จงถามตนเองว่า ทุกวันนี้ใช้ชีวิตเเข่งกับอะไร
ปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก การสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวางจนกระทั่งคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่า ชีวิตดำเนินไปอย่างกระหืดกระหอบเหลือเกิน ต้องแข่งกับเวลา แข่งกับงาน แข่งกับตนเอง แข่งกับคนอื่นจนไม่มีเวลาเหลือ นอนหลับยังไม่เต็มอิ่มก็ต้องตื่นเช้าไปทำงานอีกแล้ว รู้สึกว่าชีวิตวุ่นวายไปหมดทำอะไรไม่ค่อยจะทัน
หากไปดูวิถีปฏิบัติของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วจะพบว่า เขามักจะทำงานแบบสบาย ๆ ไม่กระหืดกระหอบ ไม่รีบร้อน ลุกลี้ลุกลน โต๊ะทำงานสะอาด ไม่ได้กองสุมกันเป็นพะเนิน ดูแล้วโปร่งเบา เขาทำได้อย่างไรกัน...
เคล็ดลับการบริหารเวลาของมหาเศรษฐี
แบ่งเวลาในแต่ละวันให้ดี
ในการทำกิจสำคัญต่าง ๆ ให้เราแบ่งเวลาเป็นกรอบใหญ่ไว้ก่อน เริ่มต้นด้วยการแบ่งเวลานอน ทุกคนรู้ว่าตนเองควรนอนกี่ชั่วโมงต่อวันถึงจะพอดี แต่โดยเฉลี่ยแล้ว คนเราควรนอนให้เพียงพอวันละ 8 ชั่วโมง
เพราะฉะนั้น เราควรตีกรอบตนเองไว้ก่อนว่า เราควรจะเข้านอนกี่โมง ตื่นนอนกี่โมงถึงจะไปทำงานทัน ซึ่งการล็อกเวลาให้ดี อย่างนี้เหมือนทำง่าย แต่บางคนมักจะทำพลาด ถ้าเข้านอนช้าไป พอตื่นมาก็งัวเงีย ทำให้รู้สึกลุกลี้ลุกลนตลอดทั้งวัน
เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันไม่ใช่เวลาตื่นนอน แต่เป็นเวลาเข้านอน มีโคลงโลกนิติสุภาษิตเก่าแก่แต่โบราณสอนใจว่า
"คนตื่นคืนหนึ่งช้า |
จริงเจียว |
มล้าวิถีโยชน์เดียว |
ดุจร้อย |
สงสารหมู่พาลเทียว |
ทางเนิ่น นานนา |
เพราะบ่เห็นธรรมน้อย |
หนึ่งให้เป็นคุณ" |
เพียงตื่นช้านิดเดียวจะทำอะไรก็ไม่ทัน กระหืดกระหอบไปหมด การใช้ชีวิตก็ไม่สำเร็จเสร็จสิ้น ถ้ามองลึกลงไปอีกก็เป็นเพราะเรานอนดึกจึงไม่อยากตื่นนอนตอนเช้า แล้วต้องกระหืดกระหอบ เพราะไม่ทันเวลา แต่ถ้าเราเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ พอได้นอนเต็มอิ่มแล้ว เช้าก็ตื่นขึ้นได้ทันที ดังนั้น ความสำเร็จของการบริหารเวลาเริ่มที่การเข้านอน"
จากนั้นให้เราแบ่งเวลาที่นอกเหนือจากเวลานอน คือ แบ่งเวลาทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน และแบ่งเวลาในการบริหารขันธ์ การเข้าสังคมอีกประมาณ 8 ชั่วโมง เราควรจัดแบ่งกิจกรรมเป็นช่วงเวลากว้าง ๆ ให้ลงล็อกในแต่ละวันว่า วันธรรมดาควรทำอะไรบ้าง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ควรทำอะไรบ้าง เป็นต้น
พิจารณารายละเอียดในการใช้เวลาแต่ละช่วง
เมื่อเราแบ่งช่วงเวลากว้าง ๆ ออกเป็น 8/8/8 ชั่วโมงแล้ว ต้องไม่ลืมพิจารณารายละเอียดในการใช้เวลาแต่ละช่วงที่แบ่งไว้แล้วด้วย เช่น ช่วงเวลานอน 8 ชั่วโมง ก็ให้เรามาดูว่า ทำอย่างไรตนเองถึงจะนอนหลับสนิท ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับเต็มอิ่ม เพื่อจะได้ตื่นมาสดชื่นแจ่มใส
หรือช่วงเวลาในการบริหารขันธ์ เช่น เวลาอาบน้ำ กินข้าว เดินทาง เวลาในการเข้าสังคมและการพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งเวลาที่ใช้ไปในการเข้าโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เราต้องบริหารจัดการเวลาเหล่านี้ให้พอดี ไม่ปล่อยเวลาไปเรื่อยเปื่อย แต่ควรล็อกเวลาให้ชัดเจน หมดเวลาต้องหยุดแล้วไปทำกิจกรรมอื่นต่อทันที ไม่เล่นเพลินจนไปกินเวลางาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ เด็ดขาด
