อุบายคลายกำหนัด
ข้าพเจ้านึกถึงพระพุทธดำรัส เปรียบเทียบผู้คนไว้ ๔ ประเภทว่า ประเภทแรก เหมือนไม้สดแช่น้ำ คือมีกิเลสด้วย และใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกามคุณอารมณ์เพียบพร้อม ประเภทนี้ย่อมยากที่จะบำเพ็ญเนกขัมมะให้บริบูรณ์ ไม้สดแช่ในน้ำ จุดไฟเท่าไร ย่อมไม่มีทางติด
ประเภทที่สอง เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง แต่ถูกวางพ้นน้ำ คือผู้ปฏิญาณตนบำเพ็ญเนกขัมมะ อยู่ในเพศอนาคาริก ไม่ครองเรือนแล้วก็จริง แต่ออกจากเรือนเพียงด้วยกายและมีเครื่องแบบนักบวชสวมใส่อยู่ ส่วนใจยังร่ำร้องหา ยังคิดถึง มีอาลัย ใจย่อมมีแต่ทุกข์ เหมือนไม้สดจุดไฟไม่ติด ไม่สำเร็จประโยชน์
ประเภทที่สาม เหมือนไม้แห้งอยู่ในน้ำ จุดไฟให้ติดยาก เพราะมีน้ำเป็นอุปสรรค เหมือนคนที่ไม่มีใจหมกมุ่นในกามแล้วก็จริง แต่ยังต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นกามคุณอารมณ์ จิตก็ย่อมไม่ผ่องแผ้วเท่าที่ควรจะ
บำเพ็ญบารมีใดๆ ก็ยุ่งยาก ไม่สะดวก
ประเภทที่สี่ เหมือนไม้แห้งที่วางไว้บนบก จุดไฟเมื่อใดก็ติดโดยง่าย ผู้ที่เอาใจออกจากกามตัณหาได้ ทั้งอยู่ในเพศสมณะ บำเพ็ญเนกขัมมบารมีเต็มที่ ย่อมสามารถประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมเบื้องสูง ยิ่งๆ ขึ้นไปได้ง่าย
ที่เอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง เพราะข้าพเจ้าคิดถึงเหตุการณ์ วันหนึ่งในปี ๒๕๓๑ ข้าพเจ้าไปร่วมงานขึ้นบ้านใหม่ของคนรู้จักกันคนหนึ่ง เขานิมนต์พระภิกษุที่คุ้นเคยมา ๙ รูป หลังจากถวายอาหารเพลและ พระภิกษุฉันเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ไปในงานก็ชวนกันรับประทานอาหาร รวมทั้งคนที่มีหน้าที่ต้องขับรถไปส่งพระที่วัดด้วย สำหรับข้าพเจ้าถือศีล ๘อยู่ จึงหาอาหารรับประทานเสร็จไปพร้อมพระท่านแล้ว
เวลาว่างตอนนั้นเอง ข้าพเจ้าได้สนทนาธรรมกับพระภิกษุในเรื่องต่างๆ มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าฟังปัญหาของท่านแล้ว ตอบไม่ได้ชัดเจนละเอียดถี่ถ้วนในทันที แถมยังเก็บเอามาคิดจนนอนแทบไม่หลับ
ตลอดคืน คือพระภิกษุรูปนั้นท่านถามข้าพเจ้าว่า
"โยมป้า อาตมาอยากถามโยมป้าว่า.. เวลามีคนมาปรึกษาโยมป้าว่า เค้าฟุ้งซ่านในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เรื่องผู้ชายผู้หญิง โยมป้าให้คำแนะนำเค้าไปอย่างไรบ้าง"
วันนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้หลักวิชาที่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกบ้าง จากการฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์บ้างคุยกับท่าน คือ กล่าวถึงเพศตรงข้ามว่าเป็นอสุภะ คือของไม่งดงามหรือซากศพไปเสีย ตาม
คำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตำหนิรูปร่างกายสตรี ไว้ครั้งเสด็จไปโปรดมาคัณฑิยพราหมณ์สามีภรรยา เมื่อพราหมณ์นำลูกสาวแสนสวยมาถวายพระองค์ นอกจากทรงปฏิเสธแล้วยังตำหนิว่า
"เราแม้ได้เห็นนางตัณหา นางอรดี นางราคา ก็ไม่พอใจในเมถุน จะมาพอใจธิดาของท่าน ที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตร และกรีส ได้อย่างไรกัน" มูตรคือปัสาวะ กรีส คืออุจจาระ
