วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา

วันที่ 30 เมย. พ.ศ.2563

วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา

 

อย่าควานหาอะไรในที่มืด

จะตึ๋งหนืดฝืดใจไม่ไปไหน

หัวจะมึนตาจะมัวสลัวใน

ไม่แจ่มใสใจไม่หยุดหงุดหงิดฟรี

เหมือนคั้นนํ้าจากหินหรือดินเหนียว

จะแห้งเหี่ยวหัวโตหมดราศี

เลิกเถิดนะอย่าทำลูกคนดี

ทำตามที่พ่อแนะนำฉ่ำใจเอย

                                                        ตะวันธรรม

 

                    เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ  ทีนี้สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดูในท้องเพราะว่ารักษากฎเกณฑ์มากเกินไปว่า จะต้องทำอย่างนี้ ผิดจากนี้มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่วิธีการมองทำไม่เป็น ก็กดลูกนัยน์ตาไปดูทำให้ตึงเครียดขึ้นในระบบประสาทและกล้ามเนื้อตึงไปหมด

 

                    พอตึงเครียดเข้า นั่งก็เมื่อย ไม่มีความสุข ออกมาก็ไม่สบายเหนื่อย เมื่อย ยิ่งได้ยินคนอื่นเขานั่งแล้วได้ผล ยิ่งกลุ้มใจ บางครั้งก็น้อยใจว่า เราคงไม่มีบุญวาสนาในการเข้าถึงธรรมแน่ แต่น้อยใจก็ยัง
ทำอยู่ด้วยวิธีการเดิม เกร็ง ๆ เครียด ๆ

 

                    เพราะฉะนั้นถ้าหากติดตรงนี้มาหลายปีนะ ให้ทิ้งกฎเกณฑ์ทั้งหมดไปก่อน ลืมไปเลยว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ตรงไหน

 

                    ลืมไปก่อนนะลูกนะ ลืมไปเลย ไม่ผิดวิธีหรอก หลวงพ่ออยู่ทั้งคนเดี๋ยวจะตะล่อมให้เข้ากลางให้ได้ ไม่ต้องกลัว ลืมไปเลย

 

                    หลับตาให้สบาย ๆ ไม่นึกว่าเราจะเห็นอะไร ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น คลี่คลายระบบประสาทของเราเสียก่อนสบาย ๆ ใจไปอยู่ตรงไหนก็ช่างมัน แล้วให้มันนิ่ง ๆนุ่ม ๆ สบาย ๆ จะอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่ผิดวิธีนะลูกนะ
ให้มันสบาย ๆ ซะก่อน

 

                   แล้วก็สมมติว่า ขอบฟ้าทั้งหมดรอบตัวเรากลม ๆนั่นแหละ คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และตัวเราใสเหมือนกับเพชรอยู่กลางพอดีเลย คิดเพียงแค่นี้คิดทีเดียว อย่าลืมนะ คิด ๑ ที หรือทีเดียว แล้วก็นั่ง
เฉย ๆ นิ่ง ๆ

 

                 จะภาวนา สัมมา อะระหัง เป็นเพื่อนก็ได้ ไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไรแล้วก็อย่าไปปรารถนาที่จะเห็นภาพอะไรนะ มันยังไม่ถึงเวลา เราก็ต้องยอมรับว่ามันยังไม่ถึงเวลา

 

                 สมมติว่า เวลานี้มันเป็นเวลาตี ๑ หรือเป็นเวลาเที่ยงคืน เราดับไฟหมด ไม่มีแสงที่เกิดจากไฟที่ทำด้วยมนุษย์เลย บรรยากาศรอบตัวเรามันก็มืดสนิท ก็อย่าไปกลุ้มใจว่า เอ๊ะ ทำไมดวงอาทิตย์

 

               ไม่โผล่มาให้เราเห็นเลย อย่าลืมว่านี่ประเทศไทยไม่ใช่นอร์เวย์ เขามีพระอาทิตย์เที่ยงคืน เราก็ต้องยอมรับว่าคือเที่ยงคืนมันต้องมืดตี ๑ ก็มืด ตี ๒ ก็มืด ตี ๓ ตี ๔ ก็ยังมืดอีก

