มองผ่าน ๆ

วันที่ 29 เมย. พ.ศ.2563

มองผ่าน ๆ

 

ตั้งใจมองให้เห็นก็ไม่เห็น

ว่าไม่เห็นมันก็เห็นตอนทีเผลอ

จะให้ทำอย่างไรดีนะเออ

ถ้าอยากเจอต้องมองไปอย่างนั้นเอง

                                                                      ตะวันธรรม

 

                 เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ ทีนี้เรามาดูตรงนี้ที่มันยากว่าจะทำใจอย่างไรมาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ เพราะเราไม่คุ้นเคยเลยที่จะเอาใจมาอยู่ตรงนี้ มันมีแต่ออกไปทางลูกนัยน์ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นึกคิดเรื่อยเปื่อยไป แต่พอให้เอามาอยู่ตรงนี้ที่ฐานที่ ๗ มันยาก

 

                  ยากตอนแรก ๆ ยากสำหรับผู้ใหญ่ ง่ายสำหรับเด็กเพราะว่าเด็กนั้น ระบบประสาทของเขาทั้งกายวาจาใจยังบริสุทธิ์อยู่ ยังไม่ได้รับการหล่อหลอมด้วยระบบของความคิด คิดว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร เอาที่ไหน เอากับใคร อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น มันเลยทำให้ใจฟุ้ง

 

                  พอยิ่งอายุผ่านกาลเวลามามากเข้าก็คุ้นเคยจนชิน เพราะฉะนั้นระบบประสาทจิตใจจึงไม่ค่อยจะบริสุทธิ์ มักจะหมอง คือ

 

                 ถ้าคิดออกว่า จะเอาที่ไหน เอากับใคร เอาอย่างไร มันก็ไม่มีปัญหาไม่มีแรงกดดัน แต่ถ้าคิดไม่ออก มันก็มีแรงกดดัน ตรงนี้มันเป็นความเครียดที่ทำให้ใจหมอง ไม่บริสุทธิ์

 

                เราถูกโลกหล่อหลอมอย่างนี้ ยิ่งโตนานวันเข้าก็ยิ่งหมองหนักเข้า ยิ่งเครียดหนักเข้า การจะนึกไว้ที่ศูนย์กลางกาย โดยใช้ระบบไม่คิดยาก แต่เด็กง่าย เด็กอย่างลูกเณรหรือเด็กตัวเล็ก ๆ ๕ ขวบ ๖ ขวบ ถึง ๑๐ ขวบ พอบอกหลับตา เขาก็หลับตา พอบอกว่าให้มองไปกลางท้อง เขาก็มองนะ แต่เขามองเบา ๆ เขามองแล้วเขาไม่ได้คิด เพราะฉะนั้นจิตก็หยุดนิ่ง ประกอบกับบริสุทธิ์อยู่แล้วบริสุทธิ์ในที่นี้คือระดับความอินโนเซ้นท์ ไม่ใช่บริสุทธิ์ขนาดหมดกิเลส เพราะฉะนั้นเด็กจึงเข้าถึงได้ง่าย นั่งนิ่งได้นานทีเดียว เพราะไม่ได้ผ่านขบวนของความคิด แต่อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้ อย่าเพิ่งไปท้อกันเสียก่อน ทีนี้มันมีวิธีที่จะวางใจตรงนี้

 

                โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปรับลูกนัยน์ตา ต้องอยู่ในองศาเดิม อย่ากดลงไปโฟกัสลงไปที่ศูนย์กลางกาย อย่างนี้ไม่ถูก คือพยายามที่จะโฟกัส ยิ่งกดลูกนัยน์ตา ยิ่งเครียดยิ่งเพ่งคิ้วจะขมวดเข้าหากันเลย แล้วมันก็เหนื่อย ไม่ได้ผล เพราะจิตมันหยาบ ความจริงเราไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร เหมือนเราเดินไป ทั้ง ๆ ลูกนัยน์ตาอยู่ในองศาที่มองไปข้างหน้า ดูคน ดูแผ่นป้าย ดูรถรา แต่เรารู้ว่าข้าง ๆ มีคนอยู่ ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า

 

                ทั้ง ๆ ที่เรามองเหมือนไม่ได้มอง ก็เรายังมองอยู่ แต่มองด้วยสำนึกลึก ๆ มองผ่าน ๆ อย่างนั้น

 

                เพราะฉะนั้นเวลาเราหลับตา อย่ากดลูกนัยน์ตา ถ้าเราไม่ฟังผ่าน หรือฟุ้งจนลืมฟัง คำ ๆ นี้จะมีความหมายมาก คือลูกนัยน์ตาจะอยู่ที่เดิม อยู่ในระดับที่เหมือนเรามองไปข้างหน้า แต่เราปิดเปลือกตา แล้วก็ทำความรู้สึกของใจด้วยสำนึกที่ละเอียดอ่อน มองเหมือนไม่ได้มอง แต่ว่าไม่ได้มองก็เหมือนมอง

