เมื่อชีวิตเรื่อยๆ เฉื่อยๆ เซงๆ

วันที่ 17 เมย. พ.ศ.2563

เมื่อชีวิตเรื่อยๆ เฉื่อยๆ เซงๆ

          หลายคนคงเคยมีความรู้สึกเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ เซ็ง ๆ หมดอารมณ์หมดไฟในการทำงาน ถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเพราะอะไร แล้วเราควรจะแก้ไขอย่างไร

 

เมื่อเห็นประโยชน์ จึงมีใจ อยากจะทำ

             ในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การจะทำงานให้สำเร็จได้ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ "อิทธิบาท 4"  ได้แก่ "ฉันทะ" ความรักความพอใจที่จะทำงานนั้น "วิริยะ" ความเพียร "จิตตะ" ความมีใจจดจ่อ และ "วิมังสา" ความรู้ความเข้าใจที่สามารถทำได้อย่างถูกวิธีตามลำดับขั้นตอนจนกระทั่งงานสำเร็จ


           เรื่องภาวะหมดไฟเกี่ยวข้องกับข้อแรกโดยตรง คือ ฉันทะ" ความรักความพอใจในการทำงานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ "เห็นประโยชน์ จึงมีใจอยากจะทำ" ถ้าไม่เห็นประโยชน์ มันก็หมดไฟ


           แล้วทำไมแต่ก่อนเรามีไฟ แต่พอทำงานไปหลายปีถึงเฉื่อยชา จนหมดไฟไปได้ล่ะ ให้ลองสังเกตคนที่ทำงานอยู่ในภาวะกดดันในการทำงานแบบสุด ๆ อย่างทหารในสงคราม พลาดนิดเดียวคือบาดเจ็บ ล้มตาย ต้องเห็นเพื่อนร่วมรบตายไปทีละคน มองไปทางซ้ายเพื่อนก็โดนกระสุนบาดเจ็บ มองไปทางขวาก็ตาย มองไปหน้าหลังก็โดนระเบิด มันรู้สึกกดดันตลอดเวลา


           บางสงครามยืดเยื้อหลายปี อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าจะจบกินเวลานานถึง 6 ปี หรือสงครามในประเทศจีน ตอนที่ เหมา เจ๋อตุง (Mao Tse-tung) ต่อสู้กับ เจียง ไคเชก (Chiang Kai-Shek) กินเวลานานเป็นสิบปีเลยทีเดียว การทำงานในสงครามต่าง ๆ ล้วนใช้เวลานานมาก แล้วทำไมทหารถึงยังมีไฟออกไปสู้รบ
ได้ขนาดนั้น


            ถ้าสังเกตจะพบว่า พวกเขามีเป้าหมายและเล็งเห็นประโยชน์ พวกเขารู้ว่าเมื่อทำไปแล้วจะได้อะไรกลับมา เช่น ในสงครามระหว่างประเทศ แต่ละคนออกรบเพื่อปกป้องประเทศชาติ ถ้าแพ้ก็ตกเป็นเมืองขึ้น ดังนั้น ทุกคนต้องสู้ ถึงตายก็ยอม ศึกหนักหนาสาหัสเท่าไรก็ยอม น้ำไม่ได้อาบ เนื้อตัวเหนียวหนึบ แถมโดนลูกกระสุนได้แผล ก็ยังต้องคว้าปืนออกไปรบอีก


            บางทียาไม่มี อาหารไม่พอ อากาศหนาว ยุงกัด ทากดูดเลือด เจอสารพัดปัญหาแต่ยังมุ่งมั่นสู้ตลอด เพราะเขาเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ตนเองทำว่า "มีคุณค่า"


              ทหารได้รับการปลูกฝังว่า หน้าที่ของทหาร คือ “รั้วของชาติ" ถ้าเเพ้นั่นหมายถึง ครอบครัว ลูก เมีย ญาติ พี่ น้อง เเละ ประชาชนร่วมชาติต้องตกที่นั่งลำบากแย่กันหมด ทุกคนจึงออกไปรบด้วยใจที่ห้าวหาญ อดทนและมีไฟตลอดเวลา ไม่ว่าจะลำบากเท่าใดก็ตาม


              เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุขสบาย บางคนนั่งทำงานในห้องแอร์  นอนในห้องแอร์ ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ พอเบื่อก็ออกไปชอปปิ้ง แต่บางคนแม้จะอยู่ดีมีสภาวะแวดล้อมที่ดีกว่าทหารมาก แต่กลับอยู่ในภาวะหมดไฟเพราะไม่มีใจจะทำงาน