 

               ถามว่า เมื่อเราไม่เห็นดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ ตี ๓ เราควรกลุ้มไหม ถามตัวเองนะลูกนะ เราควรกลุ้มไหม หรือเราควรทำใจเย็น ๆ นิ่ง ๆ สงบ ๆ รอเวลาให้ถึง ๖ โมงเช้า ยอมรับสภาพว่าตี ๑ มันต้องมืด ตี ๒ มันก็มืด ตี ๓ ตี ๔ มันมืดทั้งนั้น ยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วใจจะสบายไปกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ทำใจเย็น ๆไม่เห็นภาพก็ไม่เป็นไร นิ่งเฉย ๆ

 

              พอถึงเวลา ๖ โมงเช้า จะเห็นเอง แสงเงินแสงทองก็เรืองรองขึ้นมาเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ใจเย็นพอ รอคอยดวงตะวันที่ขึ้นมาจากขอบฟ้าได้ จะได้ยินเสียงนกเสียงกาแซ่ซ้องสรรเสริญว่า เออ คนใจเย็นบัดนี้เขาสมหวังแล้ว เวลา ๖ โมงเช้า เขาได้เห็นแสงเงินแสงทองจากขอบฟ้า

 

             ยอมรับนะลูกนะว่า เมื่อยังไม่ถึงเวลา มันก็คือยังไม่ถึงเวลาแต่อย่าเอาไปเทียบกับเวลาที่ผ่านมา และเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่มากเพราะเวลาที่ผ่านมาเราทำไม่ถูกวิธี

 

             เวลาที่เหลืออยู่นี้มันเท่ากันทุกคน คือ เรามีเวลาของชีวิตอยู่เพียงวินาทีเดียวเท่ากันทุกคนที่เป็นเวลาของเรา พรุ่งนี้ยังไม่ใช่ มะรืนนี้ก็ไม่ใช่ เพราะเราจะมีเวลาที่มีชีวิตอยู่ถึงพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้หรือเปล่าไม่ทราบ เวลาในอนาคตไม่ต้องพูดถึง เวลาผ่านไปในอดีตก็ดีดมันไปซะ   

 

             ยอมรับว่า เราจะต้องรอคอยด้วยใจที่เยือกเย็น ด้วยใจที่สงบที่หยุดที่นิ่ง ๆ พอยอม ใจก็หยุด พอหยุดมันก็เย็น พอเย็นก็ใส ไม่ช้าก็เห็นภาพขึ้นมาเอง ทำอย่างนี้นะลูกนะ

 

            ให้ลืมกฎเกณฑ์ที่ได้แนะนำเข้าตามฐานต่าง ๆ ไปหยุดในกลางท้องฐานที่ ๗ ลืมไปก่อนนะลูกนะ ลืมไปก่อนชั่วคราว ไม่ใช่นิจนิรันดร์ ลืมไปชั่วคราว อย่างนี้เดี๋ยวจะสบ๊าย สบาย สบายคือต้นทางที่จะเข้ากลางได้ มันก็จะเป็นไปเองนะลูกนะ เพราะฉะนั้นใครทำผิดวิธีมานาน วันนี้หมดกรรมแล้ว ทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำนะลูกนะ

 

 หลับตาเป็นจะเห็นภาพภายใน

 

            ธรรมะเราจะเข้าถึงได้เมื่อใจของเราสบายที่สุด จับหลักตรงนี้ให้ดีนะ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมทุกครั้ง เราจะต้องไม่ลืมสิ่งนี้คือ ทำทุกอย่างให้สบาย ให้ปลอดโปร่งทั้งกายและใจ

 

           หลับตาก็ต้องหลับตาให้เป็น ให้พอดี ๆ แค่ผนังตาแตะเบา ๆอย่าไปเม้มตาแน่น อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา

 

