รู้หรือไม่ เรื่องเวลาเป็นเรื่องใหญ่

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2563

รู้หรือไม่ เรื่องเวลาเป็นเรื่องใหญ่

                เรื่องเวลาเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า มีเรื่องราวรุมล้อมตัวเรามากมาย จนกระทั่งชีวิตยุ่งเหยิงไปหมด


                 สมัยสังคมเกษตร ชีวิตผู้คนยังสบายเพราะมีเวลาว่างในแต่ละวันมาก แม้จะต้องตื่นแต่เช้ามืดไปทำไร่ไถนา แต่พอบ่าย ๆ ก็ว่างแล้ว  เย็นค่ำหน่อยก็มีเวลาออกมานั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน พอสัก 2-3 ทุ่ม ก็เข้านอนกันแล้ว รู้สึกว่า ชีวิตเบาสบาย พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นก็มีช่วงเวลาว่างให้พักผ่อนทำอย่างอื่นอีก


                 แต่ชีวิตคนในปัจจุบันยุ่งเหยิงเหลือเกิน ทำอย่างไรถึงจะบริหารเวลาเพื่อรับมือกับภารกิจที่มากมายหลากหลายรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข นี่คือประเด็นสำคัญ

 

HOW TO ชีวิตดีมีแต่ได้เพราะบริหารเวลาเป็น

                  มีหนังสือ How To ที่เขียนถึงเรื่องของการบริหารเวลาเอาไว้มากมาย ซึ่งเขียนไว้ดี ๆทั้งนั้น แต่เนื้อหานั้นมีมากมายเต็มไปหมด อ่านเสร็จแล้วก็ลืม เอามาใช้ในชีวิตได้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ดังนั้น อาตมาภาพจะไม่ฝากหลักการอะไรไว้มากนัก แต่จะขอฝากไว้ 2 ข้อ ขอให้นำไปใช้จริงเท่านั้น  แล้วชีวิตเราจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น

 

HOW TO ข้อที่ 1 "จัดลำดับความสำคัญของงาน"

                เราจะลงมือทำงานทุกอย่างที่เข้ามาทั้งหมดไม่ได้ แต่เราต้องรู้จักเลือกว่า งานใดสำคัญที่สุด งานใดสำคัญรองลงมา บางงานเป็นเรื่องที่ไร้สาระก็มี พอเราคัดเลือกงานแล้ว เราจะได้ทำในสิ่งที่สำคัญก่อน


               ดัง "กฏ 80/20" คือ เรื่องที่สำคัญให้เราใช้เวลาไปกับมัน 20% ของเวลาทั้งหมดที่มี แต่มันจะส่งผลในชีวิตเรามากถึง 80% ของความสำเร็จทั้งหมดเลยทีเดียว ถ้าเราลงมือทำงานสำคัญนี้เสร็จเรียบร้อย เราจะอุ่นใจได้แล้วว่า เราใช้เวลาแค่ 20% แต่เราสำเร็จไปแล้วถึง 80% งานที่เหลือก็เบาสบาย


               ถ้าใครเอาเวลาไปทำในเรื่องที่ใช้เวลามากถึง 80%  แต่ให้ผลเพียง 20%  ของชีวิต อย่างนี้เหนื่อยเปล่า เพราะเวลาในชีวิตหมดไปแล้วในแต่ละวันถึง 80% แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับมีผลต่อชีวิตแค่ 20%  เท่านั้น แล้วจะใช้เวลาที่เหลืออีก 20% เพื่อทำงานอีก 80% ที่เหลือนี่หืดขึ้นคอเลยทีเดียว ดังนั้น เราต้องทำในสิ่งที่สำคัญก่อน การจัดลำดับความสำคัญของงานจึงสำคัญมาก

 

How To ข้อที่ 2 "การแบ่งเวลา"  เราต้องรู้จัก

                   แบ่งเวลาในแต่ละวันว่าควรจะทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มีงานอะไรเข้ามาก็ทำไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีการวางแผน อย่างนี้ชีวิตสะเปะสะปะออกไปนอกลู่นอกทาง