 

               คล้าย ๆ มีละอองดาวเล็ก ๆ หรือเพชรใส ๆ ที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล มากจนกระทั่งเราไม่กล้าที่จะไปแตะต้อง ไปสัมผัส มันมีคุณค่ามากเหลือเกิน จนเราไม่สามารถไปแตะต้องได้ถึง จึงได้แต่มองผ่าน ๆ

 

               ให้เราทำความสำนึกอย่างละเอียดลึก ๆ ที่แผ่วเบา ถึงเพชรเม็ดนี้ที่ใส ๆ มีมูลค่ามหาศาล มองผ่าน ๆ โดยลูกนัยน์ตาอยู่ที่เดิมและทำความรู้สึกเป็นสำนึกอย่างละเอียดที่แผ่วเบาวางไว้ตรงกลางเพชรที่ใส ๆ แค่แตะแผ่ว ๆ มองผ่าน ๆ ด้วยสำนึกละเอียดลึก ๆที่เบา ๆ สบาย ๆ คล้ายดวงดาวในอากาศ ที่เป็นธุลีประดุจละอองของดาวพวยพุ่งมาที่ศูนย์กลางกายเป็นประกายระยิบระยับ นั่งมองอย่างนี้ แล้วถ้าจะภาวนาก็ภาวนาโดยไม่ต้องใช้กำลัง ถ้าใช้กำลังเขาเรียกว่าท่อง ภาวนาเป็นเสียง สัมมา อะระหัง ที่ละเอียดอ่อน คล้าย
เสียงเพลงที่เราชอบ หรือบทสวดมนต์ที่เราท่องคล่องปากขึ้นใจดังขึ้นมาในใจ ถ้าเราจะใช้ต้องใช้แบบนี้ ใช้ให้เป็น อย่างนี้ถึงจะถูกหลักวิชชา

 

               สำหรับผู้ที่วางใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่เป็น ต้องหมั่นฝึกฝน สมมติว่า วันนี้เราทำไม่ได้ เพราะแรงไป อดที่จะไปโฟกัสไม่ได้ กดลูกนัยน์ตามองไปไม่ได้ก็ช่างมัน พรุ่งนี้ฝึกใหม่ วางแผ่ว ๆแต่ถ้าแผ่วเกินไป อ้าว มันเผลอหลับหรือฟุ้ง เราก็ฝึกใหม่

 

              นั่งฝึก ยืนฝึก เดินฝึก นอนฝึก ทำภารกิจอะไรเราก็ฝึกไปเรื่อย ๆ เพราะมันไม่มีทางลัดอื่นใดที่จะให้เข้าถึงจุดที่หยุดนิ่งได้นอกจากความพยายาม แล้วก็หมั่นสังเกต ปรับปรุง ปรับใจเราทุกรอบ ทุกครั้ง ทุกวัน

 

             ถ้าเรามีฉันทะขนาดหลงใหล ไม่ได้ตายเถอะ ต้องเอาให้ได้อย่างนี้เราจะสมหวัง สักวันหนึ่งเราก็จะฝึกได้ทำได้

 

             เราจะรู้จักคำว่า “พอดี” เมื่อเรา “พอใจ” มันจะสบาย ๆ ชาวต่างประเทศได้ง่ายเพราะเขาไม่รู้อะไรมาเลย เหมือนซื้อตั๋วไปดูหนังที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน เขาฟังแล้วเขาก็ทำตามอย่างง่าย ๆ แค่ทำตัวให้สบาย ๆ
ทำใจให้สงบ เดี๋ยวก็จะพบแสงสว่าง พบดวงธรรมอย่างง่าย ๆ

 

            หลวงพ่อเชื่อว่า ลูกหลวงพ่อทุกคน นักเรียนอนุบาลฝันในฝันทุกท่านทั่วโลกทำได้ ถ้า ได้ทำอย่างที่ทำ ตามที่ได้แนะนำอย่างนี้ เดี๋ยวเราจะสมหวัง

 

วางใจที่ฐานที่ ๗ ยังไม่ได้วางฐานอื่นก่อนก็ได้

 

           ทีนี้ ถ้าหากว่าเรายังวางใจไว้ที่ฐานที่ ๗ ยังไม่ได้ เราจะเริ่มจากฐานอื่นไปก่อนก็ได้ ตรงไหนก็ได้ที่เรามีความรู้สึกพึงพอใจชอบ สบายใจ

 

          จะนึกว่าตัวเราอยู่ในศูนย์กลางกายที่ขยายไปแล้วเต็มห้องหรือสุดขอบฟ้าก็ได้ แล้วใจเรานิ่งสบาย ๆ มันจะมีแสงแวบไปแวบมา เป็นดวงก็มี ข้างหน้า ข้างหลัง ซ้าย ขวา ล่าง บน ก็มี ก็ให้เฉยไว้ เล่นตัวไว้เรื่อย ๆ อย่าไปสนใจ ทั้ง ๆ ที่อยากมองใจจะขาดถ้าเราจ้องก็จะหาย เผลอหายอีก