พระบรมศาสดาทรงเห็นความไม่งามในร่างกายตามความเป็นจริง เพราะทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างส่วนคนธรรมดาทั่วไปมีโมหะห่อหุ้มจิตใจ เห็นอะไรก็เห็นไม่จริง อย่างร่างกายคนเรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"จงมาดูอัตภาพอันวิจิตรนี่สิ มีกายเป็นแผลคุมกันอยู่ มีความกระสับกระส่ายเป็นที่ดำริ (คิดถึง) ของคนเป็นอันมาก (คือเป็นร่างที่ทำให้เกิดการคิดถึง) ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง จงมาดูรูปอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล (เครื่องประดับที่ทำด้วยอัญมณีต่างๆ) มีกระดูกอันหนังหุ้มห่อไว้ งามพร้อมด้วยผ้า เท้าที่ย้อมไว้ด้วยสีแดงสด หน้าที่ไล้ทาด้วยจุณ (แป้ง) พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่ง คือ พระนิพพานไม่ได้ ผมที่แต่งงาม ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
กายเน่าอันประดับด้วยเครื่องอลังการ ประดุจทนานยาหยอดอันใหม่ วิจิตรพอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือ พระนิพพานไม่ได้ ท่าน (มาร) เป็นดั่งพรานเนื้อวางบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อพรานเนื้อกำลังคร่ำครวญอยู่ เรากินอาหารแล้วก็ไป"
ต่อมาในปี ๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้ให้คำแนะนำสตรีท่านหนึ่งที่มาขอคำปรึกษาในการแก้ปัญหาเรื่องความคิดฟุ้งซ่านถึงเพศตรงข้าม ข้าพเจ้าได้พูดให้เห็นความอาภัพของเพศหญิงว่า เดิมหญิงก็เคยเป็นชายมาก่อนแต่ฟุ้งซ่านวุ่นวายทำกรรมเรื่องทางเพศไว้ในอดีตชาติ จึงต้องมาใช้กรรมเกิดเป็นหญิง เป็นหญิงแล้วก็มีทุกข์ยากในเรื่องต่างๆ ต้องมีประจำเดือนทุกเดือน บางรายปวดท้องทุกครั้งแทบเป็นแทบตาย เมื่อถึงคราวแต่งงานมีลูก ต้องเจ็บท้องคลอดลูกเลี้ยงลูก เป็นทาสลูก ทาสสามี มีแต่ทุกข์ยากลำบากทั้งนั้น ทำไมจึงไปคิดนึกตรึกถึงเรื่องความทุกข์ยากอย่างนั้น เหมือนกำลังทำเรื่องโง่อยู่ตลอดเวลา ได้ประโยชน์อะไร
และข้าพเจ้าได้เน้นเพิ่มเติม เรื่องการทำงานของใจ ใจทำงานคือคิดอยู่เสมอในยามตื่น ทำไมจึงไม่หาเรื่องดีๆ ให้ใจคิด เช่น เรื่องทำภาวนา ทำไมไปใช้ให้ใจทำเรื่องขาดทุน คิดแล้วได้บาปเกิดอกุศลจิต ตนเองก็ตำหนิตนเองได้ว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ เหมือนเป็นคนเน่าข้างใน
ข้าพเจ้ายังได้ยกตัวอย่างแม่ชีคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักมา มาบวชชีด้วยความไม่พอใจบิดาและพี่ชายที่ไม่ยอมให้เธอแต่งงานกับผู้ชายที่มาสู่ขอ บวชแล้วเธอก็ไม่ใส่ใจเรียนปริยัติปฏิบัติ ตั้งหน้าแต่สวดมนต์บทพระอภิธรรม และรับไปสวดงานศพอยู่เสมอ จนมีรายได้ฝากไว้ในธนาคารหลายหมื่นบาท ในใจเธอนอกจากคิดเรื่องหาเงินจากการสวดศพแล้ว ก็ยังไม่เลิกคิดฟุ้งซ่านเรื่องทางเพศ คิดถึงการสมสู่ เสพกามระหว่างเพศ ในที่สุดถึงกับเป็นบ้า
ข้าพเจ้าเตือนเด็กสาวที่ปรับทุกข์ให้ฟังว่า "หรือหนูอยากจะบ้าอย่างแม่ชีคนนั้น เอามั้ยป้าจะพาไปเยี่ยม ยังอยู่โรงพยาบาลอยู่เลย หลายปีแล้วยังรักษาไม่หาย นั่งพูดเรื่องสัปดนอยู่คนเดียวได้ทั้งวัน นั่นแหละใส่เครื่องแบบบำเพ็ญเนกขัมมะแต่ทางกาย ส่วนในใจไม่ได้บำเพ็ญด้วย ผลที่สุดความรู้สึกมันค้านกัน นับถือตนเองไม่ลง เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ ใจคิดวนเวียนสับสน สติอ่อนกำลังลงทุกทีจนขาดไป เลยเสียสติ คนอย่างนี้นะ ถ้าไม่ได้บวชด้วยศรัทธาแล้ว ให้เค้าไปใช้ชีวิตมีเหย้ามีเรือนอย่างชาวโลกเสียดีกว่า ยังจะไม่ต้องบ้า
หนูก็เหมือนกันขืนไม่ห้ามใจตนเอง ไม่รักษาใจให้อยู่ในอำนาจ คิดแต่เรื่องทางเพศ อีกหน่อยก็ต้องเป็นบ้า คิดดูซีถ้าถึงเวลานั้น หนูขาดสตินั่งพูดแต่เรื่องผู้หญิงผู้ชายนอนด้วยกัน ทำอะไรกันทั้งวันน่ะ มันน่าสลดใจแค่ไหน"