                   บางคนนึกว่า ตนเองจะดูโทรทัศน์สักครึ่งชั่วโมง แต่กลับดูเพลินไปถึง 2-3 ชั่วโมง หรือบางคนนึกไว้ว่าจะเล่นวิดีโอเกมผ่อนคลายอารมณ์ความเครียดไม่นาน แต่จริง ๆ เผลอเล่นเกมไปถึงตี 1 ก็มีทำอย่างนี้ระบบชีวิตรวนหมด สุขภาพเสื่อมถอย การงานก็เสียการเรียนก็แย่ เพราะปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เข้ามาถึงตนเองเรื่อยเปื่อยไม่มีการวางแผนชีวิต ไม่มีการบริหารเวลา หรือแบ่งเวลาไว้ให้ชัดเจน

                  คนที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารเวลาและประสบผลสำเร็จในการทำงานได้ "ต้องแบ่งเวลาเป็น" พอบริหารเวลาสำเร็จไปร้อยละ 80 แล้ว ส่วนเทคนิคย่อยจะมีอีกกี่ข้อ ก็นำมาเสริมในส่วนที่เหลือนี้ ชีวิตเราจะไปได้ดีอย่างแน่นอน

 

หน้าที่หลัก ที่ควรถูกกำหนด

                 พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดหน้าที่ของพระองค์ไว้ 3 ประการ คือ

-  "โลวัตถจริยา" พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก

-  "ญาตัตถจริยา" พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่ญาติ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ไม่ทิ้งหมู่ญาติ จึงให้การดูแลเป็นพิเศษ

-  "พุทธัตถจริยา" พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของหมู่สงฆ์ทั้งหลาย

 

                  พอกำหนดบทบาทตนเองชัดเจน เราจะสามารถแบ่งเวลาเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ เพราะคนแต่ละคนมีหลายบทบาท  บางคนทำงานในบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้จัดการบ้าง เป็นหัวหน้าแผนกบ้างหรือเป็นเจ้าหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ บ้าง ถือว่าเป็นหน้าที่การงานของเราอย่างหนึ่ง

                 พอกลับมาบ้านแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งบทบาท คือ บทบาทของพ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่เราต้องทำหน้าที่นี้ด้วย บางคนยังมีหน้าที่อื่น ๆ ทางสังคมร่วมด้วย เช่น ช่วยงานมูลนิธิ งานการกุศล งานสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น

                เราควรพิจารณาว่า ตนเองมีบทบาทหลัก ๆ อะไรบ้าง แล้วกำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละบทบาท พร้อมกับแบ่งเวลาให้ดี ถ้าทำได้อย่างนี้ การบริหารเวลาของเราก็จะลงตัว

                บทบาทในฐานะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลก พระองค์ทรงแบ่งไว้ 5 หน้าที่ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ

-  "ยามเช้า" พระองค์ทรงเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกอย่างหนึ่ง
-  “ยามเย็น" พระองค์ทรงแสดงธรรมให้มหาชนทั้งหลาย
-  "พลบค่ำ"พระองค์ทรงให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ ทำหน้าที่ในฐานะประมุขของสงฆ์ เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้นพระองค์ก็จะวางกรอบ วางเกณฑ์ วางกติกา ข้อบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ เพื่อให้หมู่สงฆ์งดงามและมีระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้อง
-  "เที่ยงคืน" พระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดาอีกอย่างหนึ่ง อย่างมงคลสูตร มงคลชีวิต 38 ประการ พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่เทวดา แล้วจึงทรงนำมาเล่าให้พระอานนท์ฟัง ได้สืบทอดมาถึงเราชาวพุทธเป็นมงคลสูตร 38 ประการ
-  "ย่ำรุ่ง" คือ เวลาที่ยังมืดแต่จวนจะสว่าง พระองค์ทรงสอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลกว่า วันนี้จะเสด็จไปโปรดใคร แล้วพอฟ้าเริ่มสางก็เสด็จไปบิณฑบาตโปรดเขา

