ฐานที่ ๗ ตำแหน่งของผู้รู้

วันที่ 11 เมย. พ.ศ.2563


ฐานที่ ๗ ตำแหน่งของผู้รู้

 

ฐานเจ็ด เสด็จเข้า

นิพพาน

ฐานเจ็ด เผด็จมาร

พ่ายแพ้

ฐานเจ็ด แหล่งสราญ

ใจสุข

ฐานเจ็ด คือบ้านแท้

ลูกนั้นทุกคน

                                                                                                ตะวันธรรม

 

                  เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะว่าเป็นตำแหน่งเดียวที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะหรือความทุกข์ทั้งปวงได้ อย่างน้อยก็เข้าถึงความสุขภายใน สุขยิ่งใหญ่ที่ไม่มีประมาณอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้เป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว ใจก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ หยุดนิ่งอย่างเดียวตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

                    เมื่อพระองค์นำมาอบรมสั่งสอนพระสาวก พระสาวกก็ทำตามโดยนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้

 

                    เมื่อทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว ใจจะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน แล้วก็มีดวงธรรมเป็นดวงใส ๆ ลอยขึ้นมา

 

             อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
                    อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
                    อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน

 

                    สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น แต่จะใสเหมือนนํ้าบ้าง เหมือนกระจกบ้าง เหมือนเพชรบ้างหรือยิ่งกว่านั้นบ้าง แล้วแต่ตามกำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน แล้วในที่สุดก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนทีเดียว

 

                         เพราะฉะนั้นตำแหน่งฐานที่ ๗ จึงสำคัญมาก ซึ่งพญามารบดบังเอาไว้ไม่ให้เราได้มารู้ มาเห็น มาเข้าใจหรือมาหยุดนิ่งตรงนี้ บดบังเอาไว้จนกระทั่งเราไม่รู้จักตำแหน่งนี้เลย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้เราดับทุกข์ได้อีกทั้งพญามารยังดึงใจของเราให้หลุดออกจากฐานที่ ๗ ตรึงไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์แล้วก็เอากฎแห่งกรรมบังคับเอาไว้ ใจก็จะวนเวียนอยู่ กับสิ่งเหล่านั้น ที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เนิ่นช้าต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

 

                    เราจึงดำเนินชีวิตผิดพลาดตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยความไม่รู้ของเรา จนกระทั่งมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ พระองค์ต้องสละชีวิตจนพบตำแหน่งนี้ ด้วยบารมีธรรม ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว จึงพบตำแหน่งนี้

 

                เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ในการที่เราได้รู้จักฐานที่ ๗ ต้องถือว่าเป็นบุญของเราที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี            (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ท่านสละชีวิตค้นพบสิ่งนี้กลับคืนมาใหม่ แล้วนำมาถ่ายทอดจนกระทั่งถึงเรา เราจึงรู้จักศูนย์กลางกายฐานที่ ๗     

               

                เพราะฉะนั้นพึงหวงแหนตำแหน่งนี้เอาไว้ให้ดี อย่าให้ใจหลุดจากตำแหน่งศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หลุดจากตำแหน่งนี้ ใจก็จะมีแต่ความทุกข์เพราะหลุดจากตำแหน่งแห่งความสุขหลุดจากตำแหน่งนี้ก็กลายเป็นผู้ไม่รู้อะไร ต้องอยู่ในตำแแหน่งนี้ ต้องฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ให้ชำนาญ ทำทุกวันโดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

 

               หยุดแรกนี้สำคัญมากทำไห้เป็น อย่างนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆสบาย ๆ ให้ใจใส ๆ ใจเย็น ๆ ให้เราได้มีประสบการณ์ภายใน รู้จักคำว่า “ตกศูนย์” มันมีอาการอย่างไร แล้วธรรมดวงแรกที่ปรากฏที่เรียกว่า “ปฐมมรรค” หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้นมีลักษณะ เป็นอย่างไร มีสภาวธรรมเป็นอย่างไร ต้องทำตรงนี้ให้ชำนาญ ให้รู้จักทำซํ้า ๆ อย่างช้า ๆ ชัด ๆ ซํ้าแล้วซํ้าเล่า อย่างเบาสบาย     

                                             

              ถ้าเราได้ครอบครองศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ครอบครองดวงปฐมมรรค ต่อไปก็ง่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดวงศีล สมาธิ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่เราได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ นั้นก็จะปรากฏเกิดขึ้นให้เราได้รู้ ได้เห็น ได้เป็น ได้มีสภาวธรรมอย่างนั้น รู้จักอย่างแจ่มแจ้งว่า ทำไมเรียกว่า ดวงศีล เรียกว่า ดวงสมาธิ เรียกว่า
ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะแจ่มแจ้งกันไปเรื่อย ๆ   

     