พ้นจากรายที่เล่าให้ฟังนี่แล้ว ในปี ๒๕๓๓ นี้เอง เดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าขึ้นรถเมล์กลับมาจากนำเงินไปถวายพระภิกษุอาพาธที่โรงพยาบาล ได้พบชายหนุ่มที่รู้จักกันอายุราวๆ ๒๔-๒๕ ปี บนรถคันนั้น เขานั่งคุยมากับข้าพเจ้า ท้ายที่สุดก็สารภาพเรื่องนี้อีก
"ป้าครับ ทำยังไงผมจะเลิกคิดถึงเพศตรงข้ามได้ มันห้ามใจตนเองให้เลิกคิดไม่ได้เสียที" เวลานั้นข้าพเจ้าก็พูดไปตามสมควร เพราะไม่สะดวกนัก เป็นสถานที่ในรถเมล์ มีคนโดยสารอื่นนั่งอยู่ใกล้รอบข้าง เขาฟังด้วยจะตกใจว่า ยายชีแกคุยอะไรกะเด็กหนุ่มนะ มีแต่เรื่องผู้หญิงผู้ชาย
เล่าให้ท่านฟังมานี่ เพื่อให้ท่านมองเห็นฤทธิ์เดชของตัณหา มันตามเข้าไปอยู่ทุกแห่ง อยู่แล้วทำให้เขาเหล่านั้นทรมานจิตใจมาก เพราะทุกคนรู้ว่าตัณหาทางกามนั้นเป็นของเลวทรามต้องกำจัด นอกจากกำจัดไม่สำเร็จแล้ว ยังไปตกเป็นทาสทางใจให้ตัณหามันครอบเสียอีก ความขัดแย้งทางใจทำให้เกิดความเครียด ถ้าไม่คิดเอาชนะแก้ไขตนเองให้ได้ วันหนึ่งคงจะต้องเป็นบ้า
ตัณหานั้นเมื่อจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีต้นเหตุมาจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไรก็ตาม ตัณหามิได้เกิดอยู่ตรงจุดสัมผัส แต่มันเกิดขึ้นที่ "ใจ"
ใจ ไม่สามารถทำหน้าที่เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส ได้ ถ้าไม่มีอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช้แต่หน้าที่โดยตรงของใจ คือ คิด การ "คิด" ไม่ดี คิดไม่ถูกทาง คิดโดยขาดปัญญา ทำให้ตัณหาเกิด โดยอาการตรงข้าม ถ้าใช้ใจให้รู้จัก "คิด" เรื่องดีๆ คิดด้วยปัญญาให้ถูกทาง ก็สามารถดับตัณหาให้สิ้นไปได
นี่ข้าพเจ้าพูดแค่ จินตมยปัญญา ปัญญาจากการคิด ก่อนจะคิดได้ คิดเป็นส่วนใหญ่ต้องได้ปัญญาจากการฟัง มาเสียชั้นหนึ่งก่อนเป็นขั้นต้นสำหรับปัญญาจากการภาวนานั้น เป็นของดีเลิศ เกิดขึ้นแล้ว ดับตัณหาได้ดีเป็นพิเศษ เพราะสามารถเห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง แต่ใช่ว่า คนเราในปัจจุบันนี้จะสามารถเจริญภาวนาให้เกิดผลสำเร็จได้ทันใจหมดทุกคน บางทีลงมือปฏิบัติเจริญภาวนากันเป็นแสนเป็นล้านคน ได้รับผลเพียงไม่กี่คน บางคนรักษาได้เพียงครั้งคราว ในที่สุดก็เสื่อมอยู่ในอำนาจกิเลส ตัณหาต่อไปตามเดิม
สำหรับเรื่องการใช้ปัญญามาช่วยกำจัดกิเลส ตัณหานี้ ใคร่เสนอ ข้อคิดง่ายๆสักเล็กน้อยจากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าพบมา ใครก็ตามที่กำลังโอดโอยขอความช่วยเหลือคร่ำครวญว่ากำลังตกอยู่ในความทุกข์นั้น เป็นเพราะเขามองเห็นผลของกรรมที่เกิดขึ้น เห็นแต่ผลที่เลวร้าย ไม่ได้ดั่งใจปรารถนา ทำให้ใจเศร้าหมอง แต่ถ้าผู้นั้นจะหยุดดูผลนั้นเสีย เอาจิตใจไปดูที่เหตุบ้าง ความทุกข์ก็จะลดลงทันที เพราะการดูอะไรที่
ต้นเหตุ ทำให้เกิดปัญญา เข้าทำนองคำพูดที่ว่า "มองอะไรที่ผลจะเกิดกิเลส มองอะไรที่เหตุจะเกิดปัญญา"
ตัวอย่างความทุกข์ใจของผู้คนที่ข้าพเจ้ากำลังเล่าอยู่ ก็ทุกข์เพราะมองที่ผล คือห้ามใจตนเองไม่อยู่ ห้ามคิดเรื่องตัณหาทางเพศไม่ได้ก็เสียใจ ความเสียใจคือโทสะ เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ทีนี้ถ้าเขามองไปที่สาเหตุ เขาอาจจะพบก็ได้ว่า เป็นเพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ดี สิ่งไหนไม่ควรดูไปดูเข้า สิ่งไหนไม่ควรฟังไปฟังเข้า สิ่งใดไม่ควรคิดไปคิดเข้า เหล่านี้เป็นต้น