เราต้องพิจารณาก่อนเสมอว่า มีงานอะไรสำคัญและเร่งด่วน ที่เราต้องรีบทำให้เสร็จภายในวันนี้ ก็ควรหยิบขึ้นมาทำก่อน งานใดไม่เร่งด่วนนัก อาจจะทำพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้ ก็ให้วางแผนบริหารเวลาในสัปดาห์นี้ เดือนนี้ ปีนี้ให้ดี งานใดที่สำคัญหย่อนลงไปไม่เร่งด่วนก็ให้เราขยับเวลาในการสะสางงานนั้นออกไป เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เราจะมีแผนงานทั้งงานประจำวัน งานประจำสัปดาห์ งานประจำเดือน และงานประจำปี บางทีอาจจะมีงานประจำ 3 ปี หรืองานประจำ 5 ปี ที่สร้างขึ้นเพื่อวางแผนการฝึกฝน เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพหลาย ๆ ด้านของเราก็ได้ นี่คือการวางแผนการใช้เวลาในแต่ละช่วงที่เราแบ่งไว้แล้วให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
พอแบ่งเวลาออกเป็นกรอบใหญ่ ๆ แล้ว ให้เรามาดูว่า เวลาที่แบ่งไปแล้วนั้น เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันเรื่องที่อาจจะทำให้เสียแผนงานได้
เรื่องของการบริหารเวลาที่เราได้วางไว้แล้วอย่างดีนั้น จะมีตัวบ่อนทำลายหลัก ๆ คือ "อบายมุข” พอไปเมาเมื่อไร แผนงานที่วางไว้เสียหมด พอได้ดื่มน้ำเมา ได้เตร็ดเตร่เฮฮาเที่ยวกลางคืน ถึงเวลานอนไม่ได้นอน ถึงเวลาตื่นไม่ได้ตื่น เวลางานก็รวนหมด
บางคนดูการละเล่นเป็นนิตย์ สมัยนี้การละเล่นมาถึงในมือเราง่าย ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน ทั้งคอมพิวเตอร์ เช่น ถ้าเราเผลอติดเกม มันก็ดึงเวลาเราเสียหายหมด ดังนั้น ถ้าไม่มีวินัย การบริหารเวลาก็จะรวนหมดทันที
บางคนคบคนชั่วเป็นมิตร เผลอไปคบคนไม่ดีที่คอยจูงเราไปทางเสื่อม ชวนดื่มเหล้าบ้าง ชวนเล่นไพ่บ้าง ชวนเตร็ดเตร่บ้าง จนเราติดอบายมุข เสียการบริหารเวลา เราต้องหมั่นปฏิเสธคนจำพวกนี้ให้ได้ พอเราทำได้อย่างนี้ ความเกียจคร้านในการทำงานจะหายไปโดยปริยาย ทำให้เราสามารถทำตามแผนงานที่วางไว้ได้สำเร็จ
ตัวอย่าง 5 กิจวัตรหลัก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การบริหารเวลาที่วางไว้แล้วอย่างดีนั้น เราชาวพุทธมีตัวอย่างที่ดีมาก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหากจะเรียงลำดับกิจวัตรของพระองค์ให้เข้าใจได้ง่าย พระองค์มีกิจวัตรหลัก 5 เรื่อง ดังนี้
กิจวัตรที่ 1 เวลาเช้ามืด ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ประมาณตี 4 - ตี 5 พระองค์นั่งสมาธิสอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลกว่า วันนี้ใครคือบุคคลที่พระองค์ควรจะไปโปรด
กิจวัตรที่ 2 เสด็จไปโปรดบุคคลนั้น บางครั้งไปโปรดเพียงพระองค์เดียว บางครั้งเสด็จนำหมู่สงฆ์ไปบิณฑบาตโปรดสัตว์
กิจวัตรที่ 3 พระองค์เทศน์สอนญาติโยมเป็นกิจวัตรประจำวันในตอนเย็น พอตกเย็นชาวบ้านเลิกการงาน ก็ถือดอกไม้ ธูปเทียนบ้าง ปานะบ้าง เภสัชบ้าง เข้าวัดฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กิจวัตรที่ 4 พอยามค่ำญาติโยมเดินทางกลับไปแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมภิกษุสามเณรในวัด แล้วประทานโอวาท
กิจวัตรที่ 5 เวลาเที่ยงคืน พระองค์แสดงธรรม ตอบปัญหาเทวดาที่มาเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลปัญหาเรื่องต่าง ๆ
เหล่านี้คือกิจวัตรประจำวัน 5 เรื่อง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางคนอาจจะสงสัยว่า ตั้งแต่เช้ามืดจนกระทั่งเย็น ค่ำ เที่ยงคืน พระองค์ไปโปรดสัตว์ชัดเจนแล้ว หลังจากนั้นพระองค์ทรงพักผ่อนใช่หรือไม่ แล้วช่วงกลางวันพระองค์ทำอะไร...
