สังเกตตัวเอง ทำไมนั่งไม่ได้ผล
ส. สี่ ส. มั่นไว้ |
ให้ดี |
จักถึงธรรมเร็วจี๋ |
แน่แท้ |
สมัคร สติ สบาย นี้ |
ทุกเมื่อ |
สม่ำเสมอ สัมฤทธิ์แล้ |
อย่าได้ลืมหลง |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ สำหรับท่านที่กำหนดองค์พระเป็นบริกรรมนิมิต ใจก็จะต้องตรึกองค์พระอยู่เรื่อย ๆ อย่าให้เผลอ ตรึกนึกถึงความใสหยุดเข้าไปตรงกลางของความใสขององค์พระ อาราธนาให้ท่านนั่งหันหน้าออกไปในทางเดียวกับเรา ไม่ว่าเราจะนั่งหันหน้าไปทางไหน องค์พระก็จะต้องหันหน้าไปทางนั้น เหมือนเรามองจากด้านเศียรของท่านนะ มองตรงจากด้านบนลงไป
องค์พระไม่ควรกำหนดใหญ่กว่าคืบหนึ่ง ถ้าอย่างเล็กก็ขนาดเมล็ดข้าวโพด คือกะคะเนว่า เราสังเกตได้ชัดเจนด้วยใจของเรา อย่างนั้นจึงจะเป็นบริกรรมนิมิตที่ถูก ตอนนี้ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิตที่เราสร้างเข้าไป บริกรรมนิมิตจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงใจของ
เราให้หยุดนิ่ง ให้เป็นสมาธิ
เมื่อเราวางอารมณ์จิตได้ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ไปก็ภาวนาสัมมา อะระหัง เรื่อยไป จะกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้ง เราก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ โดยให้สติของเราจรดอยู่ที่บริกรรมนิมิตอย่าให้เผลอ
ทุกครั้งที่เราภาวนา จะต้องไม่เผลอ ถ้าเผลอเราจะต้องเริ่มต้นใหม่ ดึงกลับเอามาใหม่ เพราะว่าธรรมชาติของใจเรานั้น มักจะกลับกลอก มักจะนึกไปถึงสิ่งที่เราเคยตรึก เคยนึกเคยคิด และสิ่งเหล่านั้นส่วนมากมักจะเป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ด้วยอารมณ์เก่า ๆ ที่เราได้ผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจ ที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจก็มักจะมาปรากฏขึ้นในขณะที่ใจของเราเริ่มรวมเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น
ตอนนี้เราเผลอไม่ได้นะ จะแพ้หรือจะชนะ คือจะรวมหรือไม่วม จะหยุดหรือไม่หยุด ก็ขึ้นอยู่กับสติของเราจะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง
ภาวนา สัมมา อะระหัง ก็ต้องตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสตรงนั้นเรื่อยไป ให้จังหวะที่เราภาวนานั้นสม่ำเสมอ กระแสใจของเราก็จะก้าวรุดหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่าได้เปลี่ยนกระแสใจ หรือเปลี่ยนคำภาวนาที่เร็วบ้าง ช้าบ้าง อย่างนั้นไม่ถูก จะทำให้ใจของเราเครียด เกิดความกระสับกระส่าย
ภายใน แล้วเราก็วางอารมณ์อย่างนั้น ให้เป็นอุเบกขาเรื่อยไป
อย่าอยากเห็นเร็วเกินไป จนเกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้าแล้วก็จะบีบบังคับจิตของเราให้หยุดนิ่ง อย่างนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกจะทำให้เกิดอาการเครียดที่กาย มีอาการปวด ตึง มึนเกิดขึ้นมาแล้วนิมิตนั้นก็จะหยาบ ในที่สุดก็จะเลือนหายไป