               เราลองมาเปรียบเทียบดูกับการรบอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาเข้ารบสงครามโลกครั้งที่ 2 สู้จนชนะทั้งฟากยุโรป เอาชนะ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้ ในทางเอเชียก็สู้รบชนะญี่ปุ่นได้ แต่พอมาเจอสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันมีความพร้อมมากกว่าทั้งอาวุธ ปืนรบ รถถัง ปืนใหญ่ มีสารพัดอาวุธที่ชาวเวียดกงสู้ไม่ได้เเต่กลับรบเเพ้


              เวียดกงแทบจะนุ่งผ้าเตี่ยวคว้าปืนออกรบ มีอาหาร คือ ขนมโก๋ ขนมปัง เพราะเก็บได้หลายวัน แล้วคว้าปืนนุ่งผ้าเตี่ยวออกรบในขณะที่ทหารอเมริกันมีพร้อมทุกอย่าง พอขอกำลังเสริม ก็มีเครื่องบินบี 52 มาทิ้งระเบิด แต่สุดท้ายกลับแพ้สงครามเวียดนาม กลายเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกา เพียงเพราะทหารอเมริกันหมดไฟ


             "ภาวะหมดไฟ" สำคัญขนาดที่ทำให้กองทัพเกรียงไกร อันดับหนึ่งของโลกพ่ายแพ้กองทัพนุ่งผ้าเตี่ยวเวียดกง เพราะกองทัพผ้าเตี่ยวมีไฟเต็มที่ ทุกคนรู้ว่าตนเองกำลังปกป้องประเทศชาติ ต้องเอาเอกราชของชาติคืนมาจากมือของต่างชาติให้ได้


              แต่ทหารอเมริกันถูกส่งมารบในขณะที่มีความรู้สึกว่า ไม่ใช่บ้านเมืองของเรา ทำไมเราต้องมารบกันในบ้านเมืองของเขา เขาไม่ได้อยากให้เรามา มันเป็นเรื่องสงครามภายในประเทศ เหมือนเราไปจุ้นจ้านเขา ทหารอเมริกันส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกว่า มารบแบบไร้สาระ มองไม่เห็นประโยชน์ รบไปเพื่ออะไร เพียงมีคำสั่งให้มารบก็มารบเท่านั้น พอรบไปรบมาเห็นเพื่อนข้าง ๆ บาดเจ็บล้มตายก็เครียดจนเกิดภาวะหมดไฟ


              แล้วทหารก็หาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติด อาวุธฆ่าศึกที่ร้ายแรงที่สุดที่ทำให้ทหารอเมริกันรบแพ้เวียดนามไม่ใช่กระสุน แต่คือยาเสพติด พอทหารอเมริกันเครียดจึงไปพึ่งยาเสพติด ทำให้สุขภาพกายใจยิ่งแย่ไปใหญ่ สุดท้ายแพ้สงคราม ต้องค่อย ๆ ล่าถอยกลับไป


                แต่ถ้าเราลองคิดว่า ที่ทหารเวียดกงรบชนะเพราะเขารบเก่งก็ลองเอาทหารเวียดกงไปบุกรบสหรัฐอเมริกา อย่างนี้รับรองว่าเเพ้ราบคาบ เพราะคราวนี้ทหารอเมริกันจะรบอย่างมีไฟทันที หากใครบังอาจมาบุกรุกแผ่นดิน ทหารอเมริกันจะลุกพรึบวิ่งเข้าใส่ รบชนะอย่างแน่นอน


เป้าหมายต้องชัดเจน ความสำเร็จจึงชัดแจ้ง

               เมื่อเห็นประโยชน์ ไฟในการทำงานจึงจะเกิด ไม่ว่าในภาวะยากลำบากเพียงใด หากเป้าหมายในใจเราสูงส่ง คอยังคงตั้งตรงหน้าเชิดขึ้นไป ดวงตาจะสุกสกาว เพราะว่าเรามีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน


              เป้าหมายนี้มีทั้งระยะใกล้และไกล เป้าหมายระยะไกล คือ "เป้าหมายข้ามภพข้ามชาติ" ซึ่งเป็นเรื่องทางศาสนา เช่น เราชาวพุทธจะต้องปราบกิเลสในตัวให้หมด แล้วไปถึงที่สุดแห่งธรรมให้ได้ ใครจะเอาไปเฉพาะตัว ใครจะไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือใครจะไปรื้อผังเอาชนะให้เด็ดขาดกันไป ก็ขึ้นอยู่กับมโนปณิธานของแต่ละคน