ในช่วงเวลากลางวันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการดูแลหมู่คณะ บางคราวพระภิกษุสงฆ์นั่งคุยกันหลังฉัน พระองค์จะเสด็จไปถามไถ่ภิกษุ แล้วภิกษุทั้งหลายจะกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง
จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะระลึกชาติไปดูบ้าง สอดข่ายพระญาณไปดูบ้าง แล้วพระองค์ก็จะเล่าให้พระภิกษุฟังว่า เรื่องนั้นๆมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงเกิดเรื่องอย่างนั้นขึ้น เพื่อเป็นคติสอนใจ ให้กับภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถามไถ่ แนะนำและพูดสอน พระภิกษุทั้งหลายก็จะเกิดความอบอุ่นและได้คติข้อคิดจากพระพุทธองค์ เรียกว่า "เป็นการสอนอย่างไม่เป็นทางการ
ตอนช่วงค่ำประชุมพระภิกษุสามเณรทั้งหมดแล้วประทานโอวาทนั้นจึงเป็นทางการ บางทีมีพระภิกษุที่ป่วยไข้ไม่สบาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนดูแลและเช็ดตัวให้ แล้วทรงตรัสว่า หากใครประสงค์จะได้บุญในการอุปัฏฐากพระองค์ ขอให้อุปัฏฐากภิกษุเถิด จะได้บุญเหมือนอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดูแลคณะสงฆ์เป็นอย่างดี บางครั้งมีกิจพิเศษก็จะทรงเสด็จไปที่ต่าง ๆ บ้าง พูดง่าย ๆ ว่า เวลากลางวันเป็นเวลาอิสระในการทำกิจต่างๆ ที่จำเป็นทั้งในแง่พุทธกิจ ในฐานะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในแง่เป็นญาตัตถจริยา คือ กิจเพื่อหมู่ญาติ พระองค์ก็ตั้งใจทำ บางคราวเป็นกิจเพื่อสงเคราะห์โลก พระองค์ก็ตั้งใจทำ โดยใช้เวลากลางวันนี้เอง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะบริหารเวลาให้ได้ดี ต้องทำอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ แบ่งเวลาให้เป็นกรอบใหญ่ ๆ แล้วถึงมาดูรายละเอียดว่า ในช่วงเวลานั้น ๆ ควรจะทำอะไรและทำอย่างไรบ้าง ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะพบว่า เวลาเรามีเหลือเฟือ ดังนั้น บริหารจัดการเวลาตนเองให้ดี วางแผนแบ่งเวลาให้ดี แล้วใช้เวลาทำกิจให้คุ้มค่า
อาตมภาพขอยกตัวอย่างโยมคุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งมีลูก 5 คน แล้ว ท่านเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารที่มีภาระหน้าที่มากมาย แต่ก็ยังสามารถจัดเวลาทำวัตรเช้าเย็น นั่งสมาธิทุกวันจนกระทั่งเข้าถึงธรรมะภายในตัวได้
คุณโยมท่านนี้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก เขาล้างหน้าแปรงฟันและสวดมนต์ทำวัตรเช้าคลอไปด้วย บ้างสวดอยู่ในใจถ้าตอนไหนที่ปากเป็นอิสระก็ออกเสียงเบา ๆ คลอไปด้วย จนกระทั่งคล่องปากขึ้นใจ สวดมนต์ไปใจก็ตรึกนึกถึงองค์พระภายในไปอย่างนี้ มีแต่ได้บุญ การตรึกถึงพระรัตนตรัยภายในนั้น ตรึกได้ตลอดเวลา นั่งรถไปก็ "สัมมา อะระหัง" ไปได้นั่นเอง
เมื่อบริหารเวลาได้อย่างคุ้มค่า ก็ประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัว ลูก ๆ ประพฤติปฏิบัติดีทุกคน การงานประสบความสำเร็จ ได้เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ พอปฏิบัติธรรม ธรรมะก็ก้าวหน้าจนกระทั่งเข้าถึงองค์พระภายใน เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่ที่ตนเองแล้วว่า เราจะบริหารจัดการเวลาอย่างไร ถ้าทำได้ถูกต้องแล้วจะพบว่า "ไม่มีเวลา ไม่มีในโลก"
จากหนังสือ 24ชม.ที่ฉันหายใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)