ทำพรุ่งนี้ สำเร็จพรุ่งนี้
ไม่ว่าจะทำงานอะไร เรามักจะได้ยินคำว่า "เดี๋ยวก่อน" อยู่เสมอ ทำให้เลื่อนการทำงานออกไปอีก พอใกล้ถึงเวลาส่งงานค่อยกลับมาทำ เป็นไฟลนก้น แล้วจึงเกิดความเครียดขึ้นมา
เทคนิคการขจัดนิสัย "ผัดวันประกันพรุ่ง"
สาเหตุที่คนเราชอบผัดวันประกันพรุ่ง
การผัดวันประกันพรุ่งนั้น บางครั้งสำหรับบางคนเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามสถานการณ์ แต่สำหรับบางคนเกิดขึ้นเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่งมีสาเหตุหลัก 4 สาเหตุ ด้วยกัน
สาเหตุที่ 1 "ไม่มีวินัยในการทำงาน"
คนลักษณะนี้มักจะขอเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้จักจัดลำดับงานก่อนหลัง เช่น บางคนตอนเรียนหนังสือ ในระหว่างภาคการศึกษายังไม่อยากอ่านหนังสือ ขอผัดวันไปอ่านหนังสือตอนใกล้สอบ อ้างว่าทำให้จดจำทุกอย่างได้ แต่กลับกลายเป็นว่า พอถึงเวลาใกล้สอบ ก็อ่านหนังสือไม่ทันเพราะไฟลนก้น รู้สึกกระวนกระวายไม่รู้จะทำอะไรก่อนหลัง ในที่สุดก็อ่านหนังสือไม่ทัน หรืออ่านได้ไม่เท่าที่ตนเองเคยตั้งใจไว้ ปรากฏว่าผลสอบออกมาไม่ดี พอเข้าสู่เทอมใหม่ก็ซ้ำรอยเดิมอีก
สาเหตุที่2 "มัวแต่ศึกษาค้นคว้า"
มีคนประเภทหนึ่งชอบนักว่าตนเองจะทำงานได้ไม่สำเร็จ จึงขอผลัดการทำงานออกไปก่อน
เพื่อศึกษาดูรายละเอียดของงาน พอถึงเวลาไม่ได้ลงมือทำสักทีเพราะมัวแต่ศึกษา เลื่อนการทำงานนั้นออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนดที่ชัดเจนงานจึงเสร็จไม่ทันเวลา
สาเหตุที่ 3 "ไม่ชอบงานที่ทำ"
บางคนไม่ชอบงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ว่าต้องจำใจทำ เช่น บางคนอาจจะชอบเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่บางครั้งถูกมอบหมายให้ทำงานเอกสารพอตนเองไม่ชอบงานนั้น จึงไม่อยากทำ เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งงานก็ยิ่งคั่งค้างกลายเป็นดินพอกหางหมูไปใหญ่
สาเหตุที่ 4 "รอคอยความพร้อม"
หลายคนอยากให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ แต่สำหรับบางคนกว่างานจะออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดได้นั้น เขามักจะรอให้ความพร้อมทุก ๆ ด้านเกิดขึ้นก่อนจึงลงมือทำ ซึ่งถือว่าเป็นการผัดวันประกันพรุ่งอีกรูปแบบหนึ่ง
จริง ๆ แล้วถ้างานยังไม่สมบูรณ์ เราก็ต้องค่อย ๆ ลงมือทำไปเรื่อย ๆ แล้วแก้ไขไปตามขั้นตอน แต่ถ้ามัวแต่รอความพร้อมทุก ๆ ด้าน งานนั้นก็จะไม่เสร็จ ความจริงการรอคอยความพร้อมนี้ คือข้ออ้างเพื่อยืดเวลาให้กับสิ่งที่เขาไม่อยากทำ
สำเร็จได้ด้วย กฎการทำงาน 2 นาที
เราจะแก้ไขนิสัยที่ขัดขวางการบริหารเวลาอย่างการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างไร มีคนนำเสนอเรื่อง "กฎ 2 นาที" โดยมีหัวใจหลัก คือ "อะไรก็ตามที่เรานึกขึ้นได้ว่า เราจะต้องทำ และหากมันเป็นงานที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ให้ทำทันที"