                  กิจวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละวันมี 5 หน้าที่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ บางคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมเริ่มด้วยการบิณฑบาต ไม่เริ่มด้วยยามย่ำรุ่ง สอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ก่อนแล้วค่อยไปโปรด นั่นเป็นเพราะว่า วันในทางพระพุทธศาสนา ถือตอนพระอาทิตย์ขึ้นแล้วเป็นวันใหม่ ในตอนย่ำรุ่งนั้นพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น


                 ดังนั้น เวลาเรียงกิจกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเริ่มที่ยามเช้าเสด็จบิณฑบาตอย่างหนึ่งก่อน แล้วไล่ไปประการสุดท้ายก่อนสว่าง คือ "สอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก"

                 ในการโปรดหมู่พระญาติ ยกตัวอย่าง ตอนที่ราษฎรชาวเมืองกบิลพัสดุ์ กับชาวเมืองเทวทหะจะยกพวกรบกันเพื่อแย่งน้ำ เพราะถึงคราวเกิดภัยแล้งน้ำขาดแคลน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามทัพ แล้วไปโปรดจนกระทั่งทุกคนเข้าใจจึงเลิกแล้วกันไปด้วยดี ถือว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อหมู่พระญาตินั่นเอง


                ชีวิตของคนเรามีหลายบทบาท เราจึงต้องจัดการบทบาทของตนเองแต่ละเรื่องให้เรียบร้อย บทบาทหลักที่หนีไม่พ้น คือ บทบาทความเป็นพ่อแม่ลูก หรือหน้าที่การงานที่รับผิดชอบนั้น ก็ต้องทำให้สำเร็จ

                ส่วนบทบาทอื่น ๆ ที่ตามมา เราจะต้องพิจารณาว่า ควรทำแค่ไหนถึงพอดีสำหรับตนเอง ไม่รับหลายบทบาทแล้วทำไม่ได้ ทำได้ไม่ดี หรือล้นจนชีวิตรวนไปหมด "ต้องพอดี แล้วจะได้ดี"

               อาตมาภาพขอฝากเคล็ดลับสำคัญไว้เรื่องหนึ่ง คือ "ห้องนอน" เชื่อหรือไม่ว่า การแบ่งเวลาที่สำคัญ เริ่มต้นจากเวลานอน   ถ้าใครนอนหัวค่ำได้ ก็จะตื่นเช้าได้เพราะพักผ่อนเพียงพอ จิตใจสดชื่นและพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจทั้งวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              แต่ใครนอนดึกตี 2 ตี 3 พอเช้าก็ไม่อยากตื่น ถึงคราวจะฝืนตื่นก็งัวเงีย จะหยิบจับทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ดีไปตลอดทั้งวัน อารมณ์บูดเพราะนอนไม่พอ เพราะฉะนั้น "การแบ่งเวลาที่ดีเริ่มต้นที่การนอน"

               มีเคล็ดลับอีกว่า หากเราจะควบคุมการนอนหลับของตนเองให้ได้ผล ให้ตรวจดูห้องนอนของเราก่อน ถ้ามีโทรทัศน์อยู่ ก็ให้ยกออกไปไว้นอกห้อง ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ก็ยกไปไว้นอกห้องได้จะดีที่สุด อย่าไปนึกเสียดายว่าห้องเรากว้างขวาง อุตส่าห์เอาโทรทัศน์มาตั้ง เอาคอมพิวเตอร์มาตั้งจะได้ใช้งานได้สะดวก ง่วงก็นอนเลย อย่างนั้นกลับไม่ดี เพราะพอเรามาอยู่บนเตียง เดี๋ยวก็เปิดโทรทัศน์ดูไปดูมาเรื่อยเปื่อย พอเปิดคอมพิวเตอร์ เดี๋ยวเข้าเรื่องนั้นออกเรื่องนี้ เผลอเข้าไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์อีก มันยาวไปเรื่อยเปื่อย ทำให้เราควบคุมเวลานอนไม่ได้


              ดังนั้น เอาโทรทัศน์และเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปไว้นอกห้องนอนจะดีกว่า ถึงเวลาพักผ่อน เข้าห้องนอนปุ๊บให้ตั้งใจสวดมนต์ นั่งสมาธิ เสร็จแล้วนอนหลับไปตามเวลาที่กำหนดอย่างเป็นสุข  การบริหารเวลาของเราจะลงตัว

