาติจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับว่า เขาทำอะไรต่อไป ถ้าเขาทำดี ก็จะได้ดี ถ้าเขาทำบาป ก็จะตกนรก ขึ้นอยู่กับตนเองว่าจะทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลหรือ เป็นบาปอกุศล นี่คือเรื่องของอนาคต
นิยายวิทยาศาสตร์ที่เราเคยดูกัน บางตอนตัวละครสามารถย้อนเวลาไปอยู่ในอดีตได้ เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเกิดขึ้นขณะนั้นแล้วตัวละครก็ลงมือแก้ไขอดีตให้ส่งผลไปเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน แต่ในโลกหน้า ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
"อดีต คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว" การระลึกชาติ คือการไปดูว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่นำตนเองย้อนไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ แล้วเริ่มดำเนินการใหม่โดยไปเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นและสำเร็จบริบูรณ์ไปแล้ว เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ดังนั้น "การระลึกชาติ คือ การไปรู้ไปเห็นสิ่งเหล่านี้เท่านั้น"
การระลึกย้อนไปรู้ไปเห็นในแบบ “ไอน์สไตน์"
ถ้าถามว่า แล้วเราย้อนอดีตไปรู้ไปเห็นได้อย่างไร ในทางวิทยาศาสตร์มีการกล่าวถึงเรื่องของ "Time Machine" การระลึกย้อนแล้วนำตนเองไปในอดีตได้เริ่มต้นจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) โดยเขาสร้างทฤษฎีสัมพันธภาพขึ้นมา พบว่าในเชิงทฤษฎีมีรูหนอนของกาลเวลาอยู่
ปกติเราจะรู้สึกว่า เวลาดำเนินไปเป็นเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็น 1 ปีที่แล้ว 3 เดือนที่แล้ว หรือเมื่อวานนี้ เวลาจะค่อย ๆ เคลื่อนไปเป็นเส้นตรง ย้อนไปไม่ได้ แต่จากทฤษฎีสัมพันธภาพพบว่า ทั้งเวลามวลสาร และแรงโน้มถ่วง ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด เราไม่ได้เคลื่อนเป็นเส้นตรง แม้แต่แสงก็ถูกแรงดึงดูดของมวลสารดึงดูดให้เป็นเส้นโค้งได้
เพราะฉะนั้น อาจจะกลับกลายเป็นว่า มิติของกาลเวลาและอวกาศนั้นสัมพันธ์กัน เวลากับสถานที่มีความสัมพันธ์กัน ทฤษฎีนี้ทลายกรอบความคุ้นเคยเดิม ๆ ของมนุษย์ ที่คุ้นกับเรื่องของ 3 มิติ คือ มีความกว้าง ความยาว และความสูง เช่น ถ้าเราอยู่ในห้องก็จะบอกได้ว่า ห้องนี้กว้าง ยาว และสูงเท่าไร เรียกว่า “3 มิติ"
ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะซื้อที่ดิน ก็ต้องวัดความกว้างและความยาวว่ามีพื้นที่ดินกี่ตารางเมตร หรือกี่ไร่ อย่างนี้เรียกว่า “2 มิติ" แต่ถ้าเราจะขุดดินสร้างสระขนาดความกว้าง 30 ไร่ ลึก 5 เมตร เราจะคำนวณว่าต้องใช้งบประมาณในการขุดสระนี้เท่าไร เราก็ต้องคูณมิติของความลึกเข้าไปด้วย พื้นที่ขนาด 30 ไร่ เป็น 2 มิติ พอมีความลึกก็กลายเป็น 3 มิติ เป็นต้น อย่างนี้คือรูปแบบของ 2 มิติ และ 3 มิติ ในแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย
ในทางวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์นำเราไปสู่มิติที่ 4 คือ เรื่องของเวลา เพราะทุกอย่างต้องมีเวลามาเกี่ยวข้อง กาลและอวกาศสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด พอรู้ว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง ก็มีโอกาสจะมาเจอกันที่เก่า แล้วมีจุดรูหนอนของกาลเวลาเชื่อมกัน ถ้าทะลุตรงนี้ลงไปได้ เราก็น่าจะย้อนเวลาไปในอดีตได้นั่นเอง
การย้อนอดีตแบบไอน์สไตน์นั้น ไม่ใช่การขึ้นขี่ยานอวกาศแล้ววิ่งแข่งกับเวลาด้วยความเร็วเหนือแสง แต่เป็นลักษณะของการทะลุไปที่รูหนอนของกาลเวลา แต่ในเชิงของความจริง "ยังไม่เคยมีใครพบปรากฏการณ์การทะลุรูหนอนกาลเวลาได้จริง"
เราพบว่า หากจะย้อนเวลาไปได้ต้องใช้อนุภาคที่เล็กมาก เช่น "โฟตอน" (Photon) หรืออนุภาคของแสง เพราะรูหนอนกาลเวลาไม่เสถียร ถ้ามนุษย์เข้าไปจริง ๆ อาจจะถูกย่อยสลายไปก่อนได้ แต่ถ้าเป็นอนุภาคเล็ก ก็จะมีโอกาสรอดผ่านไปได้
ซึ่งในทางทฤษฎี "แค่มีโอกาสเท่านั้น" ความจริงยังไม่สามารถหาวิธีการทำให้รูหนอนของกาลเวลาเสถียร จนสามารถส่งสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ให้ทะลุผ่านไปได้ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นแค่ทฤษฎี จึงมีเพียงการนำมาสร้างภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มากมายในปัจจุบันเท่านั้น
นึกถึงพระอาทิตย์ ก็ไปถึงพระอาทิตย์ได้ทันที
ทางด้านพุทธศาสตร์ เราระลึกชาติได้โดยไม่ต้องใช้รูหนอนกาลเวลา แต่ใช้จิตของมนุษย์ "นึกถึงพระอาทิตย์ ก็ไปถึงพระอาทิตย์ได้ทันที" แต่จิตที่จะไปถึงได้จริงต้องเป็นจิตที่เป็นสมาธิ ตั้งมั่นจนกระทั่งเกิดญาณทัศนะ ซึ่งในกระบวนการทำงานของจิตมีความละเอียดอ่อนมาก โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะถูกเก็บไว้ในดวงจิตนั่นเอง
ดวงจิตไม่ได้ย้อนเวลาด้วยการอาศัยยานอวกาศวิ่งไปอย่างรวดเร็วเหนือแสงร้อยเท่าพันเท่า แต่เรื่องของดวงจิตเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ คือ ถ้าเป็นของหยาบที่เราคุ้นเคย "ของใหญ่จะอยู่ข้างนอก ของเล็กอยู่ข้างใน" เช่น ตัวเราจะอยู่ในห้องได้ เราต้องเล็กกว่าห้อง เราจึงเข้ามาในห้องได้ "ข้างในเล็ก ข้างนอกใหญ่" แต่ถ้าเป็นเรื่องของดวงจิตซึ่งเป็นของละเอียด ยิ่งเข้าไปข้างใน จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ "ของใหญ่อยู่ในของเล็ก"
แปลกไหม..
ในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งเกิดความสงสัยจึงกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "พระพุทธเจ้าค่ะ กายของพระองค์ไม่ได้เล็กลง เมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ไม่ได้ใหญ่ขึ้น แล้วทำไมพระองค์ถึงสามารถเดินจงกรมอยู่ในเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้ "
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่า ถ้ายังปฏิบัติไม่เข้าถึง ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็เข้าใจได้ยาก จึงมอบกระจกบานหนึ่งให้แก่พระภิกษุรูปนั้นนำไปส่องพระสถูปเจดีย์ พอพระภิกษุรับกระจกบานนั้น แล้วนำไปส่องก็เห็นพระสถูปเจดีย์ทั้งองค์ปรากฏอยู่ในกระจก
กระจกไม่ได้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่พระสถูปเจดีย์องค์ใหญ่ไป ปรากฏอยู่ในกระจกบานเล็ก ๆ นั้นได้ ถามว่า "พระสถูปเจดีย์นั้นเล็กลงหรือไม่" ตอบว่า "ไม่ได้เล็กลงเลย"
ถ้าเรานำกระจกไปส่องมุมดี ๆ ภูเขาใหญ่ ๆ ทั้งลูกก็เห็นอยู่ในกระจกได้ ภูเขาไม่ได้เล็กลง กระจกก็ไม่ใหญ่ขึ้น ทำไมภูเขาลูกใหญ่โตถึงไปอยู่ในกระจกบานเล็ก ๆ ได้ มันเป็นอย่างนั้นเอง
สำหรับของละเอียดนั้น ยกตัวอย่าง หากเราอยากจะไปดูให้รู้ว่า ในขณะนี้ดาวดวงอื่นที่ห่างจากโลกไปล้านปีแสงเป็นอย่างไรบ้าง เราจะสามารถเดินทางไปดาวดวงนั้นได้ด้วยเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น เดินทางไปโดยไม่ต้องใช้ดวงจิตวิ่งไปข้างนอกเลย แต่ใช้การเอาใจหยุดนิ่งเข้าไปที่ศูนย์กลางกาย ดิ่งเข้าไปภายในศูนย์กลางกายเล็ก ๆ เท่ากับปลายเข็ม พอใจจรดนิ่งเข้าไปตรงกลางจะพบว่า ศูนย์กลางกายเดิมที่เล็กเท่ากับปลายเข็ม มันขยายใหญ่ขึ้นเหมือนกับมีกล้องขยาย
สมมุติว่า จุดเล็ก ๆ ขนาดราว 1 มิลลิเมตร ที่ศูนย์กลางกาย พอเอาใจจรดนิ่งแตะที่ศูนย์กลางของจุดนั้น จุดนั้นก็จะขยายวูบขึ้นมา จนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 วา พอเอาใจจรดไปที่จุดเล็ก ๆ ที่ศูนย์กลาง
ของดวงนั้นอีก ก็ขยายวูบขึ้นมาอีก เชื่อหรือไม่ว่า เราสามารถดำเนินจิตเข้าไปในกลางของกลางอย่างนี้ได้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย
เราสามารถเดินทางเข้าไปในจุดเล็ก ๆ ไปถึงจุดที่ละเอียดแบบไม่สิ้นสุด ยิ่งเข้ากลางไปเท่าไร ถึงจุดที่เล็กมากเท่าไร จะปรากฏว่าใจเราจะขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับ คลุมไปทั้งโลก คลุมไปทั้งกาแล็กซี คลุมไปทั้งเอกภพนับไม่ถ้วน อยู่ในศูนย์กลางกายที่เล็ก ๆ นั่นแหละ แต่ขยายคลุมทั้งหมด “ของเล็กคลุมของใหญ่“
เพราะฉะนั้น เวลาเราต้องการจะไปดูอะไรให้ดูในตัว ดูตรงศูนย์กลางกายนี้เอง ไม่ได้วิ่งไปดูนอกตัวเลย ถ้าจะไปดูดาวดวงอื่น ก็ดูจรดเข้าไปตรงกลาง จะไปดูอดีตชาติ ก็จรดไปตรงกลาง เรียกว่า เห็นได้หมดเดี๋ยวนั้นเลย นี่คือความมหัศจรรย์ทางจิตที่ว่า "จิตมนุษย์ลึกล้ำนัก"
ถ้าเป็นของหยาบที่เราคุ้นเคย
"ของใหญ่อยู่ข้างนอก ของเล็กอยู่บ้างใน"
แต่ถ้าเป็นเรื่องของดวงจิตซึ่งเป็นของละเอียด
"ของใหญ่อยู่ใน ของเล็กอยู่นอก"
จากหนังสือ 24ชม.ที่ฉันหายใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)