              แม้จะเป็นภารกิจที่ยากลำบากเพียงใด ไม่ใช่ลำบากแค่ชาตินี้ แต่ต้องทำข้ามภพข้ามชาตินับไม่ถ้วน ก็พร้อมจะสู้ข้ามภพข้ามชาตินับอสงไขยไม่ถ้วน เพราะเป้าหมายในใจสูงส่งเหมือนพระบรมโพธิสัตว์


              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมายาวนาน 20 อสงไขยกับ แสนมหากัปยังไม่หมดไฟเลย เพราะเป้าหมายของพระองค์ชัดเจนและยิ่งใหญ่ ระหว่างสร้างบารมีบางชาติพลาดท่าไปตกนรกนานเป็นพัน ๆ ล้านปี แต่ก็ยังไม่หมดไฟเพราะหัวใจยังลุกโชติช่วง ขนาดเผลอพลาดท่าไปเจออย่างนี้เข้า ข้างในยังฮึดสู้อยู่ พอพ้น
จากวิบากกรรมก็ยังมาสร้างบารมีต่อไปอีก


              "ต่อไปนี้ถ้าเราต้องการพ้นจากภาวะหมดไฟ ต้องสำรวจเป้าหมายชีวิตของตนเอง" ถ้าได้เข้าวัดแล้ว
รู้แผนผังความจริงของชีวิตมนุษย์ รู้ว่าเป้าหมายชีวิตเราจริง ๆ คืออะไร พอรู้อย่างนี้เราจะได้ตั้งใจละชั่ว ทำดี แล้วทำใจให้ผ่องใส ตั้งใจนั่งสมาธิให้ตัวตั้งเลย สั่งสมความดีทุกรูปแบบ บาปกรรมไม่ดีอย่าทำเด็ดขาด อย่างนี้เราจะมีไฟในการทำความดีต่อไป


                พอมองเป้าหมายระยะใกล้ คือ "เป้าหมายในชาตินี้" เราจะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง ให้วางเป้าหมายในการทำงานก่อนจะเกษียณอายุ ไม่ว่าจะข้าราชการเกษียณ 60 ปี หรือทำงานส่วนตัวที่คิดไว้ว่า จะเกษียณอายุตนเองตอนอายุ 60 ปี 70 ปี หรือจะทำงานตลอดชีวิตก็แล้วแต่ ให้เราตั้งเป้าปักธงเลยว่า เราจะทำอะไรบ้าง


ภาวะหมดไฟ คือ ภาวะหมดฝัน

                คนที่ยังมีความใฝ่ฝันจะยังมีไฟอยู่เสมอ "ภาวะหมดไฟ คือ ภาวะหมดความฝัน" คนหมดฝันจะรู้สึกเบื่อหน่าย เชื่องซึมแต่เมื่อใดมีความใฝ่ฝันมุ่งมั่นอยู่ในใจ ไฟจะลุกโชติช่วงในใจเราเป็นไฟนิรันดร์อนันตชัย


                 ที่สำคัญอย่าลืมซอยเป้าหมายย่อยเข้ามาอีก เช่น ปีนี้ตั้งเป้าว่า เราจะพัฒนาตนเองอย่างไร ด้านไหนบ้าง หรือเดือนนี้ สัปดาห์นี้ พรุ่งนี้กำลังจะใกล้เข้ามา เราจะทำให้เป้าหมายใดชัดเจนขึ้นบ้าง เเล้วเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลานี้เอง ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราพุ่งไปข้างหน้า
 

                 เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว ก็ต้องพัฒนาตนเองด้วย พอเรารู้สึกว่า ตนเองมีการพัฒนา แต่ละวันเราเก่งขึ้น ดีขึ้น บุญกุศลมากขึ้น ใจเราจะคึกคักเกิดกำลังใจ แต่เมื่อใดที่เรารู้สึกว่า มันจำเจซ้ำซาก ย่ำอยู่กับที่ไปวัน ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย


                เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำความดีเพิ่มเติม สร้างบุญกุศลเพิ่มเติม ไม่ให้วันแต่ละวันผ่านไปเปล่า แต่ทุกช่วงเวลาต้องผ่านไปพร้อมกับบุญกุศลในตัวเราที่เพิ่มขึ้นด้วย เวลาผ่านไปพร้อมกับประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น ผ่านไปพร้อมกับความรู้ความสามารถที่มากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องเสริมกำลังใจ สร้างไฟในการทำงานได้ดีเยี่ยม


                เหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์มาจนถึงปัจจุบัน เข้าใจหลักการนี้ดีว่า ช่วงเวลาที่ยากของกองทัพในการปลดแอกจีน คือ ช่วงที่ถูก เจียง ไคเชก รุกกระหน่ำและมีกำลังเหนือกว่า จนกระทั่งทหารคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อตุง สู้ไม่ได้ จำเป็นต้องอพยพหลบหนี เรียกว่า "การเดินทัพทางไกลหมื่น" ยกทัพหนีครั้งหนึ่งไกลถึง 5,000-10,000 กิโลเมตร


               กองทัพต้องเดินข้ามเขาไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูกท่ามกลางหิมะ เพื่อนทหารข้าง ๆ ตัวแข็งล้มตายก็มี ต้องเจอทั้งภัยธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำเป็นร้อยสาย เครื่องบินถล่มทิ้งระเบิดเกือบทุกวัน มีการศึกน้อยใหญ่หลายร้อยครั้ง ออกเดินทาง 200,000 คน ไปถึงปลายทางเพียง 10,000-20,000 คนเท่านั้น ทหารที่ตายไปก็มาก อีกส่วนหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างทาง เพื่อเพาะเชื้อคอมมิวนิสต์แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น พูดง่าย ๆ ว่า สถานการณ์ยากลำบากมาก


                เหมา เจ๋อตง ปลุกใจทหารคอมมิวนิสต์ของเขาทุกคนว่า "เราต้องกู้ชาติ" ทหารจึงมีกำลังใจสู้ ลำบากเท่าไรก็สู้ตราบที่ใจยังมีความฝัน ต่อให้กัดก้อนเกลือกินพวกเขาก็ยังสู้

               ในขณะเดียวกัน เหมา เจ๋อตุง รู้หลักผลักดันกำลังใจให้ทหารของเขาเป็นอย่างดี พอเครื่องบินทิ้งระเบิดบินผ่านไป ทหารเข้าเคลียร์พื้นที่เสร็จเรียบร้อยก็เดินทัพต่อ โดยให้ทหารเดินเรียงแถว แล้วสอนตัวหนังสือจีนให้พวกเขาทีละตัว ทุกคนใช้หลังเพื่อนเป็นกระดาน ใช้นิ้วเขียนตัวหนังสือจีนบนหลังของคนข้างหน้า ค่อยๆจดจำกันไปทีละตัว จนสามารถอ่านออกเขียนได้ทุกตัว

               ทหารส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ตัวหนังสือจีนนั้นใช้หลักการท่องจำเป็นตัว ๆ เขาจึงสอนทหารให้ออกเสียง แล้วเขียนตามทีละตัว ๆ พอกองทัพเดินถึงปลายทางทุกคนก็อ่านออกเขียนได้หมด ทหารแต่ละคนจึงมีความรู้สึกว่า เขาไม่ได้ไปรบอย่างเดียว แต่ละวันนั้นเขาเก่งขึ้นด้วย


               พอทหารรู้สึกว่า ตนเองเก่งขึ้นทุกวัน ๆ ก็มีเครื่องเสริมกำลังใจ เพราะฉะนั้น เราทำงานจะยุ่งเท่าไรก็ตาม อย่าลืมหาความรู้เพิ่มเติมให้ตนเอง เพราะมันจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เราภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่า ตนเองมีการพัฒนา เสริมสร้างไฟในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย


               สรุปว่า "ภาวะหมดไฟเกิดจากการขาดเป้าหมายในชีวิต" หรือเป้าหมายไม่ถึงกับไม่มี แต่มันเลือนรางเจือจางไปไม่ชัดเจน "วิธีการแก้ คือ ปักหลักเป้าหมายชีวิต" ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายข้ามภพข้ามชาติก็ตาม เป้าหมายในชาตินี้ก็ตาม ย่อยมันลงมาถึงช่วงใกล้ให้ชัดเจน


               พร้อมกันนั้น ต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญ และไม่ลืมที่จะพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้ดี จัดการสิ่งแวดล้อมให้ดี ทำงานให้ดี ให้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเสริม แต่หัวใจหลักยังเป็นเป้าหมายชีวิตเป้าหมายในการทำงาน


              "เมื่อใดมีความฝัน เมื่อนั้นไม่หมดไฟ  แต่ถ้าหมดฝันเมื่อใด ไฟในการทำงานและการใช้ชีวิตก็จะหมดลงไปด้วย"

 

จากหนังสือ  24ชม.ที่ฉันหายใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021504767735799 Mins