สิ่งที่จะตามมาอีก คือ ใจที่ท้อแท้ ใจที่หมดหวัง ใจที่หดหู่แล้วจะเกิดความน้อยอกน้อยใจ ลงโทษตัวเองว่า เราไม่มีบุญวาสนาที่จะเข้าถึงสมาธิได้ หรือจะทำใจหยุดใจนิ่งได้ ความน้อยใจอย่างนี้ก็จะเกิดขึ้นมา แล้วก็จะพลอยไม่เชื่อว่าสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านได้ประสบผลมานั้นไม่จริง คนนั้นคนนี้
เห็นนั้นไม่จริง ก็จะเกิดการระแวงขึ้นมา
ความจริงแล้วเราควรจะหันกลับมามองตัวเราว่าที่เราทำไม่ได้ผลนั้น เพราะเราปฏิบัติไม่ถูกวิธี เรา
ตั้งใจเกินไป เรามีความอยากอย่างแรงกล้า แล้วก็เพียรจัดเกินไป อุปมาก็เหมือนการจับนกกระจอก เอาไว้ในฝ่ามือ ถ้าหากเราจับแน่นเกินไป บีบเกินไปหวังว่านกกระจอกจะอยู่ในฝ่ามือ มันก็อยู่เหมือนกันแต่ว่าตาย จิตของเราก็เช่นเดียวกันเป็นของละเอียด ไม่ใช่เป็นของหยาบ เราจะบังคับด้วยกำลังอย่างนั้นไม่ถูก จะต้องวางอารมณ์ของเราให้เป็นอุเบกขา ให้เฉย ๆ เรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่าการกำหนดบริกรรมนิมิตของเราจะไม่ชัดเจน จะไม่สว่างไสว จะเห็นได้แค่รัว ๆ ราง ๆ แล้วก็เลือนหายไป ก็ช่างมัน ขอให้ทุกคนตั้งใจอย่างนี้นะ เอาสติของเราพยายามอย่าให้เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ทำเรื่อยไป ถึงแม้ว่ามืด กำหนดไม่เห็นก็ให้เอาใจหยุดอยู่ไว้ตรงนั้น เฝ้ามองอยู่ตรงนั้นที่เดียวเหมือนเสือที่คอยจ้องจับเหยื่ออยู่ตรงนั้นแหละ ถ้าหากว่าเหยื่อยังไม่ผ่านมา มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ไม่เคลื่อนไปไหน ใจของเราก็เช่นเดียวกัน จะต้องคอยประคับประคองให้อยู่ตรงนั้นที่เดียว
แล้วภาวนาเรื่อย ๆ พอถูกส่วนเข้า ถูกส่วนเหมือนเราขีดไม้ขีดไฟอย่างนั้นแหละ พอถูกส่วนเข้าใจหยุด พอใจหยุดเข้าเท่านั้น ความปลอดโปร่งเบาสบายเกิดขึ้นมาอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ขันธ์ ธาตุ อายตนะต่าง ๆ หรือว่าร่างกายของเราจะมีอาการกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความปวดความเมื่อยก็ไม่มี มีแต่ความปลอดโปร่ง เบา สบาย เกิดความวิเวก เข้ามาทางใจ นั่นแหละใจของเราก็จะเริ่มหยุด
คราวนี้แสงสว่างจะค่อย ๆ เกิดขึ้นราง ๆ เหมือนฟ้าสาง ๆเหมือนเราตื่นมายามเช้าตอนตีห้าฟ้าสางอย่างนั้น ที่แสงสว่างเกิดขึ้นก็เพราะว่า ตะกอนของใจคือนิวรณ์ทั้ง ๕ มันเริ่มตก เพราะใจเราเริ่มหมดความกระวนกระวาย ความกระสับกระส่าย เราหันกลับมามองตัวเราเอง แล้วก็เอาใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
พอถูกส่วน แสงสว่างก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น
ตรงนี้ก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออีกเหมือนกัน สำหรับนักปฏิบัติใหม่ ๆ ซึ่งไม่เคยประสบอารมณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดความชุ่มชื่นเข้ามาในจิต มีความตื่นเต้นดีใจเหมือนกับเด็กที่ได้รับของขวัญโดยบังเอิญ โดยไม่คาดฝันอย่างนั้น พอดีใจใจก็จะกระเพื่อมความกระสับกระส่ายก็เกิดขึ้นมา จิตก็จะฟูขึ้น ถอนจากสมาธิแสงสว่างนั้นก็จะเลือนหายไป พอเลือนหายไป ผลก็จะตามมาสำหรับนักปฏิบัติใหม่ คือ อยากจะได้อารมณ์นั้นกลับคืนมา