              ขึ้นอยู่กับหยุดแรก ถ้าเราวางใจเป็น ให้ความสำคัญกับตรงนี้ไม่ให้หลุดจากตำแหน่งนี้เลย แม้ว่าเราจะหลุดจากตำแหน่งอื่นทางโลกมาแล้วก็ตาม แต่ตำแหน่งนี้รอคอยเราอยู่ หลุดไม่ได้หลุดเราก็กลายเป็นผู้ไม่รู้ หลุดก็เป็นผู้ที่มีแต่ความทุกข์ทรมานของชีวิต จิตก็จะไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์เต็มที่

 

              เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นตถาคตธรรมดวงแรกนี้สำคัญมาก ถ้าเราทำจนชำนาญ ทำได้คล่องแล้ว
เราจะเข้าใจคำว่า เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นพระตถาคตเจ้า     

 

             คือวันใดที่เราเข้าถึงปฐมมรรค หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ในกลางของกลางดวงปฐมมรรค พอถูกส่วนเราก็จะค่อย ๆ เคลื่อนเข้าไปข้างใน แล้วก็เห็นไปตามลำดับ

 

            เห็นดวงธรรมในดวงธรรม เห็นกายในกายจนกระทั่งไปถึงกายของพระตถาคตเจ้า คือ พระธรรมกายที่อยู่ในตัว เป็นกายผู้รู้   

       

            ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรามีลักษณะสวยงามมาก ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูม อิริยาบถสมาธิ นั่งอยู่บนแผ่นฌาน กลมแบนใส ๆ หันหน้าออก
ไปทางเดียวกับตัวของเรา นั่นแหละพระตถาคตเจ้าที่แท้จริงที่อยู่ภายในตัวของเรา ซึ่งมีลักษณะเหมือนพระตถาคตเจ้าที่อยู่ในกายพระมหาบุรุษ หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็เป็นกายธรรมเช่นเดียวกัน แต่ของท่านเป็นกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลักษณะหน้าตาเหมือนกัน ต่างแต่ขนาด ความบริสุทธิ์ ความใสที่
แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อใดเห็นธรรมก็จะเห็นพระตถาคตเจ้าและก็จะเข้าใจคำว่า “พระตถาคตเจ้า” เพิ่มขึ้น

 

           ชีวิตของโลกมายาจะสิ้นสุดเมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราจะเข้าถึงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งเป็นสัจธรรม คือสิ่งที่เป็นจริง เป็นชีวิตภายใน ชีวิตภายนอกเป็นชีวิตของโลกมายาไม่จีรัง ไม่มีสาระแก่นสารอะไรทั้งนั้น

           

             เพราะฉะนั้น ใจหยุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่พระผู้ปราบมาร ท่านเทศน์ยํ้าอยู่เสมอว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ที่จะทำให้แจ่มแจ้งทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม ทำให้แจ่มแจ้งเหมือนเราดึงของออกจากที่มืดมาอยู่กลางแจ้ง ก็จะเห็นชัดเจนว่า มันคืออะไรใจหยุดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

            ชีวิตคือการเข้ากลาง กลางใจที่หยุดนิ่งนั้นเรื่อยไป จึงจะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารที่เขาเอากิเลสอาสวะมาบังคับบัญชาให้เราตกเป็นบ่าวเป็นทาสของเขา บังคับให้เรากระทำผิดทางกายวาจาใจด้วยความไม่รู้ แล้วก็เอาวิบากกรรมมาบังคับซํ้าไปอีก อีกทั้งเอาธาตุปิดธาตุบังไม่ให้รู้เรื่องราวสิ่งเหล่านี้ด้วย เราจึงต้องเสียเวลาในการเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน

 

             การเกิดมาด้วยความไม่รู้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะชีวิตก็จะวนเวียนอยู่ในภพ ๓ อยู่ในคติทั้งสอง คือ สุคติกับทุคติ วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้

 

           เพราะฉะนั้นเมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งเหล่านี้ก็หมดไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ที่ให้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เรื่อยไปเลยอย่างสบาย ๆ เอาตรงนี้ให้ได้ซะก่อน ให้รู้จักว่าใจหยุดนิ่งเป็นอย่างไรตกศูนย์เป็นอย่างไร ธรรมดวงแรกเป็นอย่างไร ความบริสุทธิ์เป็นดวงใส ๆ ถูกส่วนเป็นอย่างไร ทำความรู้จักตรงนี้ให้ดีให้แจ่มแจ้ง

 

           เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่นี้ เราก็ฝึกใจให้หยุดนิ่งนุ่ม ๆอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจใส ๆ ใจเย็น ๆ ประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ว่า สัมมา อะระหัง เรื่อยไปนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ

 

                                                                                     อาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                             โดยคุณครูไม่ใหญ่

            

           

              

                 

                

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029457767804464 Mins