ในช่วงเวลา 2 นาทีนั้น เพียงเราคิดอะไรเพลิน ๆ หรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแชตก็หมดเวลาแล้ว ดังนั้น หากงานนั้นใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ให้ลงมือทำทันที เช่น เราจะติดต่อมอบหมายงานอะไรให้ใครทำ หรือตอบอีเมลลูกค้า ก็คงไม่ใช้เวลานานเกิน 2 นาที ดังนั้นให้ทำมันเลย
พอทำได้อย่างนี้เราจะพบว่า งานที่เคยคั่งค้างอยู่มันหายไป เพราะความจริงแล้วงานจำนวนมาก ร้อยละเก้าสิบที่ค้าง ๆ อยู่นั้น แต่ละงานใช้เวลาไม่มากเลย แต่เรากลับผัดวันประกันพรุ่ง งานเล็ก ๆเหล่านี้ จึงกองทับถมกันไปเรื่อย จนทำให้เรารู้สึกว่า มีงานมากจนกลายเป็นภาระหนักในใจ ทั้งที่พอหยิบออกมาดูรายละเอียดจริง ๆใช้เวลาสะสางไม่นานก็เสร็จ
มีความจริงเกี่ยวกับการผัดวันประกันพรุ่งซึ่งคนส่วนใหญ่เคยเป็น นักเรียนจะยิ่งเห็นได้ชัด ถ้าเราไม่ผัดวันประกันพรุ่งตั้งแต่เปิดเรียนวันแรก พอกลับมาถึงบ้าน หยิบการบ้านออกมาดูแล้วลงมือทำเลย พรุ่งนี้มีเรียนอะไรก็หยิบออกมาอ่าน เตรียมบทเรียนก่อนล่วงหน้า จัดกระเป๋าทุกอย่างให้เรียบร้อยตั้งแต่ก่อนนอน ก่อนจะไปเรียนในวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะเรียนวิชาอะไร เนื้อหาคราวที่แล้วเราเรียนถึงไหน เรารู้หมดแล้ว หากนักเรียนมีการเตรียมตัวเตรียมใจที่ดีอย่างนี้ รับรองว่า ผลการเรียนดีแน่นอน
นักเรียนบางคนชอบผัดวันประกันพรุ่ง พอเช้าก็ตาลีตาลานมาทำ จะถึงเวลาส่งการบ้านอยู่แล้ว ยังยืมการบ้านเพื่อนมาลอกอยู่เลยทำแค่พอให้ทันส่ง หรือบางคนพอจะสอบ ก็ดูหนังสือจนนาทีสุดท้าย
แล้วผลสอบออกมาไม่ค่อยดีเท่าไร
การทำงานต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ผัดวันประกันพรุ่ง งานไหนที่ต้องทำก็เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ แล้วลงมือทำให้เสร็จก่อนอย่างนี้ไม่เครียด เพราะทำทุกอย่างสบาย ๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงการทำอย่างนี้และชอบผัดวันประกันพรุ่ง
คนผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่คนที่ไม่ทำอะไรเลย เช่น เด็ก ๆที่ไม่ทำการบ้าน ไม่ใช่ว่าเขานั่ง ๆ นอน ๆ ทั้งคืน แต่เขามักจะเลี่ยงไปทำอย่างอื่นที่ตนเองอยากทำ เช่น ไปเล่นกีฬา ออกไปเที่ยวเตร่กับเพื่อน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือนิยายที่ตนเองชื่นชอบ แล้วแต่ว่าใครชอบอะไรเขาจะไปทำสิ่งนั้น แต่งานที่ควรทำกลับเอาไว้ก่อน รอจนไฟลนก้นแล้วค่อยทำ
เชื่อหรือไม่ว่า เด็กที่ชอบอ่านหนังสือนิยาย ถ้าเปลี่ยนมาเรียนวิชาวรรณคดี แล้วอาจารย์เอาหนังสือนิยายมาให้อ่านเป็นการบ้าน เขาจะอ้างว่า นิยายเล่มนี้พักไว้ก่อน เขาจะไปทำอย่างอื่นที่อาจารย์
ไม่ได้สั่ง