ความอยากอันนี้แหละเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เพราะยิ่งเราอยากมากแค่ไหน ความผิดหวังก็จะเป็นเงาตามตัวอย่างนั้น เมื่อเราตั้งอารมณ์หยาบไว้ นั่งด้วยตัณหา ความทะยานอยาก จิตของเราก็เร่าร้อน กระสับกระส่าย ทุรนทุรายเพราะฉะนั้นอารมณ์ตรงนั้นเลยไม่กลับมาอีก เมื่อไม่กลับมาก็เลยขี้เกียจนั่ง พลอยทิ้งธรรมะไป นี่สำหรับนักปฏิบัติใหม่ ๆก็จะพบอย่างนี้
ทีนี้วิธีแก้ไขเราควรทำอย่างไร เราก็ควรจะหันกลับ มามองย้อนหลังไปว่า เมื่อครั้งที่เราปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เราได้เห็นผลนั้นเราทำอย่างไร และอันที่จริงมนุษย์ทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ไม่ว่าจะปฏิบัติวิธีไหนก็แล้วแต่ ที่ได้ผลนั้นสติเป็นเรื่องใหญ่ เราจะเอาสติประคองบริกรรมทั้งสองเอาไว้ ด้วยบริกรรมภาวนาว่า สัมมา อะระหัง แล้วก็กำหนดบริกรรมนิมิตเรื่อยไปจนกระทั่งใจรวมถูกส่วน นี้เป็นวิธีที่ถูก
เบื้องต้นให้เราทำอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนี้จิตของเราก็ได้ผล คือ จิตเริ่มรวมสงบถูกส่วนขึ้นมา เมื่อได้อารมณ์อย่างนั้นได้แสงสว่าง แล้วแสงสว่างนั้นเลือนหายไป ก็ไม่ต้องเสียใจ ให้มองย้อนหลังกลับ แล้วก็เริ่มประคองสติใหม่
อย่าหวังผลว่า เราจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น คือได้อารมณ์เก่าเกิดขึ้นมา อย่าหวังอย่างนั้น การหวังอย่างนั้นเหมือนกับเรานั่งคอยใครอยู่ คอยแค่ ๕ นาที ก็มีความรู้สึกเหมือน ๕ ชั่วโมงความหวังนั้นมันมีอยู่ แต่นั่นแหละอย่างที่เรียนให้ทราบเอาไว้เราตั้งความหวังไว้แค่ไหน ความผิดหวังก็เป็นเงาตามตัว จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ไปเปล่า ๆ
เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือประคองใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายของเราเรื่อยไป ถ้าอย่างนี้แล้วละก็ ขอรับรองว่าจะต้องถึงธรรมะกันทุกคน จะถึงเร็วถึงช้าก็ขึ้นอยู่กับว่า สติ
ของเราจะประคองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำอย่างถูกวิธี เอาสติประคองเรื่อยไป ไม่เร่งร้อน ทำอย่างใจเย็น ๆ ด้วยความเยือกเย็น ด้วยความเบาสบาย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่เกินครึ่งชั่วโมง ใจของเราจะหยุด
คราวนี้ก็ประคองจิตตามไป เอาใจหยุดลงไปที่กลางกายหยุดอยู่ตรงนั้นแหละ ภาวนาเรื่อยไป จะกี่ร้อยครั้ง หมื่นครั้งแสนครั้ง ก็ภาวนาไปเรื่อย อย่ากลัวเสียเวลา อย่ากลัวว่าเราจะเห็นช้ากว่าคนอื่น หรืออย่าไปคิดว่าที่คนอื่นเขาเห็น เขามีบุญวาสนามากกว่าเรา สร้างมามากกว่าเรา อย่าไปคิดอย่างนั้นนะ
พระเทพญาณมหามุนี
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
โดยคุณครูไม่ใหญ่