นอกจากไม่รู้จักสำรวมอินทรีย์แล้ว ยังไม่รู้จักโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดด้วยอุบายอันแยบคาย แค่ ๒ เหตุนี่ก็พาตัณหามาให้มากมายนับไม่ไหว ยังมีเหตุอื่นๆ อีกหลายๆ ประการนอกเหนือจากนี้ เมื่อเห็นที่ต้นเรื่องว่าสาเหตุมาจากไหน ก็จัดการป้องกันเสียที่ต้นเหตุนั่น ปัญญาจะเกิดตรงการหาวิธีป้องกันนั่นเอง ป้องกันได้ตัณหาก็หดหายไป
ข้าพเจ้าจึงขอย้ำว่าสิ่งอะไรที่เกิดขึ้นก็ตาม ถ้าเราต้องการกำจัดให้หายไป วิธีดีที่สุดควรกำจัดที่เหตุ ไม่ใช่มาแก้ไขกันที่ผล เหมือนเป็นแผลลุกลามเพราะมีเชื้อโรคเข้าไป ก็ต้องแก้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อโรค
เหล่านั้นให้ตายเสีย ไม่ใช่ใช้แค่ยาทาที่แผลภายนอก
อย่างไรก็ดี ก็ใคร่เสนอข้อคิดเกี่ยวกับวิธี "ทำใจ" คือหาเรื่องมาให้ใจคิดสู้อารมณ์ของตัณหาเหล่านั้นไว้ในที่นี้ด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อบางคน พูดถึงตรงนี้ข้าพเจ้าขอย้ำว่าเป็นการต่อสู้ด้วยปัญญาชนิดการคิด ไม่ใช่การภาวนา เพราะเมื่อตัณหาเกิดอยู่ในความคิด เราก็จะต้องเอาความคิดอื่นใส่เข้าไปแทน ผลักดันให้ธรรมารมณ์เรื่องตัณหานั้นออกไปให้พ้น
แต่ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ผลจนกระทั่งมีญาณปัญญา มองเห็นการทำงานของกิเลส ซึ่งทางฝ่ายมารส่งมาห่อหุ้มจิตใจเรา ทำให้ตัณหาเกิด ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านข้อคิดที่ข้าพเจ้าเขียนไว้เหล่านี้ ใช้ปัญญาระดับนั้น ฟาดฟันห้ำหั่นให้กิเลส ออกไปให้พ้นจากจิต ตัณหาก็จะพลอยหายสิ้นไป
ดังนั้น ข้อคิดต่อไปนี้ คุยกันสำหรับผู้ยังบำเพ็ญเพียรไม่บรรลุปัญญาจากการภาวนายังไม่เกิด ก็อาจนำปัญญาจากการฟังคำพูดคุยของข้าพเจ้า ไปทำให้ท่านผู้อ่านเกิดปัญญาจากความคิด เอาปัญญานั้นไปข่มไปตัดตัวตัณหาที่อยู่ในใจให้หมดสิ้นไป หมดไม่ตลอดให้ระงับได้เป็นครั้งคราวก็ยังดี ไม้สดอยู่ห่างน้ำ ตากแดดนานๆ เข้า วันหนึ่งมันอาจจะแห้งจนใช้จุดไฟติดเป็นฟืนชั้นดีได้ ข้อสำคัญอย่าคอยหาน้ำไปรดให้มันเปียกอยู่เรื่อยๆ ก็แล้วกัน
เมื่อข้าพเจ้านำปัญหาของผู้มีปัญหามาพิจารณา มีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือ คนเหล่านี้ที่ออกมาบำเพ็ญเนกขัมมะนั้นส่วนใหญ่ในชีวิตไม่เคยผ่านการครองเรือนมาก่อน ยิ่งถ้าเป็นสตรีมักไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนสิ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาเลย มักจะถูกคิดว่าเป็นสิ่งดีมีรสอร่อยดื่มด่ำ ไม่เหมือนคนที่เคยผ่านชีวิตครองเรือนมาแล้ว รู้รสชาติของความทุกข์ที่เกิดตามมาอื่นๆ ดี
คนเคยครองเรือน ผ่านความเป็นทาสสามี ทาสภรรยา ผ่านการมีบุตรธิดา ความทุกข์ยากที่ต้องอดทนปรนนิบัติคนที่ตนรักนั้นมีมากแค่ไหน จะตระหนักอยู่ในใจชัดเจน จนเห็นเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่อง
น่าเกรงกลัว เพราะเป็นเหมือนเปิดกุญแจประตูให้ความทุกข์อื่นๆ ไหลท่วมทับเข้ามา พบสุขสัมผัสทางประสาทกายเพียงชั่วครู่ แต่ต้องทุกข์ยากต่อเนื่องเนิ่นนาน อีกเป็นสิบๆ ปี จะคุ้มกันได้อย่างไร
นี่พูดสำหรับผู้พอมีปัญญาคิดได้อยู่บ้าง และปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ตลอดรอดฝั่ง แต่สำหรับคนไม่ยอมคิด ติดในรสัมผัสจนตัดใจไม่ได้ อย่างนี้ถือเป็นกรรมเฉพาะตัว
ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะพูดเรื่องวิธีคิดตามสติปัญญาของข้าพเจ้า ให้ท่านพิจารณาบ้าง
