เดินออกจาก ภาวะหมดไฟ
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ข้าราชการ พนักงานบริษัท หรือประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในตำแหน่งใด ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง หรือพนักงานทั่วไป เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกับภาวะเบื่องาน รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า หมดแรงกายแรงใจ และไม่อยากไปทำงาน แถมยังมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโมโหง่ายอีกด้วย ถ้าเราต้องประสบกับภาวะเหล่านี้ แสดงว่า นี่เป็นสัญญาณการเผชิญกับ "ภาวะหมดไฟ" เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่า ถ้ากำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟ เราควรป้องกันและแก้ไขภาวะนี้อย่างไร
"Burn-Out Syndrome” ภาวะหมดไฟ
"ภาวะหมดไฟ" หรือต่างประเทศเรียกว่า "Burn-Out Syndrome" แต่ในเมืองไทยนั้นยังไม่มีศัพท์เฉพาะ อาการที่พบได้บ่อย คือ เกิดภาวะเบื่อ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกเหนื่อยล้า ตื่นเช้าขึ้นมาเหมือนพักผ่อนไม่เต็มที่ กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ เวลาทำงานจึงขาดสมาธิ จนบางครั้งทำให้ผลงานลดลงไปด้วย
อาการเหล่านี้ เป็นภาวะที่สามารถเกิดกับคนเราได้ตลอดทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเรียน ช่วงเวลาทำงานจนกระทั่งช่วงเวลาเกษียณอายุเราก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เหมือนกัน เท่ากับว่าอัตราอาการ "Burn-Out Syndrome" เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพียงแต่เรายังไม่รู้จักโรคนี้ดีพอเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทั่วไป
"ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome" ประกอบไปด้วย "ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์" เราจะรู้สึกเหมือนหมดแรงใจในการทำงาน รู้สึกหมดไฟเอาดื้อ ๆ ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีใจจะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งแรกที่เราจะสามารถสังเกตตนเองได้
กลุ่มอาการต่อไปอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของบุคคล ความรู้สึกดีต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อลูกค้า ต่อคนที่เราสัมพันธ์ด้วย เหมือนกับว่าความสัมพันธ์เหล่านี้เริ่มหายไป เรื่องต่าง ๆ
ที่ดีต่อกันระหว่างบุคคลต่อบุคคลในครอบครัวหายไป เกิดความรู้สึกไม่อยากเอาใจใส่ หรือบางทีอยากจะละเลยเฉยเมยไปดื้อ ๆ กระทั่งลูกค้าที่เข้ามารับบริการกับเรา ก็ไม่เต็มใจจะให้บริการ กลายเป็นคนแล้งไร้น้ำใจไปเลยก็มี
สุดท้ายความสูญเสียเกิดขึ้น คือ ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จ เพราะเกิดความรู้สึกว่า "ตนเองด้อยประสิทธิภาพ แล้วเริ่มมองตนเองในด้านลบ"
มีการทำสถิติในคนวัยทำงานว่า จะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งเเต่ 15-50% ของคนวัยทำงานทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเข้าสู่ภาวะหมดไฟถึงครึ่งหนึ่งเลยที่เดียว
ภาวะหมดไฟ นอกจากส่งผลต่อตนเองและงานที่ทำแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ การสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด และมักจะแสดงสีหน้าไม่อยากเจอใคร ในด้านของความคิดริเริ่มและการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ จะไม่เกิดขึ้น สุดท้ายอาจจะนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานต่อไปได้
บางคนรู้สึกไม่อยากไปทำงาน มีอาการที่เรียกว่า "ป่วยการเมือง" นี่ก็ถือว่าเป็นภาวะ "Burn-Out Syndrome" เช่นกัน คนที่ไม่อยากไปทำงาน ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดภาวะขาดแรงจูงใจ พอถึงจุดหนึ่งจะกระทบความสัมพันธ์ทุกอย่างรอบด้าน ซึ่งไม่มีอะไรดีเลย
ภาวะหมดไฟนั้นอาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ซึ่ง "โรคซึมเศร้า" นั้นมีสาเหตุมาจากเกิดการสูญเสียและความผิดหวัง ส่วน "โรคเครียด" นั้นมีสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาอย่างชัดเจน
แต่ "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome" เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่เราทำงานมากเกินไป แล้วขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งไม่สามารถแบ่งเวลาได้เหมาะสม จนเกิดภาวะหมกมุ่นอยู่กับงานบางอย่าง หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนเองสนใจและอยากจะทำให้สำเร็จ แล้วหมดไฟเนื่องจากทุ่มเทกับบางอย่างมากเกินไปจนเกิดความเครียดสะสม กระทั่งในที่สุดร่างกายรับไม่ได้ เรียกว่า "โอเวอร์โหลด" นั่นเอง