 

         เพราะฉะนั้นนิ่งอย่างเดียว พอถูกส่วนเดี๋ยวจะมาอยู่ ณ ที่เราพึงพอใจเอง แล้วพอใจนุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว ก็น้อมเข้ามาที่ฐานที่ ๗ หรือบางทีมันลงมาอยู่ตรงกลางเองเลย มันจะเป็นอย่างนี้นะ

 

 นึกถึงสิ่งที่คุ้นเคย

 

          ทีนี้ถ้าเรานึกดวงแก้วก็ไม่ออก องค์พระก็ไม่ได้ เราก็นึกถึงหลวงปู่ฯ บ้าง คุณยายอาจารย์ฯ บ้าง หรือจะนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคยก่อนก็ได้ เริ่มจากตรงนั้นไปก่อน จะเป็นเพชรนิลจินดา ผลหมากรากไม้ อะไรได้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นวัตถุสิ่งของที่นึกแล้วสบายใจใจสูงส่งบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น เราก็นึกอย่างนี้ไปก่อนก็ได้ ไม่ผิดวิธี พอใจ
มันนิ่ง ใจมันสบายแล้ว เดี๋ยวก็มาเอง จากฟุ้งมากจะมาฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็มาไม่ฟุ้ง จากมืดก็มาสว่าง มันก็จะเป็นไปตามขั้นตอน

 

ฟุ้งก็ช่างมัน

 

          ใครที่นั่งแล้วยังฟุ้งอยู่ ก็ช่างมันนะลูกนะ เป็นเรื่องธรรมดา เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ในชีวิตประจำวันมันก็ต้องคิด ความคิดอะไรที่วนอยู่ในใจเรามากก็ฟุ้งมาก ถ้ามีความคิดอะไรอยู่ในใจเราน้อย มันก็

 

          ฟุ้งน้อย ถ้าเราหัดตัดใจ ไม่อาลัยอาวรณ์ หรือหัดหักใจให้ได้ มันก็ฟุ้งน้อย ถ้าหัดตัดใจไม่ได้มันก็ฟุ้งมาก เราก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา

 

          จะฟุ้งเป็นภาพเป็นเสียงหรือมาทั้งภาพทั้งเสียงก็ช่างมันช่างมัน ๒ คำนี้ แล้วก็นั่งเฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ช้ามันจะฟุ้งในระดับที่เราไม่รำคาญ ทั้ง ๆ ที่ฟุ้งเท่าเดิมแต่เราไม่รำคาญ นั่นเราเป็นต่อแล้ว และพอเรานั่งในครั้งถัด ๆมา รู้สึกว่า เออ มันเริ่มโล่ง เริ่มโปร่ง เริ่มสบาย เริ่มรู้สึกตัวขยายเริ่มรู้สึกตัวหาย หรือเวลามันหมดเร็วเหลือเกิน นั่นก็เป็นมิเตอร์วัดว่า ใจเราเริ่มรวมเป็นสมาธิแล้ว แต่เขาเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” ยังเป็นสมาธิอ่อน ๆ อยู่ เราก็ฝึกไปเรื่อย ๆ

 

          ถ้าเรารักที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย อยากเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เราก็จะขยันฝึก ฝึกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวสักวันหนึ่งเราก็จะสมหวัง

 

          แต่อย่าคิดเลยเถิดวิตกกังวลว่า โอ้ กว่าจะเห็นคงตายมั้ง ก่อนตายมั้ง หรือชาติหน้ามั้ง อย่าเลยเถิดไปขนาดนั้นนะลูกนะ มันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก มันจะเร็ว ๆ นี้

 

          จุดที่จะถึงมันใช้เวลาแค่วินาทีเท่านั้น ถ้าเวลาใจหยุดนิ่ง ๆ ได้ถ้าเราตั้งใจทำความเพียรกันอย่างจริงจัง และหมั่นปรับปรุงให้ถูกหลักวิชชา วินาทีเพชรวินาทีพลอยนั้นจะต้องมาถึงเราอย่างแน่นอนอาจจะคืนนี้ก็ได้ อาจจะพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นให้นั่งให้สบายใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ต้องนั่งอย่างนี้นะลูกนะ หมั่นทบทวนที่
แนะนำไป

 

          คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครเพลีย ใครตึง ก็ปล่อยให้หลับที่กลางกาย กลางอู่แห่งทะเลบุญ ใครเมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ ทำอย่างนี้นะลูกนะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ

                                                                                                    พุธที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                                                                                              โดยคุณครูไม่ใหญ่

 

           

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024221348762512 Mins