ควรจะยึดถือหัวข้อในการคิดสัก ๓ หัวข้อ คือ คิดโดยถือหลักธรรม หลักความเป็นจริงเป็นใหญ่ เป็นหัวข้อที่หนึ่ง คิดโดยนึกถึงความสำคัญของตนเองเป็นใหญ่ เป็นหัวข้อที่สอง และ คิดโดยนึกถึงสังคมหรือผู้อื่นเป็นใหญ่ เป็นหัวข้อที่สาม จะเรียกด้วยภาษาธรรมว่า ธรรมาธิปไตย อัตตาธิปไตย และ โลกาธิปไตย ก็ได้
คิดโดยถือหลักธรรมหรือหลักความจริงเป็นใหญ่ ก็ลองคิดดู ตั้งแต่ต้นเหตุ วิธีการและสุดท้ายผลที่ตามมา เรื่องการเสพสัมผัสทางเพศ มีดีอะไร
ต้นเหตุที่สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าเทวดา มนุษย์ และแม้เดรัจฉาน ซึ่งแต่เดิมทีเดียวก็มีแต่มนุษย์ประเภทเดียว มนุษย์สร้างกรรมขึ้นมา เพราะกิเลสของมารบีบบังคับใจ ผลของกรรมนั้นเองตกแต่งให้ไปเกิด
เป็นสัตว์ในภูมิต่างๆ ทำกรรมดีก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหม ทำกรรมชั่วก็ไปเกิด ในอบายภูมิ จะเกิดในที่ใดก็ตามที่พอจะสร้างบารมีได้บ้าง เช่น เทวดา มนุษย์ เดรัจฉาน ฝ่ายมารก็เกรงสัตว์เหล่านั้นจะสะดวกในการสร้างบารมี จึงเอาเรื่องสืบพันธุ์มาใส่ไว้ให้ ถ้าต้องมีลูกต้องเลี้ยงลูกเสียแล้ว โอกาสร้างบารมีก็จะลดน้อยถอยลงไป
บารมีนั้นสะสมให้แก่กล้ามากเข้าๆ เต็มเปี่ยมแล้ว จะได้เข้านิพพาน เมื่อมารหาเรื่องแกล้งให้สร้างบารมีไม่ได้ หรือสร้างได้บ้างก็น้อยเต็มทีสัตว์ทั้งหลายก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากอำนาจความควบคุมของฝ่ายมาร เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ถูกขังกรงไว้ดูเล่น ทำดีก็ได้รับรางวัล ให้กินอิ่มนอนหลับ ทำไม่ดีก็ถูกลงโทษ
พระบรมศาสดาตรัสเรื่องนี้ไว้ว่า "ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ธรรมของอสัตบุรุษ เป็นธรรมของ
ชาวบ้าน เป็นของเลว เป็นธรรมชั่วหยาบ มีน้ำชำระเป็นส่วนสุด กระทำกันในที่ลับ อยู่ด้วยกันสองคน เพราะเหตุที่บัณฑิตกล่าวว่า
เมถุนธรรมเป็นเรื่องของคนสองคนที่มีความกำหนัด ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตที่ราคะเข้าครอบงำ เป็นเหมือนกันทั้งสองคน จึงเรียกว่าคนคู่กัน "คนสองคนที่ต่างทำอะไรเหมือนๆ กัน เรียกว่าคนคู่กัน เช่น คนทะเลาะกันก็เรียกคนคู่กัน คนหมั้นหมายกันก็เรียกคนคู่กัน คนวิวาทกันทำความอื้อฉาวใส่กัน ทำอธิกรณ์กัน พูดจาปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่กันทั้งสิ้น (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๒๙ หน้า ๔๑๓)
ทีนี้ผลที่ติดตามมาในตอนท้าย นอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ที่ติดต่อถึงกันได้แล้ว ยังมีเรื่องการเสียนิสัย ทำให้จิตใจมีความเคยชินมันยิ่งกว่ายาเสพติด พอถึงเวลาก็ทุรนทุรายอยู่ไม่ได้ ใคร่แต่จะไปหาสิ่งที่ใจคุ้นเคยคือการเสพเมถุนอย่างนั้น ใจที่ควรจะเอาไว้ทำกุศลมโนกรรม เช่น ใช้เจริญภาวนา กลับใช้ให้มีตัณหากระสับกระส่าย เสียคุณภาพของใจ เสียโอกาสร้างกุศลจิต
ต่อจากนั้นหากเกิดมีลูกขึ้นมา ทุกข์ก็ตามมาอีกหลายเรื่อง ถ้าเป็นฝ่ายสตรีก็ตั้งแต่แพ้ท้องเรื่อยไปจนคลอด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารครรภ์ การรักษาครรภ์ หรือการต้องเจ็บครรภ์ตอนคลอด ล้วนแต่ทุกข์ทั้งสิ้น ลูกคลอดออกมาแล้ว ภาระการเลี้ยงดูหนักหนาสาหัส ตามมากว่าจะเติบโตแข็งแรงหาโรงเรียนให้เรียน ดูแลเรื่องอุปนิสัยใจคอ หางานหาการให้ทำ ยังเรื่องการมีครอบครัวอีกว่าควรหรือไม่ยิ่งกว่า แขวนภูเขาทั้งลูกไว้ที่คอเสียอีก เป็นภาระหนักกันขนาดนั้น ถ้าลูกไม่ดี เช่นพิการทางกาย พิการทางใจ เป็นคนเสเพล พ่อแม่จะทุกข์กินไม่ได้นอนไม่หลับสักเพียงไหน