บางคนยิ่งทำงานหนัก ยิ่งมีไฟ แต่บางคนยิ่งทำ ยิ่งหมดไฟ สาเหตุหลักที่ทำให้คนเราต่างกัน คือ "การจัดสรรเวลาของตนเอง” รวมทั้งการมองรายละเอียดของงาน คนส่วนใหญ่มักจะแบ่งเวลาไม่เป็น คิดว่าตนเองรับผิดชอบงานนี้แล้ว ก็ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ แล้วเอาเวลาทุ่มลงไปตลอดทั้ง 1 วัน 2 วัน หรือ 1 สัปดาห์ พอทำอย่างนี้ผ่านไป 1 เดือน สภาพร่างกายและจิตใจรับไม่ไหว พอผ่านไป 1 ปี จึงเกิด "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome" เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักแบ่งเวลา จัดสรรกิจวัตร กิจกรรมให้ชัดเจน และต้องมีตารางชีวิตด้วย
เรากำลังเสี่ยงเป็นโรค Burn-Out Syndrome หรือไม่
ทุกคนที่อยู่ในสังคมเมือง คนในช่วงวัยนักศึกษา โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องทำงานบางอย่างแบบใช้ทั้งแรงกายแรงใจ หรือใช้ศักยภาพค่อนข้างมาก ได้แก่ สายวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ นักกฎหมาย ต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้ เรียกได้ว่า ทุกคนมีโอกาสเกิดภาวะหมดไฟ “โดยเฉพาะคนที่ทำใจไม่เป็น" แต่ก็ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่เกิดภาวะหมดไฟขึ้นแล้ว คือ ต้องสร้างแรงใจให้ตนเอง แรงใจดี ๆ มาจากหลายอย่าง เช่น คำพูด คำคมที่มาจากตนเอง หรือมาจากคนอื่นรอบข้างที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นต้น
ในสมัยนี้ มักจะมีการจับกลุ่มกันระหว่างคนที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ถามตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ร่วมกัน พอเราเข้าไปในกลุ่มลักษณะนี้แล้ว เราควรรู้จักถาม รู้จักตอบเวลามีคนอื่นเห็นต่างก็ให้รู้จักรับฟัง แล้วเปิดกว้างยอมรับมุมมองต่าง ๆ ทางความคิดเห็นด้วย
ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นดึงคลื่นรังสีมาสู่ตัวเรา เพราะฉะนั้น เราจะต้องลงไปสัมผัสกับพื้นดินบ้าง ถ้าเรามีอาการ "Burn-out Syndrome" มีคำแนะนำง่าย ๆ คือ ให้เราถอดรองเท้าแล้วไปเดินบนสนามหญ้าในสวนทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง
ไม่จำเป็นต้องออนไลน์ตลอดเวลา ปิดโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บ้าง เช่น ช่วงเวลานอนตอนกลางคืนให้ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไปเลย หรือวางอุปกรณ์เหล่านี้ให้ห่างจากตัว คือ ถ้าเราอยู่ชั้นบน ก็วางมันไว้ชั้นล่างของบ้าน รัศมีของคลื่นรังสีต่าง ๆ จะได้ถูกดึงไปไม่ถึงตัวเรานั่นเอง
ถ้าเราอยู่ในห้องนอน เราควรถอดปลั๊กโทรทัศน์ออก ไม่ต้องเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่ชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ ไม่ควรไว้ในห้องนอนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาว
เพราะฉะนั้น หาเวลาที่เป็นธรรมชาติให้ตนเองบ้าง ออกไปสัมผัสต้นไม้ เหยียบพื้นดินพื้นหญ้า สูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง แล้วพอถึงเวลานอน ก็ควรนอนแม้จะไม่ง่วง หรือว่ายังมีงานค้างอยู่มากก็ตามทุกอย่างต้องปิดรับให้หมด คือ "ต้องปิดสวิตช์ตนเองให้เป็น"
จัดระบบชีวิต ถอดปลั๊ก ตัดความเครียด
เวลาในชีวิตนั้นสำคัญ เพราะฉะนั้น เราควรจัดระเบียบเวลาในชีวิตให้ดี จัดตารางเวลาทั้งหมดของชีวิต เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ไม่ลืมที่จะรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของของใช้ส่วนตัว รวมทั้งข้าวของในที่ทำงาน
ถ้าสิ่งของรอบตัวไม่เป็นระเบียบจนเราชาชินกับเรื่องนี้ไปแล้ว ให้แก้ไขด้วยการถ่ายรูปเอาไว้ แล้วมานั่งวิเคราะห์ว่า สิ่งต่าง ๆ มันเป็นระเบียบดี หรือจัดวางอย่างถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเราจัดทุกอย่างให้เป็นระเบียบแล้ว ชีวิตเราจะลงตัว ความสะอาดและความมีระเบียบนั้นมีความสำคัญในชีวิต เพราะข้าวของที่เป็นระเบียบนั้น มีผลต่อสภาพจิตใจที่ทำให้เราเข้าสู่ภาวะหมดไฟได้
คนที่พยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าตนเองอ่อนล้า อ่อนแรง ไม่อยากไปทำงาน ต้องหาตัวช่วยโดยลองนำปัญหาของเราไปปรึกษาคนที่จะสามารถตอบคำถามเราได้ ถ้ายังมีอาการ "Burn Out Syndrome" เราอาจจะลองหาเวลาพักจากทุกอย่าง แล้วไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม อยู่กับตนเองบ้าง ผ่านไป 3 วัน 7 วัน เราอาจจะได้คำตอบอะไรบางอย่างก็ได้
สุดท้ายถ้าปรึกษาใครไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นต้น ซึ่งก็คงเป็นตัวเลือกสุดท้าย หลังจากที่เราได้ลองทำทุกอย่างแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าภาวะหมดไฟในการทำงานดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่วิธีการแก้ไขนั้นไม่ยากเลย "เพียงแก้ที่จิตใจของเราเท่านั้น"
จากหนังสือ 24ชม.ที่ฉันหายใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)