           การที่ตาของเราแตะเบา ๆ แสดงว่าใจของเรากำลังวางอยู่อย่างสบาย ไม่เพ่งนิมิตเกินไป ไม่ตั้งใจด้วยความทะยานอยากมากเกินไปอยากเห็นเร็ว ๆ เป็นเร็ว ๆ มันหมดไป ผนังตาจึงแตะเพียงเบา ๆไม่ใช่ปิดเสียสนิทเลย

 

          ถ้าเปลือกตาปิดสนิท แสดงว่าเราเริ่มเพ่งนิมิต เอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู ผลออกมาคือความเครียด แล้วไม่ได้อะไร และจะทำให้เรา

 

         เบื่อหน่ายท้อแท้ เพราะทำผิดวิธี จนกระทั่งเกิดอาการน้อยอกน้อยใจไปโทษบุญโทษบารมีว่า เราคงมีบุญบารมีมีวาสนาน้อย ความจริงแล้วเราทำผิดวิธี เพราะฉะนั้นเราจะต้องสังเกตตัวเอง และปรับให้ถูกวิธี

 

        ดังนั้นขอให้ทุกคนอย่าฟังผ่าน ในการที่เราจะปรับปรุงวิธีให้ถูกต้อง แม้ว่าเราอาจจะปฏิบัติธรรมมานานแล้วหลาย ๆ เดือนหลาย ๆ ปี จนมีความรู้สึกว่า สิ่งที่หลวงพ่อแนะไปนี่เป็นขั้นอนุบาลขั้นเริ่มต้น ก็ขอให้ทำใจให้ได้ เรามาเริ่มต้นเรียนอนุบาลกันใหม่ ทำให้ถูกวิธีเสียตั้งแต่ต้น เมื่อจบอนุบาลของหลวงพ่อก็จบด็อกเตอร์ คือเข้าถึงพระธรรมกายอย่างรวดเร็ว มันยากตอนแรกที่เราจะต้องฝึกใจของเราให้ฟันฝ่าอุปสรรคเข้าไปถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้มันยากอยู่ที่ตรงนี้

 

          ที่จริงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงธรรมอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นของละเอียดอ่อน เราจะเข้าถึงได้จะต้องฝึกใจของเราให้ละเอียดอ่อนเท่ากับดวงธรรมภายใน ถ้ามันละเอียดเท่ากัน ใจของเราไปแตะอยู่ที่ดวงธรรมตรงนั้น ถูกส่วนเข้าเราก็จะเห็นความสว่างขึ้นมาเป็นดวงใส ๆ หรือดวงธรรมภายในที่โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ซึ่ง
มีอยู่แล้ว และศูนย์กลางกายตรงนี้ มันเป็นช่องว่าง ๆ เป็นอากาศธาตุว่าง ๆ โล่ง ๆ เล็กนิดเดียวอยู่ตรงกลาง เป็นทางไปสู่พระนิพพานสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว เหลือแต่ปรับใจของเราให้ละเอียดอ่อนให้เท่ากับสภาวธรรมภายใน

 

         ใจจะละเอียดได้ ใจต้องเป็นกลาง ๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปถ้าตึงไปมันก็เครียด หย่อนไปมันก็เคลิ้ม

 

         ความเครียดเกิดขึ้นเพราะความทะยานอยาก เราอยากได้เร็ว ๆ เห็นเร็ว ๆ เป็นเร็ว ๆ เราจึงวางใจแรงเกินไป จึงทำให้เกิดความเครียด

 

         ความเคลิ้ม เกิดจากการไม่มีสติ ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปคิดในเรื่องราวต่าง ๆ มันก็หย่อนไป

 

         เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราปรับ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปไม่เครียด แล้วก็ไม่เคลิ้ม ใจก็จะเป็นกลาง ๆ ถูกวัตถุประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านให้วางใจเป็นกลาง ๆ ไม่ตึงแล้วก็ไม่หย่อน พอไม่ตึงไม่หย่อน ใจที่เป็นกลางนั้นเป็นใจที่ปลอดโปร่งว่างเปล่า สบาย ใจสบายเท่านั้นจึงจะถึงพระธรรมกายได้

 

               ศุกร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕
เสาร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                                                                                              โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034453984101613 Mins