นั่นเรื่องลูกส่วนเรื่องระหว่างสามีภรรยา ก็ต้องทุกข์ด้วยความระแวงหึงหวง ทุกข์เพราะการทำมาหากิน ทุกข์เพราะคนนี้เจ็บคนนั้นป่วย คนโน้นปัญหานี้ คนนี้ปัญหานั้น วุ่นวายไม่จบสิ้น
ที่คุยมาข้างต้นนั้นมองกันในแง่ธรรมาธิปไตย คิดถึงหลักความจริงเป็นใหญ่ ว่ากายนั้นเป็นอสุภะ น่ารังเกียจ เป็นรังของโรค ความกำหนัด มืดหน้าอาจจะคลายลง
ต่อไปลองพิจารณาโดยอัตตาธิปไตย คือนึกถึงตนเองเป็นใหญ่ คนรักตนเอง ควรทำแต่เรื่องที่ตนได้ประโยชน์ ไม่ควรทำเรื่องเสียประโยชน์ ก็การปล่อยจิตให้ถูกความกำหนัดยินดีด้วยกามราคะเข้ากลุ้มรุมทำให้เราเสียประโยชน์ทุกอย่าง
เริ่มต้น เสียเวลา ทำเวลาให้สูญไปเปล่า ถ้าเราใช้เวลาที่คิด เรื่องกามราคะนั้นไปภาวนา เราจะได้กำไรมหาศาล แม้ไม่คิดสิ่งใดเลย อยู่นิ่งๆ ก็ยังดี ไม่ขาดทุนเหมือนปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยจิตตกอยู่ในกามคุณอารมณ์
ต่อมา เสียสติปัญญาในการทำงานตามหน้าที่ของตน งานทุกชนิด ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ต้องมีสติ มีปัญญา นำมาใช้คู่ไปกับการทำงาน งานนั้นจึงจะเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าปล่อยให้ใจคิดแต่เรื่องทางเพศ
ทั้งสติและปัญญาก็หนีหายไปหมด นึกอะไรไม่ออก
ถัดจากนั้นก็เกิด วิปฏิสารกินแหนงแคลงใจตนเอง เคารพตนเองไม่ลง มีปฏิฆะ ความหงุดหงินฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดความเสียใจ รู้ว่าไม่ดี แต่ก็แก้ไขตนเองไม่ได้ ช่วยตนเองให้เอาชนะไม่ได้ น่าเศร้าใจเพียงใด
คนที่ตั้งใจบำเพ็ญเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์ส่วนใหญ่ถือศีลแปด การคิดถึงเรื่องอย่างนี้ เขาเรียกว่า เมถุนสังโยค ประพฤติพรหมจรรย์ชนิดเศร้าหมอง มีอานิสงส์น้อย คือตั้งใจบำเพ็ญเนกขัมมะแล้ว แต่ยังมีอาการพัวพันในเมถุนซึ่งมีอยู่ ๗ ข้อ คือชอบการลูบไล้นวดฟั่นจากเพศตรงข้าม ชอบซิกซี้เล่นหัวสัพยอกด้วย ชอบจ้องดูตา ชอบฟังเสียงหัวเราะหรือขับร้อง ชอบนึกถึงเรื่องเก่าที่เคยเกี่ยวข้อง เห็นชาวบ้านมีกามบำรุงบำเรอแล้วปลื้มใจแทน แม้แต่ตั้งความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้ได้เป็นเทพเจ้าก็ยังใช้ไม่ได้
อาการ ๗ ข้อ ยังทำให้ไม่ได้บุญเต็มที่ แล้วถ้านั่งนึกคิดถึงเพศตรงข้ามตรงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง จึงเท่ากับมิได้ประพฤติพรหมจรรย์เอาเลยหรือ เข้าทำนอง มือถือสากปากถือศีล
เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลก เข้าทำนองยิ่งห้ามยิ่งทำ เมื่อยังไม่ได้ประกาศตนเป็นปฏิปักษ์กับกาม อย่างเช่น ตอนที่มีชีวิตเป็นชาวโลกทั่วไป บางคนไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจเรื่องทำนองนี้เลย แต่ครั้นตั้งใจเว้นเข้าเท่านั้นดูเหมือนคิดถึงแทบจะตลอดเวลา
เมื่อคิดถึงตนเองว่าอุตส่าห์ประพฤติพรหมจรรย์แล้วกลายเป็นคนลวงโลก เป็นคนเน่าใน เท่ากับชีวิตขาดทุนไปเปล่าๆ เห็นค่าของตนเองให้มากกว่าธรรมดา เสียดายเวลา เสียดายประโยชน์ที่ควรได้ ให้คิดเสียดายๆ อยู่บ่อย เผื่อจะหายบ้าง