             อย่าดูเบาเรื่องนี้ เพราะบางทีตนเองยังตามใจตนเองอยู่ เรายังไม่ชนะใจตนเองได้ 100% ถ้ามีสิ่งเร้าสิ่งยั่วยุให้เราเพลินไปกับมันอยู่ในห้องนอน จะทำให้จุดเริ่มต้นในการบริหารเวลาของเราล้มเหลว แล้วทุกอย่างก็ได้แต่คิด แต่ว่าทำไม่ได้

 

เวลาใดสำคัญที่สุด และใครคือบุคคลสำคัญที่สุด

               ในอดีตมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงอยากรู้ว่า เวลาตอนไหนสำคัญที่สุด ใครคือบุคคลสำคัญที่สุด และภารกิจที่พระองค์ควรทำที่สุดคืออะไร

               พระราชาป่าวประกาศว่า ถ้าใครตอบคำถามได้จะมีรางวัลให้  ประชาชนต่างเข้ามาตอบคำถามพระองค์กันมากมายหลากหลายคำตอบแต่พระราชาก็ยังไม่ถูกใจแม้คำตอบเดียว

              พอพระราชาได้ฟังว่า มีฤษีตนหนึ่งฉลาดมากอาศัยอยู่ในป่า พระองค์จึงต้องการจะไปถามคำถามนี้กับฤาษี ขณะที่พระองค์เดินทางไปกับอำมาตย์ราชบริพาร พอถึงเชิงเขาทรงรับสั่งให้ทุกคนรออยู่ข้างล่าง เพื่อไม่ให้ขึ้นไปรบกวนความสงบของท่านฤษี

              พระราชาแต่งตัวแบบชาวบ้านธรรมดา เสด็จขึ้นเขาไปเพียงพระองค์เดียว พอเห็นฤาษีกำลังขุดดินอยู่ พระราชาไม่รอช้าทรงตรัสถามคำถามทันที ฤาษีได้ยินก็ยังขุดดินต่อไป ไม่สนใจพระราชาเลย  พระองค์จึงตรัสถามต่อไปอีกว่า "ข้าพเจ้าอยากรู้ว่า เวลาใดสำคัญที่สุด ใครคือบุคคลสำคัญที่สุด และภารกิจใดสำคัญที่สุด"
พอพระราชาถามจบ ฤาษีก็ยังนิ่งไม่พูดอะไรและขุดดินต่อไป

              พระราชาเห็นฤาษีมีอายุมากแล้วจึงตรัสว่า "ข้าพเจ้าจะช่วยท่านขุดดินก็แล้วกัน" พระองค์ทรงคิดว่า ฤาษีกำลังกังวลเรื่องขุดดิน จึงไม่ตอบคำถามของพระองค์

              พระราชาช่วยฤาษีขุดดินอยู่เป็นชั่วโมง ฤาษีชอบใจจึงนั่งลง  พอพระราชาขุดดินได้มากพอสมควร แล้วจึงเอ่ยถามฤษีอีกครั้งว่า  "ข้าพเจ้ามาที่นี่เพราะอยากรู้ว่า เวลาใดสำคัญที่สุด ใครคือบุคคลสำคัญที่สุด และภารกิจอะไรสำคัญที่สุด ถ้าท่านตอบไม่ได้ก็ขอให้บอกมาตรง ๆ ข้าพเจ้าจะได้กลับ" 

              ฤาษีไม่ได้ตอบพระราชา แต่กลับพูดขึ้นว่า “ได้ยินเสียงฝีเท้าไหม มีคนกำลังวิ่งมาทางนี้" พระราชาตั้งใจฟังเสียงฝีเท้าก็เห็นด้วย  ไม่ช้าทั้งสองก็เห็นคนหนึ่งวิ่งโซซัดโซเซเข้ามาหา เขาเอามือกุมท้อง มีเลือดไหลซึมตามร่องนิ้วมือ พอเข้ามาใกล้เขาก็ล้มลงไปที่พื้น