ส่วนอีกคนที่ให้ทำงานอื่นแล้วไม่ทำ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ไปเรื่อย ถ้าอาจารย์ให้การบ้านว่า ให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์แล้วสรุปมา ผลคือเขาจะเอาหนังสือพิมพ์ไปเก็บ แล้วลุกไปทำอย่างอื่นแทน
สำหรับคนที่ชอบท่องโลกอินเทอร์เน็ต ดูอะไรไปเรื่อยเปื่อย ถ้าเขาได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งในอินเทอร์เน็ต เขาจะปิดคอมพิวเตอร์แล้วหันไปทำอย่างอื่นก่อนทันที
เหล่านี้เป็นเรื่องจิตวิทยาของคนผัดวันประกันพรุ่งที่มีความรู้สึกว่า สิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ ใจมันไม่ชอบ จึงมักจะเลี่ยงไปทำอย่างอื่นที่ไม่มีใครมาบังคับ แต่ตนเองอยากทำแทน
เทคนิค แก้ไขนิสัยผัดผ่อนความสำเร็จ
เทคนิคแนะนำในการแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง คือ เราต้องเข้าใจจิตวิทยาตนเอง เพราะฉะนั้น ให้เราเขียนงานที่ตนเองต้องทำขึ้นมา 1-10 ข้อแล้วจะพบว่า พอเห็นงานที่ตนเองต้องทำชิ้นที่ 1-2 แล้ว เรามักจะ
อยากเลี่ยงไปทำงานชิ้นที่ 3-4 โดยอัตโนมัติ แล้วบางทีงานชิ้นที่ 3-4 อาจจะกลายเป็นงานที่สำคัญกว่างานชิ้นที่ 1-2 ด้วยซ้ำไป
ทฤษฎีของ วอร์เรน บัฟเฟตต์
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนมือหนึ่งของโลก และยังเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2-3 ของโลกติดต่อกันยาวนานเป็นสิบปีอีกด้วย
วันหนึ่งคนขับเครื่องบินส่วนตัวของวอร์เรนเอ่ยถามเขาถึง คำแนะนำในการบริหารเวลา วอร์เรนตอบว่า "ให้ลองเขียนสิ่งที่คุณคิดว่า เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับคุณมาสัก 25 ข้อสิ"
นักบินเริ่มเขียนตามที่วอร์เรนบอกไล่ไปถึง 25 ข้อ พอเขาเขียนเสร็จแล้ว วอร์เรนยังบอกต่อไปอีกว่า "คุณช่วยเลือกเป้าหมายจาก 25 ข้อนี้ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญจริง ๆ มาสัก 5 ข้อสิ"
นักบินค่อย ๆ ทบทวนสิ่งที่เขาเขียน จากนั้นจึงเลือกวง 5 ข้อที่เขาไตร่ตรองแล้วว่าสำคัญที่สุด แล้ววอร์เรนก็ถามต่อไปว่า “คุณคิดจะทำอย่างไรกับเป้าหมายทั้ง 25 ข้อนี้"
นักบินคิดได้จึงตอบกลับทันทีว่า "ขอบคุณมากครับ ผมรู้แล้วว่า ผมจะต้องทุ่มเทเวลาทำเป้าหมาย 5 ข้อนี้ให้สำเร็จ"
วอร์เรนจึงถามนักบินต่อไปอีกว่า "แล้วอีก 20 ข้อที่เหลือนี้ล่ะ" นักบินตอบว่า "ถ้ายังพอมีเวลาเหลือ ผมจะเจียดเวลามาทำ 20 ข้อนั้น แต่จะให้ความสำคัญกับ 5 ข้อเเรกก่อน"
วอร์เรนตอบนักบินว่า "ผิดแล้ว ความจริงคุณต้องเอาเป้าหมายอีก 20 ข้อทิ้งไป แล้วทุ่มเทเวลาให้กับเป้าหมายสำคัญที่สุดเพียง 5 ข้อ เป้าหมายอีก 20 ข้อที่เหลือล้วนคอยดึงสมาธิของคุณให้แตกออก ถ้าคุณยังพะวงถึง 20 ข้อนี้อยู่ สุดท้ายคุณจะทำเป้าหมายสำคัญที่สุด 5 ข้อแรกได้ไม่ดี"