ถ้าเป็นเพศสมณะ ในสายตาของคนทั่วไป เขาจะเห็นเป็นที่พึ่งสมกับบทสวดที่ว่า สังฆังสะระณัง คัจฉามิ ถ้าตนเองก็ยังช่วยตนเองไม่ได้ จะเป็นที่พึ่งให้ญาติโยมได้อย่างไรกัน การสั่งสอนผู้อื่นให้ได้ผลดีตนเองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ได้ตามคำสอนเสียก่อน เอามานะ ความถือตัวว่า ตนเองเป็นอุดมเพศ เป็นเพศที่สูงมาทำให้เป็นได้จริงตามนั้น ให้ตัวเองเคารพตัวเองให้ได้
จงคิดเสียดายความเคารพตนเอง เสียดายจิตใจที่อยู่เย็นเป็นสุข เพราะถ้าเคารพตนเองไม่ได้ ใจจะไม่มีความสุข มันจะหงุดหงิดเดือดร้อน รำคาญอยู่เรื่อยไป มองหน้าใคร พูดสอนใคร ไม่เต็มปากเต็มคำ ไม่องอาจกล้าหาญ ถ้ารู้สึกเสียดายเสียแล้ว จะได้มีกำลังใจสู้สู้ให้ชนะใจตนเองให้ได้
การปล่อยให้ใจจดจำแต่ภาพเหตุการณ์เลวๆ ต่างๆ ทำใจให้เสียคุณภาพ ทำให้ฟิลม์ภาพยนตร์ชีวิตมีแต่เรื่องเลวๆ เวลาฉายภาพเหล่านั้นขึ้นมาในใจครั้งใด ก็จะมีแต่ความเศร้าหมองไม่ผ่องใสขึ้น เมื่อภาพยนตร์ชีวิตของเราเป็นเรื่องที่เราอำนวยการสร้างเอง เป็นผู้กำกับการแสดงเอง เป็นตัวแสดง เป็นทุกสิ่งในเรื่อง ทำไมเราจึงไม่สร้างแต่เนื้อเรื่องและบทดีๆ ให้ตนเอง ฉายภาพเหล่านั้นดูใหม่อีกครั้งใด เราก็ได้ชื่นใจทุกครั้งไป
อีกอย่างที่สำคัญที่สุด การให้ใจคิดหมกหมุ่นแต่เรื่องอกุศล เป็นการสร้างความเคยชินในทางไม่ดีให้ใจสิ่งใดที่เคยชิน ก็ทำให้เกิดความคุ้นเคย ความคุ้นเคยทำให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนชีวิตคนเรา ถ้าคบกับใครบ่อยๆ ในที่สุดนิสัยใจคอก็จะเหมือนคนที่คบด้วย เพราะความเคยชิน
สรุปแล้ว ให้เห็นความสำคัญของตนเองเป็นใหญ่ คำนึงถึงประโยชน์ เวลาสติปัญญา ทรัพย์ ความเคารพตนเอง ความทรงจำและคุณภาพของใจ
ทีนี้ถ้าจะพูดถึงการคำนึงถึงโลกาธิปไตย คือสังคมเป็นใหญ่ ก็อาจทำให้ใจเกิดมีพลังเข้มแข็งสู้ความรู้สึกที่น่าอายเหล่านั้นได้ เช่น
- คิดว่า คนแทบทั้งหมดในโลกนี้ ล้วนตกอยู่ในอำนาจ เป็นทาสกิเลส โดยเฉพาะกามราคะนั้นแรงกล้ายิ่งนัก แต่ละคนไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน เพศใด ล้วนแต่ช่วยตนเองไม่ได้ เราควรมีเมตตา สงสารชาวโลกเหล่านี้ พยายามประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ให้มีอานิสงส์เกิดผลสำเร็จ บรรลุคุณธรรมในระดับต่างๆ จะได้ใช้ความสามารถที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมาช่วยให้เพื่อนมนุษย์เห็นแสงสว่าง กำจัดกิเลสของตนๆให้สิ้นไป
- ในขณะที่เรากำลังบำเพ็ญตนกำจัดกิเลสอยู่ระหว่างประพฤติพรหมจรรย์ในเพศใดก็ตาม เป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้คนเป็นอันมากรู้จักพบเห็นเข้า มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาให้ความคารวะ
บูชาด้วยอาการและสิ่งของต่างๆ ควรทำให้การบูชาของเขาเหล่านั้นมีผลมาก ด้วยการทำความประพฤติให้บริสุทธิ์ด้วยดี สมควรต่อการกราบไหว้นั้นๆ ทั้งยังทำให้ตนเองไม่กระดากเก้อเขินในใจ จะบริโภค ใช้สอยอามิส บูชาสิ่งใด ก็ไม่บังเกิดโทษแก่ตนเอง
- การอยู่ในเพศเป็นตัวอย่าง และทำการอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้มีพัฒนาการทางใจสูงขึ้น ทำให้สังคมส่วนรวม บ้านเมือง ประเทศชาติ ร่มเย็นเป็นสุขตามไปด้วย ควรภูมิใจ ทำตนให้สมกับเพศที่เป็นอยู่
- การประพฤติดีปฏิบัติชอบ นอกจากตนเองจะได้บุญกุศลสร้างบารมีให้ตนเองได้เต็มที่ ไม่เสียชาติเกิดแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันอยู่ เช่นคนในครอบครัว หมู่ญาติ สนิทมิตรสหาย โดยเฉพาะบิดามารดาผู้ให้การอุปถัมภ์เลี้ยงดู ผู้มีบุญคุณอื่น ย่อมมีส่วนบุญกุศลต่างๆ ที่กระทำขึ้นมานั้น เพราะเมื่อบุคคลดังกล่าวนึกถึงตัวผู้ปฏิบัติครั้งใด ก็มีปีติเบิกบานใจ พลอยอนุโมทนาสาธุการชื่นอกชื่นใจไปตาม นึกดังนี้ อาจมีพลังใจเป็นนักสู้เกิดขึ้น