              พระราชาเข้าไปดูใกล้ ๆ จึงเห็นบาดแผลที่ท้องน้อย รีบนำผ้ามาห้ามเลือด แล้วทำแผลให้จนชายคนนี้รอดตายอย่างหวุดหวิด

              พอเขาฟื้นขึ้นมาพบว่า พระราชาเป็นคนช่วยชีวิตตนเองเอาไว้  จึงสารภาพว่า พี่ชายของตนเองตายในการรบกับพระราชาเมื่อปีก่อน  ทรัพย์สมบัติถูกริบไปจนหมดตัว จึงผูกอาฆาตแค้นพระราชามาก พอรู้ข่าวว่า พระราชาจะมาหาฤาษีบนเขานี้เพียงลำพัง เห็นเป็นโอกาสจึงจะมาดักลอบทำร้ายพระองค์

              พอตนเห็นฝ่ายพระราชาอยู่บนเขาเป็นชั่วโมง ไม่ยอมลงไปสักทีจึงคิดจะลุยฝ่าขึ้นมา เจอทหารองครักษ์อยู่ที่เชิงเขาจึงต่อสู้กัน จนตนเองถูกอาวุธต้องหนีตายขึ้นมา แต่พระราชากลับมีเมตตาช่วยชีวิตเอาไว้ นับแต่นี้ไปจะไม่ขอถือโทษอาฆาตพยาบาทพระราชาอีกแล้ว แต่จะขอสวามิภักดิ์ถวายความจงรักภักดีตลอดไป

              เมื่อพระราชาได้ยินก็ดีใจ จึงให้รางวัลด้วยการคืนทรัพย์สมบัติของชายคนนี้ที่ถูกริบไปคืนให้หมด แล้วเพิ่มทรัพย์สมบัติให้ด้วย จากนั้นพระราชาจึงหันมาถามฤาษีอีกครั้งว่า แล้วท่านฤาษีจะตอบคำถามข้าพเจ้าได้หรือไม่ว่า "เวลาใดสำคัญที่สุด ใครสำคัญที่สุด และภารกิจอะไรสำคัญที่สุด"

              ฤาษีตอบพระราชาว่า   

"  ตอนที่ข้าพเจ้าขุดดิน เวลาขณะที่ขุดดินอยู่นั้น

คือ เวลาสำคัญที่สุด

และตัวข้าพเจ้า คือ คนสำคัญที่สุด 

แล้วภารกิจสำคัญที่สุด คือ การขุดดิน

แต่เมื่อพระองค์เจอชายคนที่ถูกอาวุธมา
เวลาขณะนั้น คือ เวลาสำคัญที่สุดแล้ว
และบุคคลสำคัญที่สุด
คือ คนที่กำลังจะตายเพราะถูกแทงด้วยอาวุธ
แล้ว ภารกิจสำคัญที่สุด คือ การช่วยชีวิตเขา  "

 

               โดยสรุป "เวลาปัจจุบัน คือ เวลาสำคัญที่สุด"  เราอย่ามัวเสียเวลาไประลึกนึกถึงอดีต แล้วมัวพร่ำรำพัน หรือฟุ้งฝัน  ถึงอนาคตจนเกินไป เอาตัวเราอยู่กับปัจจุบัน

               "บุคคลสำคัญที่สุด คือ บุคคลที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย" ถ้าไม่ยุ่งกับใคร โดยมีสติอยู่กับตนเอง แล้วทำงานที่เราทำอย่างดีที่สุด หากจะต้องพูดจาหรือติดต่อสัมพันธ์กับใคร คนนั้น คือคนสำคัญที่สุดกับเราในขณะนั้น จงจดจ่ออยู่กับเขา พอเขาพูดให้ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด ไม่ใช่คุยกับคนนี้แต่ใจไปนึกถึงเรื่องอื่น เขาพูดอะไรไม่รู้เหมือนใจฟุ้งซ่านคุยไปเรื่อยเปื่อย แต่เขา คือ บุคคลสำคัญที่สุด ให้จดจ่อฟังอย่างตั้งใจ ปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างตั้งใจและมีสติ

"ภารกิจสำคัญที่สุด คือ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนั้น"

 

 

จากหนังสือ  24ชม.ที่ฉันหายใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01484150091807 Mins