เพราะฉะนั้น ให้เราทิ้งเป้าหมาย 20 ข้อไป แล้วมุ่งมั่นทำเป้าหมายสำคัญที่สุด 5 ข้อ ให้ประสบความสำเร็จแบบเกินคาดให้ได้นี่คือคำแนะนำของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)
นักลงทุนคนสำคัญที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
วอร์เรนใช้วิธีนี้ เขาถึงประสบความสำเร็จอยู่เสมอ เขาศึกษาและเลือกการลงทุนกับบริษัทที่เขาเข้าใจ มองอนาคตออกอย่างแจ่มแจ้ง เเตกฉาน พอศึกษามาอย่างดีที่สุดแล้ว เขาก็ทุ่มเทลงไป "เลือกจุด
สำคัญ แล้วลงมือทำมันอย่างจริงจัง" ความสำเร็จนี้คือ ความแตกต่างของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับบุคคลทั่วไป ให้เราลองนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิต
หลักการบริหารเวลาของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Eisenhower)
ดไวต์ เดวิด ไอก์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight David Ike Eisenhower) ทหารและนักการเมืองชาวอเมริกัน ดำรง ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ของสหรัฐอเมริกามีหลักการบริหารเวลาโดยยึดถือหลัก 2 อย่าง คือ "ความสำคัญของงานนั้นและความเร่งด่วนของงานนั้น" ให้เรานำทั้ง 2 สิ่งนี้มารวมกัน แล้วจัดกลุ่มงานให้เป็น 4 กลุ่ม คือ
"งานที่สำคัญและเร่งด่วน"
ต้องรีบทำให้เสร็จก่อน เพราะถ้าไม่ทำงานในกลุ่มนี้ จะเกิดความเสียหายตามมาอย่างแน่นอน
เพราะมันทั้งสำคัญและทั้งเร่งด่วน
"งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน"
คือ งานที่ได้รับมอบหมายอยู่ในหน้าที่ของเราที่ต้องทำ แต่มีเวลามาก
“งานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน"
คือ งานแทรกที่ใกล้ถึงกำหนดส่งต่าง ๆ เป็นงานที่เราจะทำหรือไม่ทำก็ไม่มีผลเท่าใดนัก งานอย่างนี้ให้เราเลือกดูว่า ชิ้นใดควรทำ ชิ้นใดไม่ควรทำ
"งานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน"
งานในกลุ่มนี้ควรหยิบมาทำก็ต่อเมื่อมีเวลาว่างจริง ๆ เท่านั้น เป็นงานที่ไม่ได้ทำ ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เป็นงานที่เราทำเพราะอยากทำเท่านั้น
ลองจัดกลุ่มงานของตนเองออกเป็น 4 กลุ่มอย่างนี้ แล้วทุ่มเททำงานประเภทที่ 2 คือ งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนให้เสร็จแต่เนิ่น ๆ เราจะกลายเป็นคนที่บริหารเวลาได้ดี ไม่เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง
สุดท้ายนี้ อาตมาภาพขอฝากพุทธพจน์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า
" บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน
อดทนให้เหมือนหญ้า
กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย
บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมสุข "
จากหนังสือ 24ชม.ที่ฉันหายใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)