ที่คุยกับท่านผู้อ่านมาข้างต้น เพื่อเป็นข้อคิดสอนใจตนเองเมื่อตัณหาเกิด เป็นการคิดเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว แก้กันที่ปลายเหตุส่วนที่ต้นเหตุ นั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ใน (ชีวิต) ปัจจุบัน เมื่อตายไปพึงหวังได้ทุคติ
ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ ..
ภิกษุใดไม่คุ้มครองทวารเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ (การกิน) และไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมถึงความทุกข์ คือทุกข์กาย ทุกข์ใจ ภิกษุเช่นนั้นมีกายถูกไฟ คือความทุกข์แผดเผาอยู่ มีใจถูกไฟ คือความทุกข์แผดเผาอยู่ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั้งกลางวันกลางคืน"
เมื่อฟังพุทธพจน์บทนี้ จะเห็นได้ว่า ตัณหาต้นเหตุของทุกข์ เกิดขึ้นเพราะไม่รู้จักคุ้มครอง และสำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณ ในการบริโภค (อันนี้น่าจะรวมถึงการใช้สอยสิ่งต่างๆ ไปทั้งหมด)
การเอาชนะตัณหาเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ควรท้อใจ ตัณหานั้นมันอยู่กับเรามานาน ดองอยู่ในสันดานข้ามภพข้ามชาติ ชาติแล้วชาติเล่าจนเป็นอาสวะ ดังพระพุทธพจน์
"คนเรา มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ก้าวล่วง (ไม่พ้น) สงสาร (การเวียนเกิดเวียนตาย) อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ (เกิดเป็นอย่างนี้ แล้วก็เกิดเป็นอย่างอื่น) ภิกษุรู้ตัณหาซึ่งเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์นี้โดยความเป็นโทษแล้ว (เห็นโทษของตัณหา) เป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบฯ"
เมื่อเป็นเพื่อนกันมานาน จะเลิกคบ จึงต้องยากหน่อย
"ชนทั้งหลาย ประกอบแล้วด้วยตัณหาอันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ มีจิตยินดีแล้วในภพน้อยและภพใหญ่ ชนเหล่านั้นประกอบแล้วด้วยโยคะ คือบ่วงแห่งมาร เป็นผู้ไม่มีความเกษมจากโยคะสัตว์ทั้งหลาย ผู้ถึงชาติและมรณะ ย่อมไปสู่สงสารส่วนสัตว์เหล่าใดละตัณหาได้ขาด ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่ ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ สัตว์เหล่านั้นถึงฝั่ง (นิพพาน) แล้วในโลกฯ"
(ข้อความจากพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๒๕ หน้า ๒๐๒, ๒๑๖, ๒๔๓ และ ๔๘๖)
ตัณหามีรูปแบบต่างๆ มากมาย ถ้าท่านสังเกตเรื่องราวต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเล่าไว้ จะเห็นว่าตัณหาทุกเรื่องนำทุกข์มาให้ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงอยากชักชวน ท่านผู้อ่านทุกท่านมาช่วยกันละตัณหา ให้รู้ตัวว่า "เพื่อน สอง" คือเพื่อนคู่ใจที่เราหลงคบมานับชาติไม่ถ้วนนั้น ความจริงไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นศัตรูตัวร้ายกาจที่สุด ที่ยึดเราให้อยู่ในวัฏฏะ อยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดในภพ ภูมิต่างๆ ยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มิให้เรากลับสู่พระนิพพานรู้ดังนี้แล้ว เรามาพยายาม "เลิกคบ" กับตัณหากันเถอะ
Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม๔